เปิดใจอดีตเด็กโบราณ “รอมแพง” เจ้าของผลงานละครสุด “ปัง” บุพเพสันนิวาส

ตอนเป็นนวนิยาย ใครๆ ก็ว่าสนุกแล้ว ครั้นพอมาเป็นละครทีวีทางช่อง 3 ที่ค่ายบรอดคาซท์ ไทย เทเลวิชั่น ทำออกมาได้ดี แถมนักแสดงอย่างเบลล่า ราณี แคมเปน, โป๊บ ธนวรรธน์ วรรณภูติ รวมไปถึงคนอื่นๆ ได้เล่นถึง จึงกลายเป็นว่าเรื่อง “บุพเพสันนิวาส” โด่งดังกันไปใหญ่

“ไม่คิดเลยค่ะ ไม่คิดเลยว่าจะโด่งดังขนาดนี้” รอมแพง หรือ จันทร์ยวี สมปรีดา ผู้ประพันธ์เรื่อง เผยความรู้สึกเคล้าเสียงหัวเราะ

แล้วจึงว่า แม้ละครที่ทำออกมาจะไม่เหมือนหนังสือ หากก็ถือว่า “ค่อนข้างเป๊ะ” ซึ่งเรื่องนี้เข้าใจดีว่าเป็นเพราะเป็นคนละศาสตร์ ดังนั้น จึงต้องมีความแตกต่าง

อย่างไรก็ตาม “สนุกดีค่ะ” ผู้ประพันธ์บอก

ก่อนเล่าให้ฟังถึงที่มาของงานที่ใครๆ กำลังกล่าวขวัญว่า เกิดความอยากจะเขียนตอนปี พ.ศ.2549

“อยากเขียนนิยายย้อนยุคสักเรื่อง แต่จะทำอย่างไรให้ไม่ซ้ำกับเรื่องอื่นที่มี อยากให้แหวกแนว น่าสนใจ”

คิดไปคิดมา แล้วคนที่เรียนจบปริญญาตรีจากคณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร โดยเรียนเอกประวัติศาสตร์ศิลปะ โทภาษาไทย ก็เริ่มค้นคว้า แถมบอกอีกว่าแม้ที่เรียนมาจะเน้นเรื่องศิลปะของประวัติศาสตร์ ไม่ได้เน้นประวัติศาสตร์โดยตรง แต่ลึกๆ มีความสนใจและพยายามหาหนังสือเกี่ยวกับประวัติศาสตร์มาอ่านโดยตลอด และที่พบคือส่วนใหญ่ “ค่อนข้างอ่านยาก”

“เลยคิดว่าถ้าเราเขียนนิยายย้อนกลับไปในยุคประวัติศาสตร์ จะทำยังไงให้คนอ่านแล้วสนุก ไม่เหมือนอ่านตำรา ซึ่งปกติเราเขียนคอเมดี้อยู่แล้ว ก็เขียนพล็อตคร่าวๆ เอาไว้”

“แล้วก็หาข้อมูลตั้งแต่ปี 2549 ถึง 2552 สะสมมาเรื่อยๆ อ่านพงศาวดาร ทั้งของชาวบ้าน ทั้งจดหมายเหตุ และมาติดตรงที่เรื่องเกี่ยวกับการไปเป็นราชทูตที่ฝรั่งเศสในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช”

ซึ่งกรณีนี้มีเรื่องเล่าจากพงศาวดารชาวบ้านบอกว่า การเดินทางดังกล่าวมีชีปะขาวที่เป็นนักเลงสุรา แต่มีความสามารถทำให้เรือไม่ล่มได้ไปด้วย ซึ่งเกร็ดดังกล่าว แม้จะไม่รู้ว่าเป็นเรื่องจริงหรือไม่ แต่ก็รู้สึกว่าน่าสนใจ น่าสนุก จึงหยิบจับมาใช้

ขณะที่เพื่อเพิ่มกิมมิกให้เรื่อง ก็รังสรรค์ตัวนางมาทั้ง “การะเกด” และ “เกศสุรางค์” ให้การะเกดเป็นตัวร้าย เกศสุรางค์เป็นคนดีที่หลุดจากยุคปัจจุบันเข้าไปสวมร่าง เพื่อให้เกิดเรื่องราวต่างๆ นานา

เล่าด้วยว่าตอนที่ลงมือเขียน เธอเขียนทุกวัน วันละตอน ใช้เวลาแค่ 1 เดือนก็เขียนเสร็จ

“มันพรั่งพรูบอกไม่ถูก เหมือนมีองค์ลง” เล่าแล้วรอมแพงก็หัวเราะ

ก่อนให้รายละเอียดอีกว่า ที่ตัดสินใจให้เนื้อเรื่องเกิดขึ้นในยุคสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ก็เนื่องจาก “ไม่ชอบเรื่องเศร้าค่ะ” คนที่เขียนนิยายกี่เรื่องๆ ก็ “แฮปปี้เอ็นดิ้ง” บอกตามตรง

“ต้องหายุคสมัยที่เจริญรุ่งเรือง แต่ว่าต้องมีเรื่องราวบ้าง ในสมัยสมเด็จพระนารายณ์จะมีเรื่องของการเดินเรือ”

เปิดใจด้วยว่า การเขียนนิยายโดยอิงจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในประวัติศาสตร์นั้น เป็นเรื่องยาก ขณะเดียวกัน ในช่วงที่เขียน ข้อมูลทางประวัติศาสตร์ในช่วงดังกล่าวก็ค่อนข้างคลุมเครือ

“ยังไม่รู้ว่าอะไรกันแน่ที่น่าจะใช่ พยายามศึกษาหลายทางแล้ว เลยเขียนออกมาในรูปแบบกลางๆ จะมีหยิบประวัติศาสตร์ไปบ้างให้เกิดเรื่องราว”

ทั้งนี้ ตอนที่ค้นคว้า เธอใช้จดหมายเหตุลาลูแบร์เป็นตัวยืน เนื่องเพราะมีการเล่าเรื่องราวของชาวบ้านค่อนข้างเยอะ แต่กระนั้นก็รับว่าก็มีที่เธอเอามา “บิด” บางส่วน

“อย่างคำว่า “ออเจ้า” ในจดหมายเหตุบอกว่าใช้พูดกับคนที่ไม่รู้จัก ที่อาวุโสน้อยกว่า แต่ไม่ได้บันทึกว่ากับคนรู้จักพูดอย่างไร เราจึงตีรวมใช้คำว่าออเจ้าไปเลย”

หรือเรื่อง คอนสแตนติน ฟอลคอน ที่เธอก็ระบุให้พูดภาษาฝรั่งเศสได้ปร๋อเช่นกัน

“ในเรื่องไม่ได้อิงประวัติศาสตร์เต็มร้อย” รอมแพงออกตัว

แล้วก็ว่า อาจจะมีข้อผิดพลาดอยู่บ้างในนิยาย เนื่องจากข้อมูลที่หาไม่ได้ในช่วงนั้นอย่างที่บอก “ก็กลัวเหมือนกันว่านักวิชาการทางประวัติศาสตร์จะตำหนิ แต่ในเมื่อเป็นแบบนี้แล้ว ก็ไม่รู้ว่าจะทำอย่างไรเหมือนกัน ต้องยอมรับไป แต่มันเป็นจุดไม่ใหญ่ แล้วคือนิยาย ไม่ใช่ตำรา แต่ถ้ามีใครว่า ก็น้อมรับแต่โดยดี”

ในบรรดานิยายหลายๆ เรื่องที่เขียนมา รอมแพงบอกว่า “บุพเพสันนิวาส” เป็นเรื่องที่เธอรักมากที่สุด ขณะเดียวกัน สิ่งที่ทำให้นักเขียนอย่างเธอปลื้มที่สุด คือได้ยินว่ามีคนที่อ่านงานนี้แล้วไปศึกษา หาหนังสือประวัติศาสตร์มาอ่านเพิ่ม แถมยังมีบางคนที่ชอบ “เกศสุรางค์” มาก จนตัดสินใจเรียนด้านโบราณคดี

“เพราะจริงๆ สิ่งที่ในใจเราคิดว่าประสบความสำเร็จมากที่สุด ก็คือมีคนสนใจประวัติศาสตร์เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะเด็กๆ”

นั่น “เกศสุรางค์” หรือ “รอมแพง”

“โดนทักตลอดเลยค่ะ”

“ตัวแคแร็กเตอร์เกศสุรางค์ พอละครออกอากาศ เพื่อนสนิททักมาเลยว่า นี่มันตัวคนเขียนนี่นะ แต่จริงๆ คิดมาตลอดว่าเราเรียบร้อยนะ” รอมแพงเล่าพลางหัวเราะ

“แต่เขาก็ว่านั่นตัวเราชัดๆ”

“อาจเพราะเป็นคนเขียน เลยจะแฝงความเป็นตัวเองลงไปโดยไม่รู้ตัวหรือเปล่า” คาดเดามาว่าอย่างนั้น

มนต์กฤษณะกาลี ไม่มีจริง

“คนถามค่ะว่ามีจริงไหม เขาคิดว่ามี แต่จริงๆ แล้วไม่เลยนะคะ”

“ตอนที่เขียน คิดแค่พ่อพระเอกมีเชื้อพราหมณ์ ก็เลยหามนต์สืบทอดของตระกูลเพื่อสร้างเรื่องให้ตัวนางเอกมาอยู่ในร่างนี้”

คำว่า “กาลี” ก็ได้มาจากนามของ “เจ้าแม่กาลี” ผู้มีฤทธิ์ในการปราบปรามสิ่งชั่วร้าย ขณะคำว่า “กฤษณะ” ก็สื่อสารถึงความเป็นนักรบ การปราบเหล่าร้าย และการเลือกใช้ชื่อนี้ “จะได้ดูขลังหน่อย” ก็แค่นั้น

อย่างไรก็ดี เพิ่งมีคนบอกให้ทราบเมื่อไม่นานมานี้เองว่า มีมนต์ที่ชื่อว่า “มนต์กฤษณะ” อยู่จริง แต่จากคำเล่าคือเป็นมนต์ที่ใช้สาปแช่งคนซึ่งทำให้ศาสนาพราหมณ์เสื่อมเสีย

แต่ข้อเท็จจริงเรื่องนี้เป็นอย่างไร เธอไม่ทราบแน่