คุยกับทูต ‘พันเอกราซา อุล ฮัซเนน’ : ภารกิจสำคัญทางการทหาร-การทูตปากีสถาน ประเทศมุสลิมที่มีกองทัพใหญ่ที่สุด!

คุยกับทูต พันเอกราซา อุล ฮัซเนน ปากีสถานกับการดำเนินงานการทูตโดยฝ่ายทหาร (2)

“ผมเป็นผู้แทนของกองทัพหรือกระทรวงกลาโหมปากีสถานประจำประเทศไทย มีหน้าที่ประสานงานด้านกิจการทหารกับกองทัพไทย เป็นผู้แทนของกองทัพปากีสถานในพิธีการต่างๆ ตลอดจนเชื่อมความสัมพันธ์กับผู้ช่วยทูตฝ่ายทหารของประเทศอื่นๆ ที่ประจำอยู่ในประเทศไทย รวมทั้งเป็นที่ปรึกษาของเอกอัครราชทูต อัครราชทูต หรืออุปทูตของปากีสถานเกี่ยวกับกิจการทางทหาร และการปฏิบัติหน้าที่อื่นตามที่ได้รับมอบหมายจากผู้บังคับบัญชา”

พันเอกไซยิด มูฮัมหมัด ราซา อุล ฮัซเนน (Colonel Syed Muhammad Raza Ul Hasnain) เล่าถึงการปฏิบัติงานในฐานะผู้ช่วยทูตฝ่ายทหารสาธารณรัฐอิสลามปากีสถานประจำประเทศไทย

ภารกิจหลักที่สำคัญ คือการยกระดับความร่วมมือด้านการป้องกันประเทศ ส่งเสริมและกระชับความสัมพันธ์ระหว่างกองทัพไทยกับกองทัพปากีสถานให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น และเนื่องจากผมมีหน้าที่ครอบคลุมอีกสามประเทศคือ สปป.ลาว กัมพูชา และเวียดนาม จึงมีภารกิจที่คล้ายคลึงกันกับสามประเทศดังกล่าว”

“รวมทั้งการมีปฏิสัมพันธ์ในด้านต่างๆ ทั้งกับสื่อมวลชน สถาบันวิชาการทหาร หน่วยงานภาคต่างๆ ของรัฐ เป็นต้น”

กองทัพปากีสถานได้รับการจัดอันดับให้เป็นกองทัพที่ใหญ่ที่สุดเป็นอันดับ 6 ของโลกในแง่กำลังประจำการ

และมีขนาดใหญ่ที่สุดในบรรดาประเทศมุสลิมทั้งหมด ประกอบด้วยกองกำลังหลักจากสามเหล่าทัพ ได้แก่ กองทัพบก กองทัพเรือ (ซึ่งรวมนาวิกโยธินปากีสถาน) และกองทัพอากาศ รวมกับหน่วยจู่โจมและหน่วยทหารพราน (paramilitary forces) ซึ่งทั้งหมดจะอยู่ภายใต้การบังคับบัญชาของกองทัพปากีสถาน

เพื่อยืนยันความสัมพันธ์อันใกล้ชิดและยาวนานในด้านการทหาร พันเอกราซา อุล ฮัซเนน พูดถึงความร่วมมือด้านการป้องกันประเทศระหว่างกองทัพไทยและปากีสถาน

เริ่มจากความร่วมมือด้านความมั่นคงทางทะเล (Maritime Security Cooperation)

“กองทัพเรือปากีสถานและกองทัพเรือไทยได้มีการแลกเปลี่ยนการเยือนของหน่วยเรือที่ผ่านมา รวมทั้งมีการศึกษาดูงานทั้งที่อู่ต่อเรือและที่ฐานทัพเรืออยู่หลายครั้ง โดยเรือรบของปากีสถานเองนั้นก็ได้มีการแวะเทียบท่าในประเทศไทยหลายครั้งระหว่างการฝึก ลำแรกมาในปี ค.ศ.1988 ต่อมาในปี ค.ศ.2010 และ 2013”

“ด้วยไมตรีจิตอันดีเพื่อที่จะกระชับความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศ เรือรบปากีสถาน PNS SAIF ซึ่งเป็นเรือฟริเกตที่บรรทุกเฮลิคอปเตอร์ปราบเรือดำน้ำ Z9EC ได้เดินทางมาถึงประเทศไทยและจอดเทียบท่าที่พัทยาเป็นเวลา 6 วัน ในระหว่างวันที่ 16-21 พฤศจิกายน ค.ศ.2017 เพื่อเข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของมหกรรมทางเรือนานาชาติ เนื่องในโอกาสครบรอบ 50 ปี การก่อตั้งอาเซียน (International Fleet Review to commemorate 50 Anniversary of ASEAN) ณ บริเวณอ่าวพัทยา ซึ่งงานนี้จัดโดยกองทัพเรือไทย (RTN)”

“ที่ผ่านมาไทยและปากีสถานได้มีความร่วมมือกันในการจัดการปัญหาภัยคุกคามที่ส่งผลกระทบต่อความมั่นคงทางทะเล โดยมีการแลกเปลี่ยนการประชุมเพื่อหารือถึงแนวทางในการแก้ไขปัญหาดังกล่าวอย่างจริงจัง”

“โดยล่าสุด ศูนย์ประสานการปฏิบัติงานในการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล หรือ ศรชล. (Thailand Maritime Enforcement Coordinating Center : THAI-MECC) ได้ส่งผู้แทนระดับสูงเข้าร่วมการประชุมหัวหน้าหน่วยยามฝั่งอาเซียนครั้งที่ 13 (The 13th Heads of Asian Coast Guard Agencies Meeting : HACGAM) ณ เมืองการาจี ในเดือนตุลาคม ค.ศ.2017 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้หน่วยงานยามฝั่งของประเทศต่างๆ ในภูมิภาคเอเชีย ได้ร่วมกันจัดการปัญหาภัยคุกคามที่ส่งผลกระทบต่อความมั่นคงทางทะเล โดยใช้อำนาจหน้าที่ของหน่วยงานรักษากฎหมายทางทะเล (Maritime Law Enforcement)”

“พร้อมกันนี้ ตัวแทนจากกองทัพเรือของทั้งสองประเทศได้เข้าร่วมในการประชุมสัมมนากองทัพเรือในภูมิภาคมหาสมุทรอินเดีย (Indian Ocean Naval Symposium : IONS) เป็นประจำทุกปี นอกจากนี้ ที่ผ่านมา ทางราชนาวีไทยก็ได้ส่งผู้แทนเข้าร่วมการฝึก AMAN ( Exercise “AMAN) ซึ่งเป็นการฝึกทางทะเลของกองทัพเรือปากีสถาน ในฐานะผู้สังเกตการณ์ร่วมกับผู้แทนอีกหลายประเทศด้วยเช่นกัน”

ผู้ช่วยทูตฝ่ายทหารปากีสถานกล่าว

ความร่วมมือระหว่างกองทัพไทย (Royal Thai Armed Forces) กับกองทัพปากีสถาน (Pakistan Armed Forces)

“ทั้งสองฝ่ายได้จัดเวทีการพูดคุยระหว่างเจ้าหน้าที่อาวุโสและคณะกรรมการร่วมด้านการส่งกำลังบำรุง ( Joint Logistic Committee Meeting) เป็นประจำทุกปีทั้งที่ประเทศไทยและปากีสถาน”

“นอกจากนี้ การหารือกันในประเด็นที่เกี่ยวกับความร่วมมือทวิภาคีด้านการป้องกันประเทศระหว่างสามเหล่าทัพกำลังอยู่ในขั้นตอนสุดท้ายของบันทึกความเข้าใจในความร่วมมือด้านการป้องกันประเทศ ซึ่งจะเป็นแนวทางในการเสริมสร้างความร่วมมือด้านการป้องกันประเทศในระดับทวิภาคีต่อไป”

ความร่วมมือในการฝึกอบรมทางทหาร (Military Training Cooperation)

“เรามีการแลกเปลี่ยนการฝึกอบรมกันอยู่เป็นประจำ นายทหารปากีสถานหลายนายได้เข้ารับการฝึกอบรมในหลักสูตรเสนาธิการทหารของกองทัพบกไทย (RTA) รวมถึงหลักสูตรวิชาการป้องกันประเทศของกองทัพไทย (RTARF) อีกด้วย เช่นเดียวกันกับที่ทางกองทัพไทยได้ส่งนายทหารไปศึกษาที่วิทยาลัยเสนาธิการทหารของปากีสถานในหลักสูตรระดับเดียวกัน”

ในด้านยุทธศาสตร์การต่อต้านการก่อการร้าย (Counter Terrorism Strategy) ผู้ช่วยทูตฝ่ายทหารปากีสถานกล่าวว่า

“บันทึกความเข้าใจว่าด้วยการต่อต้านการก่อการร้ายมีผลมาตั้งแต่ปี ค.ศ.2004 ทำให้เกิดการแบ่งปันประสบการณ์ซึ่งกันและกันจากทั้งสองฝ่าย โดยมีการแลกเปลี่ยนการฝึกระหว่างศูนย์ต่อต้านการก่อการร้ายสากล (Counter Terrorist Operations : CTOC) ของกองบัญชาการกองทัพไทย กับกรมยุทธศึกษาทหาร (Military Training Directorate) ของกองทัพปากีสถานเป็นประจำทุกปีทั้งในประเทศไทยและปากีสถาน”

การแบ่งปันข่าวกรอง (Intelligence Sharing)

“ทั้งสองฝ่ายยังมีกลไกร่วมกันในการปฏิสัมพันธ์ มีการแบ่งปันข่าวกรองและข้อมูลอย่างต่อเนื่องในการต่อต้านการก่อการร้าย การค้ามนุษย์ และการก่ออาชญากรรมข้ามชาติ เป็นต้น เพื่อแสวงหาความมั่นคงและสันติภาพที่ยั่งยืน”

หน่วยข่าวกรองปากีสถาน (Inter-Services Intelligence: ISI) ได้ชื่อว่า เป็นหนึ่งในสิบหน่วยข่าวกรองที่ดีที่สุดในโลกในปี ค.ศ.2018 (http://www.bbcnewshub.com/top-10-most-powerful-intelligence-agencies-in-the-world-2018/)

ความร่วมมือในด้านอุตสาหกรรมการป้องกันประเทศ (Collaboration in Defence Industry)

“ผู้แทนระดับสูงของไทยและปากีสถานได้แลกเปลี่ยนการเยือนเพื่อศึกษาดูงานในด้านอุตสาหกรรมป้องกันประเทศ โดยคณะผู้แทนไทยได้เดินทางไปเยี่ยมชมโรงงานผลิตอาวุธยุทโธปกรณ์ พร้อมกับเยี่ยมชมเมืองแห่งอุตสาหกรรมการบิน (Aviation city) และโรงงานที่ผลิตรถถัง รถหุ้มเกราะของปากีสถาน นอกจากนี้แล้ว คณะผู้แทนไทยยังได้เข้าร่วมงาน International Defense Exhibition and Seminar (IDEAS) ในปากีสถานเมื่อปี ค.ศ.2008 ส่วนปีนี้ มีการจัดงานนิทรรศการความมั่นคงและการป้องกันประเทศ (Defence and Security Exhibition) ที่ประเทศไทย ปากีสถานก็ได้ส่งคณะผู้แทนมาร่วมงาน โดยมีการออกบูธแสดงอาวุธยุทโธปกรณ์ที่ปากีสถานผลิตขึ้นเองในงานครั้งนี้ด้วย ปัจจุบัน ความร่วมมือในอุตสาหกรรมการป้องกันประเทศมีแนวโน้มที่ดีขึ้น”

การบรรเทาภัยพิบัติ (Human Disaster Relief)

“กองทัพปากีสถานมีความชำนาญในการกู้คืนภัยพิบัติอย่างมีประสิทธิภาพ (High Availability Disaster Recovery : HADR) โดยกองทัพได้เป็นผู้ให้ความช่วยเหลือและสนับสนุนในการทำงานของสำนักงานจัดการภัยพิบัติแห่งชาติ (National Disaster Management Authority : NDMA)”

“ซึ่งในอนาคตอันใกล้นี้ เราจะได้เห็นความร่วมมือในการบริหารจัดการเพื่อบรรเทาสาธารณภัยของทั้งสองประเทศ โดยสำนักงานจัดการภัยพิบัติแห่งชาติได้มีการประสานผ่านมาทางกระทรวงมหาดไทยของไทย”

“เมื่อไม่นานมานี้ ปากีสถานก็ได้เข้าร่วมคอบร้าโกลด์ (Cobra Gold 2018) ในฐานะสมาชิก COLT ด้วย” ผู้ช่วยทูตฝ่ายทหารปากีสถานประจำประเทศไทยกล่าว

คอบร้าโกลด์เป็นการฝึกร่วม/ผสมทางการทหารระดับพหุภาคีที่ใหญ่ที่สุดในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก การฝึกในปีนี้จัดขึ้นระหว่าง 14-23 กุมภาพันธ์ นับเป็นครั้งที่ 37 ประเทศเข้าร่วมการฝึกหลัก 7 ประเทศ ได้แก่ ไทย สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น สาธารณรัฐเกาหลีใต้ อินโดนีเซีย มาเลเซีย และสิงคโปร์ โดยมี 2 ประเทศ คือจีนและอินเดีย เข้าร่วมในส่วนโครงการช่วยเหลือประชาชน

นอกจากนี้ ยังมีประเทศในโครงการฝ่ายเสนาธิการผสมส่วนเพิ่มนานาชาติ จำนวน 10 ประเทศ และประเทศที่เข้าร่วมสังเกตการณ์การฝึก (Combined Observer Liaison Team : COLT) มีจำนวน 10 ประเทศ ได้แก่ เมียนมา ลาว เวียดนาม บรูไน สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ชิลี ปากีสถาน ศรีลังกา สวีเดน และบราซิล โดยรวมทั้งสิ้น 29 ประเทศ และมีจำนวนผู้เข้ารับการฝึกรวม 11,075 นาย

เป็นการฝึกร่วมคอบร้าโกลด์ประสบความสำเร็จในการสร้างความสัมพันธ์และความสามารถในการปฏิบัติการร่วมกันระหว่างประเทศที่เข้าร่วมการฝึก ความสัมพันธ์ที่เกิดขึ้นจากการเข้าร่วมการฝึกคอบร้าโกลด์ และเทคนิคระดับพหุภาคีที่ประสบความสำเร็จ ได้ช่วยยกระดับความร่วมมือและการประสานงานในภูมิภาค เพิ่มพูนความสามารถของประเทศที่เข้าร่วมการฝึกให้รับมือกับข้อกังวลด้านความมั่นคงร่วมกันได้

“สำหรับในปีนี้ กองทัพอากาศปากีสถานได้เชิญกองทัพอากาศไทยให้เข้าร่วมเป็นผู้สังเกตการณ์ในการฝึกอบรมทางอากาศ (ACES-2018) เพิ่มเติมนอกเหนือจาก การฝึกต่อต้านการก่อการร้าย การสัมมนาและการประชุมต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นตลอดทั้งปีนี้”

พันเอกราซา อุล ฮัซเนน กล่าว

ทั้งนี้ สืบเนื่องจากการมาเยือนประเทศไทยเมื่อปี ค.ศ.2015 ของ พล.อ.ราชัด มาห์มูด (General Rashad Mahmood) ประธานคณะเสนาธิการร่วม (Chairman of the Joint Chiefs of Staff Committee) เทียบเท่าผู้บัญชาการทหารสูงสุด กองทัพสาธารณรัฐอิสลามปากีสถานและคณะ ซึ่งได้มีการหารือร่วมกับกองทัพไทยในการพัฒนาและขยายความร่วมมือระหว่างกันจากบันทึกความเข้าใจว่าด้วยการสนับสนุนการส่งกำลังบำรุงร่วมระหว่างกระทรวงกลาโหมไทยกับกระทรวงกลาโหมปากีสถานที่ได้ลงนามร่วมกันตั้งแต่วันที่ 4 มีนาคม ค.ศ.2002

โดยไทยและปากีสถานเห็นพ้องร่วมกันในการขยายความร่วมมือทางทหารระหว่างกันให้มากขึ้น ทั้งด้านการฝึก การศึกษา และการแลกเปลี่ยนการเยือนระดับต่างๆ รวมทั้งอุตสาหกรรมป้องกันประเทศ

จึงมีการจัดตั้งคณะทำงานร่วมกันและพัฒนาไปสู่การจัดทำบันทึกความเข้าใจร่วมกัน ในความร่วมมือด้านการป้องกันประเทศต่อไป