วรศักดิ์ มหัทธโนบล / จักรวรรดิในกำแพง : กำเนิดจักรวรรดิ (11)

วรศักดิ์ มหัทธโนบล

ฮั่นสมัยแรกกับรากฐานเอกภาพใหม่ (ต่อ)

บทบาทและอำนาจของพระชนนีหลี่ว์เป็นไปอย่างโหดเหี้ยมอำมหิต โดยเฉพาะกับบุคคลที่พระนางริษยาหรือเห็นว่าจะเป็นเสี้ยนหนาม

เช่น สนมคนโปรดของฮั่นเกาตี้นั้น พระนางไม่เพียงให้จับกุมคุมขังและทรมานอย่างเหี้ยมโหดจนสิ้นพระชนม์เท่านั้น หากยังวางยาพิษโอรสของสนมจนสิ้นพระชนม์ด้วยเช่นกัน หรือทรงสังหารโอรสสามองค์ของฮั่นเกาตี้ที่พระนางเห็นว่าจะต่อต้านพระนางอีกด้วย เป็นต้น

ที่สำคัญ การเข้ามาแทรกแซงการเมืองของพระชนนีหลี่ว์ในครั้งนี้นับเป็นเบาะแสแรกๆ ที่จะนำไปสู่การแทรกแซงในลักษณะเดียวกันในกาลข้างหน้าอีกด้วย จนเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้บางราชวงศ์ของจีนต้องได้รับผลสะเทือนอยู่ไม่น้อย

แม้การเมืองจะตกอยู่ในสภาพข้างต้นก็ตาม แต่ราชวงศ์ก็ยังไม่ถึงกับล่มสลาย ด้วยว่ายังมีเสนามาตย์ที่มีความภักดีและมากความสามารถคอยประคองราชวงศ์ให้ตั้งอยู่ต่อไปได้ สภาพเช่นนี้ดำเนินไปจนถึง ก.ค.ศ.180 ก็สิ้นสุดลงเมื่อพระชนนีหลี่ว์สิ้นพระชนม์

จากนั้นกษัตริย์แห่งรัฐฉีซึ่งเป็นนัดดาของฮั่นเกาตี้ก็กรีธาทัพเข้ามายึดเมืองหลวง ในขณะเดียวกัน เสนามาตย์ที่ประคองราชวงศ์อยู่ในเมืองหลวงก็เห็นว่า ถึงเวลาอันควรแล้วที่วงศานุวงศ์สกุลหลิวจักได้กลับมาปกครองอีกครั้งหนึ่ง

เสนามาตย์เหล่านี้ต่างเห็นพ้องกันว่า หลิวเหิง หนึ่งในโอรสของฮั่นเกาตี้เหมาะที่จะเป็นจักรพรรดิองค์ต่อไป จากเหตุนี้ หลิวเหิงจึงได้ก้าวขึ้นเป็นจักรพรรดิโดยมีพระนามว่า ฮั่นเหวินตี้ (ก.ค.ศ.108-157)

วงศานุวงศ์สกุลหลิวจึงกลับมามีอำนาจอีกครั้ง และได้นำพาการเมืองของฮั่นสมัยแรกไปสู่ช่วงที่สอง

 

ช่วงที่สอง แม้จะเป็นช่วงที่นับแต่ฮั่นเหวินตี้ขึ้นครองราชย์ก็จริง แต่นักประวัติศาสตร์ได้รวมเอาบทบาทของจักรพรรดิอีกพระองค์หนึ่งเข้ามาด้วย นั่นคือ ฮั่นจิ่งตี้ (ก.ค.ศ.157-141) แล้วเรียกขานการเมืองในช่วงนี้ว่า “การเมืองสมัยเหวินจิ่ง” (เหวินจิ่งจือจื้อ)

การเรียกขานเช่นนี้แม้จะมีนัยเชิงบวกเพื่อสื่อถึงความรุ่งเรืองของยุคนี้ก็ตาม แต่ก็มิได้หมายความว่าการเมืองในยุคนี้จะไร้ซึ่งปัญหา และปัญหาที่ว่าก็คือ ภายในมีเจ้าศักดินาแข็งข้อ ภายนอกมีซย์งหนูรุกราน

ทั้งนี้ ควรกล่าวด้วยว่า เจ้าศักดินาในสมัยฮั่นนี้ได้เปลี่ยนจากยุคก่อนหน้าไปไม่น้อย คือจากเดิมที่เคยเป็นคำแสดงลำดับชั้นของขุนนางในสถาบันการเมืองเมื่อต้นจักรวรรดินั้น มาถึงสมัยนี้หมายถึงตำแหน่งขุนนางสูงศักดิ์ระดับที่สองจากที่มีอยู่สองระดับ

ขุนนางในตำแหน่งนี้จักได้ปกครองรัฐต่างๆ ที่ขึ้นต่อราชวงศ์ และถือเป็นการปูนบำเหน็จความดีความชอบขั้นสูงสุดจากที่มีอยู่ 20 ขั้นที่ขุนนางจะได้รับจากจักรพรรดิ

จากเหตุนี้ เจ้าศักดินาเหล่านี้จึงมีแรงจูงใจอยู่สองประการคือ แรงปรารถนาในอันที่จะได้รับการปูนบำเหน็จความดีความชอบจากจักรพรรดิ กับแรงปรารถนาที่จะนำเจตจำนงของรัฐไปปฏิบัติให้ทั่วจักรวรรดิเท่าที่จะเป็นไปได้

อย่างไรก็ตาม เมื่อมีตำแหน่งที่ว่าแล้วคำเรียกขานตำแหน่งยังคงเรียกว่า หวัง ที่หมายถึง กษัตริย์ ไม่ต่างจากก่อนหน้านี้ แต่ที่ต่างออกไปก็คือ อำนาจในการตัดสินใจในเรื่องสำคัญที่มีสูงกว่าแต่ก่อน

 

เริ่มจากปัญหาภายในที่มาจากเจ้าศักดินาที่เป็นกษัตริย์ปกครองรัฐต่างๆ ที่โดยมากแล้วก็คือบุคคลในสกุลหลิวที่ฮั่นเกาตี้ทรงให้มาแทนบรรดาบุคคลนอกสกุลนั้น ได้ขยายเขตแดนของตนออกไปกว้างไกลยิ่งขึ้น ทั้งยังมีเมืองใต้บังคับอีกนับสิบเมือง สามารถตั้งขุนนาง จัดเก็บภาษีอากร และหล่อเหรียญกษาปณ์ได้ด้วยตัวเอง

จากเหตุนี้ จึงทำให้กษัตริย์เหล่านี้ครอบครองพื้นที่มากกว่าครึ่งของจักรวรรดิ ซึ่งนับว่าอ่อนไหวต่ออำนาจของส่วนกลางในสมัยเหวินจิ่งอย่างมาก

จนถึง ก.ค.ศ.154 ฮั่นจิ่งตี้จึงตัดสินพระทัยยึดอำนาจจากกษัตริย์รัฐฉู่ อู๋ จ้าว และเจียวซี เหตุครั้งนี้ทำให้อู๋ที่เป็นรัฐที่เข้มแข็งที่สุดไม่พอใจ และได้เสนอให้รัฐอื่นอีกหกรัฐร่วมแข็งข้อต่อราชวงศ์จนกลายเป็นเหตุการณ์ที่เรียกว่า “วิกฤตการณ์เจ็ดรัฐ” ขึ้นมา

แรกที่เกิดวิกฤตนั้น ฮั่นจิ่งตี้พยายามประนีประนอมด้วยการประหารชีวิตขุนนางเจ้าของความคิดให้ยึดอำนาจกษัตริย์เหล่านี้ แต่กษัตริย์ทั้งเจ็ดรัฐก็ยังไม่พอใจ เมื่อหมดหนทางเช่นนี้ ฮั่นจิ่งตี้จึงทรงตั้งให้มหาอำมาตย์นามว่า โจวย่าฟู (เป็นมหาอำมาตย์ระหว่าง ก.ค.ศ.150-147) เป็นแม่ทัพใหญ่เข้าปราบการก่อกบฏของรัฐทั้งเจ็ด

ด้วยความสามารถของแม่ทัพผู้นี้ทำให้ทัพอู๋และฉู่ประสบความพ่ายแพ้อย่างหนัก โดยกษัตริย์อู๋ถูกฆ่าตาย ส่วนกษัตริย์ฉู่กระทำอัตวินิบาตกรรม จากนั้นรัฐที่เหลืออีกห้ารัฐจึงค่อยถูกปราบลงอย่างราบคาบ โดยกษัตริย์ของทั้งห้ารัฐนี้ต่างก็กระทำอัตวินิบาตกรรมทั้งหมด

วิกฤตการณ์เจ็ดรัฐจึงยุติลง

 

วิกฤตการณ์ครั้งนี้ทำให้เห็นว่า แนวความคิดของฮั่นเกาตี้ที่ต้องการให้อำนาจของราชวงศ์ผูกขาดโดยบุคคลในสกุลหลิวนั้น ถึงที่สุดแล้วก็มิอาจแก้ปัญหาเสถียรภาพในระดับโครงสร้างได้

เพราะพอมาถึงจุดหนึ่งแล้ว บุคคลในสกุลหลิวที่เป็นกษัตริย์ปกครองรัฐต่างๆ ก็กลับเป็นภัยคุกคามเสถียรภาพของราชวงศ์เสียเอง

ส่วนการรุกรานที่มาจากชนชาติซย์งหนูนั้น ถือเป็นปัญหาที่มีมาตั้งแต่สมัยฉินแล้ว มาถึงสมัยฮั่นปัญหานี้ก็ยังคงอยู่ แต่ยุคเหวินจิ่งได้ใช้นโยบายเฝ้าระวังการรุกรานควบคู่ไปกับแนวทางสันติกับซย์งหนู

นโยบายเฝ้าระวังนั้นเข้าใจได้ว่าเป็นไปเพื่อความประมาท แต่แนวทางสันตินั้นก็คือนโยบายที่เรียกว่า เหอชิน หรือนโยบายสันติเชิงเครือญาติ (peace and kinship)

ภายใต้นโยบายนี้ทำให้สองฝ่ายประสบความสำเร็จในการเจรจา โดยทั้งสองฝ่ายมีการแลกเปลี่ยนเครื่องบรรณาการกัน มีการแต่งงานในหมู่เครือญาติ และมีความสัมพันธ์ที่เสมอภาคระหว่างกัน เป็นต้น

เมื่อเป็นเช่นนี้ผู้นำสูงสุดของซย์งหนูที่เรียกขานกันว่า ฉานอี๋ว์ จึงถูกเปรียบจากจีนว่าเสมอด้วย ฮว๋างตี้ หรือจักรพรรดิ และนับญาติกันเสมอด้วยพี่น้อง ดังจะเห็นได้จากความตอนหนึ่งของสาส์นที่ฮั่นเหวินตี้ที่ทรงเขียนขึ้นเมื่อ ก.ค.ศ.162 ที่ว่า

“ข้าพเจ้ากับฉานอี๋ว์ คือบุพการีของราษฎร ปัญหาเสื่อมทรามที่เคยมีมาแต่อดีตไม่สำคัญพอที่จะทำลายความสุขฉันพี่น้องของเราไปได้

“ข้าพเจ้าเคยสดับมาว่า สวรรค์มิได้ปกป้องผู้ใดผู้หนึ่ง พิภพมิอาจแบ่งให้ผู้ใดผู้หนึ่ง ข้าพเจ้ากับฉานอี๋ว์ จักทิ้งปัญหาที่ไร้ซึ่งความสำคัญในอดีตนี้ไว้ข้างทาง แลจักก้าวตามวิถีที่ยิ่งใหญ่ไปด้วยกัน”

และจากแนวทางเช่นนี้จึงทำให้ปัญหาซย์งหนูในยุคเหวินจิ่งค่อนข้างสงบ

 

อนึ่ง เรื่องเกี่ยวกับผู้นำซย์งหนูในยุคที่กำลังกล่าวถึงอยู่นี้มีประเด็นที่พึงกล่าวเพิ่มเติมด้วยว่า จำเดิมชนชาวซย์งหนูยังมิได้ใช้คำว่า ฉานอี๋ว์ มาเรียกผู้นำสูงสุด (supreme leader) ของตน แต่มาเรียกในตอนที่บุคคลหนึ่งนามว่า เม่าตุ้น ได้สังหารบิดาของตนซึ่งเป็นผู้นำซย์งหนูแล้วตั้งตนเป็นผู้นำแทน

เมื่อเป็นผู้นำแล้วเม่าตุ้นจึงได้บัญญัติคำเรียกขานผู้นำสูงสุดว่า ฉานอี๋ว์ โดยใช้คำนี้ควบคู่ไปกับชื่อของตนว่า เม่าตุ้นฉานอี๋ว์ (ก.ค.ศ.?-174) เหตุการณ์นี้เกิดเมื่อ ก.ค.ศ.209 หรือสามปีก่อนที่ราชวงศ์ฮั่นจะถูกตั้งขึ้น

จากนั้นเม่าตุ้นก็ทำศึกกับชนชาติที่มิใช่ฮั่นต่างๆ ในแถบภาคเหนือ จนสามารถขยายดินแดนได้กว้างไกลกลายเป็นจักรวรรดิขึ้นมา และหลังจากเม่าตุ้นเสียชีวิตไปเมื่อ ก.ค.ศ.174 แล้ว บุตรของเขาก็ก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำต่อจากเขาโดยยังคงนโยบายของผู้เป็นบิดาต่อไป

ช่วงนี้เองที่ตรงกับยุคฮั่นเหวินตี้ที่กล่าวไปข้างต้น