อภิญญ ตะวันออก / ตามรอยพระตะบอง : 110 ปี-พระยาอภัยธิ/ภูเบศร (จบ)

ข้อสังเกตประการหนึ่ง กล่าวคือ เมื่อเจ้าพระยาโฆธิธรรม-พระคฑาธรเยีย เสียชีวิตนั้น เป็นที่บ่งชัดว่า ต่างกันระหว่างปีเขมรกับปีไทย (2435-2438)

ทว่า ขณะยังชราภาพนั้นพระคฑาธรเยียได้มอบหมาย “หม่อมกลิบ” บุตรีคนโต ช่วยว่าราชการงานหลวงและงานราษฎร์อย่างไม่เป็นทางการ

เจ้าเมืองพระตะบองท่านนี้ มีบุตรกับหม่อมทิมหรือทับทิมทั้งหมด 5 คน โดยบุตรี 4 คน ต่างมีคำนำหน้านามอย่างลักษณะอันผิดแผกไปจากธรรมเนียมทั้งแบบเขมรและไทย นั่นคือ ลำดับที่ 1 และ 2 ใช้คำนำหน้าว่า “นักมจะ” หรือ “หม่อม” คือ หม่อมกลิบและหม่อมแย้ม

ส่วนลำดับที่ 3 และ 5 ใช้คำว่า “จวาย/เจ้าวาย/Chav Vay” และ “โลกนาย” แบบเดียวกับบุรุษชั้นขุนนางของกัมพูชา (ที่ผสมด้วยศัพท์แสงในแบบไทย) นั่นคือจวายอิด (3) และ โลกนายสมบุน

ชุ่ม (ชุ่ม อภัยวงศ์) บุตรชายคนเดียวกับภริยาเอก จึงได้รับการคาดหมายที่จะสืบตำแหน่งเจ้าเมืองพระตะบองคนต่อไป

อย่างไรก็ตาม ในสมัยชุ่มนั่นเองที่เกิด “อภิศัพท์” เฉพาะของตระกูลอภัยธิ/ภูเบศรอย่างน่าสนใจ ดูจะมากกว่าสมัยเจ้าพระยาบดินทร์ (บดินทรเดชา) หรือ “เจ้าคุณ” เสียอีก ทั้งอิทธิพลทางภาษา ตลอดจนธรรมเนียบการสร้างวัด เช่น วัดพัตบองซึ่งเป็นเหมือนวัดประจำตระกูลเจ้าพระยาบดินทรเดชา

ซึ่งต่อมา คนของตระกูลอภัยธิ/ภูเบศรก็ถือเอาธรรมเนียมนี้ สร้างวัดประจำตระกูลในแต่ละรุ่น ตั้งแต่ครั้งพระปลัดที่กลับจากเมืองญวน

แต่นั้นมา ดูเหมือนธรรมเนียมแปลกๆ ในแบบพิสดารของเจ้าเมืองพระตะบอง ก็เกิด ณ มณฑลบูรพาอย่างน่าสนใจ กล่าวคือ นอกจากศัพท์ “เฉพาะ” ที่ผิดแผกข้างต้นแล้ว ยังเกิดธรรมเนียมใหม่ที่ใช้กับคนตาย โดยเมื่อพระคฑาธรเยียถึงแก่อนิจกรรมแล้ว มีการให้ราษฎรเรียกขานเจ้าเมืองซึ่งเสียชีวิตด้วยชื่อใหม่ว่า

“โลกมจะพระโกศ” หรือ “ท่านเจ้าพระโกศ”

อันเป็นที่ทราบดีว่า ราชาศัพท์ คำว่า “(ใน)พระโกศ” นี้ จะใช้ก็ต่อเมื่อกรณีที่พระมหากษัตริย์เสด็จสวรรคตเท่านั้น

อย่างแน่นอนว่า ชนชั้นขุนนางหรือสามัญก็อาจจะก้าวล่วง

แต่ก็เกิดขึ้นแล้วสมัยพระตะบอง

อย่างไรตาม ยังมีบันทึกหนึ่งกล่าวว่า โดยความเคารพที่มีต่อเจ้าพระยาบดินทรเดชา ทำให้พระคฑาธรเยียได้ยกหม่อมกลิบบุตรสาวให้สมรสกับบุตรชายเจ้าพระยาบดินทรเดชาซึ่งมีนามว่า “สิงห์ สิงหเสนี”

โดยกลิบที่เคยว่าราชการแทนบิดา ทำให้ฝ่ายไทยได้แต่งตั้งให้สิงห์ สิงหเสนี (เอม) ขึ้นผู้สำเร็จเมืองพระตะบองแทนพ่อตา

อย่างไรก็ตาม เกี่ยวกับเรื่องนี้ มิได้จบลงตรงที่ทายาทขุนนางไทย-เขมรของเจ้าพระยาบดินทร์และอภัยธิเบศร ได้ถือครองพระตะบองร่วมกันอย่างไร กล่าวคือ ดูเหมือนเวลาพ่อเมืองพระตะบองของสิงห์ สิงหเสนี (เอม) ดูจะสั้นมาก

เนื่องจากสิงห์ สิงหเสนี (เอม) ถึงแก่ชีวิตลงเสียก่อน

โดยบันทึกระบุว่า ชุ่ม อภัยวงศ์ น้องเมียหม่อมกลิบที่ริษยาอยู่เบื้องหลังการสังหาร

 

ในปี พ.ศ.2440 พระมหากษัตริย์ไทยโปรดเกล้าฯ ผู้สำเร็จราชการเมืองพระตะบองคนใหม่แก่ชุ่ม โดยตามบันทึกฝ่ายไทยกล่าวว่า “ชุ่มศึกษาราชการในสำนักสมเด็จเจ้าพระยามหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) เคยช่วยราชการบิดาที่พระตะบองในตำแหน่งเป็น “พระอภัยพิทักษ์” และ “มหาเสวกโท เจ้าพระยาอภัยภูเบศร” (ชุ่ม อภัยวงศ์/2404-2465) และ “เจ้าพระยาอภัยภูเบศร บรมนเรศร์สวามิภักดิ์ สมบูรณ์ศักดิ์สกุลพันธ์ ยุตธรรม์สุรภาพอัธยาศัย อภัยพิริยบรากรมพาหุ” ถือศักดินา 10,000 ไร่

ความโหดกร้าวของเจ้าพระยาพระตะบองคนที่ 6 และคนสุดท้ายนี้ เล่าลือในหูชาวพระตะบองว่า ถึงขนาดสังหารภริยาชาวเขมรของตน ฐานที่นางแอบหนีกลับเมืองเขมรระหว่างที่เจ้าพระยาแบนยังอยู่เมืองไทย

เกี่ยวกับเรื่องนี้ อาจจะมีความจริงหรือไม่ก็ตาม แต่ดูเหมือนบางส่วนของมุขปาถะเหล่านี้ ก็ดูจะเสริมแต่งและผลักให้เจ้าพระยาอภัยฯ แบน ที่มีความเป็น (ชาติ) อื่นซึ่งไม่ใช่เขมรอีกต่อไป

อย่างไรก็ตาม สำหรับเจ้าพระยาอภัยฯ ชุ่มนั้น ดูจะมุ่งเรื่องการรื้อฟื้นความเป็นของตระกูลของตนอย่างมากเช่นกันในยุคใหม่ของพระตะบอง ที่มีการพัฒนาใหม่ๆ ด้านโทรคมนาคม และการไปรษณีย์ระหว่างกรุงเทพฯ-พนมเปญ-ไซ่ง่อน

ส่วนคมนาคมนั้น ก็มีเรือจากพระตะบองจากท่าปากปรียผ่านพนมเปญและล่องไปถึงไซ่ง่อน มีสำนักงานธนาคารอินโดจีน (Banque de l”Indochine) เปิดทำการที่ท่าแพแห่งนี้ มีเรือขนถ่ายสินค้าในชื่อต่างๆ เช่น เรือทวา เรือโพกชัย

 

ขณะเดียวกันทางการเมือง ตั้งแต่ พ.ศ.2436 เรื่อยมา ฝรั่งเศสได้เริ่มกดดันไทยให้คืนพระตะบองอย่างวิกฤต โดยเริ่มจากบังคับให้เป็นเขตปลอดทหาร ไม่มีสิทธิ์ขาดขยายค่ายคูเมืองและเคลื่อนย้ายกองกำลังพลประจำการ

แลพบว่า การสืบอำนาจของเจ้าพระยาอภัยธิ/ภูเบศรชุ่ม ที่แม้จะปกครองพระตะบองเพียง 10 ปี แต่ก็มีความน่าสนใจอย่างมากทั้งด้านการจัดเก็บภาษี และวิธีสถาปนาความมั่งคั่งทางอำนาจด้วยสิ่งปลูกสร้างอันทันสมัย เช่น การสร้างวัดประจำตระกูลที่มีมาแต่ครั้งบรรพบุรุษ อย่างวัดด็อมเรยซอ (วัดช้างเผือก) และสมโภชพิธีกรรมต่างๆ ทางวัฒนธรรมจนเกิดการผสมผสานไปมาระหว่างเขมรและไทย

โดยเฉพาะงานสมโภชอย่างยิ่งใหญ่ในพิธีศพของเจ้าพระยาพระคฑาธรเยีย ที่มีการแสดงมหรสพครั้งใหญ่ทั้งแบบเขมร ไทย และกลุ่มชาติพันธุ์อื่นๆ มีการแสดงละครโขนรามเกียรติ์กับวงมโหรีพิณเพียต (พิณพาทย์) เขมร มหรสพละครในและละครนอก โดยยังระบุว่า เครื่องดนตรีแบบเดียวกันนี้ของไทยเรียกว่า “สาลิกาแก้ว”

เจ้าคณะมหรสพนี้ จัดว่าเป็นคนในว่านเครือเจ้าเมืองพระตะบอง ชื่อ วอิน นิมิต โดยนอกจากจะนิมิตให้มีการแสดงนานาของกลุ่มชาวรามัญกุลา ชาวลาวแล้ว ยังมีละคร กลุ่มชาวบ้านเรียกว่าละครหน้ากากหรือบาสัก

การสมโภชงานศพเจ้าพระยาคาฑาธรเยียที่ใหญ่ยิ่งอย่างสมเกียรตินี้ คือการบรรจุศพในพระโกศทอง ณ ทุ่งปะรำพิธีที่สร้างขึ้นบริเวณกำแพงทิศใต้ของวัดกำแพง เป็นลักษณะแบบท้องพระโรง (pavilion) โดยนอกจากการพระสงฆ์ทำการสวดพระอภิธรรมแล้ว การแสดงประโคมดนตรีและมหรสพทุกรูปแบบนี้ยังมีขึ้นทุกๆ วัน โดยในเพลากลางคืนนั้น ยังมีการจุดพลุไฟแบบต่างๆ อีกด้วย

เทียบกับพระราชพิธีสมโภชพระศพชั้นกษัตริย์เขมรแล้ว นับเป็นงานพิธีที่ยิ่งใหญ่มากกว่าครั้งใดในหมู่ชนสามัญ

 

พระตะบองเวลานั้น กล่าวกันว่า ยังมีการละเล่นต่างๆ มากมายโดยเฉพาะด้านกีฬาซึ่งเป็นที่นิยม เช่นชกมวย ซึ่งในพระตะบองนี้ ถือเป็นตำรับมวยไม่คาดเชือก แต่ชกกันถึงตายเลยทีเดียว

มีการเตะต่อยต่อสู้อย่างค่อนข้างโหดร้าย กล่าวคือ กันด้วยมือเปล่าหรือด้วยสนับมืออาวุธ และไร้กติกา หรือสู้กันไปจนกว่าฝ่ายหนึ่งจะล้มตึงแดดิ้นหรือถูกหามลงจากเวที

แต่ที่นิยมกันมากคือการ “ตีไก่ชน” โดยเฉพาะเจ้าพระยาอภัยธิเบศรชุ่มนั้น กล่าวกันว่า เป็นผู้มีนิสัยรักการตีไก่ยิ่งนัก จนถึงกับสร้างสนามตีไก่ของตนบริเวณในเขตป้อมกำแพง โดยมีน้องชายต่างมารดาคือ “คุณพระจันทร์” เป็นเจ้าผู้ดูแล สนามไก่ชนของพระยาอภัยธิเบศรนี้ เป็นที่ชุมนุมของพวกเศรษฐี พ่อค้า และคนร่ำรวยในพระตะบองพากันมาเล่นพนัน โดยใช้เงินพดด้วงหรือเหรียญคราวละมากๆ

ส่วนสนามไก่ชนของชาวบ้านซึ่งมีฐานะยากจนกว่า และมักจะพนันกันด้วยเงิน “กะ” หรือ “เงินเรียล” ซึ่งมีมูลค่าไม่กี่เฟื้องสลึง

เงินสกุลพระตะบองเวลานั้นใช้ร่วมกับสกุลเงินสยาม มีอยู่ 2 แบบคือ เงินกึง และเงิน/ปรักครุฑ ที่มีลักษณะเป็นตราครุฑด้านหนึ่ง ส่วนอีกด้านหนึ่งคือรูป “เปรียะด็อมบอง” (ตะบอง) ความหมายของตรา “พระตะบอง” บนเหรียญครุฑนี้เอง ที่ทำให้ทราบว่า “พระตะบองยังเป็นสิทธิ์ของเขมรด้วย” ตามที่ดู้จ ฌูงอ้าง

ทั้งการแลกเปลี่ยนเงินตราสมัยพระตะบองนี้ มีเสมียนชื่อเฉิกฉุยคอยทำหน้าที่แลกเปลี่ยนเงินตรา จนคนทั่วพระตะบองต่างมีคำพูดติดปากว่า

“ถ้าไม่มีสตางค์ก็ให้ไปเอาที่เฉิกฉุย”

 

อย่างไรก็ตาม นายเฉิกฉุยหรือโชคช่วยนี้ ใช่แต่ทำหน้าที่เสมียนตราเท่านั้น แต่ยังเป็นหุ้นส่วนในกิจการอื่นๆ ของเจ้าเมืองพระตะบอง เช่นบ่อนพนันต่างๆ โดยเฉพาะบ่อนสวายเปาที่เลื่องลือกันไม่ต่างกับพันธุ์มะม่วงเบา

ส่วนนายส่วยอากรภาษีชื่อไพธิเบศรนั่นเล่า ก็เป็นญาติฝ่ายหนึ่งเจ้าเมืองพระตะบอง โดยนับตั้งแต่หลวงกำปอดนายส่วยอากรคนแรก

บรรดาศักดิ์ของหลวงกำปอดนี้ทำให้เป็นที่ประจักษ์ว่า ตระกูลอภัยธิ/ภูเบศรนี้ เป็นชาวเขมรเก่าที่พยายามรักษาขนบเก่าแบบขุนนางเขมร ดังที่บรรพบุรุษ เจ้าพระยาอภัยฯแบน เคยมีตำแหน่งเป็นขุนนางเก่าเมืองกำปอด แม้ว่าหลวงกำปอดแห่งพระตะบองผู้นี้ที่ได้ชื่อว่าทารุณ จนถูกต่อต้านจากพวกราษฎร จนต่อม นายส่วยอากรภาษีจะเปลี่ยนชื่อเป็น “ไพธิเบศร” แทน

อย่างไรก็ตาม เพียง 10 ปีให้หลัง พระยาอภัยฯ ชุ่มพร้อมครอบครัวต้องจำพรากจากพระตะบองในปี พ.ศ.2450 และอพยพบ่าวไพร่ผู้คนจำนวนหนึ่ง ซึ่งติดตามมาตั้งรกรากที่เมืองปราจีน

กล่าวกันไปแล้ว นี่อาจทำให้เราทำความเข้าใจเสียใหม่ สำหรับคำว่า พระตะบองที่อยู่ภายใต้การปกครองของไทยมาถึง 112 ปี

แต่ดูเหมือนเราแทบไม่รู้จักอะไรเลย

รวมทั้ง “โลกมจะพระตะบอง” ทั้ง 6 ชั่วอายุคน