แฟ้มข่าวเศรษฐกิจ : “กรมศุล” รับจัดเก็บปีนี้พลาดเป้า / เซ็นทรัลทุ่ม 4.75 หมื่นล้านบุกออนไลน์ / กยท.ผนึกทีเฟ็กซ์ดันราคายางพุ่ง

เซ็นทรัลทุ่ม 4.75 หมื่นล้านบุกออนไลน์

นายทศ จิราธิวัฒน์ ประธานกรรมการบริหาร และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท กลุ่มเซ็นทรัล จำกัด กล่าวในงานแถลงข่าว “ยุทธศาสตร์ นิวเซ็นทรัล นิวอีโคโนมี” ที่โรงแรมเซ็นทารา แกรนด์ แอท เซ็นทรัลเวิลด์ กรุงเทพฯ ว่า กลุ่มเซ็นทรัลมีเป้าหมายมุ่งหน้าสู่การเป็นสุดยอดเทคคอมปานี และผู้นำด้านดิจิ-ไลฟ์สไตล์แพลตฟอร์ม แห่งแรกของประเทศไทย โดยปี 2561 จะทุ่มงบประมาณ 47,500 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 27.8% จากปี 2560 เพื่อขยายการลงทุนอย่างต่อเนื่องทั้งในต่างประเทศ ทั้งนี้ ตลอด 5 ปีที่ผ่านมา (2556-2560) ถือว่ากลุ่มเซ็นทรัลประสบความสำเร็จพอสมควร โดยตัวเลขยอดขายมีอัตราเติบโตเฉลี่ย 11% และในปี 2561 ตั้งเป้ายอดขายประมาณ 397,308 ล้านบาท คิดเป็นอัตราเติบโต 14% เทียบปี 2560

กยท.ผนึกทีเฟ็กซ์ดันราคายางพุ่ง

นายธีธัช สุขสะอาด ผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) กล่าวระหว่างลงนามบันทึกข้อตกลง (เอ็มโอยู) ความร่วมมือการสนับสนุนการซื้อขายและส่งมอบสินค้าอ้างอิงสำหรับสัญญาซื้อขายล่วงหน้าที่อ้างอิงกับยางแผ่นรมควันชั้น 3 ระหว่างการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) ตลาดซื้อขายล่วงหน้า (ทีเฟ็กซ์) ผู้ประกอบการยางพารา 3 ราย และบริษัทหลักทรัพย์ 5 ราย ที่ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ว่า การซื้อขายและส่งมอบยางพาราในตลาดสัญญาซื้อขายล่วงหน้า (ทีเฟ็กซ์) จะช่วยเปิดตลาดให้กับพี่น้องเกษตรกร อีกทั้งเป็นกลไกสำคัญที่ทำให้เกิดราคาซื้อขายที่เป็นธรรม นำไปสู่การตกลงราคาในตลาดซื้อขายจริงในประเทศ นอกเหนือจากการซื้อขายยางพาราในตลาดซื้อขายล่วงหน้าโตเกียว (โตคอม) ตลาดแลกเปลี่ยนสินค้าโภคภัณฑ์สิงคโปร์ (ไซคอม) และตลาดลาดล่วงหน้าจีน เซี่ยงไฮ้ ที่เป็นตลาดหลัก

“เอ็กโก” เสนอตัวลงทุนโรงไฟฟ้าใต้

นายจักษ์กริช พิบูลย์ไพโรจน์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ผลิตไฟฟ้า จำกัด (มหาชน) หรือเอ็กโกกรุ๊ป กล่าวว่า เอ็กโกกรุ๊ปเตรียมเสนอแผนบริหารไฟฟ้าภาคใต้ ที่เป็นการผสมผสานเชื้อเพลิงที่เหมาะสมในพื้นที่หลังโรงไฟฟ้าถ่านหินทั้งกระบี่และเทพาต้องศึกษาความเหมาะสมเชิงพื้นที่ใหม่ โดยแผนที่เสนอ อาทิ การเสนอขยายการผลิตโรงไฟฟ้าขนอม เชื้อเพลิงก๊าซ จ.นครศรีธรรมราช อีก 500 เมกะวัตต์ ซึ่งแนวทางต้องควบคู่กับนโยบายเสรีก๊าซธรรมชาติ ที่ปัจจุบันมีผู้เล่นในระบบเพียงบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) และการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) นอกจากนี้ ยังมีแผนเสนอตัวเข้าผลิตไฟฟ้าเชื้อเพลิงพลังงานหมุนเวียนใน 3 จังหวัดชายแดนใต้ 300 เมกะวัตต์ ตามนโยบายของนายศิริ จิระพงษ์พันธ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ที่ต้องการให้ลงทุนโรงไฟฟ้าเชื้อเพลิงหมุนเวียนในพื้นที่ เอ็กโกพร้อมร่วมประมูลหรือดำเนินการตามนโยบายรัฐบาล

“กรมศุล” รับจัดเก็บปีนี้พลาดเป้า

นายกุลิศ สมบัติศิริ อธิบดีกรมศุลกากร กล่าวภายหลังเปิดงานสัมมนาเพื่อประเมินผลกระทบจากพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ศุลกากร พ.ศ.2560 ว่า กรมปรับลดเป้าหมายการจัดเก็บภาษีในปีงบ 2561 ใหม่ คาดว่าจะมียอดจัดเก็บเพียง 1.05 แสนล้านบาท ต่ำกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ 1.11 แสนล้านบาท ประมาณ 4,500 ล้านบาท ส่วนหนึ่งมาจากการปรับลดอัตราภาษีตามข้อตกลงเขตการค้าเสรี (เอฟทีเอ) ต่างๆ นอกจากนี้ ยังเป็นผลจากการนำเข้ารถยนต์ตามข้อตกลงทางการค้ากับอินโดนีเซียและจีน ทั้งนี้ หลังจากกรมบังคับใช้ พ.ร.บ.ศุลกากรมาตั้งแต่วันที่ 13 พฤศจิกายน 2560 หรือครบ 3 เดือนแล้วพบว่าผู้ประกอบการต้องการให้ทุเลาเรื่องของสินค้าผ่านแดนในกฎหมายกำหนดเวลาไว้ไม่เกิน 30 วันจากกฎหมายเดิม 90 วัน ผู้ประกอบการระบุว่าไม่ทัน กรมจึงเตรียมหาทางออก เช่น ให้นำสินค้าไปเก็บไว้ที่คลังสินค้า หรือเขตปลอดอากรได้ แต่ต้องมีหลักฐานมายืนยันว่าทำไมถึงส่งออกไม่ทันตามกำหนด

7 ส.ปศุสัตว์บุกทำเนียบร้องนายกฯ

นายสุรชัย สุทธิธรรม นายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ กล่าวว่า เมื่อวันที่ 2 มีนาคม ตนพร้อมด้วย 7 ตัวแทนจากสมาคมผู้ผลิตไก่เพื่อส่งออกไทย สมาคมผู้เลี้ยงไก่เนื้อ สมาคมผู้เลี้ยงไก่พันธุ์ สมาคมผู้ผลิตผู้ค้าและส่งออกไข่ไก่ สมาคมผู้เลี้ยงเป็ดเพื่อการค้าและการส่งออก สมาคมปศุสัตว์ไทย พร้อมเกษตรกรภาคปศุสัตว์ร่วม 100 คน ได้เดินทางไปยังศูนย์รับเรื่องร้องทุกข์ สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี เพื่อยื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรีให้พิจารณายกเลิกมาตรการรับซื้อข้าวโพด 3 ส่วน ต่อการนำเข้าข้าวสาลี 1 ส่วน เพราะส่งผลกระทบถึงต้นทุนการเลี้ยงสัตว์ทำให้เกษตรกรประสบภาวะขาดทุน ซึ่งการมาร้องเรียนผ่านนายกฯ เพราะก่อนหน้านี้พยายามขอเข้าพบรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ที่กระทรวงพาณิชย์มาแล้วหลายครั้ง แต่ได้รับการบ่ายเบี่ยงมาโดยตลอด จนทนไม่ไหว จึงยกขบวนมาขอความช่วยเหลือจากนายกฯ

อสังหาฯ ลุยลงทุนดันดัชนีบริการพุ่ง

น.ส.พิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) แถลงดัชนีภาวะการค้าภาคบริการของไทยเดือนมกราคม 2561 ว่า ขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 13 ติดต่อกัน อยู่ที่ระดับ 113.7 สูงขึ้น 9.2% จากช่วงเดียวกันปี 2560 แต่มีอัตราชะลอลงจากเดือนธันวาคม 2560 ขยายตัว 11.9% โดยปัจจัยสำคัญที่ทำให้ขยายตัวเกิดจากจำนวนนิติบุคคลจดทะเบียนเพิ่มทุนในสาขาบริการมากขึ้น และดัชนีราคาหุ้นภาคบริการในตลาดหลักทรัพย์ฯ ขยายตัวเร่งขึ้น ขณะที่ปัจจัยที่ลดลง เช่น จำนวนนิติบุคคลจดทะเบียนจัดตั้งใหม่สุทธิ และการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศภาคบริการ ทั้งนี้ เมื่อพิจารณาภาคบริการในรายสาขาพบว่าขยายตัวเกือบทั้งหมด สาขาที่ขยายตัวเร่งขึ้น ได้แก่ การก่อสร้าง อสังหาริมทรัพย์ กิจกรรมวิชาชีพวิทยาศาสตร์และกิจกรรมทางวิชาการ และการศึกษา ส่วนสาขาที่ขยายตัวแต่ชะลอลงจากเดือนก่อนหน้า มี 7 สาขา คือการขายส่งและการขายปลีก การซ่อมยานยนต์และจักรยานยนต์ การขนส่งและสถานที่เก็บสินค้า ที่พักแรมและบริการด้านอาหาร ข้อมูลข่าวสารและการสื่อสาร กิจกรรมทางการเงินและการประกันภัย กิจกรรมด้านสุขภาพและงานสังคมสงเคราะห์ และศิลปะ ความบันเทิงและนันทนาการ

ขณะที่สาขาหดตัวมีเพียง 2 สาขา คือกิจกรรมการบริหารและบริการสนับสนุน และกิจกรรมการบริการด้านอื่นๆ