ฐากูร บุนปาน : เราจัดการประเทศกันด้วยคำสัญญาหรือว่าการกระทำ หรือ เพื่อประโยชน์ของใคร ?

ช่วงนี้ชีพจรลงเท้าครับ

กลับมาจากแถวตะวันออกกลางก็ลอยลมกับคณะของ ดร.โกร่ง-วีรพงษ์ รามางกูร และดั๊บเบิ้ลเอ ไปถึงออสเตรียนู่น

งานหลักเป็นเรื่องธุรกิจที่เขาไปตกลงทำความร่วมมือกับบริษัทผลิตเส้นใยธรรมชาติชนิดใหม่

ทำเสื้อผ้าจากชิ้นไม้สับ โดยกระบวนการทั้งหมดเป็นเรื่องทางกายภาพล้วนๆ ไม่มีการใช้สารเคมีเข้ามาเกี่ยวข้อง

น่าสนใจ และคงได้อภิปรายยาวกันคราวหลัง

แต่เสร็จงานแล้วก็ต้องหย่อนใจกันบ้าง

ไปถึงออสเตรีย ทั้งด้วยไฟต์บังคับของงานและการท่องเที่ยว

ก็ต้องไปพักค้างที่ซอลส์เบิร์ก-เมืองเกลือ

หรือเรียกเป็นบาลีให้เท่ๆ ก็ ละวะณังบุรี

ปัจจุบันนี้คนส่วนใหญ่รู้จักและจำเขาได้ในฐานะเมืองแห่งดนตรี

อันเนื่องมาจากเป็นบ้านเกิดของคีตกวีใหญ่โมซาร์ต

และเป็นฉากถ่ายทำภาพยนตร์เพลงระดับขึ้นหิ้ง-เดอะ ซาวด์ ออฟ มิวสิก

จนบางทีลืมๆ ไปว่าเมืองอายุร่วมพันปีแห่งนี้ สร้างและเติบโตขึ้นมาจากเกลือ

ผู้จัดรายการเดินทางจึงพาบุกขึ้นเขาเข้าถ้ำ แล้วดิ่งลงใต้บาดาลลงไปอีกร่วมๆ 200 เมตร

ได้สาระหรือความสนุกสนานขนาดไหน เอาไว้ว่ากันหนหลัง

แต่ที่อยากจะเสวนาธรรมหนนี้คือประเด็นว่าด้วย

การจัดการด้านการท่องเที่ยวครับ

ก่อนลงถ้ำเหมืองเกลือนั้น จะต้องผ่านร้านขายของที่ระลึก ซึ่งมีเกลือสารพัดชนิด สารพัดรูปแบบ สารพัดการใช้ประโยชน์เรียงราย

ดูแล้วก็งั้นๆ

อยากซื้ออยู่บ้าง แต่ไม่มาก

แต่พอลงไปใต้ดิน ฟังและดูความยากลำบากของการทำเกลือแต่ยุคโบราณจนถึงปัจจุบัน

กลับขึ้นมาบนผิวโลกใหม่

คราวนี้คนละตะกร้าใหญ่ๆ เจอเกลืออะไรก็กวาดใส่ลงไปหมด

อานุภาพของเรื่องเล่า

และประสิทธิผลของการจัดการโดยแท้

เมื่อเล่าเรื่องเป็นระบบ วิธีการนำเสนอน่าสนใจ

มีทั้งมัคคุเทศก์เล่า มีแสงสีเสียง มีหนังฉายให้ดู (ในถ้ำ)

มีมุขประเภทเดินลอดพรมแดนข้ามประเทศ

มีล่องเรือในบ่อเกลือ มีลงสไลเดอร์ไม้ของคนเหมืองลงไป 2 รอบ รอบละ 30-50 เมตร

คราวนี้เกลือก็ไม่ใช่แค่เกลืออีกต่อไป

และไม่ใช่แค่เกลือถุง 5 บาท 10 บาทธรรมดาอีกแล้ว

แต่เป็นของฝากสุดวิเศษ

และแน่นอน-ราคาก็วิเศษตามขึ้นไปด้วย

กลับเข้ามาในเมือง

อีกอย่างหนึ่งที่จะเห็นชินตาก็คือ ร้านค้าร้านเล็กร้านน้อย ที่ขึ้นป้ายหน้าร้าน-เพื่อการต้อนรับบรรดานักท่องเที่ยวทั้งหลายโดยเฉพาะ-ว่า Tax Free Shop

แปลว่าร้านค้าปลอดภาษีบ้านเขา ไม่ได้มีแต่เครือใหญ่

แต่การท่องเที่ยวของเขาสร้างโอกาสให้เกิดการกระจายรายได้ลงไปถึงระดับท้องถิ่น ระดับชาวบ้านอย่างแท้จริง

ถ้าจะบอกว่าสมัยก่อนเมืองไทยทำไม่ได้

เดี๋ยวนี้เราก็เข้ายุค 4.0 แล้วไม่ใช่หรือ

พร้อมเพย์ก็ทำแล้ว

บัตรคนจนยากกว่านี้ยังแจกกันได้เป็นล่ำเป็นสัน

ฐานระบบภาษีเงินได้ก็ออนไลน์ทั่วประเทศมาแล้วหลายปี

ฐานข้อมูลทะเบียนการค้า-ร้านค้าก็ออนไลน์แล้วเหมือนกัน

ถามว่าทำไมจะให้ชาวบ้านทำร้านค้าปลอดภาษีในท้องถิ่นไม่ได้

เขาไม่ได้เอาสินค้าต่างประเทศเข้ามาขายโดยไม่ติดอากร

ไม่ได้แข่งกับผู้ประกอบการรายใหญ่ที่ไปประมูลสัมปทานจากรัฐแน่นอน

แต่เป็นการยกระดับชาวบ้าน

เป็นการกระจายรายได้จริงๆ

เห็นท่านนายกรัฐมนตรี-พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และท่านรองนายกรัฐมนตรี-สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ ประสานเสียงบอกว่า

ประเด็นหลักของการทำงานเรื่องหนึ่งในปีนี้

คือการกระจายรายได้ โดยเฉพาะให้ลงไปสู่ท้องถิ่น-ชนบทมากขึ้น

ปีนี้รัฐมนตรีท่องเที่ยว-วีระศักดิ์ โควสุรัตน์ ก็ลุยขยายการท่องเที่ยวใน “เมืองรอง”

รัฐมนตรีพาณิชย์-สนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ ก็ประกาศไว้ตั้งแต่ปีก่อนว่าจะเข้าไปอุ้มชูหรือเปิดโอกาสให้ร้านค้ารายเล็กรายน้อยมากขึ้น

ลงว่าหลายท่านพูดพร้อมๆ กัน รัฐมนตรีคลัง-อภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ เขาจะใจไม้ไส้ระกำหรือ

คำถามก็คือ เราจัดการประเทศกันด้วยคำสัญญาหรือว่าการกระทำ

และเอาเข้าจริงแล้ว

จัดการไปเพื่อประโยชน์ของใคร?