มุกดา สุวรรณชาติ : ยังเป็นศึก 3 ก๊ก ไม่เกิน 20 พรรค

มุกดา สุวรรณชาติ

เคยพูดถึงพรรคการเมืองที่จะต่อสู้กันในการเลือกตั้งครั้งหน้าเมื่อ 6 เดือนที่แล้วและได้เสนอความเห็นว่าจะมีพรรคการเมืองเกิดขึ้นมากมาย

เมื่อสนามการเมืองเริ่มเปิดมีผู้มาขอจดทะเบียนชื่อพรรคทำให้เห็นว่าอาจจะเกิดพรรคการเมืองขึ้นจำนวนมาก

แต่จะดำเนินการให้เป็นจริงอาจมีได้ไม่มากเพราะกฎหมายพรรคการเมืองตามรัฐธรรมนูญ 2560 มีข้อจำกัดพอสมควร

 

เกมดึงแกนนำพรรคเก่า มาอยู่พรรคใหม่
ดำเนินต่อไปอย่างถูกกฎหมาย

การประกาศให้พรรคการเมืองใหม่ได้เคลื่อนไหวก่อนมีเหตุผลว่าเพื่อไม่ให้เกิดได้เปรียบเสียเปรียบ ในความเป็นจริงน่าจะอยู่ที่การช่วงชิงตัวบุคคลที่จะไปเป็นแกนนำของพรรคใหม่ซึ่งจำเป็นต้องดึงจากพรรคเก่ามาเป็นแกนหลัก เมื่อตัวแกนหลักมาประกาศตั้งพรรค ดำเนินการเป็นสมาชิกและกรรมการของพรรคใหม่แล้วก็จะไม่สามารถไปเป็นสมาชิกเดิมได้ ถือเป็นยุทธวิธี ยิงนกนัดเดียวได้ 2 ตัว ได้การดึงกำลังหลักของคู่ต่อสู้ ได้กำลังฝ่ายตนเพิ่มขึ้น

เหตุผลที่นักการเมืองเก่าหลายคนออกมาตั้งพรรคใหม่น่าจะมีดังนี้

1. การต่อสู้ทางการเมืองครั้งนี้มีแนวโน้มที่เห็นชัดว่าการเป็นพรรคเล็กๆ สามารถเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดตั้งรัฐบาลหรือเป็นรัฐบาลผสมได้เพราะมีแนวโน้มว่าจะไม่มีพรรคการเมืองใดได้เสียงเกินครึ่งและกำลังหลักในรัฐสภาที่จะโหวตนายกฯ อยู่ที่ ส.ว. 250 คน

แต่การดำเนินการทางการเมืองในระบบสภา ถึงอย่างไรก็ต้องพึ่งเสียง ส.ส. ให้ได้เกินครึ่งของสภา ดังนั้น ถ้าหากเกิดรัฐบาลผสม พรรคขนาดกลางและขนาดเล็กทุกพรรคย่อมมีความหมาย การเป็นพรรคร่วมที่มี ส.ส. จำนวนหนึ่งสามารถจะได้ตำแหน่งรัฐมนตรี

2. การเลือกตั้งครั้งนี้ เพื่อให้ได้ ส.ส. จำนวนหนึ่งใช้เงินไม่น้อยเพราะเป็นการเลือกตั้งระบบใหม่ซึ่งเป็นแบบจัดสรรปันส่วนผสม คิดคะแนนจากบัตรเลือก ส.ส.เขตใบเดียว ถ้าจะให้ได้คะแนนเสียงมากพอต้องส่ง ส.ส.เขตลงให้ได้มากที่สุด อย่างน้อยควรจะส่ง 250-350 เขตเพื่อเก็บคะแนนสะสมไปคิดสัดส่วนในบัญชี ส.ส.บัญชีรายชื่อ 150 คน

ดังนั้น แม้ในเขตเลือกตั้งส่วนใหญ่ พรรคเล็กจะแพ้พรรคใหญ่ แต่ถ้าผู้แพ้ได้คะแนนเป็นหมื่นหรือหลายพันมารวมกันหลายเขตทั่วประเทศ ก็น่าจะได้ ส.ส.บัญชีรายชื่อจำนวนหนึ่ง (ประมาณกันว่า 70,000-80,000 ต่อ 1 คน) แต่การส่งผู้สมคร ส.ส. เป็นร้อยเขตต้องใช้เงินมาก จึงต้องมีแหล่งสนับสนุน

3. ทุกคนอยากเป็นผู้จัดการหรือเป็นแกนนำกลุ่มของพรรค เพราะจะได้ทั้งผลประโยชน์ทางการเมืองและเศรษฐกิจ

ขณะนี้คนที่เตรียมตั้งพรรคเหล่านี้ได้กลิ่นของเงินแล้ว และรู้ว่าแหล่งเงินมาจากไหน มาจากโครงการอะไร ด้านหนึ่ง เงินนั้นเอามาเป็นค่าใช้จ่ายต่อสู้ทางการเมือง แต่ในการต่อสู้นั้นสามารถมีเงินทอน ดังนั้น แม้สิ้นสุดการต่อสู้ ต่อให้ไม่ได้ผลทางการเมืองตามเป้าหมาย ก็ยังอาจมีผลประโยชน์ทางด้านเศรษฐกิจเหลือเพียงพอ

ใครมีเงินมากก็จะมีพรรคต่างๆ แห่ไปสนับสนุน และทุกพรรคก็จะมีโครงการหาเสียงแบบที่ตนเองถนัด ไปเบิกค่าใช้จ่าย

เชื่อว่าครั้งนี้ พรรคที่เสียงดียังใช้เงินน้อย ยิ่งถ้าคิดว่าไม่ได้เป็นรัฐบาลก็ยิ่งใช้น้อย แต่พรรคที่ต้องการมีเสียงบ้าง แต่คนไม่รู้จักต้องทุ่มสุดตัว ใครจะลดแลกแจกแถมเดี๋ยวก็รู้

 

การต่อสู้ที่เป็นจริง
อาจมีพรรคการเมืองที่ช่วงชิงคะแนนกันเพียง 8 กลุ่ม
ประมาณ 20 พรรค

การต่อสู้ทางการเมืองในครั้งนี้พรรคที่ไม่มีศักยภาพพอจะไม่ได้ ส.ส. เลยแม้แต่คนเดียว คะแนนเสียงจะถูกเก็บกวาดไปสู่พรรคการเมืองที่เข้มแข็งทั้งหมด

พรรคเล็กๆ เมื่อคะแนนเสียงที่ได้มาทั้งประเทศมีเพียงเล็กน้อยก็จะไม่สามารถนำมาคิดเป็นสัดส่วนเพื่อให้ได้ ส.ส. แม้เพียงหนึ่งคน

การต่อสู้ที่เป็นจริง อาจมีพรรคการเมืองที่ช่วงชิงคะแนนกันเพียง 8 กลุ่ม…คือ

1. พรรคเพื่อไทย

2. พรรค ปชป.

3. พรรคที่สนับสนุนนายกฯ คนนอก ประมาณ 4-7 พรรค ถ้ามากเกินไป จะตัดคะแนนกันเอง ต้องมีวิธีส่งผู้สมัครหลีกเขต เพื่อให้คุ้มค่าใช้จ่ายกับคะแนน

4. พรรคที่ประกาศตัวเป็นทางเลือกใหม่ 3 พรรค เช่นพรรค อ.ปิยบุตร แสงกนกกุล, พรรค พล.ต อ.เสรีพิศุทร์ เตมียาเวส

5. พรรคการเมืองเก่าที่พร้อมร่วมรัฐบาลอีก 4 พรรค พวกนี้พร้อมร่วมทุกรัฐบาล

6. พรรคสนับสนุนพรรคใหญ่ เช่น พรรคแนว กปปส.

7. พรรคกระยาจกยุคใหม่ ไม่ได้มาจากกระยาจก เพราะบางคนมีเงิน แต่ตั้งขึ้นมาเพื่อขอเงิน ต่างกับยุคก่อน มาจากการรวมตัวของกระยาจก คนพวกนี้ถ้าไปหลอกขาใหญ่ อาจจะมีอาการสาหัสได้ เมื่อประชาชนไม่โง่ พรรคเหล่านี้อาจไม่มีคะแนน

8. พรรคเคลื่อนไหว คือพรรคที่ส่งสมัครเพื่อสร้างกระแสประชาธิปไตย เพื่อกระตุ้นคนให้ตื่นตัวไปใช้สิทธิ์ ให้สนใจแนวนโยบาย หรือคอยจับตาการโกง พรรคแบบนี้ไม่หวังคะแนน

3 กลุ่มแรก คือ 3 ก๊กของปี 2561-2562 ที่เหลือคือตัวแปร ตัวประกอบ ซึ่งอาจพัฒนาไปในวันหน้า

 

การตั้งพรรคการเมือง
เพื่อหนุนนายกฯ คนนอกต้องเกิดขึ้นแน่นอน

การเลือกตั้งครั้งใหม่ถ้าจะมีขึ้นตามโรดแม็ปเดิม 2561 ต้องมีการตั้งพรรคการเมืองเพื่อสนับสนุนนายกฯ คนนอกต้องเกิดขึ้น ถ้ายังไม่เกิดขึ้นก็แสดงว่ายังไม่มีการเลือกตั้ง

อย่างที่เคยวิเคราะห์เมื่อ 6 เดือนก่อนว่า พรรค กปปส. มีแน่ แต่ผู้ก่อตั้งและผู้นำพรรคไม่น่าจะใช่สุเทพและแกนนำจากประชาธิปัตย์ แต่เป็นตัวแทน

พรรคหนุนคนนอกอีกพรรค อาจเกิดจากนายทหารนอกราชการ นักวิชาการและนายทุนบางกลุ่มมารวมตัวกัน และยังมีพรรคสนับสนุนนายกฯ คนนอกที่มาจากสาย สนช.

แต่การวางฐานการเมือง ตามรัฐธรรมนูญฉบับ 2560 จำเป็นต้องมีพรรคการเมืองหลายพรรคเป็นองค์ประกอบ การมีพรรคการเมืองของตัวเอง ตัวเองที่สั่งได้ย่อมมีความจำเป็นจะมีสมาชิกมากน้อยเท่าใดก็แล้วแต่กำลังความสามารถ

พรรคที่มีอำนาจและมีเงินย่อมทำได้ ยิ่งถ้ามีกำลังจะส่งทุกเขตเลือกตั้ง 350 เขต ถ้าสามารถมี ส.ส. ในสภาได้เกินกว่า 50 คนจะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อการตั้งรัฐบาล ไปจนถึงการยกมือสนับสนุนในสภา

พรรคการเมืองแบบนี้ไม่จำเป็นต้องมีเพียงพรรคเดียว อาจมีลักษณะของภาคมาเป็นส่วนประกอบ โดยอาจเน้นภาคอีสาน ภาคเหนือ ภาคที่สามารถเล่นได้ และภาคกลางจะเป็นพื้นที่แย่งชิง ขึ้นอยู่กับว่าจะสามารถหาแกนนำพรรคที่มีความสามารถมีชื่อเสียงได้มากแค่ไหน

 

พ.ร.ป.พรรคการเมือง จะทำให้พรรคที่จองชื่อจะหายไปจำนวนมาก

สาระสำคัญของ พ.ร.ป.พรรคการเมืองฉบับนี้คือ การกำหนดสิ่งที่พรรคการเมืองต้องทำก่อนไปสู่การเลือกตั้ง โดยกฎหมายจะกำหนดหลักเกณฑ์และขั้นตอนการจัดตั้งพรรคการเมือง การหาสมาชิกพรรค การหาเสียงเลือกตั้ง รวมไปถึงบทบาทของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) กับศาลรัฐธรรมนูญ ในการลงโทษตัดสิทธิเลือกตั้งกรรมการบริหารและยุบพรรคการเมือง

1. ในการจัดตั้งพรรคการเมืองใหม่ พ.ร.ป.พรรคการเมือง มาตรา 9 กำหนดให้บุคคลไม่น้อยกว่า 500 คน ซึ่งมีอุดมการณ์ทางการเมืองในแนวทางเดียวกันอาจร่วมกันดำเนินการเพื่อจัดตั้งพรรคการเมือง แต่ต้องมีทุนประเดิมไม่น้อยกว่า 1,000,000 บาท โดยผู้ร่วมกันจัดตั้งพรรคการเมืองทุกคนต้องร่วมกันจ่ายเงินเพื่อเป็นทุนประเดิมคนละไม่น้อยกว่า 1,000 บาท แต่ไม่เกินคนละ 50,000 บาท

สำหรับพรรคการเมืองเก่า มาตรา 141 กำหนดว่าถ้ายังมีสมาชิกไม่ถึง 500 คน ต้องดำเนินการให้มีสมาชิกให้ครบ 500 คน ภายใน 180 วันนับแต่วันที่ พ.ร.ป.ฉบับใหม่ใช้บังคับ และจัดให้มีทุนประเดิมจำนวน 1,000,000 บาท เช่นเดียวกับพรรคการเมืองที่ตั้งใหม่ (อาจมีพรรคเก่าหายไป)

พ.ร.ป.พรรคการเมือง พ.ศ.2550 สามารถตั้งพรรคการเมืองได้ และไม่มีบทบัญญัติให้พรรคการเมืองต้องมีทุนตั้งต้นประเดิมมาก่อน

ข้อนี้จะทำให้พรรคใหม่และเก่าที่ไม่มีกำลังจริงหายไปจำนวนหนึ่ง โดยย้ายไปหารังที่มั่นคงกว่า

2. ตั้งพรรรคหนึ่งปีต้องมีสมาชิก 500 คน สี่ปีต้องเพิ่มเป็น 10,000 คน

เมื่อรวบรวมสมาชิกผู้ร่วมก่อตั้งได้ครบจำนวน 500 คนขึ้นไป และได้ทำการจดทะเบียนพรรคการเมืองเรียบร้อย มาตรา 33(1) กำหนดให้นับแต่วันที่จดทะเบียนพรรคการเมือง ภายในหนึ่งปีพรรคการเมืองต้องดำเนินการให้มีจำนวนสมาชิกไม่น้อยกว่า 5,000 คน และต้องเพิ่มจำนวนสมาชิกให้มีจำนวนไม่น้อยกว่า 10,000 คนภายในสี่ปี

3. พรรคเก่าจัดประชุมใหญ่ภายใน 180 วัน และต้องมีสาขาพรรคอย่างน้อย 4 สาขา

4. ตั้งสาขาพรรคอย่างน้อยภาคละ 1 สาขา และต้องมีสมาชิกอย่างน้อย 500 คน ใน 1 ปี

5. กำหนดข้อบังคับให้สมาชิกพรรคต้องจ่ายค่าบำรุงอย่างน้อยปีละ 100 บาท

6. ปรับห้าแสนบาท หากเสนอนโยบายไม่ชี้แจงการใช้เงินและความคุ้มค่าของนโยบาย

มาตรา 57 กำหนดให้การโฆษณานโยบายของพรรคการเมืองที่ต้องใช้จ่ายเงิน อย่างน้อยต้องมีการแสดงรายละเอียดดังต่อไปนี้ 1) วงเงินที่ต้องใช้ และที่มาของเงินที่จะใช้ในการดำเนินการ 2) ความคุ้มค่าและประโยชน์ในการดำเนินนโยบาย 3) ผลกระทบและความเสี่ยงในการดำเนินนโยบาย ในกรณีพรรคการเมืองไม่ได้ดำเนินการตามนี้ ให้ กกต. สั่งให้ดำเนินการให้ถูกต้องภายในระยะเวลาที่กำหนด หากพรรคการเมืองยังไม่ดำเนินการตามคำสั่ง กกต. มาตรา 121 กำหนด กกต. ปรับไม่เกิน 500,000 บาท และปรับอีกวันละ 10,000 บาท ตลอดระยะเวลาที่ยังมิได้ปฏิบัติให้ถูกต้อง

6. กกต. สั่งปลดคณะกรรมการบริหารทั้งหมด ห้ามยุ่งเกี่ยวพรรค 20 ปี

บทลงโทษในมาตรา 22 คือ ในระหว่างที่มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหรือให้มีการเลือกสมาชิกวุฒิสภา หากคณะกรรมการบริหารพรรคการเมืองและกรรมการบริหารพรรคการเมืองไม่ควบคุมและกำกับดูแลสมาชิกจนกระทำการฝ่าฝืนกฎหมายต่างๆ กกต. สามารถมีคำสั่งให้คณะกรรมการบริหารพรรคการเมืองนั้นพ้นจากตำแหน่งทั้งคณะ และห้ามไม่ให้ดำรงตำแหน่งใดในพรรคการเมืองจนกว่าจะพ้นเวลา 20 ปี อย่างไรก็ตาม กรรมการบริหารพรรคการเมืองซึ่งพ้นจากตำแหน่งมีสิทธิยื่นคำร้องคัดค้านคำสั่งของ กกต. ต่อศาลรัฐธรรมนูญได้ภายใน 30 วัน

7. ให้อำนาจศาลรัฐธรรมนูญยุบพรรค หากเชื่อได้ว่าให้บุคคลภายนอกชี้นำพรรค

การเชียร์ การติติง การวิจารณ์ การชี้นำ ต่างกันตรงไหน คิดว่าข้อนี้ใครจะหวาดเสียวที่สุด