ฐากูร บุนปาน : ไม่มีอย่างอื่น ไม่มีทางลัด

ไม่กี่วันก่อน เพื่อนฝูงที่รักใคร่ชอบพอกันขอให้ควงคู่กับ “คุณเล้ง” ศิริวัฒน์ วงศ์จารุกร ไปพูดเรื่องการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีที่มีต่อธุรกิจต่างๆ ให้ฟังหน่อย

หางอึ่งอย่างเรามีเรื่องให้พูดได้น้อย

ก็เลยเลือกเรื่องใกล้ตัวเป็นหลัก

เอาผลกระทบของวิทยาการสมัยใหม่ที่มีต่อธุรกิจสื่อนี่แหละ

ซึ้งดี

เริ่มต้นด้วยการเท้าความไปไกลถึงสหรัฐอเมริกาโน่น

20 ปีที่ผ่านมา ตำแหน่งงานในธุรกิจหนังสือพิมพ์ในสหรัฐลดลงไปร้อยละ 40

ปีที่แล้วยอดขายนิตยสารในสหรัฐลดลงไปร้อยละ 7

ขณะที่ยอดขายหนังสือพิมพ์ฉบับวันอาทิตย์ (ซึ่งปกติเป็นฉบับที่มีคนอ่านมากที่สุดและมีโฆษณามากที่สุด) ลดลงร้อยละ 4

เป็นการลดลงต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2010

และยังไม่มีแนวโน้มว่าจะโงหัว

โดยผลการสำรวจผู้เสพข่าวของสหรัฐในปี 2015

ร้อยละ 57 ตอบว่ารู้ข่าวจากโทรทัศน์ ร้อยละ 38 จากสื่อดิจิตอล ร้อยละ 25 จากวิทยุ

และร้อยละ 20 จากหนังสือพิมพ์

ถ้ามองเฉพาะในส่วนของหนังสือพิมพ์นี่คือนิยายโศกนาฏกรรม

แต่บังเอิญโลก (ยุค) ใหม่ยังพอมีแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ (ที่หวังว่าจะไม่เป็นรถไฟอีกขบวนสวนเข้ามา) อยู่

เพราะคนอ่านหนังสือพิมพ์ที่ลดลงนั้น เอาเข้าจริงแล้วไม่ได้เลิกเสพข่าว แต่หันไปบริโภคข่าวสารจากช่องทางอื่นแทน

เอาให้ชัดก็คือสื่อดิจิตอล

เอาให้ชัดลงไปอีกก็คือจากโทรศัพท์มือถือ

ในปี 2015 เงินหมุนเวียนในธุรกิจโฆษณาทุกรูปแบบในสหรัฐอยู่ที่ประมาณ 183,000 ล้านเหรียญ

ในจำนวนนี้เป็นการซื้อโฆษณาผ่านสื่อดิจิตอลประมาณ 1 ใน 3

หรือ 60,000 ล้านเหรียญ

ร้อยละ 53 ของงบโฆษณาที่ผ่านสื่อดิจิตอลหรือประมาณ 31,600 ล้านเหรียญเป็นการซื้อโฆษณาในโทรศัพท์มือถือ เพิ่มจากปี 2014 ร้อยละ 65

เป็นอัตราการเจริญเติบโตสูงสุดในกระบวนสื่อด้วยกัน

และในโฆษณาดิจิตอลนั้น

โฆษณาชิ้นหรือรูปภาพ/ข้อความที่ไม่เคลื่อนไหว (ศัพท์โฆษณาเขาเรียกแบนเนอร์) อยู่ที่ร้อยละ 44

ที่จี้ตามขึ้นมาอย่างรวดเร็วคือโฆษณาในรูปแบบวิดีโอ ที่ขึ้นมาถึงร้อยละ 29 แล้ว

และยังจะเพิ่มขึ้นไปเรื่อยๆ

ในโฆษณาที่ผ่านโทรศัพท์มือถือนั้น

5 บริษัท “แพลตฟอร์ม” ใหญ่กินตลาดไปแล้วร้อยละ 55

ในจำนวนนี้ “เฟซบุ๊ก” เจ้าเดียวฟาดเข้าไปร้อยละ 30 หรือ 8,000 ล้านเหรียญ

เพิ่มสัดส่วนจากปี 2014 ที่เคยครองตลาดร้อยละ 25

อัตราการเจริญเติบโตลดลงนิดหน่อยคือเหลือร้อยละ 52 (ขนาดลดแล้วนะ)

เทียบกับที่โตร้อยละ 61 เมื่อปีก่อนหน้า

กลับมาถึงเมืองไทย ขออนุญาตไม่พาดพิงท่านอื่น

ยกตัวอย่างเฉพาะเว็บข่าวสดอันเดียวก่อน

ข่าวสดเป็นเว็บข่าวที่ตอนนี้ฉีกตัวเองขึ้นมาจากเว็บกลุ่มเดียวกัน ขึ้นมาเป็นเว็บที่ผู้อ่านในประเทศเข้ามาอ่านมากที่สุด

น่าสนใจว่าคนอ่านส่วนใหญ่ของข่าวสด ก็มาจากมือถือและเฟซบุ๊กด้วยเหมือนกัน

ตัวเลขเมื่อวันที่ 14 กันยายน

จำนวนผู้อ่านรวมทั้งสิ้นของเว็บข่าวสดอยู่ที่ประมาณ 1,270,000 คน

ในจำนวนนี้มาจากมือถือและแท็บเล็ต 1,154,806 ท่าน

และกว่าร้อยละ 90 ผ่านเข้ามาทางเฟซบุ๊ก

ความเปลี่ยนแปลงนี้จะนำไปสู่อะไรต่อไป

ยังตอบไม่ได้เหมือนกันครับ

รู้แต่ว่าจากคลื่นลูกที่หนึ่งคือการเป็นคนทำหนังสือพิมพ์-นิตยสาร-หนังสือเล่ม

วันนี้เครือมติชนค่อยๆ ย้ายตัวเองเข้ามาอยู่ในคลื่นลูกที่สอง คือเป็นผู้ผลิตเนื้อหาที่ส่งต่อหรือกระจายออกไปในสื่อทุกรูปแบบ (Content Provider) ไม่ว่าจะเป็นกระดาษ ดิจิตอล โทรทัศน์ วิทยุ หรือแม้แต่การจัดอีเวนต์ที่โยงกับเนื้อหาหรือข่าวสาร

ข่าวสด-มติชน-ประชาชาติธุรกิจ เดินหน้าในดิจิตอลไปก่อน

เป็นเว็บที่ลอยลำไปแล้ว

มติชนสุดสัปดาห์-ศิลปวัฒนธรรม-เทคโนโลยีชาวบ้าน-เส้นทางเศรษฐี-สำนักพิมพ์มติชน เดินตามมาติดๆ

และจากที่อ่านที่ฟังท่านผู้รู้ทั้งหลาย สิ่งที่สัมผัสได้ก็คือการเปลี่ยนแปลงใหญ่จะเกิดขึ้นในอีกไม่ช้า

งานหลักคือการผลิตเนื้อหาให้เข้มข้น เที่ยงตรง ยืนอยู่กับประโยชน์ของคนส่วนใหญ่ก็ต้องรักษาไว้

ธุรกิจที่จะต้องปรับตัวให้สอดคล้องกับความเปลี่ยนแปลงของวิทยาการและบรรยากาศอื่นๆ ก็ต้องทำให้ได้

ถ้าไม่อยากถูกเขี่ยทิ้งลงไปข้างทาง

เขียนมาถึงตรงนี้แล้วก็นึกถึงเพลง “เดินหน้า” ของ “เสด็จเตี่ย-กรมหลวงชุมพรฯ” ท่อนที่ว่า

“อนาคตเราไม่รู้ ถึงเราไม่รู้ก็ต้องเดินไป”

ทำไปคลำไป ให้ข้อเท็จจริงจากงานเป็นตัวบ่งชี้และเข็มทิศครับ

ไม่มีอย่างอื่น ไม่มีทางลัด