ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 2 - 8 มีนาคม 2561 |
---|---|
คอลัมน์ | มองไทยใหม่ |
ผู้เขียน | นิตยา กาญจนะวรรณ [email protected] |
เผยแพร่ |
จาก เซต ถึง เซตซีโร
คําว่า เซต เก็บไว้ในพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.๒๕๕๔ ดังนี้
เซต ๑ (คณิต) น. คําที่ใช้ระบุถึงกลุ่มหรือหมู่ของสิ่งต่างๆ โดยมีเงื่อนไขที่แน่นอนว่าสิ่งใดอยู่ในกลุ่มหรือสิ่งใดมิได้อยู่ในกลุ่มนั้นๆ; ชุด เช่น เข้าเซตกัน, กลุ่ม เช่น เพื่อนคนละเซต; ลักษณนามใช้เรียกคนหรือของที่เข้ากลุ่มหรือเข้าชุดกัน เช่น ตัวหนังสือเซตเดียวกัน ตัวเลข ๒ เซต, ลักษณนามเรียกการแข่งขันหรือการเล่นที่จบลงด้วยการแพ้ชนะกันครั้งหนึ่ง ๆ เช่น เขาเล่นเทนนิสชนะคู่แข่ง ๒ ต่อ ๑ เซต. (อ. set).
เซต ๒ ก. กำหนด เช่น เซตตัวนักกีฬาลงในตำแหน่งต่างๆ เซตวันที่จะประชุม; เข้าที่, อยู่ตัว, เช่น ปูนเซตตัว. (อ. set).
คำนี้ในทางคอมพิวเตอร์ เมื่อเป็นคำนามหมายถึง ชุดข้อมูลซึ่งมีความสัมพันธ์กัน เช่น character set หมายถึงอักขระทั้งหมดในชุดที่แสดงหรือพิมพ์ได้ เมื่อเป็นคำกริยา จะหมายถึง ตั้งค่า เช่น ตั้งค่าย่อหน้าให้ขยับไปตามจำนวนอักขระที่ต้องการ
คำที่วงการคอมพิวเตอร์ใช้บ่อยมากอีกคำหนึ่งก็คือ set-up หรือ setup ที่คนไทยแอบเรียกว่า [ซีตุ๊ป] คำนี้เมื่อเป็นคำกริยาใช้ว่า จัดเตรียม ซึ่งมีความหมายต่างๆ กัน เช่น จัดการหรือเปลี่ยนการควบคุมในคอมพิวเตอร์หรืออุปกรณ์เพื่อให้ใช้ได้ตามที่ต้องการ, ตั้งค่าในคอมพิวเตอร์โปรแกรมเพื่อให้พร้อมเริ่มทำงาน, เริ่มการทำงานของโปรแกรมหรือระบบ เช่น คอมพิวเตอร์เครื่องใหม่ทำงานได้ดีเมื่อวิศวกรได้จัดเตรียมให้เรียบร้อยแล้ว
เมื่อการทำงานของคอมพิวเตอร์มีปัญหา ก็อาจจะใช้วิธี reset หรือตั้งใหม่ ซึ่งหมายความว่า ส่งระบบกลับไปสู่จุดเริ่มต้น ทำให้โปรแกรมหรือกระบวนการกลับไปเริ่มต้นใหม่ หรือจัดให้ข้อมูลมีค่าเท่ากับศูนย์
ในปัจจุบัน มีการนำคำศัพท์ทางด้านคอมพิวเตอร์เหล่านี้มาใช้ในชีวิตประจำวันด้วย เช่น “จะทำงานใหม่ก็ต้อง setup ให้พร้อม ถ้ามีปัญหามากนักก็ reset ได้”
แล้วคนไทยก็สร้างคำใหม่ขึ้นมาจากภาษาอังกฤษคำหนึ่งคือ set zero ซึ่งอาจจะได้แนวคิดมาจากความหมายหนึ่งของ reset นั่นคือ “จัดให้ข้อมูลมีค่าเท่ากับศูนย์”
คอลัมน์ “มองไทยใหม่” เคยเขียนถึงคำนี้ไปแล้วเมื่อเดือนเมษายน ๒๕๖๐ ในตอน “ภาษาไทยกฤษ” โดยอ้างอิงถึง บทความของ แอนดรูว์ บิกส์ (Andrew Biggs) เมื่อวันที่ ๒๖ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๐ ในคอลัมน์ SANOOK ของหนังสือพิมพ์ BRUNCH ที่ว่าด้วยเรื่องภาษาอังกฤษที่แทรกซึมเข้ามาสู่ภาษาไทยในความหมายใหม่ กล่าวอีกอย่างหนึ่งก็คือ ในภาษาไทยมีคำใหม่ที่สร้างจากภาษาอังกฤษหลายคำ โดยที่ฝรั่งอ่านแล้วไม่รู้เรื่อง ซึ่ง set zero ก็เป็นคำหนึ่งที่เอ่ยถึง
คำว่า set zero ซึ่งมีความหมายว่า “เริ่มต้นใหม่จากศูนย์” หรือ “ล้างบาง แล้วตั้งต้นใหม่” ในภาษาไทยนั้น ภาษาอังกฤษใช้ว่า “start again”, “reset” หรือ “back to square one”
เนื่องจากคำนี้เป็นคำไทยที่สร้างจากศัพท์ภาษาอังกฤษ เมื่อเขียนเป็นภาษาไทยจึงเขียนกันไปต่างๆ นานาตามการออกเสียงของผู้เขียน เช่น เซตซีโร เซ็ตซีโร เซ็ตซีโร่
อีกคำหนึ่งที่เกิดขึ้นในภาษาไทยในทำนองเดียวกับคำว่า set zero ก็คือ Thailand 4.0 ที่ แอนดรูว์ บิกส์ วิจารณ์ว่าเป็น “cute little English phrase” (วลีภาษาอังกฤษที่น่ารักน่าเอ็นดู)
อ้าว เริ่มจาก set แล้วทำไมมาจบลงที่ Thailand 4.0 ก็ไม่รู้สิ