เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ : พเยียโพยมพนมเพ็ญ มีชื่อมาจากวัด รถติดแสนสาหัสกว่าบางกอก

ไปพนมเปน หรือพนมเพญ หรือพนมเพ็ญ เมืองหลวงประเทศกัมพูชา ระหว่างวันที่ 30 สิงหาคม-3 กันยายน สองคืนสามวัน สัมผัสบรรยากาศเมืองเขมรได้กำลังดี

สิ่งแรกรู้สึกได้ก็คือ รถติดสาหัสแบบกรุงเทพฯ บ้านเรา ดีกว่าหน่อยตรงที่ไม่ติดเหนอะหนะหนึบนานเหมือนบ้านเรา ของเขาค่อยขยับขยุกขยิกไปได้เรื่อยๆ

มีโอกาสได้พบท่านเอกอัครราชทูตไทย คือ ท่านณัฏฐวุฒิ โพธิสาโร ที่สถานทูตไทยในกรุงพนมเพ็ญด้วย ท่านว่า กรุงพนมเพ็ญวันนี้มีประชากรจำเพาะเขตเมืองหลวงและเขตเมืองรอบๆ รวมแล้วราวสามล้านคนได้

ย่านสถานทูตนานาชาติรวมทั้งไทยเราอยู่บริเวณใกล้ๆ บนถนนสายยาวเดียวกันนี้กระจายรายรอบทั้งสถานที่สำคัญของราชการ ลานอนุสาวรีย์ ตึกรามห้างร้าน อาคารเก่า และอาคารที่จะสร้างใหม่หนาแน่น

ดูแล้วเหมือนว่าพนมเพ็ญกำลังผลัดชุดแต่งองค์ทรงเครื่องใหม่จากโจงกระเบนมาใส่สูทสากล ว่างั้นเถิด

ถนนสายหนึ่งสองฟากให้ภาพ “ฉากทัศน์” (SCENARIO) ที่กำลังก่อสร้างว่าจะเนรมิตเป็นดั่งย่านชอง เอลิเซ แบบปารีส และอีกหลายถนนก็กำลังเสกให้เป็นย่านดังๆ ในโลก

เรียกว่าต่อไปมาเยี่ยมพนมเพ็ญก็ไม่ต้องไปเยือนยุโรปแล้ว เอาว่าประมาณนั้นละกัน

เครื่องทรงใหม่ของพนมเพ็ญที่กำลังวัดตัวตัดอยู่นี้เกิดจากความร่วมมือร่วมทุนของหลากหลายเจ้ามือทั้งจากเจ้าภาพและนานาชาติ

แน่นอน ตั้วเฮียจีนแหละเด่นสุด

อาหารแทบทุกชาติก็ดูจะประดังอยู่ที่นี่ ทั้งอิตาลี ฝรั่งเศส มะกัน ไทย จีน อินเดีย ญี่ปุ่น อาหารเขมรเองยังคงเอกลักษณ์อยู่ไม่แพ้กันนั้นคือ รสจืดๆ นัวๆ แบบแกงชาววังไทยๆ ออกรส “ผู้ดี” ประมาณนั้น

เสน่ห์ของพนมเพ็ญยามราตรีอยู่ย่านริมฝั่งโขงที่ฟากถนนดารดาษด้วย ร้านหรูฟากฝั่งน้ำมีภัตตาคารริมน้ำ ชมความมลังเมลืองของน่านน้ำยามราตรีและผู้คนขวักไขว่ค้าขายย่านริมโขง

เขามีเรือพักแรมล่องน้ำโขงจากเขมรสู่เวียดนาม แวะพักตามที่ต่างๆ เช่น ริมฝั่งพนมเพ็ญนี้แล้วไปสู่เวียดนามได้เลย

นํ้าโขงนี้กำเนิดจากทางเหนือของจีนคือทิเบต ผ่านพม่า ลาว ไทย เขมร ไปออกทะเลที่เวียดนาม

ปากน้ำโขงที่เวียดนามนี้มีชื่อเวียดนามว่า “กู๋ลองยาง” แปลว่า “มังกรเก้าสาย” คือ น้ำโขงจะแปรเป็นแม่น้ำใหญ่น้อยถึงเก้าสายไหลสู่ทะเลจีนใต้หรือมหาสมุทรฟากตะวันออก

น้ำโขงนั้นเริ่มจากแผ่นดินจีนก็ได้ชื่อเป็นมังกรใหญ่ ผ่านลาว เขมร ไทย ได้ชื่อเป็นพญานาค ดังตำนานศรีสัตนาคนหุต ซึ่งแปลว่าล้านช้างนั้น

ในเขมรหรือกัมพูชาเองก็มีตำนานเรื่องพระทอง-นางนาค ดังเป็นชื่อเพลงไทยร่วมเพลงเขมรชื่อเดียวกันนี้

ครั้นน้ำโขงเข้าสู่เวียดนามก็กลับเป็นมังกรอีก ดังเรียกปากน้ำว่ามังกรเก้าสาย ดั่งเก้าหัวนั่น

นํ้าโขงช่วงลาวจะเข้าเขมรนั้นกว้างใหญ่ไพศาลนักนั่งเรือจากเกาะดอนโขงซึ่งเป็นเกาะใหญ่เท่าเกาะลันตาที่กระบี่อยู่กลางน้ำโขงนั้นผ่านน่านน้ำที่เรียกสี่พันดอน ไปสุดทางที่หลี่ผี อันเป็นแก่งหินกว้างปานเขื่อนขวางกลางโขงให้น้ำตกโจนลงไป ซึ่งต่อจากนี้จึงเข้าเขตเขมร

จำเพาะความกว้างจากแก่งหลี่ผีถึงน้ำตกคอนพะเพ็ง ทางบกอีกฟากหนึ่งนั้นว่ายาวถึงสิบเอ็ดกิโลเมตร

นี่คือขนาดความกว้างของน้ำโขงส่วนนี้ซึ่งเปรียบไปก็คือส่วนคอนาคที่กำลังจะแผ่พังพานกลายเป็นมังกรเก้าหัวยังแผ่นดินเวียดนามนี่เอง

นํ้าโขงตรงพนมเพ็ญจึงเป็นส่วนของคอมหาพญานาคกำลังจะกลายเป็นพญามังกรโผนจากแผ่นปฐพีสู่แผ่นฟ้ามหาสมุทรต่อไปโพ้น

แลเป็นดั่งวงวัฏแห่งฟ้าดินคล้องพวงพเยียคือดอกไม้ให้มหานครพนมเพ็ญ

อ่าน “ถกเขมร” ของอาจารย์ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช แล้วจะเห็นภาพคณะชาวสยามรัฐยุคนั้นนั่งรถสามล้อที่มีกระบะคนนั่งห้อยอยู่หน้า คนถีบคร่อมอานด้านหลัง ถีบไปก็สะบัดหน้าถุยน้ำลายได้ทั้งซ้ายขวาตามการ์ตูนของ ประยูร จรรยาวงษ์ ดูสนุกดี

วันนี้ก็ยังเห็นสามล้อถีบขบวนนั้นอยู่ กับที่พัฒนาเป็นรถเครื่องแบบตุ๊กตุ๊กบ้านเรา

หากส่วนที่นั่งออกโอ่โถงเป็นซุ้มเป็นวอวิลิศมาหรากึ่งสกายแล็บฝั่งโขงบ้านเรานั่น นับเป็นพัฒนาการใหม่

นอกนั้นก็คือสารพัดยานยนต์ตั้งแต่รถเครื่องคือมอเตอร์ไซค์ซึ่งดูจะมีมากสุด กับรถเมล์ที่ยังงุ่มง่ามอยู่ตามถนนอันคับคั่งอยู่ด้วยรถยนต์รุ่นใหม่หรูลานตา

คํา พนมเพ็ญ นี้ เขียนตามตำนานเก่าของวัดเขาพนม ว่า นางเพ็ญเป็นศรัทธาผู้สร้างวัด นำพระพุทธรูปห้าองค์มาสถิตยังดอยวัดนี้จึงชื่อว่าวัดพนม

พนม แปลว่า ภูเขา

เพ็ญ แปลว่า เต็ม

นับเป็นภูมินามตั้งขึ้นตามกำเนิดต้นเหง้าเค้าเรื่อง

และว่า เมื่อสถาปนาที่ตรงนี้เป็นเมืองหลวงจึงได้นามจากวัดนี้เป็นปฐมชื่อว่า พนมเพ็ญ

ดังนี้แล

cambodia-1559622_960_720

นครวัด

0 เสียดซอนซ้อนพุ่มพนมปรางค์

ปราสาทศิลาสล้างสลักเสลา

สลัดเหลี่ยมซ้อนเหลี่ยมสลัดเงา

เมฆเคล้าฟ้าครามอร่ามองค์

ละองค์ลออ ชะลอเลื่อน

คล้อยเคลื่อนจักรวาลปานเหมหงส์

สูงสุเมรุปรมัตถ์อันหยัดยง

ให้ยืนอยู่คู่คงชั่วฟ้าดิน

เอกอัปสรอ่อนซ้อนก็ฟ้อนร่าย

ผกามาศดาดรายละลายหิน

พยุหแสนยาย่ำธรณิน

อันรวยรินเริงเจรียงแจรงศิลา

ฝากฝีมือ ฝากสมัย ฝากใจมนุษย์

ฝากต่ำสุดสูงสุดให้ศึกษา

เสกรัตนคีรีปลุกชีวา

อัปสราอังกอร์นครวัด