เปลี่ยนผ่าน : “5G” และ “Internet of Things” โอกาส ความคาดหวัง และความกังวล

ในงานประกาศวิสัยทัศน์ธุรกิจประจำปี 2561 ของ “เอไอเอส” “สมชัย เลิศสุทธิวงค์” ซีอีโอเอไอเอส อัพเดตความคืบหน้าของพฤติกรรมผู้บริโภคที่เข้าถึงอินเตอร์เน็ตเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ

ปัจจุบัน คนทั่วโลกเข้าถึงอินเตอร์เน็ตกว่า 50% มีผู้ใช้โทรศัพท์มือถือ 65% ใช้โซเชียลมีเดีย 40% และใช้โซเชียลมีเดียผ่านโทรศัพท์มือถือถึง 34%

ขณะที่ในประเทศไทยมีประชากรเข้าถึงอินเตอร์เน็ต 67% ใช้โทรศัพท์มือถือ 70% และมีการใช้โซเชียลมีเดีย 78% เป็นการใช้ผ่านโทรศัพท์มือถือ 62%

จะเห็นได้ว่าตัวเลขการเข้าถึงอินเตอร์เน็ต, โทรศัพท์มือถือ และโซเชียลมีเดียของคนไทย อยู่เหนือกว่าค่าเฉลี่ยของโลกหมดทุกด้าน

ขณะเดียวกัน เวลาการใช้โซเชียลมีเดียของคนไทยก็พุ่งสูงขึ้น จาก 3 ชั่วโมงต่อคนต่อวัน เป็นกว่า 4 ชั่วโมงต่อคนต่อวัน

ที่น่าสนใจไม่แพ้กัน คือ ยอดการใช้ดาต้าที่เพิ่มขึ้นจาก 3.8 จิกะไบต์ต่อคนต่อเดือน เป็น 7.3 จิกะไบต์ต่อคนต่อเดือน และคาดว่าในปี 2561 ตัวเลขดังกล่าวจะพุ่งทะยานขึ้นเกิน 10 จิกะไบต์

ข้อสรุปประการแรกของสมชัย คือ คนไทยไม่กลัวเทคโนโลยี

เมื่อผู้บริโภคก้าวหน้าไปไกล แล้วผู้ประกอบการไทยจะต้องทำอะไรบ้าง?

จุดหมายสูงสุดของเอไอเอส คือ การสร้าง “ดิจิติทัลแพลตฟอร์ม” เพื่อคนไทย ทดแทน “แพลตฟอร์มต่างชาติ”

ดิจิตอลแพลตฟอร์มใหม่ที่เอไอเอสจะริเริ่มในปีนี้ ได้แก่

หนึ่ง AIS IOT Alliance Program (AIAP) ที่มุ่งเน้นพัฒนาเทคโนโลยี “Internet of Things” โดยเบื้องต้น จะมีความร่วมมือกับสมาชิก 70 ราย เพื่อแลกเปลี่ยนความรู้, สินค้า, บริการ และโซลูชั่นต่างๆ อันนำไปสู่การพัฒนา IOT solution และรูปแบบธุรกิจร่วมกัน

สอง วิดีโอแพลตฟอร์มชื่อ “Play 365” ที่เปิดโอกาสให้นักสร้างสรรค์คอนเทนต์จำนวน 365 ราย จากทุกวงการ มีโอกาสนำเสนอผลงานต่อผู้บริโภค โดยมีโครงสร้างรายได้ตอบแทนที่เหมาะสม สอดคล้องกับจำนวนผู้ชมที่แท้จริง

สาม วีอาร์คอนเทนต์แพลตฟอร์ม เปิดโอกาสให้นักพัฒนาคอนเทนต์ “เสมือนจริง” ชาวไทย ได้เรียนรู้จาก IMAX ผู้ผลิตเทคโนโลยีด้านนี้ในระดับโลก

รวมทั้งมีโครงการ “VR content creator program” เป็นเวทีการสร้างคอนเทนต์ต่างๆ ด้วยเทคโนโลยีการสร้างความจริงเสมือน หรือ VR

ไฮไลต์สำคัญในการดำเนินธุรกิจของเอไอเอสประจำปีนี้ อยู่ที่การเดินหน้าเต็มสูบสู่เทคโนโลยี Internet of Things หรืออาจจะแปลเป็นภาษาไทยหรูๆ ได้ว่า “อินเตอร์เน็ตของสรรพสิ่ง”

อธิบายได้อย่างง่ายๆ และรวบรัดว่า “อินเตอร์เน็ตของสรรพสิ่ง” คือ เครือข่ายของวัสดุอุปกรณ์ข้าวของเครื่องใช้ในชีวิตประจำวัน ที่ถูกเชื่อมโยงเข้ากับซอฟต์แวร์ เทคโนโลยีระบบเซ็นเซอร์ และการสื่อสารทางอินเตอร์เน็ต จนสามารถบันทึก จัดเก็บ และแลกเปลี่ยนข้อมูลของผู้ใช้ได้อย่างถูกต้องแม่นยำ

อันนำไปสู่ “…อัจฉริยะ” หรือ “สมาร์ต…” ต่างๆ ที่เราเริ่มได้ยินกัน อาทิ “บ้านอัจฉริยะ” “ระบบขนส่งอัจฉริยะ” และ “เมืองอัจฉริยะ” เป็นต้น

“IOT (Internet of Things) ทำให้การใช้อินเตอร์เน็ตลึกเข้าไปในชีวิตและธุรกิจ ภายใน 3 ปีนี้จะเกิดขึ้นจริงจัง โดยเฉพาะสมาร์ตโฮม, สมาร์ตออฟฟิศ, สมาร์ตซิตี้ ในส่วนของผู้บริโภคถือว่าพร้อมแล้ว แต่ผู้ประกอบการยังต้องการองค์ประกอบเสริมอีกหลายอย่าง เพราะการจะสร้างสมาร์ตซิตี้ได้ต้องมีมากกว่าเครือข่าย” สมชัย ระบุ

ที่ผ่านมา เอไอเอสได้เริ่มลงทุนสร้างเน็ตเวิร์กรองรับ IOT ในหลายจังหวัด และเพิ่มศักยภาพของเน็ตเวิร์กให้สามารถเคลื่อนไหวได้อย่างรวดเร็ว โดยใช้งบประมาณไปแล้ว 200-300 ล้านบาท

แต่ก็เหมือนดังที่สมชัยระบุไว้ว่า Internet of Things นั้นเป็นมากกว่าเครือข่าย เพราะจุดใหญ่ใจความสำคัญ คือ การต้องมีพาร์ตเนอร์มาร่วมพัฒนาเทคโนโลยี

“ไม่มีใครทำ IOT ได้คนเดียว การสร้างอีโคซิสเต็ม (ระบบนิเวศของ Internet of Things) จำเป็นต้องมีนักพัฒนา นักสร้างดีไวซ์มารองรับ นอกเหนือจากการมีเครือข่ายที่แข็งแรงแล้ว” ซีอีโอเอไอเอสระบุ

สารที่สื่อออกมาโดยผู้บริหารเอไอเอส มีความคล้ายคลึงกับความเห็นในงานสัมมนา “5G เปลี่ยนโลก เปลี่ยนประเทศไทย” ที่จัดโดยหนังสือพิมพ์มติชน

“ฐากร ตัณฑสิทธิ์” เลขาธิการ กสทช. กล่าวในงานสัมมนาดังกล่าวว่า หลายประเทศกำลังวางแผนเริ่มทดลองใช้เทคโนโลยี 5G สำหรับประเทศไทย กสทช. ได้เตรียมจัดสรรคลื่นความถี่รองรับ 5G แล้ว ทั้ง 1800 MHz ที่จะหมดสัมปทาน และคลื่น 26000 MHz ซึ่งสหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ (ITU) จะใช้เป็นคลื่นมาตรฐาน 5G

“5G จะทำให้สปีดเพิ่มจากปัจจุบัน 30-100 เท่า ความเสถียรของระบบจะมีมากขึ้น และจะทำให้มี 4 เทคโนโลยีเข้าสู่ประเทศไทยแน่นอน คือ IOT, AI ปัญญาประดิษฐ์ที่จะวิเคราะห์ข้อมูลที่ได้จากเซ็นเซอร์ต่างๆ, VR เทคโนโลยีความจริงเสมือน และ AR เทคโนโลยีความจริงแบบแต่งเติม”

เลขาธิการ กสทช. ให้ข้อมูล พร้อมทั้งระบุ 10 อุตสาหกรรมที่ต้องเตรียมรับมือกับความเปลี่ยนแปลงนี้ ได้แก่ 1.ภาคการเงินการธนาคาร 2.ภาคอุตสาหกรรม 3.ภาคการเกษตร 4.การขนส่ง 5.สาธารณสุขและการแพทย์ 6.การท่องเที่ยว 7.การทำงานแบบเทเลเวิร์ก (การทำงานทางไกลหรือการนั่งทำงานอยู่ที่บ้าน) 8.การค้าปลีก 9.โทรทัศน์และสื่อ 10.ภาครัฐ

“ทุกอุตสาหกรรมรวมถึงพนักงานต้องปรับตัวเพิ่มทักษะ โดยเฉพาะภาครัฐต้องไม่ใช่แค่องค์กรกำกับ หน่วยงานออกกฎกติกาเท่านั้น แต่ต้องเป็นผู้สนับสนุนให้เอกชนปรับตัวเดินหน้าได้

“ซึ่งนโยบายรัฐไม่ต้องการให้เกิดการอพยพแรงงานย้ายถิ่นเข้าสู่เมืองหลวงอย่างเดียว แต่ต้องการให้มีการสร้างงานในท้องถิ่น วันนี้รัฐบาลไม่ต้องทำอะไร เพราะเทคโนโลยีเป็นผู้ผลักดันให้เกิดอาชีพ เกิดงานในบ้านเกิดได้จริงด้วย 5G”

โจทย์ท้าทายสำคัญของสังคมไทยท่ามกลางความรุดหน้าทางเทคโนโลยีข้างต้น เห็นจะเป็นความต้องการ “บุคลากรดิจิตอล” ในปริมาณที่สูงขึ้น

ย้อนกลับไปยังงานประกาศวิสัยทัศน์ธุรกิจของเอไอเอส “กานต์ ตระกูลฮุน” หัวหน้าทีมภาคเอกชน การยกระดับนวัตกรรมและ digitalization คณะกรรมการสานพลังประชารัฐ และประธานกรรมการเอไอเอส ชี้ว่า การลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนาของไทยนั้นเคยคงที่อยู่ที่ร้อยละ 0.2 ต่อจีดีพี มานานหลายปี

แต่ในปี 2559 ตัวเลขตรงจุดนี้ได้ขยับขึ้นไปเป็นร้อยละ 0.78 ต่อจีดีพี รวมเป็นมูลค่าทั้งภาครัฐและเอกชนราว 1.1 แสนล้านบาท

คาดว่าในปี 2560 (ปีที่แล้ว) การลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนาของไทยน่าจะขยับเพิ่มขึ้นอีกเป็นร้อยละ 1 ต่อจีดีพี

ขณะเดียวกัน จำนวนบุคลากรด้านวิจัยและพัฒนาของไทยก็เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากอัตราส่วน 12.9 คนต่อประชากรหมื่นราย เมื่อปี 2557 เป็น 17 คนต่อประชากรหมื่นราย ในปี 2559

และมีเป้าหมายว่าภายในปี 2564 อัตราส่วนของบุคลากรด้านนี้ ต้องเพิ่มขึ้นเป็น 25 คนต่อประชากรหมื่นราย

อย่างไรก็ตาม ยังมีข้อน่ากังวล ดังที่ประธานคณะกรรมการของเอไอเอสอ้างอิงข้อมูลจากทีดีอาร์ไอว่า “อีก 5 ปี เราต้องการบุคลากรอาร์แอนด์ดี 5-6 หมื่นคน แต่เด็กที่เรียนด้านเทคโนโลยีมีค่อนข้างน้อย”

ดังนั้น ตามความเห็นของกานต์ แม้สถานะด้านการวิจัยและพัฒนาของไทยจะยังมีความหวัง แต่ก็มีข้อกังวลเรื่องความต่อเนื่องแฝงอยู่