ประชา สุวีรานนท์ : คาร์ล บาร์กส์ กับ คาร์ล มาร์กซ์ (3)

หลังจากหนีออกจากประเทศ แอเรียล ดอร์ฟแมน ไปพำนักอยู่ในสหรัฐอเมริกา ทำงานเป็นอาจารย์ในมหาวิทยาลัย ปัจจุบันเป็นนักเขียนใหญ่ และมีผลงานมากมาย ทั้งในรูปบทความ สารคดีและวรรณกรรม

งานที่ทำให้เขาเป็นที่รู้จักกันมากคือบทละครเรื่อง Death and the Maiden ซึ่งเกี่ยวกับการเข่นฆ่าผู้บริสุทธิ์หลังรัฐประหารครั้งนั้น

บทละครนี้ โด่งดังไปทั่วโลก และหลังจากได้เล่นที่บรอดเวย์ ได้กลายเป็นภาพยนตร์ชื่อเดียวกันในปี 1994 ซึ่งกำกับฯ โดย โรมัน โปลันสกี้

และนำแสดงโดย ซิเกอร์นีย์ วีเวอร์ และ เบน คิงสลีย์

กําเนิดของหนังสือเล่มนี้คือแคมเปญ “War of the Comics” ของรัฐบาลชิลีซึ่งเริ่มในปี พ.ศ.2514 หลังจากที่พรรคการเมืองฝ่ายซ้าย ชื่อ the Popular Unity ได้รับเลือกตั้งเป็นรัฐบาล และอัลเยนเด้ ได้เป็นประธานาธิบดี

นโยบายใหม่ของชิลีคือต่อต้านสหรัฐอเมริกาที่กุมอำนาจทางเศรษฐกิจของประเทศมาช้านาน มีการยึดกิจการของนายทุนต่างชาติมาเป็นของรัฐบาล และตามมาด้วยการปิดล้อมทางการค้า

ชื่อรองของหนังสือในภาษาสเปนคือ A Manual of Decolonization (และต่อมากลายเป็น Imperialist Ideology in the Disney Comic) ประกาศว่าต้องการปลุกจิตสำนึกของประชาชน ถอดหน้ากากความไร้เดียงสาของการ์ตูน และปลุกระดมทั้งเด็กและผู้ใหญ่ให้ลุกขึ้นมาต่อต้านอุดมการณ์ของดิสนีย์

อาจจะคล้ายกับการปฏิวัติวัฒนธรรมของจีนซึ่งปะทุขึ้นมาในช่วงเวลาใกล้กัน ชิลีเริ่มรณรงค์ล้างอิทธิพลของจักรพรรดินิยมทั่วประเทศ

ในคำนำฉบับภาษาอังกฤษ เดวิด คุนเซล ผู้เขียนและแปลจึงบอกว่า การยึดเหมืองทองแดงเป็นของรัฐนั้นง่ายกว่าการกำจัดอิทธิพลของวัฒนธรรมอเมริกัน

แน่นอน แคมเปญนี้ก่อให้เกิดปฏิกิริยามากมาย เช่น ถูกหนังสือพิมพ์ฝ่ายขวาประณามว่าเป็นการล้างสมองเยาวชน ซึ่งก็อาจจะจริง แต่สำหรับฝ่ายซ้ายในชิลี นั่นเป็นสิ่งที่อเมริกาทำอยู่แล้วในนามของสื่อเสรี

และนอกจากพิมพ์บทวิเคราะห์เล่มนี้แล้ว ยังมีการสร้างการ์ตูนชุด Cabro Chico (“Little Kid”) เพื่อต้านการ์ตูนของดิสนีย์ด้วย

ต้องเข้าใจว่า ในช่วงศตวรรษที่ 20 วัฒนธรรมเพิ่งจะกลายเป็นเรื่องที่สำคัญและถูกหยิบยกขึ้นมาศึกษากัน

ความคิดที่แพร่กระจายทั่วไปคือวัฒนธรรมก็เหมือนสินค้าอย่างรถยนต์หรือน้ำอัดลม ที่ผลิตขึ้นมาได้แบบอุตสาหกรรม รวมทั้งยอมรับว่าบทบาทของวัฒนธรรมนั้นสำคัญมาก จะกล่อมเกลาคนในสังคมให้เป็นอย่างไรก็ได้

ความคิดนี้ทำให้มีการหันมาสนใจบทบาทของวรรณกรรม สื่อมวลชน และป๊อปคัลเจอร์ในการกำหนดจิตสำนึกทางสังคม

จุดสำคัญคือ วัฒนธรรมมีการเมือง หรือสิ่งที่เรียกกันว่า “อุดมการณ์” แฝงอยู่

ดังนั้น ไม่ว่าจะเป็นระบบทุนนิยม ระบบเผด็จการทหาร หรือความเหลื่อมล้ำในสังคม ล้วนมีอุดมการณ์ อันเป็นสิ่งที่เผยแพร่ออกไปและทำให้ระบบนั้นๆ เป็นที่ยอมรับไปได้นาน

สำหรับปัญญาชนฝ่ายซ้าย ระบบทุนนิยมและจักรพรรดินิยม ซึ่งว่ากันว่ามีสหรัฐอเมริกาเป็นผู้นำและกำลังแผ่อำนาจไปในขอบเขตทั่วโลก มีอุดมการณ์ที่เรียกว่า Cultural Imperialism กำกับอยู่ ทั้งข่าวสารข้อมูล วรรณกรรม และสิ่งบันเทิง ที่อเมริกาส่งไปจำหน่ายจ่ายแจกทั่วโลก ล้วนเป็นเครื่องมือในการครอบงำความคิดของโลกที่สาม

ซึ่งนอกจากจะกล่อมเกลาไม่ให้คนเหล่านั้นทำการต่อต้านแล้ว ยังแฝงไว้ด้วยความคิดแบบทุนนิยม อันได้แก่ ละโมบโลภมาก ดูหมิ่นเหยียดหยามผู้อื่น และส่งเสริมแต่ความเป็นปัจเจกของตน

หนังสือการ์ตูนเป็นหนึ่งในเครื่องมือดังกล่าว สิ่งที่ How to Read Donald Duck ทำจึงคล้ายการถอดโดนัลด์และสกรู๊จออกเป็นชิ้นๆ ซึ่งเมื่อเอาความไร้เดียงสาของเป็ดสองตัวนี้โยนทิ้งไป สิ่งที่เหลืออยู่ จึงมีแต่คำสอนเรื่องการเอารัดเอาเปรียบและเอาตัวรอดในระบบทุนนิยม

ตัวอย่างในคำนำของคุนเซล เป็นการ์ตูนที่โจมตีฝ่ายซ้าย : แร้งสองตัวชื่อมาร์กซ์กับแองเจลกำลังจิกตีสัตว์อ่อนแอ จิ้งหรีดจิมมินี่พยายามจะช่วย ซึ่งทำให้แร้งหันมาโจมตีเขาแทน (นกบอกว่า “ฆ่ามันเลย, สหาย!”)

และเมื่อชาวนาคนหนึ่งถือปืนออกมาไล่ยิงแร้งทั้งสอง จิมมินี่ก็บอกว่า : “ปืนเท่านั้นที่จะข่มขวัญนกเลวๆ พรรค์นี้ได้”

เราอาจจะเคยได้ยินประโยคแบบนี้ : “ฆ่าคอมมิวนิสต์ไม่บาป”

03 comics

ในแง่เนื้อหา หนังสือชี้ว่าการ์ตูนดิสนีย์มีลักษณะพิเศษคือ เป็ดทั้งหลายไม่มีพ่อแม่ มีแต่ลุงกับหลาน ในขั้นแรก อาจจะอธิบายได้ว่าการตัดความสัมพันธ์ระหว่างพ่อแม่ลูก รวมทั้งความสัมพันธ์ทางเพศออกไป ก็เพื่อบอกว่านี่เป็นสิ่งบันเทิงที่ไร้พิษภัย

แต่หนังสือชี้ด้วยว่านี่เป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการ “ทำผู้อ่านให้เป็นเด็ก” หรือ Infantilization ในเชิงจิตวิเคราะห์ การไม่เคยโตเป็นผู้ใหญ่ มีผลทำให้อำนาจไม่ถูกต่อต้าน

นอกจากนั้น การสลับบทบาท เช่น โดนัลด์เป็นเด็กในคราบผู้ใหญ่ แต่หลานทั้งสามของเขาเป็นผู้ใหญ่ในคราบเด็ก ก็เป็นโครงสร้างสำคัญ ที่ทำให้อำนาจมีความชอบธรรม

ไร้พิษภัยนำไปสู่ภาวะไร้การผลิต ด้วยเหตุนี้ ดั๊กเบิร์กจึงมีแต่งานในภาคบริการ เช่น เสริมสวย เซลส์แมน ยาม ไปรษณีย์ ไม่มีโรงงานหรือการใช้แรงงาน การ์ตูนพยายามปิดบังมิติด้านแรงงานหรือที่มาของสินค้า หรือกำจัดความขัดแย้งทางสังคมออกไป

อีกประเด็นหนึ่งคือ โดนัลด์มักจะเบื่อหน่ายและกระหายการผจญภัยอยู่ตลอดเวลา ส่วนวิธีการแก้ปัญหาต่างๆ ก็แสนจะง่ายและฉาบฉวย เพราะเสนอว่าคนจะรวยได้ก็ด้วยโชคล้วนๆ

เมื่อมาถึงการกดขี่ประเทศด้อยพัฒนา จะเห็นว่าการแลกเปลี่ยนในระบบทุนนิยม เป็นเพียงการเอาของมีค่าของชนพื้นเมืองมาแลกกับของไร้ค่า ยกตัวอย่างเช่น เมื่อโดนัลด์และหลานๆ ไปยังต่างแดน เช่น อินคาหรือทิเบต เขามักจะหลอกชาวบ้านให้ตื่นเต้นกับของที่ไม่มีราคา

นี่เป็นสาเหตุเดียวกับที่ทำให้บางชาติร่ำรวยและบางชาติยากจน

ทั้งหมดนี้นำมาสู่ข้อสรุปที่ว่าการ์ตูนของดิสนีย์ โดยเฉพาะเรื่องของตระกูลเป็ด สนับสนุนทุนนิยมและชาติมหาอำนาจในการยึดครองละตินอเมริกา

แม้จะถูกวิจารณ์ว่าล้าสมัยไปแล้ว แต่ในยุคนั้นเป็นหนังสือที่โด่งดังไปทั่วโลก ฉบับภาษาสเปน ซึ่งพิมพ์โดยสำนักพิมพ์ในเม็กซิโกชื่อ Siglo XXI พิมพ์ถึง 39 ครั้ง

และเมื่อแปลเป็นภาษาอื่นๆ นับสิบภาษา เช่น อังกฤษ ฝรั่งเศส เยอรมัน โปรตุเกส ดัตช์ อิตาเลียน กรีก ตุรกี สวีดิช ฟินิช เดนนิช ญี่ปุ่น และเกาหลี ก็ขายดีมาก

ในปี พ.ศ.2516 รัฐบาลที่ได้รับการเลือกตั้งถูกโค่นล้มโดยคณะทหาร สื่อและงานเขียนที่เข้าข้างฝ่ายรัฐบาลถูกสั่งปิดหรือไม่ก็เซ็นเซอร์ หนังสือจำนวนมากรวมทั้งเล่มนี้ถูกสั่งเผา

ทุกวันนี้ ไม่มีพิมพ์ขายในชิลี ส่วนในสหรัฐ อาจจะเนื่องจากบริษัทดิสนีย์อ้างปัญหาลิขสิทธิ์ จึงไม่มีการพิมพ์จำหน่ายมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2518 จะหาได้ก็แต่ฉบับผีหรือในรูปหนังสือสแกน

อย่างไรก็ตาม How to Read Donald Duck กลายเป็นหนังสือคลาสสิคในบรรดางานวิเคราะห์วัฒนธรรม และมีอิทธิพลต่องานวิจัยจำนวนมากที่ตามมา

และแม้จะพบกับชะตากรรมเหมือนหนังสือฝ่ายซ้ายคือถูกหาว่าเป็น โฆษณาชวนเชื่อของชาวคอมมิวนิสต์ แต่ในสมัยที่ยังไม่มีสาขาวิชา Cultural Studies หนังสือก็ถูกถือว่าเป็นงานวิจารณ์วัฒนธรรมป๊อปอย่างเป็นระบบที่สุด