ธุรกิจพอดีคำ : “มนุษย์และหุ่นยนต์”

มีเรื่องเล่ากันว่า

รายการทีวีชื่อดังที่ประเทศสหรัฐอเมริกา

นำ “หุ่นยนต์” เพศหญิง ที่คิดได้เหมือนมนุษย์

ไปออกรายการสัมภาษณ์

ชื่ออะไร ตอบได้

ชอบกินอะไร ตอบได้

คิดเลขได้

มีอารมณ์คล้ายมนุษย์

ทำสีหน้าต่างๆ ได้

สุข เศร้า เหงา ซึ้ง

ทำได้ทุกอย่าง คล้ายมนุษย์มากๆ

เจ้าของรายการ “ประทับใจ” มาก

คุณนี่ช่างเหมือน “มนุษย์” เสียนี่

แล้วถามคำถามสุดท้าย

“คุณกับพวก จะทำร้ายมนุษย์ไหม”

หากได้ยินคำว่า “หุ่นยนต์”

คุณนึกถึงอะไรครับ

ผมเชื่อว่า หลายๆ คนคงจะต้องมีสิ่งเหล่านี้เข้ามาในหัวอย่างแน่นอน

คนเหล็ก ทรานสฟอร์มเมอร์ กันดั้ม หรือแม้แต่หุ่นยนต์แมว โดราเอมอน

เมื่อสัปดาห์ก่อน ผมได้มีโอกาสทำ “เฟซบุ๊กไลฟ์ (FB Live)”

ผ่านเพจ “แปดบรรทัดครึ่ง” อีกครั้งหนึ่ง

คราวนี้คุยกับ “พี่ช้าง มหิศร ว่องผาติ”

ผู้ร่วมก่อตั้งบริษัท “เฮช จี โรโบติกส์ (HG Robotics)”

บริษัทผลิต “หุ่นยนต์” สัญชาติไทย

ดีกรีพี่เลี้ยง พานักเรียนไทยไปได้แชมป์โลกในการแข่งหุ่นยนต์ “โรโบคัพ”

หรือหุ่นยนต์เตะฟุตบอล ระดับโลกมาแล้ว

ผมถามพี่ช้างคำถามแรก

“หุ่นยนต์คืออะไรครับ”

พี่ช้างถามผมกลับมว่า “คุณคิดว่า หม้อหุงข้าวเป็นหุ่นยนต์มั้ย”

“ไม่น่านะพี่” ผมตอบทันที

พี่ช้างถามต่อ “แล้วถ้าหม้อหุงข้าวพูดได้ล่ะ”

ผมอึ้งไปนิดนึง ไม่รู้จะตอบยังไง

“แล้วถ้าหม้อหุงข้าวบอกได้ว่า ข้าวสุกแล้วนะล่ะ เป็นหุ่นยนต์มั้ย” พี่ช้างถามต่อ

ผมตอบ “เอิ่ม ก็อาจจะใช่นะพี่”

“สำหรับผม หุ่นยนต์คืออะไรก็ได้ที่ตอบสนองต่อสภาพแวดล้อมได้อย่างค่อนข้างอิสระ”

พี่ช้างรับจ้างทำ “หุ่นยนต์” หลากหลายประเภท

ส่วนใหญ่ ไม่ได้มีสองขา มีหน้าตาเหมือนมนุษย์

ไม่ว่าจะเป็นโดรน เครื่องบิน เรือดำน้ำ

พี่ช้างทำมาหมดแล้ว

ที่สำคัญคือ พี่ช้างเปลี่ยน “พาหนะ” เหล่านี้

ให้กลายเป็น “หุ่นยนต์” ได้

โดยทำให้ “ไร้คนขับ”

สามารถตอบสนองต่อ “สภาพแวดล้อม” ได้

เครื่องบินที่พี่ช้างเคยทำแล้วบินแบบไร้คนขับ

มีความยาวจากปลายปีกข้างหนึ่ง ถึงปลายปีกอีกข้างหนึ่ง “6 เมตร”

จะสร้างหุ่นยนต์ตัวหนึ่งนั้น ไม่ง่าย

ไม่เหมือนการทำ “แอพพ์” ที่เอาคนมาเขียนซอฟต์แวร์ ก็ทำให้เกิดขึ้นมาได้

นำไปวางขายใน “แอพพ์สโตร์ (AppStore)”

จะสร้าง “หุ่นยนต์” หนึ่งตัว

พี่ช้างบอกว่ามีส่วนหลักๆ สามส่วน

ส่วนแรก คือ “ร่างกาย”

ถ้าเป็นหุ่นยนต์โดรน ก็คือ แขน ขา ใบพัด สิ่งที่เราเห็นเป็น “รูปร่าง”

ส่วนนี้เป็นหน้าที่ของ “วิศวกรเครื่องกล” ในการสร้างให้ตรงตามที่ “ลูกค้า” ต้องการ

จะติดขาโดรนแต่ละข้าง ใช้กาวดี ใช้น็อตดี เพื่อให้น้ำหนักเบา เพื่อให้บินได้เร็ว

สิ่งเหล่านี้ “วิศวกรเครื่องกล” เป็นคนช่วยออกแบบ

ส่วนที่สอง คือ “วงจรที่ทำให้หุ่นยนต์เคลื่อนที่ได้แบบอัตโนมัติ”

ถ้าโดรนต้องใช้คนบังคับ เหมือนของเล่นผู้ใหญ่ที่เราเห็นกันทั่วไป

สิ่งนั้นอาจจะยังไม่เรียกว่า “หุ่นยนต์”

เจ้า “วงจร” นี้แหละ ที่เป็นเหมือน “เวทมนตร์”

ติดเข้าไปที่ “อะไร” ที่เคยต้องการคนขับ คนควบคุม

สิ่งนั้นจะสามารถ “เคลื่อนที่” ตอบสนองต่อสภาพแวดล้อมได้เลย

จาก “เหล็ก” ก็จะกลายเป็น “หุ่นยนต์” ได้

วงจรนี้ออกแบบโดย “วิศวกรไฟฟ้า”

ส่วนที่สาม คือ “ซอฟต์แวร์”

เอาไว้ป้อนคำสั่งต่างๆ ให้ “หุ่นยนต์” เคลื่อนที่ได้อย่างอิสระ ตามใจของเรา

ตรงนี้ต้องพึ่งทาง “วิศวกรคอมพิวเตอร์” ให้มาช่วยเขียนโปรแกรมต่างๆ

ส่วนสุดท้ายที่จะมีความสำคัญมากขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะในภาค “บริการ”

ถ้าถามว่า หุ่นยนต์จะบริการใคร

คำตอบก็คือ บริการ “มนุษย์”

เช่น เสิร์ฟอาหาร ส่งจดหมาย ดูแลคนป่วย สอนหนังสือเด็กๆ

สิ่งเหล่านี้ ต้องอาศัย “ความเข้าใจมนุษย์” อย่างถ่องแท้

ต้องพึ่ง “นักออกแบบ (Designer)” ที่สามารถทำให้ “ผู้ใช้งาน” รู้สึกสบายใจที่จะใช้บริการจากหุ่นยนต์ตัวนั้น

หุ่นยนต์ส่งของ “หน้าตาโหด” แบบ “คนเหล็ก” ก็คงจะไม่ได้

หุ่นยนต์ยาม ก็คงจะหน้าตาแบบ “โดราเอมอน” ไม่ได้

“นักออกแบบ” จึงเป็นส่วนสำคัญในการสร้างหุ่นยนต์ใน “ภาคบริการ”

คุยกันไปเรื่อยๆ จนลืมหัวข้อที่กะว่าจะคุยกับพี่ช้าง นั่นคือ

“มนุษย์กับหุ่นยนต์ ใครจะอยู่รอด”

พอถามพี่ช้าง ก็พูดถึงหนังสือเล่มหนึ่ง มีชื่อว่า “ซูเปอร์อินเทลลิเจนซ์ (Super Intellegence)”

หนังสือที่ “บิล เกตส์” แนะนำให้อ่าน

หนังสือที่ “อีลอน มัสค์” อ่านแล้ว กลัว “ปัญญาประดิษฐ์” ขึ้นสมอง

หนังสือเล่มนั้นบอกว่า

“หุ่นยนต์จะมีความฉลาดมากขึ้นเรื่อยๆ จนถึงจุดหนึ่ง ซึ่งเราไม่รู้ว่ามันฉลาดกว่าเรารึยัง”

เราจะคิดว่าเราควบคุม “หุ่นยนต์” ได้จนกระทั่งเรา “ทำไม่ได้” ในที่สุด

หุ่นยนต์จะเริ่ม “ตอบคำถาม” เหมือนมนุษย์มากขึ้น

เป็นอย่างไรน่ะหรือ

“คุณและพวก จะทำร้ายมนุษย์มั้ย” พิธีกรถาม

หุ่นยนต์นิ่งไปครู่หนึ่ง แล้วตอบ

“ไม่ทำร้ายหรอก มนุษย์เป็นเพื่อนฉัน”