เมนูข้อมูล : “ไม่เห็นด้วย” แล้วไงต่อ “อำนาจนิยม” “ประชาธิปไตย”

อาจจะเป็นเพราะคนไทยเราอยู่กับประชาธิปไตยมานาน แม้จะแบบลุ่มๆ ดอนๆ เป็นประชาธิปไตยสลับกับเผด็จการ บ่อยครั้งเป็นแบบผสมๆ กันไป หรือที่เรียกว่า “ประชาธิปไตยแบบไทยๆ” ทำให้เคยชินกับความรู้สึกที่ว่า “จะต้องฟังเสียงประชาชน”

ยิ่งปกครองโดยเผด็จการมาระยะหนึ่ง จนก่อให้เกิดความรู้สึกว่า ควรจะต้องกลับสู่ประชาธิปไตยเสียที การหาคำตอบว่าประชาชนคิดอย่างไร จึงเป็นเรื่องที่ทุกฝ่ายอยากจะฟัง อยากจะรู้

เสียงเรียกร้องให้เร่งจัดการเลือกตั้งเป็นสัญญาณถึงความต้องการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นแล้ว

เลยไกลไปถึงประเมินว่ารัฐบาลหลังการเลือกตั้งจะเป็นอย่างไร

“สวนดุสิตโพล” คงจับเอากระแสความต้องการนี้มาขยายผล ด้วยการสำรวจความคิดเห็นประชาชน เพื่อให้คำตอบบางอย่าง

เป็นการสำรวจความเชื่อที่ค้างอยู่ในความรู้สึกนึกคิดว่า “เสียงของประชาชนมีความสำคัญ”

ดังนั้น เมื่อคำตอบของคำถาม “ประชาชนเห็นด้วยหรือไม่ ถ้ามีการจัดตั้ง “พรรคการเมืองใหม่” เพื่อสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” ออกมาว่า ร้อยละ 58.95 ไม่เห็นด้วย ขณะที่เห็นด้วยมีแค่ร้อยละ 35.3 โดยอีกร้อยละ 5.68 ตอบว่าเฉยๆ

จึงมีการขยายความกันยกใหญ่ โดยเฉพาะในโลกออนไลน์ได้นำไปแชร์กันคึกคัก

มีไม่น้อยที่พยายามไปไกลถึงขั้นสรุปว่า “ประชาชนต่อต้านการสืบทอดอำนาจ”

และมีจำนวนมากที่คิดเชื่อว่า “ผู้นำประเทศคนต่อไปจะต้องเป็นนักการเมืองที่ประชาชนเลือกขึ้นมา”

ไม่ใช่ “นักการเมืองที่อยากมีอำนาจแต่ไม่เต็มใจที่จะเป็นนักการเมืองที่มาจากการเลือกของประชาชน”

นั่นเป็นความคิดที่ยึดโยงอยู่กับความเชื่อเก่าๆ ว่า “ประชาชนคือผู้มีอำนาจสูงสุดที่จะกำหนดว่าใครจะมาเป็นผู้นำ กำหนดว่าใครจะได้รับอนุมัติให้มาร่วมกันขับเคลื่อนประเทศ”

เป็นเรื่องที่เข้าใจได้ว่าคนส่วนใหญ่มีโอกาสที่จะคิดอย่างนั้น เพราะเติบโตมาอย่างเคยชินกับประชาธิปไตยที่เคารพสิทธิและเสียงของประชาชน

เพียงแต่ว่าความเคยชินนั้นอาจจะทำให้หลงลืมว่า การเมืองในปัจจุบันเปลี่ยนไปแล้ว

ปัจจุบัน อำนาจมาจากการใช้กำลังเข้ายึด ล้มล้างรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน

ประเทศไทยเราอยู่ในการควบคุมของรัฐบาลที่ไม่ได้มีส่วนยึดโยงกับประชาชนมายาวนานเกือบจะครบ 4 ปี และยังทำท่าจะว่ายาวยืดไปเป็นปีที่ 5 ปีที่ 6 หรือต่อๆ ไป ตามแต่ “โรดแม็ป” ที่ไม่มีกำหนดเวลาแน่นอน

ไม่ใช่ “ประชาชน” อีกแล้วที่เป็นอำนาจกำหนดว่าจะบริหารประเทศ

แต่เป็น “อาวุธ” และ “กองกำลัง”

และหลังจากนี้ “ประชาชน” จะไม่ใช่ผู้กำหนดอำนาจเหมือนที่รู้สึกกัน เพราะ “กฎหมาย” เป็นกลไกใหม่ที่เข้ามาจัดการโครงสร้างอำนาจ

“กฎหมาย” ซึ่งเป็นตัวกำหนด “อำนาจ” ได้ร่างขึ้นและประกาศใช้เรียบร้อย อย่างที่รู้ๆ กันว่า “นักการเมืองจากการแต่งตั้ง” จะเป็นผู้กำหนดว่า “ใครจะเป็นผู้มีอำนาจ”

ลองนึกดูว่า “นักการเมืองประเภทนี้” จะยกอำนาจให้ใคร ระหว่าง “ผู้ที่แต่งตั้งพวกเขาขึ้นมา” กับ “นักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน”

ด้วยเหตุนี้เอง ความพยายามที่จะหาคำตอบว่า “ประชาชน” จะเลือกใครเป็น “ผู้นำประเทศ” จึงเป็นความพยายามที่นอกจากรับรู้ว่าประชาชนส่วนใหญ่คิดอย่างไรแล้ว ไม่ได้ส่งผลอะไรต่อ “อำนาจทางการเมืองในอนาคต”

เพราะ “ประชาชนคิดอย่างไร” นั้น ไม่มีความหมายมานานแล้ว

และจะยังไม่มีความหมายต่อไป ภายใต้ “อำนาจ” ที่เขียนกฎหมายขึ้นมากำหนดไว้เรียบร้อย