กรองกระแส/2 แพร่ง การเมือง เอา คสช. กับไม่เอา คสช. กุมภาพันธ์ 2562

กรองกระแส

2 แพร่ง การเมือง

เอา คสช. กับไม่เอา คสช.

กุมภาพันธ์ 2562

ยิ่งใกล้เดือนกุมภาพันธ์ 2562 ยิ่งมีความแจ่มชัดมากยิ่งขึ้นเป็นลำดับถึงการต่อสู้ของ 2 แนวคิดในทางการเมือง
1 แนวคิดอันเป็นแนวเดียวกันกับ คสช.
1 แนวคิดอันเป็นแนวตรงกันข้ามกับ คสช.
แนวคิดอย่างแรกมีทั้งที่แสดงออกโดยตรง หวังจะเกาะเกี่ยว ห้อยโหนจากผลงานและความสำเร็จของ คสช. อย่างจริงใจ ไม่อ้อมค้อม
วางตนเสมอเป็นเพียงลูกแหล่งตีนมืออยู่ในขบวนการใหญ่
ขณะเดียวกันก็มีบางส่วนประเมินบทบาทและความหมายของตนค่อนข้างสูงว่าจะทำให้ความฝันในการสืบทอดอำนาจของ คสช. มีความเป็นจริง หนักแน่น มั่นคงและมีความชอบธรรม และเพ้อฝันถึงขั้นที่ว่าบางที คสช. อาจให้ความไว้วางใจมอบหมายให้เป็นเหมือนกับตัวแทนในทางการเมือง
ภายในแนวคิดอย่างแรกนี้จึงมีความสลับซับซ้อน ยากที่จะจำแนกแยกแยะออกได้อย่างทันทีทันใด เว้นแต่จะศึกษารากฐานอย่างต่อเนื่องยาวนาน จากรัฐประหารเมื่อเดือนกันยายน 2549 กระทั่งรัฐประหารเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557
ท่ามกลางความขัดแย้งที่รุนแรงและแหลมคมมากยิ่งขึ้นเป็นลำดับกับแนวคิดอย่างหลังที่ยืนอยู่ตรงกันข้ามกับ คสช. โดยสิ้นเชิง

กระบวนการเลือกตั้ง
หินลองทอง คมแหลม

หากเปรียบเทียบระหว่างพรรค กปปส. พรรคประชาชนปฏิรูป พรรคพลังธรรมใหม่ กับพรรคเพื่อไทย จะมองเห็นได้อย่างเด่นชัด
แทบไม่มีข้อกังขาในความแตกต่าง
เพราะ 3 พรรคที่หยิบยกมาเคยมีส่วนร่วมในรัฐประหารตั้งแต่เมื่อเดือนกันยายน 2549 กระทั่งเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557
แต่ถ้าเปรียบเทียบพรรคประชาธิปัตย์กับพรรคเพื่อไทยอาจมองไม่เห็น อ่านไม่แตก
เนื่องจากระยะหลังพรรคประชาธิปัตย์กับพรรคเพื่อไทยล้วนให้ความเห็นไปในแนวทางใกล้เคียงกัน โดยเฉพาะต่อรัฐธรรมนูญ ต่อกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ และต่อท่าทีของ คสช. ในการกำหนดและตระเตรียมการเลือกตั้ง
หากมองเพียงปรากฏการณ์หลังก็อาจจะอ่านพรรคประชาธิปัตย์ไม่ออก จำเป็นต้องมองพรรคประชาธิปัตย์อย่างเป็นระบบ อย่างเป็นกระบวนการ
โดยเฉพาะจากรัฐประหารเดือนกันยายน 2549 และรัฐประหารเดือนพฤษภาคม 2557

เพื่อไทย แจ่มชัด
ประชาธิปัตย์ คลุมเครือ

พรรคประชาธิปัตย์ถือเอาพรรคไทยรักไทย พรรคพลังประชาชน พรรคเพื่อไทย เป็นคู่ต่อสู้มาอย่างยาวนานตั้งแต่ภายหลังการเลือกตั้งเมื่อเดือนมกราคม 2544 เป็นต้นมา
นั่นแหละคือเหตุผลที่พรรคประชาธิปัตย์เห็นด้วยกับรัฐประหาร
ไม่เพียงเห็นด้วย หากแต่ยังเข้าร่วมส่วนในการปูทางและสร้างเงื่อนไขก่อนรัฐประหารเดือนกันยายน 2549 อาจไม่แจ่มชัดโจ่งครึ่ม แต่ก่อนรัฐประหารเดือนพฤษภาคม 2557 แทบไม่ปิดบังอำพรางแม้แต่น้อย
เพราะว่าพรรคประชาธิปัตย์ได้ประโยชน์ทั้งโดยตรงและโดยอ้อมจากรัฐประหาร
แม้แผนบันได 4 ขั้นของ คมช. จะยังไม่สำเร็จในเดือนธันวาคม 2550 แต่ก็สำเร็จได้อย่างเป็นรูปธรรมในเดือนธันวาคม 2551
แม้หลังรัฐประหารเดือนพฤษภาคม 2557 พรรคประชาธิปัตย์จะมิได้รับอานิสงส์โดยตรง แต่การที่ คสช. รุกไล่และบดขยี้พรรคเพื่อไทยอย่างต่อเนื่อง คนแล้วคนเล่า ล้วนเป็นผลดีต่อพรรคประชาธิปัตย์ เพราะความอ่อนแอของพรรคเพื่อไทยคืออาหารอันโอชะของพรรคประชาธิปัตย์
จากพื้นฐานเช่นนี้พรรคประชาธิปัตย์จึงยังมีความมั่นใจเป็นอย่างสูงว่าการเลือกตั้งในเดือนกุมภาพันธ์ 2562 จะเป็นโอกาสอีกครั้งของพรรคประชาธิปัตย์ภายในความเพลี่ยงพล้ำของ คสช.
ตรงนี้เองที่ทำให้การกำหนดยุทธศาสตร์ของพรรคประชาธิปัตย์แตกต่างจากพรรคเพื่อไทย

การต่อสู้ 2 แนวทาง
รัฐบาล หรือฝ่ายค้าน

รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 กำหนดเอาไว้อย่างเด่นชัดถึงการสืบทอดอำนาจ ถึงการไม่ปล่อยหรือให้โอกาสกลุ่มและพรรคการเมืองอื่นนอกจาก คสช. ได้เป็นรัฐบาล
เรื่องนี้พรรคเพื่อไทยอ่านออกจึงกำหนดยุทธศาสตร์เป็นฝ่ายค้าน
เรื่องนี้พรรคประชาธิปัตย์แม้จะอ่านออกแต่ก็ยังมีความเพ้อฝันว่าจะสามารถพลิกสถานการณ์เป็นรัฐบาลได้ หากไม่ร่วมมือกับ คสช. ก็อาจจะช่วงชิงโอกาสเป็นรัฐบาลเหมือนกับโอกาสที่เคยได้เมื่อเดือนธันวาคม 2551
นี่ย่อมเป็นท่าทีอย่างเดียวกันกับพรรคการเมืองหลายพรรค ไม่ว่าจะเป็นพรรคภูมิใจไทย พรรคชาติไทยพัฒนา พรรคชาติพัฒนา พรรคพลังชล
แต่พรรคประชาธิปัตย์มีความมั่นใจมากกว่าและมียุทธวิธีอันแยบยลมากยิ่งกว่า
การเมืองก่อนและหลังการเลือกตั้งจึงเป็นการเมืองใน 2 แนวทาง 1 แนวทางของ คสช. และพันธมิตร และ 1 แนวทางตรงกันข้ามกับ คสช. โดยมีพรรคเพื่อไทยเป็นกองหน้า แต่จะมีพันธมิตรหรือไม่ต้องดูกันต่อไป
จุดลงเอยจะเป็นอย่างไรต้องดูในเดือนกุมภาพันธ์ 2562 (หากว่าเป็นไปตามคำประกาศ)