แมลงวันในไร่ส้ม/42 กลุ่มแห่ยื่นตั้งพรรค กปปส. รอแจ้งเกิด ‘ปิยบุตร’ ดัน ‘ทางเลือกใหม่’

แมลงวันในไร่ส้ม

42 กลุ่มแห่ยื่นตั้งพรรค

กปปส. รอแจ้งเกิด

‘ปิยบุตร’ ดัน ‘ทางเลือกใหม่’

คณะกรรมการการเลือกตั้ง หรือ กกต. เปิดให้ยื่นจดทะเบียบนพรรคการเมืองใหม่ ตั้งแต่วันที่ 2 มีนาคม เป็นต้นไป
ที่ฮือฮาอย่างมาก ก็คือ แค่วันแรกวันเดียว มีการยื่นขอจดแล้วถึง 42 กลุ่มหรือ 42 พรรค
ในเวลาที่ยังเหลืออยู่ น่าจะมีการมายื่นเพิ่มเติมอีก
ที่ออกข่าวว่ามาแน่ๆ ได้แก่พรรคการเมืองของกลุ่มนายสุเทพ เทือกสุบรรณ แกนนำ กปปส. ที่ก่อการเคลื่อนไหวขับไล่รัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เมื่อปี 2556-2557
ก่อนจะลงเอยด้วยการรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557
ในครั้งนั้น นายสุเทพประกาศว่า จะวางมือการเมือง หันไปทำงานภาคประชาชน
เมื่อเสียงปี่กลองกลับมาดังอีกครั้ง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ยืนยันว่า จะมีเลือกตั้งภายในเดือนกุมภาพันธ์ 2562 แน่นอน มีเสียงเรียกร้องให้นายสุเทพกลับมาตั้งพรรคช่วย คสช. เนื่องจากเห็นว่ามีโอกาสสูงที่พรรคหลักเจ้าเก่า คือ พรรคเพื่อไทยและประชาธิปัตย์ (ปชป.) จะกวาดเสียงเป็นกอบเป็นกำอีกครั้ง
นายสุเทพไม่ได้ตอบรับกระแสดังกล่าว แต่ นายธานี เทือกสุบรรณ น้องชายนายสุเทพ ยืนยันว่าจะมีการตั้ง “พรรคมวลมหาประชาชนฯ” มาสนับสนุนการปฏิรูปแน่นอน
อีกกลุ่มที่เรียกเสียงฮือฮาได้อย่างมาก คือข่าวการตั้งพรรคทางเลือกใหม่ โดยนักธุรกิจหนุ่ม ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ และปัญญาชนนักวิชาการ ที่มี นายปิยบุตร แสงกนกกุล ด๊อกเตอร์กฎหมายจากฝรั่งเศส อาจารย์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จากกลุ่มนิติราษฎร์ รวมอยู่ด้วย

หลังจากมีข่าวออกไป วันที่ 3 มีนาคม นายปิยบุตรโพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัว ระบุถึงแนวคิดเบื้องต้นของการสร้างพรรคการเมืองแบบใหม่ สรุปย่อได้ดังนี้
1. พรรคที่ไม่มีเจ้าของ งบฯ มาจากการระดมทุนผ่านการบริจาค Crowdfunding การกู้ยืมเงินโดยปราศจากดอกเบี้ยจากคนที่สนับสนุนแนวคิดของพรรคการเมือง เงินสมทบของสมาชิกพรรค เงินอุดหนุนจากคณะกรรมการการเลือกตั้ง
2. พรรคการเมืองที่เป็นประชาธิปไตยในทุกระดับ เน้นการกระจายอำนาจ สนับสนุนให้คนรุ่นใหม่มีบทบาท คิดและทำกันเองได้ ไม่ต้องตั้งคนที่อาวุโสกว่ามานั่งเป็นประธานตามแบบที่เคยทำๆ กันมา คนรุ่นใหม่ไม่ใช่ “วัวงาน” หรือ “คนรับใช้” คนรุ่นอาวุโส คนรุ่นใหม่ในพรรคมีบทบาทในการคิด เสนอ ลงมือทำ พวกเขาไม่ใช่ “แรงงาน” ที่ใช้แจกใบปลิว ติดป้าย แบบที่เคยทำๆ กันมา
3. พรรคที่มุ่งหมายทำงานระยะยาว ต้องการเข้าสู่อำนาจรัฐ เพื่อผลักดันความคิดและนโยบายให้เกิดผล ยามชนะ สมาชิกไปรับหน้าที่ต่างๆ ในสภาหรือรัฐบาล แต่ต้องมีบุคลากรบริหารจัดการพรรค พัฒนาพรรคอยู่เสมอ ในยามแพ้ ก็ไม่ยุบเลิก ต้องทำงานหนักอย่างต่อเนื่อง เพื่อชนะในวันหน้า
พรรคการเมืองไม่ใช่ของชั่วคราว แต่คือกลไกในการต่อสู้ทางการเมืองระยะยาว ดังนั้น แม้เริ่มต้นจะไม่สำเร็จ แต่ก็ต้องอดทน ทำงานอย่างหนักหน่วงต่อเนื่อง
4. พรรคการเมืองที่สนใจความรู้ วิชาการ การค้นคว้าวิจัย นโยบายที่ดี สมาชิกที่มีคุณภาพ ย่อมเกิดจากความรู้ การศึกษาค้นคว้า ดังนั้น ต้องสร้าง Thinktank ของพรรคขึ้นมาในด้านต่างๆ
5. พรรคการเมืองที่สื่อสารกับประชาชนและเคลื่อนไหวอยู่ตลอดเวลา ผ่านสื่อต่างๆ ได้แก่ เว็บไซต์ เฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์ ยูทูบ วารสารรายปักษ์-รายเดือนของพรรค การ์ตูนแอนิเมชั่น งานศิลปวัฒนธรรม เว็บไซต์ในรูปแบบทันสมัย ไม่โบราณเหมือนเว็บไซต์ราชการ ไม่ใช่เว็บไซต์ประชาสัมพันธ์ผู้บริหารพรรค
6. พรรคการเมืองที่มีที่ทำการที่ทันสมัย คนทั่วไปเข้าถึงได้ง่าย มีพื้นที่เปิดให้คนได้ใช้สอยร่วมกัน มีสิ่งอำนวยความสะดวกให้กับคนพิการ มีพื้นที่ให้จัดกิจกรรมทางการเมืองและทางศิลปวัฒนธรรม เช่น จัดเสวนา จัดฉายภาพยนตร์ จัดงานแสดงศิลปะ จัดเวิร์กช็อป
7. พรรคการเมืองที่ติดต่อสัมพันธ์กับองค์กรอื่นๆ ทั้งในประเทศและต่างประเทศ
8. พรรคการเมืองที่รวมคนหลากหลาย สมาชิกพรรคมีความคิดและอุดมการณ์พื้นฐานร่วมกัน มาจากหลากหลายกลุ่ม ทุกเพศ ทุกรสนิยมทางเพศ ทุกวัย ทุกสาขาอาชีพ อัตลักษณ์ของพรรคคือความหลากหลาย ไม่ใช่สมาชิกทุกคนเหมือนๆ กันหมด แต่งกายเหมือนกันหมด ลีลาการพูดถอดแบบกันมาหมด
พรรคการเมืองแบบใหม่เช่นนี้ จะช่วยทำให้สังคมไทยที่มอง “การเมือง” และ “นักการเมือง” ในแง่ลบ ได้เปลี่ยนความคิดเสียใหม่ ตราบใดที่ผู้คนยังมอง “การเมือง” และ “นักการเมือง” ในแง่ลบ ย่อมมีโอกาสที่เขาจะหันไปสนับสนุนอำนาจเผด็จการนอกระบบได้เสมอ
“การเมือง” และ “นักการเมือง” ไม่ใช่เรื่องสกปรก แต่ “การเมือง” และ “นักการเมือง” เป็นเรื่องของความคิด การผลักดันความคิด การลงมือ การสร้างสรรค์
การทำให้ความคิดของผู้คนที่มีต่อ “การเมือง” และ “นักการเมือง” เปลี่ยนไปในทางที่ดี ย่อมเป็นส่วนหนึ่งของการต่อสู้ทางความคิด แย่งชิงการสถาปนาอำนาจนำ และอาจช่วยให้คนไม่หันหลังให้กับประชาธิปไตย และเลิกสนับสนุนรัฐทหาร รัฐราชการ
นั่นคือแนวคิดเบื้องต้นของพรรคใหม่ จากนายปิยบุตร
ส่วนการจดทะเบียนพรรค คาดว่าจะเกิดขึ้นในวันที่ 15 มีนาคม หรือครึ่งหลังของเดือน

สีสันที่ทุกฝ่ายต้องจับตามองในการเมืองระยะนี้ คือพรรคของกลุ่ม กปปส.
ปมสำคัญประการหนึ่งได้แก่ พรรคนี้จะจัดความสัมพันธ์กับพรรคประชาธิปัตย์อย่างไร
ในเมื่อ “จุดยืน” แตกต่างกันมาก ฝ่ายหนึ่งสนับสนุน คสช. อีกฝ่ายต้องการดำเนินการอย่างเป็นอิสระ และระยะหลังยังวิพากษ์ คสช. อย่างหนัก
แนวโน้มทั้งสองฝ่าย คงต้องต่อสู้เพื่อแย่งชิงความนิยมจากฐานเสียงเดียวกันที่ภาคใต้ กทม. และภาคกลางบางจังหวัด
นายวิรัตน์ กัลยาศิริ อดีต ส.ส.สงขลา พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงการที่ นายธานี เทือกสุบรรณ ประกาศว่าจะตั้งพรรค ก็เชื่อได้ว่าจะมีการไปจดทะเบียนตั้งพรรคการเมืองเพื่อมาสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์เป็นนายกฯ ต่อแน่ๆ ซึ่งขัดกับแนวทางของพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งไม่สามารถประกาศจุดยืน สนับสนุนคนอื่นได้นอกจาก นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรค
นายวิรัตน์ชี้ว่าลักษณะแบบนี้เคยเกิดขึ้นสมัย “กลุ่ม 10 มกรา” แยกตัวไปตั้งพรรคใหม่ ตอนนั้นทุกคนกังวลว่าพรรคประชาธิปัตย์จะล่มสลาย เพราะ นายวีระกานต์ มุสิกพงศ์ อดีตเลขาธิการพรรค เป็นแกนหลัก มีอดีต ส.ส.พรรคไปร่วมด้วยหลายสิบคน และมีทุนใหญ่คอยสนับสนุน
แต่ต่างกับรอบนี้ เท่าที่สอบถามแกนนำ กปปส. ต่างยืนยันจะต่อสู้ยืนหยัดกับพรรคประชาธิปัตย์ นอกจากนายธานี ที่ประกาศชัดเจน นอกนั้นก็น่าจะไม่มีอดีต ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์คนอื่นไปสังกัดพรรคของนายสุเทพ หรือถ้ามีก็เป็นจำนวนเล็กน้อยมาก เมื่อเทียบกับสมัย 10 มกรา จึงเชื่อว่าประชาธิปัตย์สามารถฝ่าฟันอุปสรรคไปได้
“ส่วนผมขอบอกว่าอยู่กับพรรคประชาธิปัตย์ล้านเปอร์เซ็นต์และได้กล่อมสมาชิกว่า อย่าหลงคารมพรรคเฉพาะกิจ …ถ้าดูตามสภาพ พล.อ.ประยุทธ์คงเล่นการเมืองสมัยเดียว พรรคดังกล่าวน่าเป็นพรรคเฉพาะกิจเท่านั้น” นายวิรัตน์กล่าว
และนั่นคือข่าวสารการเมืองที่กำลังเข้มข้น เมื่อการเมืองก้าวเข้าสู่ห้วงของการจัดตั้งพรรคการเมือง เพื่อเดินเข้าสู่การเลือกตั้งอีกครั้ง