ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 2 - 8 มีนาคม 2561 |
---|---|
คอลัมน์ | ยุทธบทความ |
ผู้เขียน | ศ.กิตติคุณ ดร.สุรชาติ บำรุงสุข |
เผยแพร่ |
“เราจะไม่ทำด้วยการทุบหัวประชาชน เพราะนั่นเป็นการข่มขืน ไม่ใช่การนำ”
พลเอกไอเซนเฮาวร์
ประธานาธิบดีสหรัฐ
สภาวะที่น่ากลัวที่สุดสำหรับทุกรัฐบาล ไม่ว่ารัฐบาลจะมาจากการรัฐประหารหรือไม่ได้มาจากการรัฐประหารก็คือ สภาวะ “ขาลง” ที่ปัญหาต่างๆ จะรุมเร้าเข้ามา หรือเป็นดัง “ระลอกคลื่น” ที่กระแทกรัฐนาวาครั้งแล้วครั้งเล่า
จนอาจจะต้องกล่าวว่าสถานการณ์เช่นนี้เป็นยาม “อาทิตย์อัสดง”
วันนี้หากพิจารณาดูกันแล้ว คงต้องยอมรับว่า รัฐบาลทหารที่ก้าวเข้าสู่อำนาจด้วยการรัฐประหารในเดือนพฤษภาคม 2557 ได้เดินทางผ่านช่วงเวลา “ฮันนีมูน” ไปแล้ว
หรือเป็นช่วง “หมดน้ำผึ้งพระจันทร์”
รัฐบาลทหารจึงหลีกเลี่ยงไม่พ้นที่จะต้องเผชิญกับปัญหาและแรงกดดันต่างๆ
หากเป็นรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งแล้ว ก็คาดเดาได้ไม่ยากนักว่า ระยะเวลาของการยุบสภาเพื่อเปิดทางสู่การเลือกตั้งครั้งใหม่คงใกล้เข้ามาอย่างมาก เพราะรัฐบาลคงอยู่ได้อย่างลำบากในทางการเมือง
การยุบสภาเพื่อคืนอำนาจให้กับประชาชนตัดสินใจอนาคตของประเทศด้วยการเลือกตั้งจึงเป็นหนทางของการแก้ปัญหาภาวะ “ไร้น้ำผึ้งพระจันทร์”
แต่กับรัฐบาลทหารแล้ว การแก้วิกฤตการเมืองอาจไม่สามารถใช้วิธีการเดียวกับรัฐบาลเลือกตั้ง การหาทางออกให้แก่รัฐบาลทหารในยามขาลงที่กำลังเป็นวิกฤตเช่นนี้ จึงเป็นประเด็นที่น่าสนใจเป็นอย่างยิ่งว่า ผู้นำทหารที่มีอำนาจทางการเมืองจะหาทางออกอย่างไร
หรือหากกล่าวในภาษาทหารก็คือ ผู้นำรัฐบาลจะจัดวาง “ยุทธศาสตร์ทางออก” (Exit Strategy) กับการเมืองในสภาวะขาลงเช่นนี้อย่างไร
กองหนุนรัฐบาลทหาร
ทุกรัฐบาลที่มาจากการรัฐประหารมีพื้นฐานความคิดที่ไม่แตกต่างกันว่า พวกเขาจะอยู่ในอำนาจได้อย่างยาวนาน
พร้อมกันนี้พวกเขาก็มักจะเชื่อแบบง่ายๆ ว่า รัฐบาลทหารจะได้รับการแซ่ซ้องสรรเสริญ โดยเฉพาะเมื่อเปิดวาทกรรม “การเลือกตั้งสกปรก-นักการเมืองเลว” ด้วยปฏิบัติการจิตวิทยาที่บุคลากรภายในกองทัพถูกฝึกมา
หรือคำเรียกใหม่ที่สวยหรูในกองทัพก็คือ “ปฏิบัติการข่าวสาร” ที่โหมโฆษณาโจมตีการเลือกตั้งรัฐบาลพลเรือน พรรคการเมือง และนักการเมืองแล้ว ก็เชื่อว่าประชาชนส่วนใหญ่จะเห็นพ้องและหันมาสนับสนุนให้กองทัพแทรกแซงการเมือง และจัดตั้งรัฐบาลทหารให้อยู่ในอำนาจได้อย่างยาวนาน
ปฏิบัติการข่าวสารของทหารเช่นนี้ไม่ได้เป็นอะไรมากไปกว่าปฏิบัติการจิตวิทยาธรรมดาๆ
การเปิดการโจมตีต่อเป้าหมายหลัก 4 ประการเช่นนี้เหมือนกับงานยุทธการที่เปิดการโจมตีต่อที่หมายข้าศึก 4 จุดอย่างต่อเนื่อง
และการโจมตีเป้าหมายทั้งสี่แห่งเช่นนี้ก็มักจะได้รับการสนับสนุนอย่างมากจากชนชั้นนำและชนชั้นกลางอนุรักษนิยมในเมืองที่ตกอยู่ภายใต้วาทกรรม “การเลือกตั้งสกปรก-นักการเมืองเลว”
เพราะโดยพื้นฐานแล้ว พวกเขามีทัศนคติเชิงลบกับบทบาทของพรรคการเมืองและนักการเมืองเป็นอย่างยิ่ง
บทความนี้ไม่ได้บอกว่าพรรคการเมืองสะอาดบริสุทธิ์และนักการเมืองดีหมด
หากแต่ต้องการชี้ให้เห็นในเชิงทัศนคติว่า สำหรับชนชั้นนำและชนชั้นกลางอนุรักษนิยมแล้ว พวกเขากลายเป็นพวก “ต่อต้านการเมือง” ที่มองเห็นแต่ด้านลบของระบบการเลือกตั้ง
นอกจากนี้ ในยุคที่โลกมีความเปลี่ยนแปลงด้านด้านสารสนเทศภายใต้การขับเคลื่อนของ “สื่อสังคม” ในรูปแบบต่างๆ แล้ว การแพร่กระจายของข่าวสารอย่างรวดเร็ว และบทบาทของปัจเจกบุคคลในฐานะผู้สร้างและผลิตข่าวที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน ก็ยิ่งทำให้การขับเคลื่อนทางความคิดของปีกอนุรักษนิยมเช่นในสังคมไทยมีพลังมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด
ดังนั้น จึงไม่แปลกนักที่การขับเคลื่อนการเมืองของกลุ่มชนชั้นกลางอนุรักษนิยมในการต่อต้านรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง จึงเป็นดัง “ผู้เปิดประตู” ให้กับการหวนคืนของกองทัพกลับสู่การเมืองไทยไม่ว่าจะเป็นในรัฐประหารกันยายน 2549 หรือพฤษภาคม 2557 ก็ไม่ได้แตกต่างกัน
ฉะนั้น หากทฤษฎีของวิชารัฐศาสตร์โดยทั่วไป มักจะกล่าวและให้ความสำคัญกับบทบาทของชนชั้นกลางว่าเป็น “ยามเฝ้าประตู” (gatekeeper) ของระบอบประชาธิปไตย ที่จะมีส่วนโดยตรงในการพิทักษ์ระบอบดังกล่าว
ซึ่งพลังชุดนี้ไม่ใช่ “กองเชียร์รัฐประหาร” แต่ชนชั้นกลางไทยในเมืองที่เป็นอนุรักษนิยมกลับกลายเป็นปัจจัยที่ย้อนแย้งในทางทฤษฎีเป็นอย่างยิ่ง
แต่ชนชั้นกลางไม่ได้มีลักษณะเป็น “เอกภาพ” ไม่แตกต่างจากชนชั้นอื่น
ชนชั้นกลางที่ก้าวหน้าจึงมีลักษณะสนับสนุนประชาธิปไตย
แต่ชนชั้นกลางที่อนุรักษนิยมกลับมีลักษณะต่อต้านประชาธิปไตย
และขึ้นอยู่กับบริบทของแต่ละสังคมว่า ชนชั้นกลางที่จำแนกอย่างหยาบๆ 2 ส่วนนี้ ใครจะมีพลังมากกว่ากัน
ซึ่งพลังที่มากกว่าของกลุ่มนี้จะมีส่วนอย่างมากต่อการกำหนดอนาคตทางการเมืองของประเทศ
ในสถานการณ์การเมืองไทยจากรัฐประหาร 2549 และรัฐประหาร 2557 สะท้อนให้เห็นอย่างชัดเจนถึงบทบาทและพลังของกลุ่มชนชั้นกลางอนุรักษนิยมที่ต่อต้านประชาธิปไตยและการเลือกตั้ง
และยิ่งเมื่อกลุ่มคนเหล่านี้รวมเข้ากับกลุ่มชนชั้นนำอนุรักษนิยมแล้ว ก็ยิ่งทำให้พลังของกลุ่มต่อต้านประชาธิปไตยในไทยเข้มแข็งอย่างมาก
และกลุ่มเหล่านี้เป็นฐานรองรับอย่างดีในฐานะของการเป็น “กองเชียร์รัฐประหาร” หรืออาจจะต้องเรียกว่า “กองหนุนทหาร” (ไม่ใช่ “ทหารกองหนุน”)
กองหนุนเช่นนี้แหละที่ทำให้ผู้นำรัฐบาลทหารมีความเชื่อมั่นว่า ความเข้มแข็งของกลุ่มพลังเช่นนี้จะทำให้รัฐบาลทหารอยู่ได้อย่างยาวนาน และแม้จะสืบทอดอำนาจ ก็จะมีกลุ่มพลังเช่นนี้เป็นผู้สนับสนุน
อีกทั้งยิ่งมีกองทัพอยู่เบื้องหลังแล้ว ผู้นำทหารก็ยิ่งมั่นใจว่า พลังปืนจะควบคุมทุกอย่างจนฝ่ายค้านจะไม่กล้าออกมาท้าทาย
เมื่อเป็นเช่นนี้แล้ว รัฐบาลทหารจะต้องเกรงกลัวกับอุปสรรคใดในอนาคตเล่า… ความเชื่อแบบง่ายๆ ก็คือพลังอำนาจทางทหารจะ “สยบ” ทุกอย่างได้
รัฐบาลทหารไทยหรือรัฐบาลทหารทั่วโลกก็อยู่ภายใต้สมมติฐานเดียวกันว่า พลังปืนและพลังอนุรักษนิยมจะเป็นฐานรองรับการดำรงอยู่และความอยู่รอดของรัฐบาลทหาร
ถ้าพลังส่วนนี้ไม่แตกออกไป ผู้นำรัฐบาลทหารไทยก็มั่นใจว่าพวกเขาสามารถควบคุมการเคลื่อนไหวของ “พลังประชาธิปไตย” หรือ “พลังประชาชน” ได้เสมอ
และมั่นใจว่าวิกฤตใดก็ไม่อาจทำลายรัฐบาลทหารได้
ถนนขรุขระของรัฐบาลทหาร
แต่สถานการณ์ของรัฐบาลทหารปัจจุบันไม่ได้อยู่ในสมมติฐานข้างต้นแต่อย่างใด
คำเตือนที่มีนัยสำคัญต่อสถานะของรัฐบาลจากคำกล่าวของ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ว่า “ตู่ใช้กองหนุนไปเกือบหมดแล้ว แทบจะไม่มีกองหนุนเหลืออยู่แล้ว” จึงเป็นสัญญาณทางการเมืองที่ละเลยไม่ได้
ปัญหาก็คือ แล้วผู้นำรัฐบาลทหารจะคิดถึงสัญญาณเช่นนี้อย่างไร
ความน่าสนใจต่อมาก็คือ ผู้นำทหารตีความคำเตือนเช่นนี้ว่า กองหนุนไม่หมด เพราะ “เราได้เอาทุกคนมาช่วยขับเคลื่อนประเทศไปแล้ว…”
คำตอบเช่นนี้สะท้อนอย่างชัดเจนว่ารัฐบาลทหารยังเชื่ออย่างมั่นใจว่าฐานการเมืองของกลุ่มสนับสนุนรัฐประหารยังมีความเข้มแข็งที่จะช่วยพยุงให้รัฐบาลทหารดำเนินต่อไป
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ผู้นำรัฐบาลทหารจะขายวาทกรรมหลักก็คือ “รัฐบาลทหารคือผู้รักษาความสงบ”…
วาทกรรมของการเป็นผู้รักษาความสงบถูกขายครั้งแล้วครั้งเล่า หรือที่ทฤษฎีรัฐศาสตร์เรียกบทบาทเช่นนี้ว่า ทหารคือ “ผู้พิทักษ์” และวาทกรรมชุดนี้ถูกขายเพื่อสร้างความสนับสนุนให้แก่รัฐบาล ซึ่งก็คงปฏิเสธไม่ได้ว่า มีคนพร้อมที่จะรับวาทกรรมชุดนี้อย่างไม่ตั้งข้อสงสัย โดยเฉพาะคนส่วนหนึ่งที่มีแนวคิดแบบสุดโต่งว่า รัฐบาลทหารคือสิ่งที่ดีที่สุดในระบอบการปกครองไทย
ว่าที่จริง วาทกรรมเช่นนี้ถูกท้าทายและตั้งข้อสงสัยอย่างต่อเนื่อง
อะไรคือความสำเร็จของรัฐบาลทหาร…
รัฐบาลทหารในโลกสมัยใหม่แทบจะไม่ประสบความสำเร็จอะไรอย่างเป็นรูปธรรม
ในด้านหนึ่งเป็นเพราะไม่มีประเทศไหนตั้งโรงเรียนนายร้อยเพื่อผลิตนักการเมือง
โรงเรียนทหารถูกจัดตั้งขึ้นเพื่อทำหน้าที่ในการสร้าง “ทหารอาชีพ” นายทหารเหล่านี้จึงไม่ใช่คนที่ถูกผลิตขึ้นเพื่อทำหน้าที่ในการปกครองประเทศ
ประกอบกับรัฐสมัยใหม่ในโลกปัจจุบันก็มีความซับซ้อนอย่างมาก จนอาจเกินขีดความสามารถและความเข้าใจของผู้นำทหาร
การบริหารรัฐสมัยใหม่มีความยุ่งยากและซับซ้อนกว่าการบริหารกองทัพสมัยใหม่มาก อย่างน้อยสำหรับผู้นำทหารในกองทัพสมัยใหม่นั้น พวกเขาไม่ต้อง “หาเงิน” (ในความหมายของงบประมาณ) เพราะรัฐบาลเป็นผู้จัดงบประมาณให้แก่กองทัพ แต่ผู้นำรัฐบาลที่ “หาเงิน” ไม่ได้คือหนึ่งในจุดจบของรัฐบาลอย่างแน่นอน
รัฐบาลทหารที่ไม่ประสบความสำเร็จในทางเศรษฐกิจจึงต้องใช้การโฆษณาตัวเลข แต่มักละเลยการสร้างอำนาจการซื้อและเพิ่มขีดความสามารถทางเศรษฐกิจให้แก่ประชาชน
รัฐบาลเช่นนี้ย่อมจะถูกต่อต้าน
ประกอบกับรัฐบาลทหารโดยจุดกำเนิดที่มาจากการรัฐประหารนั้น ไม่มีความชอบธรรมในตัวเอง ก็ยิ่งทำให้ “อำนาจทางศีลธรรม” (moral authority) ของความเป็นรัฐบาลลดลงอย่างหนีไม่พ้น
การประกาศว่าผู้นำทหารที่มาด้วยการรัฐประหารว่าเป็น “รัฏฐาธิปัตย์” จึงเป็นสิ่งที่ไม่มีความหมาย
เพราะในความเป็นจริงทางการเมืองนั้น ผู้นำทหารไม่ได้มีสถานะเช่นนั้น แม้พวกเขาจะได้อำนาจมาจากการรัฐประหารก็ตาม
ถนนการเมืองขรุขระมากกว่าที่ผู้นำทหารคิด ไม่ง่ายเหมือนกับการออกคำสั่งในกองทัพ
ยุทธศาสตร์ขาลง
ชีวิตของรัฐบาลทหารในสภาวะเช่นนี้จึงเป็นความยากลำบากและและต้องเผชิญกับความท้าทายอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
ในด้านหนึ่งรัฐบาลทหารอยู่ในอำนาจมาเป็นระยะเวลาพอสมควรแล้ว แต่กลับไม่สามารถสร้างผลงานที่เป็นรูปธรรมเพื่อใช้ในการโฆษณาทางการเมืองได้อย่างจริงจัง ไม่ว่าจะเป็นการปฏิรูป การพัฒนาเศรษฐกิจ การปรองดอง การจัดความสัมพันธ์ในเวทีโลก เป็นต้น
แต่กลับกลายเป็นว่ารัฐบาลทหารพยายามอยู่ต่อด้วยการใช้ขั้นตอนทางกฎหมายเป็นเครื่องมือ เช่น การเลื่อนการเลือกตั้ง ประกอบกับ “วิกฤตศรัทธา” อันเป็นผลจาก “วิกฤตนาฬิกา” และความไม่โปร่งใสของผู้นำรัฐบาลที่เป็นทหาร ส่งผลต่อความน่าเชื่อถือของรัฐบาลทหารอย่างมาก
และขณะเดียวกันก็ทำให้ “กองหนุน” บางส่วนเริ่มขยับตัวออก
การชุมนุมต่อต้านรัฐบาลทหารมีประเด็นเรื่อง “สีเสื้อ” น้อยลง
พรรคการเมืองใหญ่ของสองฝั่งการเมืองไทยส่งเสียงไม่แตกต่างกันในปัญหาการเลือกตั้ง…
คนเริ่มออกมาทวงสัญญาถึงกำหนดการเลือกตั้งมากขึ้น และขณะเดียวกันก็เรียกร้องให้รัฐบาลมีท่าทีที่ชัดเจนต่อประเด็นนี้
ในสภาวะที่ “กองหนุนหาย-แนวร่วมหด” เช่นที่รัฐบาลทหารกำลังเผชิญเช่นนี้ จึงขึ้นอยู่กับทัศนะทางการเมืองของผู้นำอย่างมากว่าพวกเขาจะกำหนด “ยุทธศาสตร์ขาลง” อย่างไร
เพราะประเด็นเช่นนี้เป็นเรื่องสำคัญที่พบได้จากบทเรียนของรัฐบาลทหารทั่วโลก
โดยเฉพาะอย่างยิ่งในละตินอเมริกา ซึ่งเป็นภูมิภาคที่กองทัพมีบทบาทในการแทรกแซงการเมืองอย่างมาก
แต่เมื่อรัฐบาลที่มาจากการรัฐประหารในหลายๆ ประเทศไม่ประสบความสำเร็จทั้งในทางการเมืองและเศรษฐกิจ โดยเฉพาะการบริหารเศรษฐกิจของรัฐบาลทหารได้นำไปสู่ “วิกฤตหนี้” ในปี 2523 อันเป็นวิกฤตใหญ่ของภูมิภาค ประกอบกับการเติบโตของภาคประชาสังคมที่ก่อให้เกิดเสียงเรียกร้องในการพาประเทศกลับสู่ระบอบประชาธิปไตยและการเลือกตั้ง… เสียงเช่นนี้ดังมากขึ้น จนกลายเป็นสัญญาณสำคัญถึงการ “หมดเวลา” ของรัฐบาลทหาร
ผู้นำรัฐบาลทหารในละตินอเมริกาในขณะนั้นจึงได้เริ่มวาง “ยุทธศาสตร์ทางออก” และถือเป็นจุดเริ่มต้นของปรากฏการณ์การเมืองของโลกในปี 2523 ได้แก่ การถอนตัวของทหารจากการเมือง
ผู้นำกองทัพค่อยๆ ขยับตัวออกจากรัฐบาลทหาร และพาทหารกลับเข้ากรมกอง กองทัพลดบทบาททางการเมืองของตัวเองลงเพื่อรักษาสถาบันทหาร และไม่แสดงตัวเป็นผู้ปกป้องรัฐบาลทหารอีกต่อไป
ปี 2561 ที่เริ่มต้นพร้อมกับเสียงเรียกร้องประชาธิปไตยและการทวงการเลือกตั้ง จนต้องยอมรับว่ากระแสรัฐบาลทหาร 2561 เป็นปี “เสนาอัสดง”
ดังนั้น จึงน่าสนใจว่า รัฐบาลทหารกรุงเทพฯ จะจัดวาง “ยุทธศาสตร์ทางออก” อย่างไร
นักการทหารที่เชื่อว่าสงครามทำได้ด้วยยุทธศาสตร์การรุกอย่างเดียว ไร้เดียงสาเกินไป
หลักการพื้นฐานในวิชาทหารคือ “รุก-รับ-ร่นถอย” ยังเป็นข้อเตือนใจที่สำคัญทั้งในสงครามและการเมือง
และต้องรู้อีกด้วยว่าในเวลาไหนควรจะใช้หลักการอะไร ยุทธศาสตร์ทางออกในยามขาลงจึงเป็นประเด็นสำคัญเสมอ
เพราะไม่มีรัฐบาลใดจะอยู่ในอำนาจได้ตลอดกาล!