วิกฤติศตวรรษที่21 : รัสเซียต้องการฟื้นฐานะความเป็นมหาอำนาจโลก ?

โลกหลังอเมริกา : การเคลื่อนย้ายอำนาจโลก (10)

รัสเซียมีความแน่วแน่ในการสร้างระเบียบโลกใหม่ที่มีหลายขั้วอำนาจ ไม่ใช่รวมศูนย์อยู่ที่สหรัฐแต่ผู้เดียว ซึ่งย่อมเกิดการเคลื่อนย้ายอำนาจโลกครั้งใหญ่

ศูนย์อำนาจใหม่มีแกนจีน-รัสเซีย เป็นต้น

นอกจากนี้ก็ยังมีศูนย์อำนาจอื่น เช่น โลกอิสลาม กลุ่มประเทศละตินอเมริกาและทะเลแคริบเบียน

ในการเคลื่อนย้ายอำนาจโลกนั้น รัสเซียอาศัยหลักการความเชื่อ แนวทางจำนวนหนึ่ง คือ ประชาธิปไตยองค์อธิปัตย์ รัสเซียออร์ธอด็อกซ์ และแนวทางยูเรเซียใหม่

นอกจากนี้ ยังต้องการอาศัยพลังขับเคลื่อนใหญ่ ได้แก่ การปฏิวัติอุตสาหกรรม 4.0 และปรัชญาสำคัญคือการยูโดทางการเมือง

ฉบับนี้จะกล่าวถึงการปฏิวัติอุตสาหกรรม 4.0

AFP PHOTO / POOL / GRIGORY DUKOR

รัสเซียกับการปฏิวัติอุตสาหกรรม 4.0

ปูตินกล่าวว่า “เทคโนโลยีที่ก้าวหน้า” (นั่นคืออินเตอร์เน็ตเชื่อมอุปกรณ์ หรือ Internet of Things และปัญญาประดิษฐ์) เป็นปัจจัยหลักในการประกันความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมแห่งชาติบนเวทีโลก

ประมาณว่าเฉพาะอุตสาหกรรมเหล็กและเหมืองแร่ ถ้าหากมีการใช้นวัตกรรมผ่านเทคโนโลยีดิจิตอลจะสามารถสร้างความเติบโตขึ้นได้ถึง 320 พันล้านดอลลาร์ในทศวรรษหน้า

ตัวอย่างบริษัทเซเวิร์สตัลของรัสเซีย ซึ่งเป็นบริษัทใหญ่ทางด้านอุตสาหกรรมเหล็กและเหมือนแร่ของรัสเซีย มีโรงงานทั้งในรัสเซีย ยูเครน คาซัคสถาน ฝรั่งเศส และหลายประเทศในแอฟริกา ได้ใช้เครื่องจักรที่เรียนรู้ด้วยตนเองทำการรวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูลใหญ่

มีการติดตั้งกล้องวงจรปิดทุกแห่งเพื่ออำนวยความสะดวกในการปฏิบัติงาน ทำให้ผู้ควบคุมสามารถติดตามการทำงานได้อย่างละเอียดทุกขั้นตอน ไม่ให้ผิดพลาด

ด้วยการใช้เทคโนโลยีนี้ช่วยทำให้สามารถเก็บข้อมูลในการผลิตเพิ่มจากร้อยละ 5 เป็นกว่าร้อยละ 50

ข้อมูลเหล่านี้ยังมีการเก็บรักษาไว้เพื่อการวิเคราะห์ต่อไป ปฏิบัติการเหล่านี้ต้องอยู่ภายในโรงงาน ไม่ไปจ้างทำจากภายนอกเหมือนเดิม

นอกจากนี้ ยังมีความคิดสร้าง “คลังสินค้าออนไลน์” เพื่อการซื้อขายเหล็กกล้า (ดูบทความของ Bernard Marr ผู้เชี่ยวชาญการวิเคราะห์ข้อมูลใหญ่ทางธุรกิจ ชื่อ Russia”s Biggest Data Lake & How Severstal is Transforming The Steel Industry Using Machine Learning ใน forbes.com 01092017)

นั่นก็เป็นเพียงมุมหนึ่ง ปูตินมองอุตสาหกรรม 4.0 ในหลายมิติกว่านั้น มันรวมไปถึงด้านความมั่นคงของชาติ การประสานอุตสาหกรรมทหารกับอุตสาหกรรมพลเรือนเข้าด้วยกัน การสร้างอุตสาหกรรมที่ชำนาญของตน

กล่าวได้ว่า การที่รัสเซียต้องหันไปหาอุตสาหกรรม 4.0 อย่างจริงจังเนื่องด้วยเหตุการณ์และบริบทหลายประการด้วยกัน

ประการแรก การถูกแซงก์ชั่นจากสหรัฐและตะวันตกในปี 2014 เผยให้เห็นชัดถึงความอ่อนแอไร้ประสิทธิภาพของเศรษฐกิจอุตสาหกรรมรัสเซีย

นั่นคือกิจกรรมเศรษฐกิจหลักยังอยู่ที่อุตสาหกรรมพลังงาน อุตสาหกรรมเหล็กและเหมืองแร่ โดยรวมก็คือเน้นการขุดเจาะทรัพยากรธรรมชาติออกมาขาย ทั้งการอุตสาหกรรมเหล่านี้และอุตสาหกรรมอื่น ก็มีการผลิตที่ค่อนข้างล้าหลัง ไม่สามารถแข่งขันในตลาดโลกได้

ผลประการหนึ่งจากสภาพนี้ ทำให้เกิดเมืองเชิงเดี่ยว (Monotown) ขึ้นทั่วไปในรัสเซีย

เมืองเหล่านี้ตั้งและดำรงอยู่ได้โดยอาศัยโรงงานอุตสาหกรรมเพียงโรงเดียวหรือไม่กี่โรง (ว่าทางประวัติศาสตร์สืบทอดมาตั้งแต่ยุคสหภาพโซเวียต)

บางเมืองขึ้นอยู่กับการทำเหมืองถ่านหิน บางเมืองขึ้นกับอุตสาหกรรมอะลูมิเนียม เป็นต้น เมื่อราคาสินค้าโภคภัณฑ์ลดต่ำลง โดยเฉพาะจากการแซงก์ชั่นและการชักใยตลาดของสหรัฐ อนาคตของเมืองเหล่านี้ที่จ้างงานผู้คนจำนวนมากก็เหมือนดับวูบ

ก่อนการถูกแซงก์ชั่น ปูตินได้เข้าร่วมในพิธีเปิดงานแสดงสินค้าเมืองฮันโนเวอร์ร่วมกับนางแมร์เคิล นายกรัฐมนตรีเยอรมนี ในปี 2013 ชักชวนให้เยอรมนีเข้าไปลงทุนในรัสเซีย และตั้งความหวังที่จะเชื่อมสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจกับเยอรมนีให้แน่นแฟ้นขึ้น

แต่ก็ถูกแซงก์ชั่นจากเยอรมนีด้วย

ซึ่งรัสเซียไม่สามารถตอบโต้อะไรได้มาก มีหนทางเดียวคือ ต้องพัฒนาเทคโนโลยีเอง สร้างอุตสาหกรรมใหม่ที่แตกต่างและมีประสิทธิภาพขึ้น

เช่น อุตสาหกรรมอาหาร มุ่งเดินสู่การปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 แม้ว่าจะต้องลงแรงหนักและใช้เวลานาน

ประการต่อมา ได้แก่ กระแสการปฏิวัติอุตสาหกรรม 4.0 ที่แพร่ไปทั่วโลก โดยเฉพาะในประเทศอุตสาหกรรม มีสหรัฐและเยอรมนี เป็นต้น และแม้ประเทศตลาดเกิดใหม่เช่นจีน ก็มีความกระตือรือร้นอย่างยิ่งในการที่จะก้าวขึ้นเป็นผู้นำทางเทคโนโลยีขั้นสูงในอนาคตอันไม่นานนัก

ประธานาธิบดีสีจิ้นผิงได้เสนอบางเรื่องที่สอดคล้องกับความเรียกร้องต้องการของประเทศรัสเซีย ได้แก่ “ความฝันของชาวจีน” หรือการทำให้จีนกลับมายิ่งใหญ่อีกครั้ง หลังจากที่ต้องเผชิญกับ “ศตวรรษที่น่าอับอาย” จากลัทธิอาณานิคมตะวันตก

รัสเซียก็ต้องการฟื้นฐานะความเป็นมหาอำนาจโลกเช่นกัน

Russian President Vladimir Putin (L) shakes hands with Chinese President Xi Jinping during a signing ceremony in Beijing’s Great Hall of the People on June 25, 2016. / AFP PHOTO / POOL / GREG BAKER

สียังเสนอประเด็น “การฟื้นเยาวภาพของจีน” ฟื้นเยาวภาพทั้งของพรรคและรัฐ เพื่อให้เกิดความกระปรี้กระเปร่า นำพาประเทศได้อย่างเข้มแข็ง ปูตินได้กล่าวว่า รัสเซียมีประวัติศาสตร์ยาวนานเป็นพันปี แต่ก็ไม่ควรคิดว่ารัสเซียเป็นประเทศคุณยาย จะต้องสร้างความเยาวภาพแก่ประเทศ

และที่สำคัญ สีเสนอ “โครงการหนึ่งแถบหนึ่งทาง” ซึ่งเป็นอภิโครงการ รัสเซียก็มี “สหภาพเศรษฐกิจยูเรเซีย” ของตน ที่สามารถช่วยเสริมและทำให้รัสเซียมีบทบาทในระดับที่แน่นอนต่ออภิโครงการนี้

และแน่นอนว่ารัสเซียจำต้องพัฒนาพลังการผลิตของตนขนานใหญ่ สามารถสร้างคุณูปการสำคัญในการช่วยสร้างเขตยูเรเซียให้กลายเป็นขั้วอำนาจโลกอีกขั้วหนึ่ง

อีกประการหนึ่งคือ แรงกดดันจากประชากร ซึ่งเป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่ต้องปฏิรูปการอุตสาหกรรมแห่งชาติ รัสเซียเป็นอีกประเทศหนึ่งที่เผชิญปัญหาประชากรค่อนข้างรุนแรง ที่สำคัญเนื่องจากการล่มสลายของสหภาพโซเวียตในปี 1991 นอกจากนี้ การแซงก์ชั่นของสหรัฐและตะวันตกยังส่งผลต่อการเกิดของประชากรในระดับที่แน่นอน

ปัญหาของรัสเซียร่วมกับประเทศพัฒนาแล้วทั่วไป ได้แก่ สัดส่วนประชากรผู้สูงอายุเพิ่มขึ้น ขณะที่จำนวนประชากรในประเทศลดลง ต้องอาศัยการอพยพจากนอกประเทศ แรงกดดันของประชากรส่งผลต่อเศรษฐกิจและความมั่นคงของชาติ

ทางเศรษฐกิจคือมีประชากรภาคแรงงานลดลง ต้องพึ่งแรงงานจากภายนอก ซึ่งอาจเกิดผลกระทบต่อความมั่นคงได้ ในทางการทหารจำต้องลดจำนวนกำลังพลลง

เหล่านี้ต้องบีบให้ต้องพัฒนาประสิทธิภาพการผลิตและเทคโนโลยีทางการทหารให้สูงขึ้นอย่างรวดเร็ว

ประการท้ายสุด การแสวงหาอุดมการณ์ใหม่เพื่อการรักษาอธิปไตยและความมั่นคงแห่งชาติ

เดือนพฤศจิกายน 2017 เป็นวันครบรอบร้อยปีการปฏิวัติสังคมนิยมในรัสเซีย ที่เป็นเหตุการณ์ใหญ่ที่สุดเหตุการณ์หนึ่งในศตวรรษที่ 20

ปรากฏว่าทางการรัสเซียไม่ได้จัดการเฉลิมฉลอง คล้ายกับว่าต้องการให้ชาวรัสเซียลืมเลือนเหตุการณ์ครั้งนั้น

แต่ชาวรัสเซียจำนวนไม่น้อยยังระลึกถึงวันนั้นอยู่ การละเลยต่อการปฏิวัติ คงเนื่องจากปูตินเห็นว่าหากจะนำอุดมการณ์เดิมมาชี้นำรัสเซียอีกครั้ง สิ่งที่จะเห็นคือสงครามกลางเมืองที่ยืดเยื้อหลายปี ด้วยการสนับสนุนของประเทศทุนนิยมตะวันตก ทำให้ประเทศบอบช้ำมาก กว่าจะฟื้นตัวได้ก็กินเวลานาน

แต่เวลาแบบนั้นไม่มีอีกแล้ว รัสเซียปัจจุบันต้องการการปฏิวัติจริง แต่ควรเป็นการปฏิวัติอุตสาหกรรม 4.0 เช่นเดียวกับหลายประเทศชั้นนำของโลก

มีผู้วิจารณ์ว่าที่ปูตินทำเช่นนี้ แท้จริงเพราะเขาเกรงกลัวพลังของประชาชน และไม่ต้องการเสริมอำนาจให้แก่ประชาชน

ซึ่งก็สามารถเข้าใจเช่นนั้นได้ เพราะว่าการปฏิวัติอุตสาหกรรม 4.0 เป็นการปฏิวัติที่นำโดยมหาเศรษฐีนักธุรกิจ

(FILES) In this file photo taken on November 11, 2017 US President Donald Trump (L) chats with Russia’s President Vladimir Putin as they attend the APEC Economic Leaders’ Meeting, part of the Asia-Pacific Economic Cooperation (APEC) leaders’ summit in the central Vietnamese city of Danang.
The US special prosecutor investigating Moscow’s meddling in the 2016 presidential election on February 16, 2018 indicted 13 Russians for allegedly running a secret campaign to tilt the vote, prompting claims of vindication from President Donald Trump.The indictment — which includes the first charges laid by special counsel Robert Mueller for election interference — detailed a stunning operation launched in 2014 in a bid to sow social division in the US and influence American politics “including the presidential election of 2016.”
/ AFP PHOTO / SPUTNIK / Mikhail KLIMENTYEV

การสร้างอุตสาหกรรม 4.0 ในทัศนะของปูติน

การสร้างอุตสาหกรรม 4.0 ในทัศนะของปูติน ประการแรก คือ การที่รัสเซียจะต้องไล่ทันและแซงขึ้นหน้าเทคโนโลยีทางทหารของตะวันตก ในการประชุมทางทหารที่เมืองโซชิ เขากล่าวว่า “กองทัพบกและกองทัพเรือของเราต้องมีอุปกรณ์ที่ดีที่สุด ดีกว่าของต่างชาติ ถ้าเราต้องการชนะ เราจะต้องดีกว่า”

นอกจากนี้ ยังต้องเชื่อมอุตสาหกรรมทางทหารกับอุตสาหกรรมพลเรือนเข้าด้วยกัน

อนึ่ง เป็นที่สังเกตว่ารัสเซียพัฒนากองทัพของตนอย่างรวดเร็ว ตั้งแต่สงครามจอร์เจียปี 2008 (ดูบทความของ Oliver Carroll ชื่อ Vladimir Putin says all big Russia businesses should be ready for war production, 22.11.2017)

ประการต่อมา ในบรรดาเทคโนโลยีทั้งหลาย ที่สำคัญยิ่งได้แก่ ปัญญาประดิษฐ์ (เอไอ) ในต้นศตวรรษที่ 20 มีผู้เสนอว่า ผู้ที่ครอบครองดินแดนหัวใจ (เกือบทั้งหมดอยู่ในรัสเซีย) จะสามารถครองโลกในที่สุดได้ ในต้นศตวรรษที่ 21

ปูตินเห็นว่า ประเทศที่ครอบครองเอไอก็จะเป็นมหาอำนาจโลก

ในการกล่าวปราศรัยเปิดชั้นเรียนทางวิทยาศาสตร์ต่อนักเรียนนักศึกษารัสเซียทั่วประเทศ ปูตินกล่าวว่า เอไอคือ “อนาคตไม่แต่กับชาวรัสเซียเท่านั้น แต่กับมนุษย์ทั้งปวง…เอไอให้โอกาสมหาศาลแก่เรา แต่ก็คุกคามเราอย่างคาดเดาไม่ได้อีกด้วย…ประเทศใดก็ตามที่เป็นผู้นำในเทคโนโลยีนี้ ก็จะกลายเป็นผู้ปกครองโลก…เป็นสิ่งที่ไม่พึงปรารถนาอย่างยิ่งที่จะปล่อยให้ประเทศใดได้ผูกขาดเทคโนโลยีนี้”

ปูตินเน้นว่า “ถ้าหากเรากลายเป็นผู้นำในด้านนี้ เราจะแบ่งปันความรู้นี้กับทั้งโลก แบบเดียวกับที่เราแบ่งปันเทคโนโลยีนิวเคลียร์ในปัจจุบัน” (ในขณะนี้สหรัฐและจีนกำลังแข่งขันเป็นผู้นำในด้านนี้ ซึ่งรัสเซียจำต้องไล่ตาม) ปูตินยังได้ทำนายว่าประเทศต่างๆ จะทำสงครามกันด้วยโดรน ซึ่งผู้ชนะจะชี้ขาดด้วยความเหนือกว่าของโดรน (ดูบทความของ David Meyer ชื่อ Vladimir Putin Says Whoever Leads in Artificial Intelligence Will Rule the World ใน fortune.com 04.09.2017)

ประการท้ายสุด รัสเซียมีอุตสาหกรรมที่สำคัญจำเป็นที่จะต้องพัฒนาสู่แนวหน้า ได้แก่ อุตสาหกรรมพลังงาน อุตสาหกรรมเหล็กและเหมืองแร่ อุตสาหกรรมเครื่องจักรกลและเครื่องยนต์ อุตสาหกรรมอาหาร อุตสาหกรรมข่าวสารและการสื่อสาร และการสร้างเครือข่ายโลจิสติกส์ที่ทันสมัย เพื่อที่จะได้แสดงบทบาทเป็นผู้เชื่อมร้อยยูเรเซียเข้าด้วยกัน

ฉบับต่อไปจะกล่าวถึงปรัชญาการยูโดทางการเมืองของปูติน