นี่แหละผู้นำปฏิวัติการเลี้ยงไก่ตัวจริง!

วิรัตน์ แสงทองคำviratts.wordpress.com

จากบทความของคุณ วิรัตน์ แสงทองคำ : ซีพี เมืองเกษตร (1) เผยแพร่ในออนไลน์ครั้งแรก 7 มี.ค. 2561

ไอเดียล่าสุด ผู้นำซีพีเชื่อว่ามีพลังสั่นสะเทือนเกษตรกรรมไทยไม่น้อย

“ผมกำลังศึกษาโมเดลธุรกิจที่จะสร้างเมืองขนาดใหญ่ ประชากร 3-4 แสนคนมาอยู่รวมกัน โดยคนที่อยู่ในเมืองนี้สามารถทำธุรกิจเลี้ยงตัวเองได้ ทั้งปลูกพืชเกษตร ทำปศุสัตว์ …โมเดลใหม่จะเป็นเมืองขนาดใหญ่ สมมุติที่ดินรวมกันได้ 1,000 ไร่ เคยปลูกพืชขายผลผลิตได้ 1,000 บาท ไม่ต้องมาปลูกเอง ผมรับจ้างปลูกให้โดยการันตีว่าได้เงิน 1,200 บาท ถ้าผลผลิตเสียหาย ผมรับผิดชอบ และให้รัฐบาลการันตีว่า ที่ดินแปลงนี้ยังเป็นของคุณ”

ธนินท์ เจียรวนนท์ ปรากฏตัว (ในฐานะประธานมอบที่ดินให้ข้าราชการตำรวจ ที่เข้าร่วมโครงการหมู่บ้านเกษตรสันติราษฎร์ อำเภอพนัสนิคม จังหวัดชลบุรี เมื่อ 4 มกราคม 2561) และพร้อมไอเดียล่าสุด (อ้างจากประชาธุรกิจออนไลน์ เมื่อ 7 มกราคม 2561) กับสื่อ

ในอีกตอนที่สำคัญเขาเน้นให้เห็นภาพ ว่าเกษตรกรไทยมีปัญหา มีข้อจำกัดที่สำคัญมากๆ คือ

หนึ่ง-เงินทุน

สอง-ความรู้ และเทคโนโลยี

และ สาม-ตลาด ซึ่งซีพีมีความพร้อมทุกอย่าง และพร้อมที่จะเข้ามารับผิดชอบ

ธนินท์ เจียรวนนท์ กับตำแหน่งใหม่–ประธานอาวุโสเครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซีพี) ในช่วงเวลาใหม่ ผลักดันให้บุตรทั้งสามขึ้นสู่ตำแหน่งบริหารเครือข่ายธุรกิจใหญ่อย่างเป็นทางการ

ช่วงเวลาซึ่งซีพีมีการเปลี่ยนแปลงบางอย่าง เท่าที่ปรากฏ (ใน www.cpgroupglobal.com) ที่สำคัญคือการปรับโครงสร้างกลุ่มธุรกิจ โดยเฉพาะการควบรวมกลุ่มธุรกิจการเกษตรและอาหารให้ดูกระชับ

ดูประหนึ่งมีความสำคัญลดลง ขณะที่เพิ่มและขยายบทบาทธุรกิจใหม่ๆ โดยเฉพาะเกี่ยวกับเทคโนโลยีดิจิตอล อุตสาหกรรมและการเงิน

ธนินท์ เจียรวนนท์ กับการปรากฏตัว พร้อมไอเดียที่น่าสนใจครั้งล่าสุด ยังคงแสดงถึงบทบาทผู้นำเครือข่ายธุรกิจใหญ่ของไทย เป็นผู้นำทางความคิดและแนวทางธุรกิจ คงแอ๊กทีฟอยู่เสมอ ทำให้เชื่อว่าความสำคัญธุรกิจดั้งเดิมคงมีอย่างมั่นคง ทั้งมีความพยายามขยายจินตนาการ มิติและโอกาสใหม่ๆ ให้มากขึ้นๆ

 

ซีพีเริ่มวางรากฐานและเติบโต สร้างอาณาจักรธุรกิจ จากโอกาสเปิดกว้างยุคสงครามเวียดนาม แรงผลักดันสำคัญเพื่อเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจอ้างอิงอาศัยพลังหลักจากภาคเอกชน ท่ามกลางบทบาทอันแข็งขันของรัฐไทย กับแผนการพัฒนาระบบสาธารณูปโภคพื้นฐานครั้งใหญ่ ทั้งเครือข่ายคมนาคมและขนส่ง ตามแผนยุทธศาสตร์เชื่อมโยงเมืองหลวง กับหัวเมืองและชนบท

โอกาสซีพีเปิดกว้างมากขึ้นๆ อันเนื่องมาจากการเติบโตของระบบเศรษฐกิจเกษตรกรรม ซึ่งมีความสัมพันธ์โดยตรงกับพลังผู้บริโภคฐานกว้าง

ปัจจุบันกลุ่มธุรกิจการเกษตรและอาหารของซีพี “ดำเนินธุรกิจแบบครบวงจร เริ่มตั้งแต่กระบวนการผลิตอาหารสัตว์ การเพาะพันธุ์สัตว์ การแปรรูปเนื้อสัตว์ และการผลิตอาหารพร้อมรับประทาน พร้อมกับการลงทุนในอีกกว่า 20 ประเทศทั่วโลก” (อ้างจาก www.cpgroupglobal.com เช่นกัน)

นอกจากเครือข่ายธุรกิจใหญ่ที่สุด อย่างบริษัทเจริญโภคภัณฑ์อาหาร หรือซีพีเอฟ แล้วยังมีเครือข่ายธุรกิจข้างเคียงอีกมากมาย

รวมทั้งกลุ่มธุรกิจพืชครบวงจร ธุรกิจอีกกลุ่มหนึ่งที่ซ่อนตัวอยู่อย่างเงียบๆ มานาน ซึ่งเคยนำเสนอไว้บ้าง (ซีพี-ทีซีซี : รากฐานในสังคมไทย (3) มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 14 ตุลาคม 2559) ว่าซีพีมีจังหวะก้าวสำคัญเข้าสู่ธุรกิจเกี่ยวข้องกับพืชเศรษฐกิจหลักของไทย

นั่นคือพัฒนาเมล็ดพันธุ์ข้าวโพดตั้งแต่ปี 2522 ในยุคเดียวกับเครือข่ายธุรกิจพันธุ์ข้าวโพดระดับโลกเข้ามายึดตลาดไทย และแล้วเว้นช่วงไว้นานทีเดียว ก่อนมาอีกช่วงหนึ่งที่สำคัญ เปิดฉากด้วยการดำเนินงานวิจัยและปรับปรุงพันธุ์ข้าวลูกผสม ในช่วงคาบเกี่ยววิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจราวๆ ปี 2543 ถือเป็นช่วงเดียวกับการปรากฏบทสนทนาของ ธนินท์ เจียรวนนท์ เกี่ยวกับเรื่องข้าวโดยตรง

“เรื่องข้าว ขณะนี้เพียงอยู่ในขั้นตอนของการทดลองและขายความคิด ยังจำเป็นต้องใช้เวลาและพลังงานอีกมาก ว่าไปแล้วเวลานั้นก็ใกล้จะมาถึงแล้ว ผมเชื่อว่าการเข้าสู่วิวัฒนาการเรื่องข้าวเป็นเรื่องใหญ่และยาก ซีพีจะเข้าก็ต่อเมื่อใหญ่พอ มีแรง และทรงอิทธิพลมากพอในสังคมไทย ซึ่งว่าไปแล้วก็ใกล้จะถึงจุดนั้นแล้ว” ผมเคยนำเสนอความคิดเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวไว้เมื่อปี 2545

จากนั้นไม่นานปรากฏการณ์การเข้าสู่ธุรกิจพืชเศรษฐกิจหลักสำคัญๆ อย่างเป็นจังหวะ อย่างครึกโครม โดยเฉพาะธุรกิจยางพารา จากเป็นผู้ผลิตต้นกล้ายางพารา เชื่อมโยงกับโครงการส่งเสริมปลูกยางพารา 1 ล้านไร่ ใน 36 จังหวัดภาคเหนือ-อีสานในช่วงปี 2547-2549

ช่วงเดียวกันนั้น ซีพีเข้าสู่ธุรกิจปาล์มน้ำมัน (ในปี 2548) พร้อมๆ กับ “ดำเนินธุรกิจด้านพืชสวนครบวงจร โดยในระยะเริ่มต้นได้ทำการผลิตกิ่งพันธุ์ส้มปลอดโรค (ส้มเขียวหวาน, ส้มโชกุน, ส้มฟรีมองต์ และส้มโอ) การเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ (Tissue Culture) กล้วยไม้, ดอกหน้าวัว และฟาแลนนอฟซิส”

นั่นคือพัฒนาการซีพี เชื่อกันว่ามาจากมุมมอง ปรัชญา ผู้นำธุรกิจซึ่งมีความเข้าใจ มียุทธศาสตร์สัมพันธ์กับวิวัฒนาการสังคมไทย

 

จากยุคบุกเบิก ซีพีได้ชื่อว่าเป็นผู้นำปฏิวัติการเลี้ยงไก่ในระดับภูมิภาค โดยใช้เทคโนโลยีจากตะวันตก ว่าด้วยการพัฒนาพันธุ์ไก่มาประยุกต์เข้ากับการจัดการ ยกระดับจากการเลี้ยงตามธรรมชาติดั้งเดิม ไปสู่ระบบฟาร์มสมัยใหม่ โดยควบคุมและจัดการให้เป็นระบบที่คาดหมายได้ในเชิงอุตสาหกรรม เช่นเดียวกับการเข้าสู่ธุรกิจค้าปลีก เพื่อเข้าแทรก แทนที่ธุรกิจค้าปลีกแบบเดิมซึ่งล้าหลังมากๆ

ซีพีอาศัยเทคโนโลยีหรือโนว์ฮาวการค้าปลีกโลกตะวันตกอีกเช่นกัน เพื่อให้มีพลังเชิงควบคุมสภาวะตลาด

ใช้กลยุทธ์ธุรกิจเข้าลงทุนธุรกิจนี้กับเจ้าของเทคโนโลยีหลายรายและหลายระดับ

เริ่มตั้งแต่การค้าปลีกขนาดใหญ่ โดยเฉพาะค้าปลีกขนาดเล็ก ซึ่งเข้าปะทะกับระบบการค้าแบบเดิมที่เรียกว่า “โชห่วย” เพื่อเข้าสู่กระแสวิวัฒนาการค้าปลีกสังคมไทย

มุมมองล่าสุดของ ธนินท์ เจียรวนนท์ มิใช่เรื่องใหม่เสียทีเดียว หากเป็นพัฒนาการทางความคิด และโมเดลธุรกิจ ซึ่งให้ภาพชัดเจน ที่เป็นไปได้มากขึ้น

ภาพนั้นเชื่อมโยงกับแนวคิดของเมืองสมัยใหม่ เชื่อมโยงกับพื้นที่เกษตรกรรมขนาดใหญ่

ว่าไปแล้วเป็นจังหวะก้าวที่ทิ้งช่วงนานทีเดียว ว่าด้วยแผนการซีพีกับธุรกิจเกษตรกรรมพื้นฐาน เพิ่งจะเริ่มต้นอย่างจริงจังประมาณ 2 ทศวรรษมานี้เอง

จะโดยตั้งใจหรือไม่ก็ตาม ที่ผ่านๆ มาธุรกิจเครือข่ายซีพีมีความสัมพันธ์กับที่ดินและพื้นทื่แปลงใหญ่ค่อนข้างน้อย เมื่อเปรียบเทียบกรณีทีซีซีของ เจริญ สิริวัฒนภักดี

ดังนั้น การเข้าสู่ธุรกิจพืชเศรษฐกิจหลัก ซึ่งจำเป็นต้องอ้างอิงพื้นที่จำนวนมาก โอกาสของทีซีซีซึ่งประกาศเดินหน้าธุรกิจเกษตรกรรมเช่นกัน ดูเหมือนจะมีมากกว่า

แต่เมื่อมองอีกด้าน ว่าด้วยความรู้ ความชำนาญและประสบการณ์ในเชิงธุรกิจเกษตรซีพีได้เปรียบมากทีเดียว

อย่างไรก็ตาม ทั้งซีพีและทีซีซีอยู่ในกระแสวิวัฒนาการเดียวกัน

 

ภาพนั้นเชื่อมโยงกับโมเดลคลาสสิค “เกษตรแปลงใหญ่” (Plantations) ภายใต้การบริหารจัดการโดยธุรกิจขนาดใหญ่ระดับโลก ซึ่งดำเนินกันมาหลายทศวรรษแล้ว โดยเฉพาะ Dole Food Company แห่งสหรัฐ ซึ่งมีอยู่ในประเทศด้อยพัฒนา อย่างอเมริกากลาง-ใต้ หรือในเอเชียแปซิฟิก ทั้งนี้ เข้ามาบุกเบิกในประเทศไทยตั้งแต่เมื่อ 4-5 ทศวรรษที่แล้ว

“จะโดยบังเอิญหรือไม่ก็ตาม เชื่อมโยงกับโมเดล “เกษตรกรรมแปลงใหญ่” ในความหมายของกระทรวงเกษตรฯ ไทย ยุค รสช. กำลังได้รับการส่งเสริมอย่างเป็นจริงเป็นจัง “เป็นระบบส่งเสริมเกษตรแบบหนึ่งที่ยึดพื้นที่เป็นหลัก (Area based) ในการดำเนินการลักษณะบูรณาการระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยมีผู้จัดการแปลงเป็นผู้บริหารจัดการพื้นที่ทุกกิจกรรมตลอดห่วงโซ่อุปทาน (Supply chain)” (อ้างจากข้อมูลนำเสนอ โดย ดร.อภิชาติ พงษ์ศรีหดุลชัย ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ 2558)” ผมเคยสรุปประเด็นอย่างคร่าวๆ ไว้ (บทความที่อ้างแล้วข้างต้น-ซีพี-ทีซีซี : รากฐานในสังคมไทย (3))

เท่าที่ตรวจสอบ (จาก https://www.moac.go.th) แม้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จะมีการเปลี่ยนตัวรัฐมนตรี แต่ยังคงปรากฏนโยบาย “แปลงใหญ่” อยู่ในอันดับต้นๆ ส่วนข้อมูลที่นำเสนอไว้ ยังคงเป็นข้อมูลในช่วงรัฐมนตรีว่าการคนก่อน (ฉัตรชัย สาริกัลยะ ดำรงตำแหน่ง 19 สิงหาคม 2558 – 23 พฤศจิกายน 2560)

“ระบบส่งเสริมการเกษตรแบบแปลงใหญ่ได้เริ่มดำเนินการมาตั้งปี 2559 ซึ่งเน้นให้เกษตรกรรวมกลุ่มกันเพื่อผลิตสินค้าชนิดเดียวกัน โดยต้องทำให้สินค้ามีคุณภาพมีตลาดรองรับ (ต้นทุนลดลง 20% ผลผลิตเพิ่ม 20%) การเชื่อมโยงนั้นเริ่มจากเกษตรกรรวมกลุ่มทำการผลิตในสินค้าชนิดเดียว มีการวางแผนร่วมกัน มีการถ่ายทอดความรู้ โดยใช้กลไก ส่งเสริมระบบน้ำ/กระจายน้ำเพื่อให้เกษตรกรมีน้ำใช้ในการผลิตสินค้าเกษตร ส่งเสริมให้เกษตรทำการผลิตสินค้าปลอดภัย พัฒนาเป็นเกษตรอินทรีย์ รวมกลุ่มกันเป็นสหกรณ์เพื่อยกระดับสถาบันเกษตรกรให้เข้มแข็ง ดำเนินการจัดตั้งเป็นธนาคารสินค้าเพื่อให้บริการสมาชิกของกลุ่ม รวมทั้งเสริมการเกษตรผสมผสานตามเกษตรทฤษฎีใหม่ ทำการผลิตในพื้นที่เหมาะสม (Zoning by Agri-map) อย่างไรก็ตาม ตัวช่วยในการพัฒนาต้องสร้างเกษตรกรให้เป็น smart farmer สร้างข้าราชการที่ดูแลให้เป็น smart officer ภาครัฐจะเป็นตัวช่วย ด้านเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ ลานตาก ตลาดสินค้าเกษตร ฯลฯ ทั้งหมดจะนำไปสู่ปลายทางคือคุณภาพของเกษตรกรดีขึ้น”

นั่นคือสาระและภาพรวมของนโยบายอันแข็งขันของรัฐ เกี่ยวกับเกษตรกรรมแปลงใหญ่

ดูไปแล้ว มีบาง “ถ้อยคำ” (keyword) เป็นการโฆษณาชวนเชื่อมากไปบ้าง

เชื่อว่าแนวคิด ธนินท์ เจียรวนนท์ กับนโยบาย “แปลงใหญ่” มีทั้งความเชื่อมโยงและแตกต่าง

 

อ่าน ตอนสอง