คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง : “คเณศจตุรถี” ไม่ใช่วันเกิดพระคเณศ!

คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง

ที่จริงผมเคยเขียนเรื่องคเณศจตุรถีไปแล้ว ในช่วงเทศกาลนี้ของปีที่ผ่านมา (2558) ตอนนั้นจำได้ว่ามีประเด็นอยู่ที่งานคเณศจตุรถีในระดับรัฐนั้น เกี่ยวพันกับกลยุทธ์ทางการเมืองในการต่อต้านอังกฤษ และยังเป็นงานที่พยายามประสานความแตกต่างของผู้คนทุกชนชั้นไว้

ทั้งนี้ เพื่อไม่ให้ลืมว่าเจตนารมณ์ของงานนี้คืออะไร

มาปีนี้เทศกาลคเณศจตุรถีเวียนมาอีกครา (5-15 กันยายน 2559) มีเรื่องชวนคิดชวนเขียนอีก

แต่เดิมผมเองก็เชื่อว่า เทศกาลคเณศจตุรถีหรือบางครั้งเรียกว่า วินายกจตุรถี (วินายก เป็นอีกพระนามหนึ่ง) เป็นวันประสูติของพระคเณศ

เพราะงานอะไรเกี่ยวกับเทพ โดยมากคืองานฉลองวันประสูติ

แต่ผมเข้าใจผิดถนัดเลยครับ

ความเข้าใจเช่นที่ว่าคงมีทั่วทั้งสังคมไทย เพราะล่าสุด มีผู้ส่งคลิปอันหนึ่งมาให้ผมดู ในคลิปผู้ศรัทธาคนไทยกลุ่มหนึ่งนำขนมโมทกะเรียงไว้เหมือนขนมเค้กปักเทียนเรียบร้อย จากนั้นทั้งหมดก็พากันร้องเพลง Happy Birthday To you ต่อหน้าเทวรูปพระคเณศของเขาอย่างสนุกสนาน

มีคนนำคลิปนี้ไปแชร์ในกลุ่ม Western Hindu ซึ่งมีสมาชิกโดยมากเป็นฝรั่ง แล้วมีผู้วิจารณ์ไปสองทาง

ทางแรกก็ปลาบปลื้มและว่าน่ารักดี อีกทางก็บอกว่า น่าจะเข้าใจผิดสักอย่าง

ผมถึงเอะใจและลองไปค้นดูปรากฏว่า ตามความเชื่อของฮินดูนั้น เทศกาลคเณศจตุรถีหรือวินายกจตุรถีไม่ใช่วันประสูติดังที่เราเข้าใจ

ในคัมภีร์คเณศปุราณะถ้าจำไม่ผิดคืออัธยายะที่ 48 และในมหาภารตะ อ้างถึงวันประสูติของพระคเณศคือ “ศุทธ มาฆจตุรถี” คือวันขึ้น 4 ค่ำ ในเดือน “มาฆะ” ตามปฏิทินฮินดู

เดือนมาฆะ ตกราวกลางมกราคม ถึง กลางกุมภาพันธ์

ช่วงเวลาคนละโยชน์กับงานคเณศจตุรถีในเดือน สิงหาคม-กันยายนหรือ “ภัทรปท” เลยครับ

วันมาฆจตุรถีนั้น เรียกอีกอย่างว่าวัน “คเณศชยันตี” คำว่า “ชยันตี” (ฉลองชัย) นั้น ใช้เมื่อเป็น วันเกิดเท่านั้นครับ เช่น มหาตมาคานธีชยันตี คือวันฉลองวันเกิดมหาตมาคานธี นรสิงหชยันตี คือวันฉลองวันเกิดพระนรสิงห์ ฯลฯ

ในวันคเณศชยันตีนั้น ชาวบ้านจะเอาดินผสมขมิ้นหรือเครื่องหอม แล้วปั้นเป็นรูปพระคเณศขึ้นมา จากนั้น ถวายขนมโมทกะที่ทำจากงา อาบน้ำผสมงา ถือพรตไหว้พระสวดมนต์ เมื่อครบสี่วันจึงนำเทวรูปไปลอยน้ำเป็นอันเสร็จพิธี

ส่วนงานคเณศจตุรถีหรือวินายกจตุรถีในเดือนภทรบท (สิงหาคม-กันยายน) นั้น เป็นงาน “ฉลองพระคเณศ” เรียกในภาษาสันสกฤตว่า คเณศมโหตสวะ (อุตสวะแปลว่า เทศกาล หรือการสมโภช)

คเณศจตุรถีมีมาตั้งแต่โบราณ แพร่หลายมากในอินเดียตะวันตกและภาคใต้

ในรัฐทมิฬนาฑุ “ปิลไลยาร์จตุรถี” (ปิลไลยาร์ เป็นนามพระคเณศในภาษาทมิฬ แปลว่า “ลูกช้าง”) จะจัดในเดือน “อาวณิ” เหลื่อมกันกับเดือนภัทรบทประมาณ 15 วัน

แต่เดิมพิธีนี้ทำกันตามบ้านและเริ่มเป็นงานใหญ่ของรัฐในช่วงเรียกร้องเอกราชอินเดีย

การฉลองพระคเณศในเดือนนี้ ผมพิเคราะห์แล้วเห็นว่า เป็นการบูชา “ก่อนการเพาะปลูก” เพราะเดือนภัทรบทเป็นต้นฤดูฝนในเขตมรสุม

พูดง่ายๆ คือบูชาพระคเณศเพื่อ “ขอฝน” (ครูไมเคิล ไรท์ เล่าว่าในภาคใต้อินเดียมักแห่พระคเณศเมื่อแล้ง)

ในคัมภีร์ฮินดู เทพเจ้าหลักทั้งห้าองค์ (วิษณุ ศิวะ เทวี สูริยะ คเณศ-ปัญจายนตเทวดา) พระคเณศนั้นครอง “ธาตุน้ำ” (คณปติมฺชีวนมฺ ชีวะหรือชีวิตหมายถึงน้ำ)

อีกทั้งน่าจะบูชาเพื่อไม่ให้มี “อุปสรรค” ต่อการเพาะปลูก เช่น “หนู” ที่เป็นศัตรูพืช

พระองค์จึงนั่งหนู หรือมีหนูเป็นบริวารยอบกายอยู่ไม่ห่าง

อีกทั้งในบางประเพณีถือว่าพระองค์สัมพันธ์กับ “ดวงอาทิตย์” หรือ “แสงสว่าง” (บางทีวาดพระวรกายขาวพระเศียรแดง ซึ่งหมายถึงดวงอาทิตย์ หรือมีพระวรกายแดง-ส้ม) ดวงอาทิตย์นั้นสำคัญต่อการเกษตรแน่ อีกทั้งพระอาทิตย์คือผู้กลั่นน้ำ (เปล่งแสง) จากแผ่นดินผืนน้ำให้ระเหยไปรวมกันเป็นเมฆฝน

ในแคว้นมหาราษฎร์ เมื่อเทศกาลคเณศจตุรถีจบลง ชาวบ้านจะเริ่มเทศกาลบูชา “เจ้าแม่เคารี” ต่อทันที

เจ้าแม่เคารี เป็นเทวีแห่งธัญญาหารและพืชพันธุ์ เมื่อฝนมาพร้อมเพาะปลูก ก็ต้องบูชาพืชพันธุ์ก่อน แล้วจึงเก็บเกี่ยวในช่วงตุลาคม-พฤศจิกายน ซึ่งมีเทศกาล “นวราตรี” บูชาเจ้าแม่เมื่อเก็บเกี่ยวอีกครั้ง

คเณศจตุรถี จึงไม่ได้เป็นเทศกาลฉลอง “ประสูติ” หรือวันเกิดของพระคเณศ แต่เป็นการฉลองบูชาเพื่อเริ่มต้นฤดูกาลเพาะปลูก โดยเฉพาะในเขตมรสุมอย่างแคว้นมหาราษฎร์และภาคใต้ของอินเดีย

เมื่อทราบเช่นนี้แล้วเรายังควรร้องเพลงแฮปปี้เบิร์ธเดย์ถวายพระคเณศในคเณศจตุรถีต่อหรือไม่

โดยส่วนตัว ผมยังมีจุดยืนแบบเดิมคือ เรื่องความเชื่อ อยากจะทำอะไรก็ทำไป ตราบใดไม่ละเมิดสิทธิใคร เพราะมันเป็นสิทธิส่วนบุคคลที่จะเชื่อ

แต่ในฐานะผู้ศึกษาเรื่องพวกนี้ อะไรที่เป็น “ของเก่า” หรือรูปแบบ+ความหมายที่แฝงอยู่แต่โบราณ (จะใช้คำว่าของแท้ ก็กระดากปากยังไงไม่รู้) ผมก็ต้องนำเสนอให้รับรู้กัน

รู้ว่าแต่เดิมเป็นอย่างไรแล้ว จะทำยังไงต่อเป็นเรื่องของท่าน

ที่จริงความเข้าใจผิดที่ว่า คเณศจตุรถีเป็นวันเกิดพระคเณศนั้น ลึกๆ ผมว่ามาจากสองประการครับ

หนึ่ง คือการขาดองค์ความรู้ด้านฮินดูและวัฒนธรรมอินเดียในสังคมไทย และการเชื่อข้อมูล “ผู้วิเศษ” ทั้งหลายอย่างไม่ลืมหูลืมตา

เอาเข้าจริงๆ สมัยนี้หาความรู้ไม่ได้ยากเท่าสมัยก่อนนะครับ มีอะไรให้เราค้นคว้าออนไลน์ (ซึ่งต้องเปรียบเทียบและใช้วิจารณญาณ) อยู่มากและสะดวกสบายทีเดียว

แต่สังคมไทยกลายเป็นสังคมที่ “ศรัทธา” สามารถบดบังข้อเท็จจริงในทุกมิติไปเสียแล้ว ไม่ใช่แต่เรื่องนี้ครับ เรื่องอื่นๆ ก็ด้วย

และเหตุนี้เราจึงใช้ “ศรัทธา” มาเป็นข้ออ้างที่ทำให้เรา “มักง่าย” ในด้านความเชื่อและพิธีกรรม

เราจึงไม่ยอมเสียเวลาศึกษาค้นคว้าให้ลำบาก เชื่อผู้วิเศษก็จบ จ่ายเงินก็จบ ศรัทธาก็จบ

สุดท้าย ความมักง่ายนี้แลที่จะทำให้ พิธีกรรมของสังคมไทยมีแต่รูปแบบโดยปราศจากเนื้อหาสาระ

และถึงที่สุด แม้แต่รูปแบบก็ไม่ “วิวัฒน์” แต่ “วิบัติ” ขึ้นทุกที