คำ ผกา : เลือดใหม่

คำ ผกา

“สำหรับผม ผมจะไม่มีวันเลือกนักการเมืองที่ไม่ออกมาสู้กับพวกเรา ไม่จำเป็นต้องมาในนามของพรรคการเมือง มาในนามส่วนตัวก็ได้ ถ้าไม่มา คุณจะไม่ใช่นักการเมืองของประชาชนอีกต่อไป เพราะว่าคุณไม่ได้มีพันธกิจเดียวกับประชาชนที่เขาต้องการออกจากระบบแบบนี้ คุณไม่ได้เป็นคนที่พร้อมจะเดินหน้าไปกับคนรุ่นใหม่ คุณไม่ได้พร้อมที่จะสร้างอนาคตร่วมกัน ดังนั้น คุณก็อาจจะต้องเป็นคนที่ถูกทิ้งไว้ข้างหลัง ถ้าคุณไม่เดินหน้าไปกับเรา

ผมเชื่อว่าผมได้ประโยชน์จากแผ่นดินนี้มาเยอะ แล้วผมต้องการตอบแทนแผ่นดินที่ผมอยู่ ผมรักประเทศไทย ผมรักประเทศไทยมากกว่าที่หลายคนได้ตราหน้าเอาไว้ ดังนั้นผมจะพยายามทำทุกวิถีทางให้แผ่นดินนี้ กลายเป็นแผ่นดินของทุกคนอย่างเท่าเทียมกัน มันเป็นแผ่นดินที่มีเสรีภาพ มันต้องมีความเท่าเทียมกัน มันจะต้องมีความยุติธรรมให้กับทุกคน และที่สำคัญเลยคือจะต้องมีประชาธิปไตย เพื่อเป็นหลักยืนยันว่าสามสิ่งข้างต้นมันจะเกิดขึ้นได้จริง”

https://www.prachatai.com/journal/2018/02/75584

ถ้าย้อนเวลากลับไปได้ ฉันอยากรู้จริงๆ ว่า บรรดาประชาชนที่ออกมาเป่านกหวีด เรียกรัฐประหาร ทั้งๆ ที่รัฐบาลของ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ตอนนั้น ถอยตามกระบวนการประชาธิปไตยแล้ว นั่นคือ ยุบสภา และประกาศการเลือกตั้งใหม่ ซึ่งหมายถึงการคืนอำนาจให้ประชาชน ยังจะกลับไปเป่านกหวีดเรียกการรัฐประหารเหมือนเดิมหรือไม่?

เพราะหากสติไม่ฟันเฟือนจนเกินไป พวกเขาก็น่าจะเห็นว่า ผ่านไปแล้วสี่ปี ถนนในประเทศไทยก็ไม่ได้ปูด้วยทองคำอย่างที่ชอบพูดกันว่า หากเมืองไทยไม่มีนักการเมือง ถนนประเทศนี้จะปูด้วยทองหมด เพราะไม่มีการคอร์รัปชั่น

และยังได้เห็นเป็นที่ประจักษ์ในหลายกรณีว่า การที่เรามีคณะผู้บริหารประเทศและการออกกฎหมายที่ไม่ได้เป็นตัวแทนของประชาชนนั้น ก็ไม่ได้การันตีว่าจะไม่เกิดการเอื้อประโยชน์แก่กันหรือพวกเดียวกันเอง

หนักกว่านั้น ก็ไม่ได้แสดงให้เราเห็นเลยว่ามีความสามารถในการบริหารประเทศได้ดีกว่านักการเมืองที่เลวระยำตำบอนทั้งหลาย

ถ้าย้อนเวลากลับไปได้ สิ่งที่มันน่าจะเกิดขึ้นคือ สุเทพ เทือกสุบรรณ น่าจะไปตั้งพรรคการเมือง พรรคประชาธิปัตย์ลงเลือกตั้ง เพื่อไทยลงเลือกตั้ง พรรคการเมืองต่างๆ ลงเลือกตั้ง

จากนั้นในระหว่างหาเสียงจะโจมตีพรรคเพื่อไทย หรือเปิดโปงการทุจริต คอร์รัปชั่นของรัฐบาลที่ผ่านมาอย่างไรก็ได้ จะไม่เอารถไฟความเร็วสูงของรัฐบาลที่แล้วอย่างไร เกลียดนโยบายจำนำข้าวอย่างไรก็ไปหาเสียงเหมือนที่ปราศรัยบนเวที กปปส.

จากนั้นลงเลือกตั้งให้ประชาชน “เลือก” ว่าเขาจะเลือกใคร

หากไม่มีการล้มการเลือกตั้งในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2557 ด้วยการสร้างความปั่นป่วนในคูหาเลือกตั้ง และอื่นๆ รวมถึงการปิดล้อมไม่ให้คนเข้าไปเลือกตั้งในวันนั้น ก็คงไม่รัฐประหาร และเราคงมีรัฐบาลที่ประชาชนเลือกมา

อันจะดีๆ ชั่วๆ อย่างน้อย รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งก็เปราะบางต่ออำนาจของ ปชช. มากกว่ารัฐบาลที่มาจากรัฐประหารพร้อมกฎหมายพิเศษอย่าง ม.44

ถ้าวันนั้นเรามีการเลือกตั้ง วันนี้รัฐบาลนั้นก็ใกล้ครบวาระเต็มที และเราน่าจะอยู่ในช่วงได้เลือกตั้งครั้งใหม่

คนที่เป่านกหวีดอาจจะบอกว่า หากย้อนเวลากลับได้ก็จะขอเป่านกหวีดเหมือนเดิม เพราะกลัวรัฐบาลยิ่งลักษณ์ทำประเทศชาติล้มละลายเพราะโครงการรถไฟความเร็วสูง กับจำนำข้าว

อยากจะบอกว่า ผ่านไป 4 ปี เราก็คงสร้างรถไฟความเร็วสูงและการสร้างระบบคมนาคมแบบรางตามแผนเดิมด้วยเงินสองล้านล้านไม่ได้แล้ว

และที่สำคัญ ในช่วงสี่ปีที่ผ่านมาเราก็น่าจะใช้งบฯ ไปนับหมื่นนับแสนล้านกับหลายอย่างที่ไม่ได้ยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนสักกี่มากน้อย

และสลิ่มก็คงไม่รู้ว่าเราไม่แค่สูญเสียโครงการรถไฟความเร็วสูง และการปฏิรูปการขนส่งระบบรางทั้งประเทศที่ไม่ได้มีประโยชน์แค่เรื่องการคมนามคม ขนผัก ขนคน

แต่การสร้างการเชื่อมต่อของการขนส่งทางรางที่กำลังจะเกิดขึ้น (ถ้าไม่ติดว่า ถนนลูกรังเรายังไม่หมด) จะเปลี่ยนพื้นที่ทางกายภาพประเทศไทย

อันจะกระทบต่อจินตนาการทางการเมืองและความสัมพันธ์ทางอำนาจอันแต่เดิมอิงอยู่กับการเชื่อมต่อของการขนส่งทางบกที่มีถนน และทางหลวงแผ่นดินหมายเลขกำกับอยู่ อันก่อให้เกิดสำนึกของพื้นทางการเมืองแบบรวมศูนย์อำนาจ จากรัฐบาล สู่จังหวัด และอำเภอไปเช่นนั้น

หากการปฏิรูปโครงข่ายการขนส่งระบบรางเกิดขึ้นได้จริง ความสำคัญของกรุงเทพฯ จะแผ่วลงอย่างช่วยไม่ได้

และการกระจายอำนาจอาจจำต้องเกิดจนนำไปสู่การปฏิรูปโครงสร้างอำนาจแบบมหาดไทยของประเทศนี้ทั้งหมด

นั่นเป็นแค่หนึ่งในตัวอย่างของโครงการที่สูญหายไปพร้อมกับรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง

นั่นคือโอกาสจะเปลี่ยนโครงสร้างและเขย่าความสัมพันธ์ทางอำนาจระหว่างประชาชนกับรัฐให้มันมีช่องว่างให้หายใจ ดิ้นรน ต่อรอง กันมากขึ้น (เทียบกับสิ่งที่รัฐบาลนี้จะทำคือ รถไฟความเร็วสูงไปโคราช สามร้อยกิโลเมตรกว่าๆ อันไม่มีโครงข่ายใดๆ ที่จะก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในเชิงของจินตนาการทางการเมือง)

คนที่เคยออกมาเป่านกหวีดเรียกร้องให้เกิดการรัฐประหาร แช่แข็งประเทศ เซ็ตซีโร่ ป่านนี้จะรู้หรือยังว่า ภายใต้อำนาจที่คุณไม่ได้เลือกนั้น เขาจะเห็นคุณเห็นเรา เห็นประชาชนประหนึ่งขี้หมากองหนึ่ง (ดังที่ อ.นิธิ เอียวศรีวงศ์ ให้สัมภาษณ์กับนักข่าวในวันที่ไปยืนทวงโรดแม็ปเลือกตั้งหน้า มช.)

หรือแม้กระทั่งเห็นเราไอคิวต่ำพอจะเชื่อเรื่องนาฬิกาเพื่อน หรือสารพัดการพูดจาที่ไม่อยู่กับร่องกับรอยของบรรดา “ผู้หลักผู้ใหญ่” ในบ้านเมือง ความไม่แน่นอนของการกำหนดวันเลือกตั้งที่ตั้งอยู่คำชี้แจงว่า – เป็นไปตามโรดแม็ป แต่ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับ สนช. ขึ้นอยู่ กม.พ.ร.ป. การเลือก ส.ส., การได้มาซึ่ง ส.ว., ตอนนี้ยังไม่รวมประเด็นต้องสรรหาคนจะมาเป็น กกต. กันใหม่ หลังจากที่รายชื่อสรรหาชุดที่ผ่านมา “วืด” กันหมด (อันชวนให้ตั้งคำถามต่อกระบวนการได้มาซึ่ง กตต. อีกนั่นแหละ ว่ากระบวนนี้มันจะเวิร์กหรือไม่ เกิดสรรหามาอีก ถูกปัดตกอีก, สรรหามาอีก ถูกปัดตกอีก วนไปอย่างนี้เรื่อยๆ จะทำอย่างไร)

เพราะฉะนั้น สภาพของคนไทยตอนนี้คือ มีชีวิตรอการเลือกตั้งไปอย่างไม่รู้ว่าการรอคอยนี้จะสิ้นสุดลงเมื่อไร

เรื่องการรอคอยนั้น ใครๆ ก็รู้ว่ารอนานไม่กลัว กลัวอย่างเดียวคือกลัวว่าต้องรอไปเรื่อยๆ รอไปเรื่อยๆ ก็ยังไม่ชวนให้เครียดเท่ากับการรอไปด้วยแล้วมีคนมาคอยบอกว่า -อีกแป๊บนะ อีกแป๊บนะ, ใกล้ๆ ใกล้ละ เพื่อจะพบว่า จนเส้นตายของการรอนั้นจะถูกเลื่อนออกไปจนไม่มีใครกล้าพูดว่า เราจะมีการเลือกตั้งภายในวันที่เท่าไหร่

กลุ่มคนอยากเลือกตั้งก็ออกมาด้วยความคับใจในเรื่องนี้ว่า รัฐบาลที่แม้จะไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง เมื่อได้แถลงต่อประชาชนถึงภารกิจของตนว่า มาเพื่อจัดระเบียบประเทศชั่วคราว จะร่างรัฐธรรมนูญ และเพื่อนำไปสู่การเลือกตั้ง พร้อมกันนั้นก็ได้มอบโรดแม็ปที่ค่อนข้างชัดเจนต่อคนไทย และต่อประชาคมโลก ดังนั้น เมื่อถึงเวลาที่ต้องทำตามถ้อยแถลงนั้น ก็ต้องทำตามที่สัญญาและตกลงกันเอาไว้

หากชอบงาน “บริหารประเทศ” และ “บริการประชาชน” อยากกลับมาเป็นรัฐบาลอีก ก็ควรรีบตั้งพรรคการเมืองแล้วลงเลือกตั้ง เหมือนนักการเมืองทั่วไป

เพราะตอนนี้โพลทุกโพล ก็มีผลออกมาว่าคะแนนนิยมรัฐบาลดีมาก ประชาชนยังไว้วางใจ เชื่อมั่น

ดังนั้น หากลงเลือกตั้งก็การันดีได้ว่า จะมีผู้สนับสนุนจำนวนมาก จึงไม่มีเหตุผลอะไรที่ต้องกลัวการเลือกตั้งเลย

อย่างไรก็ตาม ในท่ามกลางความห่อเหี่ยว หม่นหมอง บทสัมภาษณ์ของตัวแทนกลุ่มคนอยากเลือกตั้ง อย่าง รังสิมันต์ โรม ก็ทำให้เราเห็นความเปลี่ยนแปลงที่น่าสนใจยิ่งในการเมืองไทย นั่นคือการเรียกร้องให้นักการเมืองออกมาต่อสู้กับพวกเขา

ในการลง “ถนน” เพื่อการต่อสู้ทางการเมืองหลัง 2540 เป็นต้นมา เราจะเห็นว่า กลุ่มคนที่ลงถนนมากที่สุดคือ เอ็นจีโอ กับกลุ่มชาวบ้าน ที่มาเป็นเครือข่ายของเอ็นจีโอ เช่น ประเด็นสิ่งแวดล้อม ทรัพยากร ที่ดิน

กลุ่มนี้เป็นไม้เบื่อไม้เมากับรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง ตั้งอยู่บนสัญญะ การรับรู้ของสังคมว่า รัฐบาลเอื้อกลุ่มทุน เอ็นจีโอกับชาวบ้านปกป้องสิทธิชุมชน สิทธิพลเมือง สิทธิเหนือทรัพยากรของคนตัวเล็กตัวน้อย

จุดสุดยอดของการขับไล่รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งข้อหา เอื้อกลุ่มทุน ทุนสามานย์ ทรราชเสียงข้างมากคือ พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ที่มีเอ็นจีโอและเครือข่ายชาวบ้านเข้าร่วมด้วย และนักวิชาการ “น้ำดี” จำนวนมาก – กลุ่มนี้ภายหลังแปลงพลังเป็น กปปส.

จุดพลิกผันของการเมืองบนถนนครั้งใหญ่คือ การเกิดขึ้นของ นปช. คนเสื้อแดง

นี่เป็นครั้งแรกที่ “ชาวบ้าน” อันมิใช่เครือข่ายปราชญ์ชาวบ้านและเอ็นจีโอ ลงมาบนถนน และมีภาพเป็นหนึ่งเดียวกับพรรคการเมืองคือพรรคเพื่อไทย

อันทำให้ขบวนการนี้ดู “ไม่บริสุทธิ์” ไม่ดึงดูดคนชั้นกลางที่มีการศึกษา เพราะระแวงว่าตนจะเป็นเครื่องมือของนักการเมือง

อีกทั้งไม่เชื่อ และไม่มีวันเชื่อว่านักการเมืองจะออกมาสู้เพื่อเชื่อในประชาธิปไตย!

อีกทั้งลักษณะอนุรักษนิยมเชิงวัฒนธรรมในหลายมิติ ไม่สอดคล้องกับประเด็นการเมืองเชิงอัตลักษณ์ที่คนชั้นกลางให้ความสำคัญ เช่น การโปรศาสนาพุทธมากเกินไป หรือความอนุรักษนิยมในเชื่อเพศและอัตลักษณ์ทางเพศ ฯลฯ

ในระหว่างนั้นเกิดกลุ่มคนรุ่นใหม่ คนชั้นกลางมีการศึกษาที่ไม่เอารัฐประหาร ขณะเดียวกันก็ไม่เอาพรรคการเมือง ไม่เอาด้วยกับเครือข่ายเอ็นจีโอที่ไปร่วมกับกลุ่มพันธมิตร ไม่เห็นด้วยกับการเหมารวมต่อต้านทุนนิยม

คนเหล่านี้เริ่มเคลื่อนไหวไม่เอาเผด็จการ

ในการเคลื่อนไหวของคนเหล่านี้ สิ่งที่กลัวกันมากคือ กลัวมีภาพแปดเปื้อนกับ พรรคการเมือง กลัวนักการเมืองมาร่วมกิจกรรม บ้างกลัวแม้กระทั่งกลัวคนเสื้อแดงมาร่วมกิจกรรม เพราะจะทำให้การเคลื่อนไหวของพวกเขาด่างพร้อย หรือการเคลื่อนไหวทางการเมืองต้องอิสระอย่างสิ้นเชิงกับกลุ่มการเมืองที่เล่นในสนามการเลือกตั้ง

วิธีคิดนี้สะท้อนอคติที่แกะไม่หลุดเรื่อง นักการเมืองคืออาชีพที่น่ารังเกียจ และการไม่ยอมรับความจริงว่าการเมืองที่ดี ไม่ได้เท่ากับ “การเมืองที่ปลอดมลทิน”

การเรียกร้องของกลุ่มคนอยากเลือกตั้งผ่านโรมว่า – นักการเมืองต้องออกมาเคลื่อนไหวกับพวกเขา เป็นจุดเปลี่ยนที่สำคัญมากว่า – หลุดเสียที – กับการเห็นว่านักการเมืองน่ารังเกียจ และจะทำให้ขบวนการเคลื่อนไหวแปดเปื้อน ไม่ผุดผ่อง

ส่วนนักการเมืองทั้งหลาย ถ้าวินาทีนี้ ยังไม่เห็นว่า สิ่งสำคัญที่สุดคือการรักษาลมหายใจของประชาธิปไตยและไม่ออกมาแสดงเจตจำนงนั้นอย่างแรงกล้า ก็จะเป็นได้เพียงนักการเมืองที่ถูกทิ้งไว้เป็นซากปรักหักพังของประวัติศาสตร์

เมื่อนักการเมืองไม่ใช่ศัตรูของประชาธิปไตย สังคมไทยก็น่าจะได้เห็นคนรุ่นใหม่ๆ กระโดดเข้าสู้สนามของการเป็นนักการเมืองตั้งแต่ยังเป็นหนุ่มเป็นสาวอายุสิบเจ็ด สิบแปด เพื่อในอนาคตเราจะมีนายกฯ อายุสามสิบต้นๆ ในแบบที่กำลังเกิดขึ้นในหลายประเทศ และเป็นนักการเมืองเลือดใหม่

ไม่มีอะไรจะเป็นเกราะป้องกันการรัฐประหารได้ดีเท่ากับการจะได้เห็นคนเจเนอเรชั่นใหม่กล้าลุกขึ้นมาเป็นนักการเมือง และการประกาศของคนรุ่นใหม่ที่จะคืนคุณแผ่นดินด้วยการฟื้นลมหายใจของประชาธิปไตยขึ้นมาอีกครั้ง