จิตต์สุภา ฉิน : AR ไม่ได้มาเล่นๆ

จิตต์สุภา ฉินFacebook.com/JitsupaChin

เคยคิดไหมคะว่า จะเกิดอะไรขึ้นถ้าหากรถเราที่เรากำลังขับออกต่างจังหวัดเกิดเสียขึ้นกะทันหัน โดยที่สองข้างทางเป็นธรรมชาติ ต้นไม้ แม่น้ำ ป่า เขา ไม่มีแม้แต่เงาของตึกรามบ้านช่องที่พักอาศัย

ที่แน่ๆ ไม่มีร้านซ่อมรถในระยะที่เดินถึงได้ และเราไม่มีความรู้เรื่องเครื่องยนต์กลไกที่จะแก้ไขปัญหาด้วยตัวเอง

ดีไม่ดีไม่รู้ด้วยซ้ำว่าจะเปิดฝากระโปรงหน้ารถยังไง ทำได้อย่างมากก็คงนั่งรอจนกว่าความช่วยเหลือจะมาถึง

ถึงแม้ว่าการศึกษาหาความรู้ขั้นพื้นฐานเกี่ยวกับรถยนต์จะพอช่วยเหลือเราได้ครั้งต่อไปที่เกิดเหตุการณ์แบบนี้ขึ้นอีก แต่มันก็ไม่ใช่วิธีที่สามารถทำได้รวดเร็วหรือมีประสิทธิภาพมากพอ

เพราะทักษะเรื่องการซ่อมรถไม่ได้สามารถสร้างขึ้นมาได้ง่ายๆ ภายในระยะเวลาอันสั้น

แต่ต้องมาจากการสั่งสมประสบการณ์มากพอที่จะสามารถระบุได้ว่าต้นตอของปัญหาอยู่ที่ไหน

ตรงนี้แหละค่ะ ที่เทคโนโลยีที่เรียกว่า Augmented Reality หรือ AR จะกระโดดเข้ามาเป็นทางลัดชั้นยอดให้เราได้

 

ก่อนจะไปพูดว่า AR สามารถทำอะไรได้บ้าง สิ่งสำคัญที่สุดคือเราต้องเข้าใจก่อนว่า AR คืออะไร

และอีกคำที่เรามักจะได้ยินควบคู่กันบ่อยๆ อย่างคำว่า VR มันแตกต่างกันตรงไหน

อธิบายง่ายๆ ก็คือ AR คือโลกที่เราอยู่จริง ห้องนั่งเล่นของเรา ถนนที่เรากำลังเดิน คนที่เรากำลังมอง แล้วก็เอาข้อมูลต่างๆ ที่เป็นกราฟิกคอมพิวเตอร์มาซ้อนทับลงไป ลองนึกถึงภาพยนตร์ไซไฟทั้งหลายที่หุ่นยนต์ไซบอร์กกำลังมองมนุษย์สักคน แล้วข้างๆ ใบหน้าของมนุษย์คนนั้นก็ปรากฏตัวหนังสือเป็นพรืดขึ้นมาเพื่อบอกว่ามนุษย์คนนี้ชื่ออะไร อายุเท่าไหร่ จุดอ่อน จุดแข็ง อยู่ที่ไหน มุมมองแบบที่ไซบอร์กตัวนั้นเห็นนั่นแหละค่ะ คือ AR ที่เรากำลังพูดถึงกันตอนนี้

สรุปคือมันเป็นการหยิบเอาคอมพิวเตอร์กราฟิกมาซ้อนลงไปบนโลกแห่งความเป็นจริง ซึ่งการจะเห็นเอฟเฟ็กต์แบบนั้นได้ก็จะต้องอาศัยสื่อกลางเป็นอุปกรณ์อะไรสักอย่าง เพราะลำพังตามนุษย์ไม่สามารถทำเองได้

ในขณะที่ Virtual Reality หรือ VR นั้น เป็นการสร้างสิ่งแวดล้อมขึ้นมาใหม่ทั้งหมด เราอาจจะยืนอยู่ในห้องนั่งเล่นของตัวเอง แต่เมื่อสวมอุปกรณ์แสดงภาพ VR เข้ากับศีรษะของเรา เราอาจรู้สึกเหมือนถูกวาร์ปไปยืนอยู่กลางทุ่งสะวันนา หรือเคว้งคว้างว่างเปล่าอยู่บนดาวอังคารตามลำพัง ไม่มีอะไรที่เป็นความเป็นจริงหลงเหลืออยู่เลย ทุกอย่างถูกสร้างขึ้นมาใหม่ทั้งหมด

และต่อให้โจรย่องเข้ามาขโมยของในห้องนั่งเล่นเรา เราก็อาจจะไม่เห็นหรือไม่รู้สึกตัวเลยก็ได้ เพราะเราทิ้งความสามารถในการสัมผัสสิ่งแวดล้อมที่เรายืนอยู่จริงไปเสียแล้ว

นั่นแหละค่ะ ความแตกต่างของ AR กับ VR ซึ่งในวันนี้เราจะหยิบเฉพาะเทคโนโลยี AR มาพูดถึงกันเท่านั้น

 

ย้อนกลับไปที่เหตุการณ์สมมติเรื่องรถเสีย คุณผู้อ่านพอจะนึกออกไหมคะว่า AR จะเข้ามาช่วยได้ยังไงบ้าง

หากเราหยิบแว่นอัจฉริยะที่ทำให้เรามองเห็นภาพแบบไซบอร์กที่ซู่ชิงสมมติให้ฟังเมื่อกี้นี้ขึ้นมาสวม

เปิดแอพพลิเคชั่น แล้วมองไปที่เครื่องยนต์ ระบบสามารถตรวจจับได้ว่าส่วนไหนน่าจะเป็นส่วนที่มีปัญหาและบอกขั้นตอนการแก้ปัญหาแบบ สเต็ป บาย สเต็ป ให้เราทำตาม ด้วยการซ้อนกราฟิกเข้ากับภาพเครื่องยนต์ที่เราเห็นตรงหน้า เปิดตรงนี้สิยกตรงนั้นนะ หมุนตรงโน้นหน่อย เราจะสามารถซ่อมรถยนต์ของเราเองได้ราวกับมีช่างรถยนต์มาเข้าสิงชั่วครู่

แต่จริงๆ แล้วไม่ได้เข้าสิงอะไร ช่างรถยนต์อยู่ในตัวแอพพลิเคชั่นและมองเห็นผ่านสายตาของเราเองนี่แหละค่ะ

คราวนี้มาย้ายสถานที่กันอีกสักครั้ง

คุณกำลังเดินช้อปปิ้งอยู่ในห้างสรรพสินค้า

เดินเข้าไปในร้านขายเครื่องสำอางที่เต็มไปด้วยชั้นวางเครื่องสำอางสุดลูกหูลูกตา

คุณอยากจะหาลิปสติกสีแดงสวยๆ สักแท่ง แต่การจะซื้อเครื่องสำอางโดยไม่อ่านรีวิวก่อนแทบจะเป็นไปไม่ได้แล้วในยุคนี้

คุณหยิบแว่นอันเดิมขึ้นมาสวม มองลงไปที่ลิปสติกแท่งที่กำลังสนใจ

คอมพิวเตอร์กราฟิกโผล่ปรู๊ดปร๊าดขึ้นมาว่าลิปสติกแบรนด์นี้ รุ่นนี้ ได้รับรีวิวจากลูกค้าที่ซื้อไปแล้วกี่ดาว ราคาควรอยู่ที่ประมาณเท่าไหร่ และมีส่วนประกอบอะไรบ้าง

ทั้งหมดนี้ไม่จำเป็นต้องนั่งกูเกิลหาบนโทรศัพท์ให้เมื่อยนิ้วเลย เมื่อเลือกแท่งที่ชอบได้แล้วก็หยิบไปจ่ายเงินที่เคาน์เตอร์สวยๆ

 

ไม่มีแว่นอัจฉริยะ? ไม่เป็นไรเลยค่ะ เพราะอุปกรณ์ที่จะช่วยให้เราสามารถใช้เทคโนโลยี AR ได้

ไม่ได้มีแค่แว่น แต่สมาร์ตโฟนของเรานี่แหละเป็นสิ่งที่ใกล้ตัวที่สุด

ถ้าหากคุณผู้อ่านต้องการทดลองใช้ AR แบบเบื้องต้น อาจจะลองเปิดแอพพลิเคชั่น Google Translate หรือกูเกิล แปลภาษา ขึ้นมา

ข้างในจะมีฟีเจอร์ให้เปิดกล้องถ่ายรูปของโทรศัพท์เรา จากนั้นก็ส่องไปตามป้ายที่เป็นตัวอักษรในภาษาต่างๆ ตัวแอพพ์ซึ่งเป็นเทคโนโลยีของ Word Lens จะซ้อนคำแปลภาษานั้นๆ ไว้บนภาพโดยอัตโนมัติ โดยที่เราไม่จำเป็นต้องกดถ่ายภาพด้วยซ้ำ แค่ส่องไปมา ป้ายที่เคยเขียนเป็นภาษาอินเดียที่เราเห็น เมื่อมองผ่านหน้าจอโทรศัพท์ของเรามันก็กลายเป็นป้ายภาษาอังกฤษไปเสียแล้ว

อีกหนึ่งตัวอย่างการใช้งานที่น่าสนใจที่ซู่ชิงเพิ่งอ่านเจอเร็วๆ นี้ มาจากเอกสารของบริษัท DHL บริษัทขนส่งระดับโลก ที่นำเทคโนโลยี AR เข้ามาช่วยในกระบวนการห่วงโซ่อุปทานค่ะ

ยกตัวอย่างโกดังเก็บของก่อนค่ะ

แม้ในประเทศพัฒนาก็ตาม โกดังจำนวนมากยังให้พนักงานถือออเดอร์ที่เป็นกระดาษ เพื่อเดินไปหยิบของตามออเดอร์มาเตรียมจัดส่ง

ถ้าโกดังไม่ใหญ่มากก็อาจจะไม่เป็นไร

แต่โกดังจำนวนไม่น้อยมีขนาดใหญ่ที่ไม่ได้หาของเจอได้ง่ายๆ

ยิ่งพนักงานไม่คุ้นเคยกับโครงสร้างของโกดังแล้วก็อาจจะใช้เวลานาน

ทำให้กระบวนการนี้กินเวลาและไม่มีประสิทธิภาพดีเท่าที่ควร

หรืออาจจะมีต้นทุนเพิ่มในการจะต้องเทรนพนักงานให้มีความคล่องแคล่วในการหยิบของและรู้ว่าอะไรอยู่ตรงไหน

กระบวนการนี้สามารถถูกเพิ่มประสิทธิภาพได้ถ้าหากพนักงานมีอุปกรณ์ที่ซ้อนภาพแบบ AR ไว้ ซึ่งจะแสดงรายการของที่จะต้องหยิบทั้งหมดให้เห็นตรงหน้าโดยไม่ต้องถือกระดาษมาก้มๆ เงยๆ แสดงเส้นทางที่จะเดินไปหยิบของ และแสดงผลลัพธ์ให้เห็นว่าของที่ต้องการอยู่ตรงมุมไหน

การหยิบของในโกดังจะเป็นกิจกรรมที่ทำได้สะดวกและรวดเร็วขึ้นทันที และจะว่าไปก็ทำให้ได้ฟีลลิ่งเหมือนอยู่ในเกมด้วยนะคะ

 

ไม่ได้จำกัดอยู่แค่ในโกดังเท่านั้นนะคะ เมื่อหยิบของได้แล้ว ขั้นตอนระหว่างการขนส่งของไปยังจุดหมายปลายทางไปจนถึงการส่งมอบของสู่มือของลูกค้า ล้วนสามารถใช้ AR มาช่วยเพิ่มประสิทธิภาพได้ทั้งสิ้น

และการใช้งาน AR ทั้งหมดที่ว่ามานี้ไม่ได้เป็นเพียงกิมมิคที่ทำกันเล่นๆ เพื่อสร้างสีสันทางการตลาดแต่อย่างใด ธุรกิจประเภทต่างๆ

มองเห็นศักยภาพของ AR กันมากขึ้นและกำลังเร่งพัฒนาเพื่อนำมาใช้ปรับปรุงกับกระบวนการทำงานขั้นต่างๆ ของตัวเอง ควบคู่ไปกับการที่เทคโนโลยีทั้งฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์ทั้งหลายก็พัฒนาไปเรื่อยๆ จนรองรับการใช้งานแบบ AR ในวงกว้างได้มากขึ้น

แม้ว่าตอนนี้จะยังอยู่ในช่วงเริ่มต้น และเรายังไม่เห็นคนสวมแว่นอัจฉริยะเดินไปเดินมากันขวักไขว่ แต่ก็ไม่ยากเกินจะจินตนาการไปดักรอเอาไว้ว่าสักวันมันอาจจะกลายเป็นเรื่องที่แสนจะธรรมดา

พอๆ กับที่เราเดินก้มหน้าดูสมาร์ตโฟนกันทุกวันนี้ก็ได้นะคะ