คนมองหนัง : “ดึกดำบรรพ์ #201” การกลับมาอีกครั้งของ “ชรัส-ปั่น-พนเทพ”

คนมองหนัง
แฟ้มภาพ

ผ่านไปแล้วกับคอนเสิร์ต “ไดนาสตี้ ไทล์ท้อป พรีเซ้นท์ส ดึกดำบรรพ์ #201 ปั่น แต๋ม ตุ่น คอนเสิร์ต” เมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ณ อิมแพ็ค เอ็กซิบิชั่น ฮอลล์ 4 เมืองทองธานี ซึ่งมีบีอีซีเทโรเป็นผู้จัด

นี่ถือเป็นคอนเสิร์ตใหญ่หนที่สองของ “ดึกดำบรรพ์ บอยแบนด์” ซูเปอร์กรุ๊ป อันเกิดจากการรวมตัวกันของสองนักร้องและหนึ่งโปรดิวเซอร์ อย่าง “ชรัส เฟื่องอารมย์” “ไพบูลย์เกียรติ เขียวแก้ว” และ “พนเทพ สุวรรณะบุณย์” ซึ่งปีนี้ต่างมีอายุย่างเข้า 67 ปี (นำมาสู่ตัวเลข 201 ในชื่อคอนเสิร์ต)

โชว์เริ่มต้นตรงเวลา 19.00 น. ที่ระบุไว้ในบัตรเข้าชมแบบเป๊ะๆ (ผิดจริตคอนเสิร์ตไทยทั่วไป) พร้อมคนดูราวสามพันคน แม้ไม่เต็มแต่ก็แน่นฮอลล์

น่าสนใจว่าคนดูคอนเสิร์ตดึกดำบรรพ์ส่วนใหญ่นั้นนั่งชมการแสดงสดอย่างมีสมาธิ มีอารมณ์ร่วม และเหนียวแน่นตลอดสามชั่วโมง ไม่ใช่เดินเข้าๆ ออกๆ เหมือนบางคอนเสิร์ต

เชื่อว่าทุกคนคงมีความสุขกับ 30 บทเพลง ที่น้าๆ และทีมนักดนตรีสนับสนุน ร่วมขับร้อง-บรรเลงบนเวทีในวันนั้น

คอนเสิร์ตออกสตาร์ตได้อย่างยอดเยี่ยมด้วยเพลงฮิต 9 เพลงรวด โดยน้าแต๋ม น้าปั่น และน้าตุ่น ต่างสลับบทบาทกันขึ้นมาร้องนำ

ดูเหมือนโชว์ที่กำลังสมูธ ดิ่งลึก และซาบซึ้ง จะสะดุดลงพอสมควรตรงช่วงพิเศษคั่นกลาง ที่ได้ “น้าเน็ก เกตุเสพย์สวัสดิ์ ปาลกะวงศ์ ณ อยุธยา” มาร่วมพูดคุยกับศิลปินบนเวที

จริงๆ แล้ว การ “ด้นเพลงบลูส์” ที่น้าเน็กร่วมขับร้อง-เล่าข่าวกับดึกดำบรรพ์ บอยแบนด์ โดยมีเนื้อหาว่าด้วยป้าทุบรถ หวย 30 ล้าน และนาฬิกาข้อมือของผู้มีอำนาจนั้นน่าสนใจไม่น้อย

แต่มุขตลกอื่นๆ ของเขาก็กินเวลาคอนเสิร์ตเยอะไปนิด (แม้จะเรียกเสียงหัวเราะได้บ้าง)

อย่างไรก็ตาม ครึ่งหลังของโชว์ นับแต่เพลง “ปาฏิหาริย์” เป็นต้นไป ยังสามารถนำพาผู้ชม/ผู้ฟังย้อนกลับไปสัมผัสอารมณ์โรแมนติกอันตรึงตราได้อีกรอบ

พูดถึงแขกรับเชิญ นอกจากน้าเน็กแล้ว ยังมี “วิยะดา โกมารกุล ณ นคร” และ “บิลลี่ โอแกน” มาร่วมร้องเพลง “ผีเสื้อ” ทว่ามิได้สร้างภาพจำใดๆ มากนัก

ที่น่าประทับใจกว่าคือ การปรากฏกายของ “ติ๊ก ชิโร่” พร้อมเพลงเอกในยุคหลังของเขาอย่าง “รักไม่ยอมเปลี่ยนแปลง” ก่อนที่เจ้าตัวจะร่วมแจมกับน้าๆ ต่ออีกเพลงใน “รักเธอมากกว่าใคร”

เสียงสูงของติ๊กยังทรงพลังและยอดเยี่ยมเสมอ เช่นเดียวกับลูกเล่นเพี้ยนๆ และอารมณ์ขันอันแพรวพราวของเขา ตั้งแต่การเอาการ์ดอะไรสักอย่างมาใช้แทนปิ๊กกีตาร์ การไม่ตัดป้ายยี่ห้อออกจากเสื้อผ้า-รองเท้า และการเล่นกับผู้ชมด้วยเครื่องเป่าเขาสัตว์แปลกหู-แปลกตา

อีกจุดที่น่าชื่นชมคือ ช่วงเวลาที่อุทิศให้สปอนเซอร์หลักของคอนเสิร์ต อันได้แก่บริษัทผลิต-จำหน่ายกระเบื้อง ซึ่งจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ อย่าง “ไดนาสตี้ ไทล์ท้อป” นั้น ไม่แปลกแยกจากภาพรวมของการแสดงมากนัก

หลังสิ้นสุด 9 เพลงแรก วงดึกดำบรรพ์แวะไปยังพื้นที่ด้านซ้ายสุดของเวที ซึ่งจัดสร้างเป็นฉากพิเศษ ปูด้วยกระเบื้องไดนาสตี้ฯ ทั้งหมด เพื่อสนทนากับน้าเน็ก และร่วมเล่นโฟล์กซองรำลึกความหลังสมัยยังเป็นเด็กหนุ่ม

พวกเขาใช้เวลากับ “พื้นที่พิเศษ” เกือบครึ่งชั่วโมง รวมถึงเปิดโอกาสให้โฆษกประจำวงอย่างชรัสบรรยายเชิงทีเล่นทีจริงว่า “ผลิตภัณฑ์กระเบื้อง” ยี่ห้อนี้ มีความสัมพันธ์ข้องเกี่ยวกับ “ผู้ชมกลุ่มเป้าหมายหลัก” (คนชั้นกลาง วัยกลางคน-วัยชรา ที่มีบ้านเป็นของตนเอง) ของคอนเสิร์ตอย่างไรบ้าง?

เว้นช่องว่างอีกพักใหญ่ ศิลปินทั้งสามรายก็ถือโอกาสร้องบรรเลงเพลงพิเศษ “Together, We Go” ซึ่งพนเทพแต่งให้บริษัทไดนาสตี้ ไทล์ท้อป ใช้เป็นบทเพลงประจำองค์กร

ก่อนร้อง พนเทพได้กล่าวบรรยายถึงสายสัมพันธ์ความเป็นเพื่อนร่วมรุ่นร่วมโรงเรียน (เซนต์คาเบรียล) ของเขากับผู้บริหารบริษัทดังกล่าว ซึ่งนำมาสู่การเข้าร่วมเป็นสปอนเซอร์หลักของคอนเสิร์ตใหญ่ครั้งนี้

แม้จะฟังดูเป็นเรื่องสิทธิประโยชน์ทางธุรกิจ แต่ดึกดำบรรพ์ บอยแบนด์ สามารถจัดการสมดุลระหว่างภาพลักษณ์ของผู้สนับสนุนกับความราบรื่นของโชว์ได้เป็นอย่างดี

การประชาสัมพันธ์กระเบื้องของชรัส ทำให้นึกถึง “ตือสนิท เวอร์ชั่นซอฟต์ๆ นุ่มๆ” ส่วนการร้องเพลงประจำบริษัทนั้น หากเกริ่นนำด้วยคำพูดยกย่องสรรเสริญผู้สนับสนุนจนเลิศลอยเกินจริง ก็อาจส่งผลให้ผู้ชมเลี่ยนและเบือนหน้าหนีได้

แต่พอพนเทพพูดถึงความเป็นมิตรสหาย และความไว้วางใจกันระหว่างเพื่อน แรงต้านที่มีโอกาสเกิดจึงกลายสภาพเป็นการยอมรับได้ของบรรดาผู้ชม

คล้ายๆ คอนเสิร์ตใหญ่หนก่อน เมื่อปี 2559 น้าๆ สามคนมีอาการแผ่วปลายให้ได้ยินในช่วงท้าย ซึ่งไม่ใช่เรื่องแปลกประหลาดหรือมิใช่ความผิดพลาดของศิลปินวัยใกล้ 70 ปี

ข้อน่าสังเกตคือ ผมเคยไปยืนดูมินิคอนเสิร์ตของดึกดำบรรพ์ บอยแบนด์ ตามร้านอาหาร ผับบาร์ และห้างสรรพสินค้า พบว่าพวกน้าๆ ยังสามารถรับมือกับโชว์ขนาด 20 เพลงได้สบายๆ

แต่กับคอนเสิร์ตใหญ่ล่าสุด ด้วยจำนวนเพลงที่มากมายถึง 30 เพลง ด้วยภาระที่ต้องคอยพูดคุย-เอ็นเตอร์เทนผู้ชม ในสเกลงานที่กว้างขวางกว่า

น้าทั้งสามคนย่อมมีอาการแรงตกให้เห็นเป็นธรรมดา

ในอนาคต ขนาดโชว์ที่พึงปรารถนาของดึกดำบรรพ์ฯ อาจเป็นการแสดงสดประมาณ 15-20 เพลง โดยไม่ต้องมีลูกเล่นเพิ่มเติมอะไรมากมาย (แค่ได้ยินเพลงอมตะ จากศิลปินที่ยังไม่หมดไฟ แฟนๆ ก็คงมีความสุขแล้ว)

โดยสรุป “ดึกดำบรรพ์ #201” เป็นคอนเสิร์ตที่สร้างความอิ่มเอมในอารมณ์ได้ตามสมควร แต่ถ้าถามว่านี่เป็นการแสดงสดที่ “เต็มอิ่ม” หรือยัง? ผมรู้สึกว่าโชว์ครั้งนี้ยังมีจุดสะดุด ขาดพร่อง อยู่นิดๆ หน่อยๆ

(จุดพีกสุดของ “พนเทพ-ดึกดำบรรพ์ฯ” ตามทัศนะผม ยังอยู่ที่คอนเสิร์ต “รักนิรันดร์” เมื่อปี 2558 และโชว์ย่อยที่ร้านคอฟฟี่โมเดลกับร้านปาร์คกิ้งทอย)

บางทีคอนเสิร์ตที่สเกลเล็กกว่านี้ มีจำนวนเพลงน้อยกว่านี้ และไม่ต้องพึ่งพาแขกรับเชิญ อาจสามารถช่วยเติมเต็มส่วนที่บกพร่องขาดหายไปได้บ้าง

ผมเชื่อว่าน้าๆ ในวัยใกล้ 7 ทศวรรษ ยังมีศักยภาพและพลังมากพอที่จะทำโชว์แบบนั้นอยู่

เซ็ตลิสต์คอนเสิร์ต “ดึกดำบรรพ์ #201”

อินโทร : รักนิรันดร์ (บรรเลง), รักล้นใจ, ทั้งรู้ก็รัก, ขีดเส้นใต้, เพราะเธอ, เล็กๆ น้อยๆ, ทะเล, ชีวิตไร้สังกัด, โอ้ใจเอ๋ย

(ย้ายไปโซนพิเศษ สนับสนุนโดยกระเบื้องไดนาสตี้ ไทล์ท้อป)

สัมภาษณ์พูดคุยกับดึกดำบรรพ์ บอยแบนด์ โดยน้าเน็ก เกตุเสพย์สวัสดิ์ ปาลกะวงศ์ ณ อยุธยา

In the Darkness of My Life, ผีเสื้อ (แขกรับเชิญ วิยะดา โกมารกุล ณ นคร และ บิลลี่ โอแกน), หยดน้ำ, บอกรัก, ด้นสดเพลงบลูส์ (น้าเน็กร่วมร้อง-เล่าข่าวกับชรัส มีพนเทพและปั่นเล่นกีตาร์)

(กลับมายังเวทีกลาง)

ปาฏิหาริย์, เพียงแค่ใจเรารักกัน, รักเองช้ำเอง, รักไม่ยอมเปลี่ยนแปลง (แขกรับเชิญ ติ๊ก ชิโร่), รักเธอมากกว่าใคร (แขกรับเชิญ ติ๊ก ชิโร่), Together, We Go (เพลงประจำบริษัทไดนาสตี้ ไทล์ท้อป แต่งโดยพนเทพ), A Tu Corazon (สู่กลางใจเธอ), ส่องกระจก, คนขี้เหงา, ตลอดไป, คนไม่มีวาสนา, เฝ้าคอย, รักนิรันดร์, รักยืนยง, เพราะฉะนั้น, หลับตา