ในประเทศ : มวลมหา “ประชาธิปัตย์”

นายสุเทพ เทือกสุบรรณ ในฐานะประธานมูลนิธิมวลมหาประชาชนเพื่อการปฏิรูปประเทศไทย ยังแบ่งรับแบ่งสู้ เรื่องการตั้งพรรคการเมือง

โดยบอกล่าสุดเมื่อ 27 กุมภาพันธ์ ว่า

ได้ปวารณาตัว ในชีวิตที่เหลืออยู่ จะอุทิศตนรับใช้สถาบันพระมหากษัตริย์ ศาสนา และประชาชน

จะไม่กลับไปเป็นนักการเมือง

ไม่ลงสมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร หรือ ส.ส.

ไม่ต้องการมีตำแหน่งทางการเมืองใดๆ

ไม่เข้าร่วมรัฐบาลกับใคร

ไม่เป็นนายกรัฐมนตรี รองนายกรัฐมนตรี หรือรัฐมนตรี

รวมทั้งไม่เป็นกรรมการบริหารพรรคการเมือง

แต่ยืนยันว่าจะไม่ทิ้งความรับผิดชอบต่อบ้านเมือง

และยังสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช. ให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และสนับสนุนรัฐบาล

ส่วนมวลมหาประชาชน จะตั้งพรรคการเมืองให้เป็นเรื่องของอนาคต

พร้อมกับเปิดช่องเอาไว้ว่า

“จุดยืนของตัวเองเป็นผู้รับใช้ประชาชน ประชาชนจะให้ทำอย่างไรในทางที่ถูกต้องเพื่อให้บ้านเมืองอยู่แล้วปลอดภัยก็ยินดี”

แง้มช่องเอาไว้เช่นนี้

ทำให้ประตูการเมืองของนายสุเทพมิได้ปิดตาย

แถม นายธานี เทือกสุบรรณ น้องชายนายสุเทพ ได้มาสร้างความชัดเจนในเรื่องการตั้งพรรคการเมือง

โดยยอมรับว่า เรื่องดังกล่าวเป็นเรื่องจริง

ขณะนี้อยู่ระหว่างการยื่นจดทะเบียนชื่อพรรค ต่อนายทะเบียน

ในชื่อ “พรรคมวลมหาประชาชนเพื่อการปฏิรูปประเทศให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นพระประมุข (กปปส.)”

รวมทั้งอยู่ในขั้นตอนของการรวบรวมรายชื่อสมาชิกพรรคผู้ก่อตั้ง จำนวน 500 คน

คาดว่าภายในเดือนมีนาคม 2561 นี้ จะสามารถจดทะเบียนพรรคได้เรียบร้อย

การจัดตั้งพรรคมวลมหาประชาชนฯ ดังกล่าว นายธานีย้ำว่า เป็นไปตามเจตนารมณ์ของ กปปส.

คือ ยึดมั่นในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

เน้นการปฏิรูประบบราชการ และให้ประชาชนเข้าไปมีส่วนร่วมทางการเมืองในสภาอย่างแท้จริง

“เราจะส่งผู้สมัครทุกพื้นที่ของประเทศไทยโดยเฉพาะในภาคใต้ จะส่งผู้สมัครครบทุกจังหวัด และในการตั้งพรรคการเมืองของ กปปส. ครั้งนี้ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ จะไม่มีตำแหน่งใดๆ รวมถึงเป็นสมาชิกพรรคด้วย ส่วนหัวหน้าพรรคนั้น จะให้สมาชิกพรรคเป็นผู้คัดเลือกด้วยตัวเอง เพื่อให้เป็นพรรคการเมืองของประชาชนอย่างแท้จริง ไม่ได้เป็นพรรคของนายทุน หรือฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง” นายธานีระบุ

จากคำอธิบายของน้องชายสุเทพดังกล่าว

ทำให้ชัดเจนว่า “พี่ชาย” คงจะดำรงตนในฐานะ “ผู้มีบารมีนอกพรรค”

ซึ่งก็สอดคล้องกับสิ่งที่นายสุเทพประกาศไว้

คือจะไม่เล่นการเมืองโดยตรง

แต่คงจะมีบทบาทสำคัญอยู่เบื้องหลัง

โดยเฉพาะการสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ ต่อไป

เพราะเห็นว่า พล.อ.ประยุทธ์เป็นผู้นำที่ดี และเป็นนายกรัฐมนตรีที่ดีที่จะแก้ไขปัญหาประเทศได้

จุดยืนนี้เอง ทำให้มีคำ “ขอบคุณ” จาก พล.อ.ประยุทธ์ กลับคืนมา

“ต้องขอบคุณทุกคน ทั้งนี้ จะเป็นไปได้อย่างไรอยู่ที่กฎหมายไม่ใช่หรือ ประชาธิปไตยหรือกฎหมายว่าอย่างไร ไม่ใช่สนับสนุนผมแล้ว ผมจะได้เป็นอะไรทำนองนั้น”

ท่าทีที่เป็น “มิตร” ต่อกันเช่นนี้

ทำให้หลายฝ่ายเริ่มจับตาว่า พรรค กปปส. ที่ตั้งขึ้น นี่คือ “พรรคแนวร่วมของทหาร” ตัวจริงเสียงจริง แล้วใช่หรือไม่

และพรรคนี้จะแสวงหาแนวร่วม เพื่อ “สนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์” อย่างไร

แน่นอน พรรคขนาดกลางๆ อย่างพรรคภูมิใจไทย พรรคพลังชล พรรคชาติพัฒนา รวมถึงพรรคการเมืองที่ตั้งขึ้นใหม่ อย่าง พรรคประชาชนปฏิรูป พรรคพลังธรรมใหม่ น่าจะยินดีที่จะเป็น “พันธมิตร” ทางการเมืองกัน

และที่น่าสนใจก็คือ ท่าทีของพรรคประชาธิปัตย์ จะเป็นอย่างไร

ในด้านหนึ่ง ต้องยอมรับว่า ในระยะหลัง พรรคประชาธิปัตย์พยายามวางจุดยืนให้มีระยะห่างจาก พล.อ.ประยุทธ์ และรัฐบาล ค่อนข้างชัด

แตกต่างจากพรรค กปปส. ที่ประกาศหนุน

จุดยืนที่แตกต่างนั้น อาจจะถือว่าเป็นภาคบังคับของพรรคประชาธิปัตย์ก็ได้

เพราะในฐานะพรรคการเมืองเก่าแก่ การจะยอมตนเป็นลูกไล่ให้กับ คสช. และรัฐบาล ย่อมไม่ใช่ทางเลือกที่ฉลาดนัก

ต้องแสดงบทบาทพรรคที่จุดยืน “ประชาธิปไตย” พร้อมจะวิพากษ์วิจารณ์ ท้วงติง รัฐบาลและ คสช. ในสิ่งที่ไม่เหมาะสม

แต่ถึงขนาดจะเป็น “ศัตรู” ทางการเมืองเลยหรือไม่

ก็ไม่น่าใช่

เพราะคนประชาธิปัตย์ ก็ยังมีปฏิสัมพันธ์อันดีกับ พล.อ.ประยุทธ์ กับ พล.อ.เฉลิมชัย สิทธิสาท ผู้บัญชาการทหารบก

จึงเป็นการเล่นไปตามบทบาทที่ควรจะเป็น

พรรคประชาธิปัตย์ และ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ คงไม่สามารถประกาศสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ ได้อย่างเปิดเผยเหมือนนายสุเทพ

เพราะอาจเสียแนวร่วม “ประชาธิปไตย” ไป

จึงต้องหันไปยึด “หลักการ” นั่นคือ สนับสนุน “หัวหน้าพรรค” คือนายอภิสิทธิ์ เป็นนายกรัฐมนตรี หากชนะการเลือกตั้ง

จะชู พล.อ.ประยุทธ์ หรือคนนอกคนอื่นไม่ได้

แต่กระนั้น หากพิจารณาท่าทีของนายอภิสิทธิ์ ต่อ คสช. และพรรคเพื่อไทย จะพบความแตกต่างอย่างน่าพิจารณา

อย่างเมื่อ 4 ธันวาคม 2560 นายอภิสิทธิ์ให้สัมภาษณ์ว่า พรรคประชาธิปัตย์คงไม่จับมือกับพรรคเพื่อไทย เพราะย้ำตลอดมาประชาธิปัตย์ต้องทำงานกับคนที่มีอุดมการณ์ตรงกันเท่านั้น อีกทั้งได้ต่อสู้กับระบบทักษิณมาตั้งแต่ปี 2544 จนถึงปัจจุบัน น่าจะมีพรรคประชาธิปัตย์องค์กรเดียวที่สู้อยู่

แต่เมื่อสื่อมวลชนตั้งคำถามกับนายอภิสิทธิ์ เมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2561 ที่ผ่านมา ว่าจะร่วมกับพรรคของนายสุเทพ สนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ หรือไม่

คำตอบจากนายอภิสิทธิ์ ก็คือ “ผมย้ำว่าสุดท้ายอยู่ที่ผลการเลือกตั้ง และแนวทางของพรรค”

ซึ่งจะเห็นชัดเจนมากว่า เป็นการตอบในเชิงหลักการอย่างกว้างๆ ไม่มีการปฏิเสธ

แตกต่างกับท่าทีที่มีต่อพรรคเพื่อไทย ที่จะไม่ยอมเป็นพันธมิตรกับพรรคเพื่อไทย และ นายทักษิณ ชินวัตร อย่างค่อนข้างเด็ดขาด

จึงไม่น่าแปลกใจที่ข้อเสนอให้พรรคประชาธิปัตย์จับมือพรรคเพื่อไทย ต่อสู้กับทหาร และ คสช. จะเป็นข้อเสนอ “ลอยลม”

และถูก “ปิด” ประเด็นโดยพรรคประชาธิปัตย์ มากกว่าพรรคเพื่อไทย

ซึ่งนี่อาจเป็นคำตอบได้ชัดเจนระดับหนึ่งว่า

ระหว่างพรรคประชาธิปัตย์ กับพรรคเพื่อไทย

และพรรคประชาธิปัตย์ กับพรรค กปปส.

คู่ไหนจะมีผลในเชิงบวกมากกว่ากัน

ขณะเดียวกัน มีการมองกันมากว่า หากพรรค กปปส. ตั้งขึ้นมาจริง จะเกิดปัญหาขัดแย้งกับพรรคประชาธิปัตย์ ในเรื่องชิง ส.ส. กันเอง โดยเฉพาะ ในภาคใต้และ กทม.

ซึ่งก็น่าจะเป็นจริงตามนั้น เพราะหลายจังหวัดมีพื้นที่ทับซ้อนกัน

และคงจะนำไปสู่ความขัดแย้งในระดับพื้นที่แน่นอน

แต่หากพิจารณาในภาพรวม การชนะหรือแพ้ ระหว่างประชาธิปัตย์ กับ กปปส. จะไม่มีผลเสียมากนัก เพราะอย่างไร “เสียง ส.ส.” ยังอยู่ใน “ฝ่ายเดียวกัน”

นอกจากนี้ นายธานี เทือกสุบรรณ ได้แย้มๆ ถึง “ยุทธวิธี” ในการเลือกตั้ง โดยเฉพาะภาคใต้

นั่นคือ จะไม่ยื้อแย่งเก้าอี้ ส.ส.เขตกับประชาธิปัตย์ แต่จะขอเกาะติดเป็นอันดับ 2 ทั้งนี้ เพื่อมีผลต่อการได้ที่นั่ง ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ อิงไปในแนวทาง “วิน-วิน”

ประเด็นสำคัญคือ ประชาธิปัตย์ และ กปปส. จะเข้าไปเบียดแทรกเอาชนะพรรคเพื่อไทยในพื้นที่อื่นอย่างภาคอีสาน เหนือ กลาง ได้อย่างไรต่างหาก

ซึ่งนั่นจะเป็นกำไร และในหลายพื้นที่ก็มีโอกาสเบียดแทรก หากประชาธิปัตย์กับพรรค กปปส. ผนึกกันถล่มพรรคเพื่อไทย

จึงเป็นอย่างที่นายอภิสิทธิ์บอกมาตลอด นั่นคือ ต้องรอผลการเลือกตั้งจึงจะชี้อนาคตทางการเมืองได้ นั่นคือ หากชนะเป็นที่ 1 นายอภิสิทธิ์ ก็พร้อมเป็นนายกฯ

แต่หากไม่เป็นเช่นนั้น ก็ต้องหา “พันธมิตร”

แน่นอน หากถามว่า พรรคประชาธิปัตย์ อะไรคือความสบายใจกว่ากัน ระหว่างจับมือกับ กกปส. กับจับมือกับพรรคเพื่อไทย

คำตอบก็ย่อมเป็นพรรคประชาธิปัตย์กับพรรค กปปส. อย่างไม่ต้องสงสัย

แม้ว่านั่นจะนำไปสู่การได้นายกรัฐมนตรี “คนนอก” ที่ชื่อ พล.อ.ประยุทธ์ ก็ตาม

และถึงตอนนั้น ก็คงมี “นานา” คำอธิบายทางการเมือง มาสนับสนุนว่าทำไมต้องหนุนทหาร

พรรคประชาธิปัตย์เคยมีตำนาน “ข้อมูลใหม่” อันลือลั่นมาแล้ว ในช่วงสนับสนุน พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ เป็นนายกรัฐมนตรีคนนอก

ดังนั้น ปรากฏการณ์ทางการเมืองแบบผสมพันธุ์พรรคออกมาเป็น “มวลมหาประชาธิปัตย์” จึงไม่ใช่เรื่องแปลก

และก็คงเป็นอย่างที่ นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ แกนนำ นปช. ได้ถามดักคอเอาไว้ว่า คงต้องเผื่อใจไว้บ้างว่าการออกมาจากพรรคประชาธิปัตย์ของนายสุเทพวันนี้ จะกลับมารวมกันอีกทีตอนยกมือให้นายกฯ คนนอกหรือไม่

“มวลมหาประชาธิปัตย์” จึงไม่ใช่สิ่งที่เหนือความคาดหมายทางการเมือง!