ศัลยา ประชาชาติ : “การะเกด” ก็ช่วยไม่ไหว ช่อง 3 เจอศึกรอบด้าน กำไรร่วงหนัก ทั้งปีเหลือแค่ 61 ล้าน

กระแสท่วมท้นเต็มโซเชียลมีเดียช่วงนี้คงต้องยกให้ “แม่หญิงการะเกด” ที่ เบลล่า ราณี และ “พี่หมื่น” ตีบทแตกกระจุยกระจายจากละครดังบุพเพสันนิวาส จนสร้างปรากฏการณ์ทอล์กออฟเดอะทาวน์ทั่วบ้านทั่วเมืองชั่วข้ามคืน

ใครๆ ก็พูดถึง เช่นเดียวกับเรตติ้งคนดูที่พุ่งทะยานสู่แถวหน้า จากที่ผ่านมาต้องยอมรับว่าละครแต่ละเรื่องที่ช่อง 3 ทำขึ้นมาพากันพลาดเป้า แถมยังถูกคู่แข่งอย่างเวิร์คพอยท์ ช่อง 8 อาร์เอส หรือโมโน 29 รวมถึงช่องวันของแกรมมี่ หายใจรดต้นคอติดๆ

มองกันถึงขั้นว่ากระแสละคร “บุพเพสันนิวาส” จะกู้วิกฤตให้ช่อง 3 ด้วยซ้ำ

แต่เมื่อปรากฏผลประกอบการปี 2560 ของช่อง 3 เผยแพร่สู่สาธารณชน กลายเป็นว่าอาการป่วยช่อง 3 หนักกว่าที่คิด เพราะมีกำไรลดลงมาเหลือเพียง 61 ล้านบาท ต่ำสุดในรอบหลายปี

โดยเฉพาะหากเปรียบเทียบย้อนกลับไปปี 2559 ซึ่งช่อง 3 เก็บกำไรไป 1,218 ล้านบาท ส่วนปี 2558 มีกำไรถึง 2,983 ล้านบาท

ข่าวผลประกอบการที่ออกมา ยังเกิดขึ้นพร้อมๆ กับการประกาศลาออกจากตำแหน่งประธานคณะกรรมการบีอีซีของ “สมประสงค์ บุญยะชัย” อดีตคือประธานเจ้าหน้าที่บริหารเอไอเอส และบริษัทชินคอร์ป

 

ในอดีต ยุคที่ทีวีไทยมีเพียง 3-5-7-9-11 และไทยพีบีเอส ช่อง 3 ภายใต้การนำของตระกูลมาลีนนท์ ไม่ว่าจะหันซ้ายหันขวา ได้รับความสำเร็จมาโดยตลอด

แต่เมื่อมีทีวีดิจิตอลเกิดขึ้น ทุกสิ่งทุกอย่างกลับตาลปัตร

การมีคู่แข่งเพิ่มขึ้นเป็นสิบช่อง อีกทั้งพฤติกรรมคนดูก็เปลี่ยน ไล่หลังการเกิดขึ้นของทีวีดิจิตอลได้ไม่นาน ช่อง 3 ประกาศยกเครื่ององค์กร การบริหารการจัดการภายในครั้งใหญ่ พร้อมๆ กับการเข้ามาของ “ประชุม มาลีนนท์” ในตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มบริษัท บีอีซี เวิลด์ จำกัด (มหาชน)

พร้อมๆ กับการดึง “สมประสงค์ บุญยะชัย” และมือดีจากเอไอเอสอีกหลายคนเข้ามาร่วมชายคา อาทิ อาภัทรา ศฤงคารินกุล, ภัทรศักดิ์ อุตตมะโยธิน และวรุณเทพ วัชราภรณ์

ภาพการดึง “ทีมบริหารใหม่” เข้ามา กลายเป็นอีกความหวังของช่อง 3 หลายฝ่ายต่างก็คาดหวังว่าทีมงานมืออาชีพจะเข้ามาช่วยกอบกู้รายได้ และสร้างผลกำไรของช่อง 3 ให้เติบใหญ่ได้

จนเป็นที่มาของกระแสข่าวลือที่หนาหูเมื่อช่วงกลางปี 2560 ที่ผ่านมาว่ากำลังถูกเทกโอเวอร์จากนายทุนใหญ่

แต่สุดท้าย “สมประสงค์” ตัดสินใจลาออกจากตำแหน่งประธานกรรมการบริหารเมื่อต้นเดือนมีนาคมที่ผ่านมา พร้อมกับการลาออกของกรรมการอิสระ อย่าง “กวิน กาญจนพาสน์”

การลาออกของ 2 ผู้บริหารครั้งนี้ เหมือนทิ้งช่อง 3 ไว้กลางทาง กับผลประกอบการปี 2560 ที่ลดลงอย่างน่าใจหายด้วยผลกำไรต่ำสุดในรอบหลายปี

 

หากพิจารณาลงไปในรายละเอียด พบว่าต้นตอของกำไรที่หล่นลงมาอย่างน่าใจหายดังกล่าว มาจาก “ศึกรอบด้าน” ทั้งปัจจัยภายนอกที่ยากเกินควบคุม คนดูที่เปลี่ยนไปรับสื่อออนไลน์ สถานการณ์การแข่งขันกันที่สูงจากการไล่บี้เก็บเรตติ้งของช่องใหม่แบบหายใจรดต้นคอ

เม็ดเงินโฆษณา 60,000 ล้านบาท ถูกแชร์ให้แก่ช่องอื่นๆ มากขึ้น

อีกสิ่งที่ช่อง 3 กำลังเผชิญก็คือ ต้นทุนที่เพิ่มสูงขึ้นจากทุกทิศทุกทาง โดยเฉพาะด่านแรกคือ ค่าไลเซนส์ และค่าโครงข่ายของทีวีดิจิตอล ที่บีอีซี เวิลด์ ต้องแบกภาระไว้ถึง 3 ช่อง ด้วยมูลค่าการประมูลสูงถึง 6,471 ล้านบาท

แทนที่ทั้ง 3 ช่อง คือ ช่อง 33 เอชดี, ช่อง 28 เอสดี และช่อง 13 แฟมิลี่ จะมีรายได้เป็นกอบเป็นกำตามที่วาดหวัง ถึงวันนี้กลายเป็นว่า มีเพียงช่อง 3 ช่องเดียวที่สร้างรายได้หลักให้กับบริษัท ส่วนอีก 2 ช่องกลายเป็นภาระและต้นทุนที่ต้องแบกหนักขึ้นๆ

 

กับหลากหลายความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น “ประชุม มาลีนนท์” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มบริษัท บีอีซี เวิลด์ จำกัด (มหาชน) ยอมรับว่า วันนี้การแข่งขันของธุรกิจทีวีดิจิตอลที่เพิ่มดีกรีสูงขึ้น ประกอบกับเม็ดเงินโฆษณาก็ไม่ได้เติบโตขึ้น ทำให้ต้องปรับตัวมาต่อเนื่อง

ทั้งการปรับโครงสร้างทีมบริหารใหม่ ตามด้วยการปรับผังรายการและเพิ่มแพลตฟอร์มการออกอากาศ เพิ่มความนิยมผู้ชม (เรตติ้ง) เพื่อเพิ่มรายได้

แม่ทัพใหญ่ช่อง 3 ยอมรับว่า …ตอนนี้ทีวีกำลังถูกดิจิตอลดิสรัปชั่น หรือได้รับผลกระทบจากการขยายตัวของสื่อดิจิตอล นำไปสู่การวางยุทธศาสตร์ใหม่ เดินหน้าขยายช่องทางออนไลน์ ด้วยการสร้างแพลตฟอร์มออนไลน์ของตัวเอง เช่น Mello, Channel 3 Live ขึ้นมา

นอกจากนี้ ยังได้จับมือกับ “ไลน์ทีวี” นำละครขึ้นไปอยู่บนช่องทางออนไลน์

ทั้งหมดนี้เพื่อรับมือกับการแข่งขันและพฤติกรรมคนดูที่เปลี่ยนไป ไม่ได้ดูคอนเทนต์รายการจากจอทีวี แต่ดูจากทุกดีไวซ์ (มือถือ, แท็บเล็ต) เป็นการขยายฐานคนดูออกหาคนรุ่นใหม่ๆ มากขึ้น

 

นอกจากจะเสริมจุดแข็งที่มีอยู่เดิม คือ ละคร-ข่าว โดยปีนี้เตรียมละครฟอร์มใหญ่ไว้ พร้อมทั้งขยับผังช่วงเย็นด้วย เช่น เวลา 18.20-19.05 น. นำซีรี่ส์อินเดียมาออกอากาศ

ปัญหาอีกอย่างที่ช่อง 3 ต้องรีบแก้ให้ตกคือ เนื้อหารายการ ถือเป็นหัวใจสำคัญ

ต้องยอมรับว่า หลังหมดยุค “สรยุทธ สุทัศนะจินดา” นักเล่าข่าวมือดีแห่งเรื่องเล่าเช้านี้ เรตติ้งรายการข่าวที่เคยรุ่งเรือง โฆษณาแน่นเต็มผัง ก็หมดลง ทำให้ช่อง 3 ต้องปรับลดเวลาเรื่องเล่าเช้านี้ลง 45 นาที และต้องลองผิดลองถูกเพื่อหาโมเดลใหม่อยู่นาน ก่อนคลอดรายการเรื่องเล่าเช้าโฉมใหม่ แต่ก็ไม่เปรี้ยงปร้างเหมือนเดิม

ขณะที่ละครซึ่งช่อง 3 ย้ำอยู่เสมอ เป็นคอนเทนต์แม่เหล็ก ก็เหมือนจะสิ้นมนต์ลงเรื่อยๆ แม้จะงัดนักแสดงตัวท็อป “ณเดชน์-ญาญ่า” ออกมาประกบคู่แบบมั่นใจเกินร้อยว่าต้องปังแน่นอน แต่เรตติ้งก็ไม่แรงเหมือนที่คาดหวัง

ส่วนหนึ่งเพราะช่องใหม่เพิ่มขึ้น และหลายๆ ช่องก็ยึดละครเป็นคอนเทนต์แม่เหล็ก โดยเฉพาะช่องวัน กลายมาเป็นผู้ท้าชิงรายหลัก

ควบคู่กันอีกด้านหนึ่ง ช่อง 3 ก็พยายามลดต้นทุนด้านบุคลากร การเปิดโครงการ “เกษียณก่อนกำหนด” ให้แก่พนักงานที่สมัครใจ จากเดิมที่ไม่เคยทำโครงการนี้

นี่คือเกมใหม่ของ “ช่อง 3” ภายใต้การนำทัพโดยลูกชายคนสุดท้องแห่งตระกูลมาลีนนท์ กับภารกิจกอบกู้รายได้และกำไรให้ตัวเอง เพื่อจะได้ก้าวเข้าไปอยู่ในพื้นที่เซฟโซนที่เคยเป็น