เกษียร เตชะพีระ : “วิเคราะห์วิจารณ์แนวคิดอินทรียภาพ”

เกษียร เตชะพีระ

แนวคิดอินทรียภาพ (Organicism) ซึ่งมองรัฐ/สังคมเสมือนหนึ่งร่างกายและองคาพยพของมนุษย์เรา อันเป็นองค์ประกอบสำคัญอย่างหนึ่งของอุดมการณ์อนุรักษนิยมที่สอดคล้องกันทั้งเทศและไทยดังได้นำเสนอมาแล้วนั้น มีหลักคิดที่แตกต่างตั้งประจันกับอุดมการณ์เสรีนิยม ดัง อาจารย์สมเกียรติ วันทะนะ อธิบายไว้ในหนังสืออุดมการณ์ทางการเมืองร่วมสมัย (พ.ศ.2551) และ ดร.เภสัชกร ประชาสรรค์ แสนภักดี แห่งศูนย์ฝึกอบรมภูมิปัญญาสู่สากล นำมาสรุปรวบยอดแสดงด้วยแผนภูมิไว้อย่างกะทัดรัด (ดูแผนภูมิ)

เราอาจตั้งข้อสังเกตเบื้องต้นเกี่ยวกับนัยสืบเนื่อง (political implications) ของแนวคิดอินทรียภาพที่ตรงข้ามขัดแย้งกับแนวคิดเสรีนิยม-ปัจเจกนิยม (Liberalism-Individualism) ได้ 3 ประการ

ดังนี้ :

1) บุคคลถูกกำหนดโดยหน้าที่ (functional determinism)

บุคคลพึงทำตามหน้าที่ของตนซึ่งอาจกำหนดขึ้นจากอาชีพ, กฎหมายหรือวัฒนธรรมประเพณี และตีกรอบจำกัดบทบาทที่พึงมีของแต่ละคนตามหน้าที่นั้นอย่างหยุดนิ่งตายตัว

ด้วยเหตุนี้ อำนาจหน้าที่ที่ลดหลั่นกันเป็นลำดับชั้นอย่างไม่เสมอภาคกันในสังคม (social hierarchy) จึงเป็นเรื่องถูกต้องสมควรและเป็นธรรมชาติธรรมดา

ในขณะที่การทำนอกหน้าที่ เล่นนอกบท เช่น นักศึกษาเดินขบวนแทนที่จะเรียนหนังสือ, ชาวนาปิดถนนแทนที่จะทำนา, กรรมกรนัดหยุดงานแทนที่จะเข้ากะทำงาน, ชาวบ้านก่อม็อบประท้วงแทนที่จะทำมาหากิน ฯลฯ ล้วนผิดปกติธรรมดาผิดธรรมชาติ เพราะธรรมชาติของทุกคนคือทำตามหน้าที่ ธรรมชาติของสังคมคือปลอดการเมือง (apolitical)

ส่วนการเล่นการเมืองนั้นเป็นหน้าที่โดยธรรมชาติของนักการเมืองอาชีพ

2) ถือความสำคัญขององค์รวมหรือส่วนทั้งหมดเป็นเอกเป็นหลักเหนือแต่ละส่วนแต่ละคน (holism)

เห็นว่าส่วนย่อยแต่ละส่วน (ซึ่งเปรียบได้กับอวัยวะต่างๆ เช่น มือ เท้า แขน ขา นิ้ว ฯลฯ) มีความหมายความสำคัญต่อเมื่อประกอบเชื่อมโยงเข้ากับส่วนทั้งหมด (อันเปรียบเหมือนร่างกาย) อย่างแบ่งแยกมิได้ ส่วนย่อยส่วนหนึ่งส่วนเดียวมิอาจดำรงอยู่อิสระเอกเทศโดยลำพัง ความสัมพันธ์ระหว่างส่วนย่อย (ไม่ว่าจะเป็นบุคคล, ชุมชน, หมู่บ้าน, ท้องถิ่นหนึ่งๆ) กับส่วนทั้งหมด (หมายถึง “ชาติ”) ดำเนินไปตามหลักการต่อไปนี้คือ :-

– บุคคลขึ้นต่อรัฐชาติ

– ชั้นล่างขึ้นต่อชั้นบน

– เฉพาะส่วนขึ้นต่อส่วนทั้งหมด

– เสียงข้างน้อยขึ้นต่อเสียงข้างมากด้านเดียว ไม่ค่อยมีสิทธิของเสียงข้างน้อย

3)ไม่มีที่ให้ความขัดแย้งหรือเปลี่ยนแปลงในเชิงโครงสร้าง (Exclusion of structural conflict and transformation)

มีแนวโน้มที่จะเห็นความขัดแย้งและเปลี่ยนแปลงในชาติเป็นเรื่องผิดธรรมชาติ ในทำนองเดียวกับที่อวัยวะองคาพยพส่วนต่างๆ ของร่างกายต้องไม่ทำงานขัดแย้งกัน (เช่น มือซ้ายต้องไม่ขัดแย้งกับมือขวา มิฉะนั้นย่อมยกแบกของไม่ได้, เท้าซ้ายต้องไม่ปัดแข้งปัดขาเท้าขวา มิฉะนั้นย่อมเดินไม่ได้), การเปลี่ยนแปลงไปของอวัยวะที่ทำหน้าที่ต่างๆ ในร่างกายเป็นเรื่องผิดปกติวิสัย ผิดธรรมชาติ เป็นพยาธิสภาพ (คนปกติย่อมไม่ใช้มือเดินหรือใช้ตีนคิดแทนสมอง เป็นต้น)

ผลพวงประการต่างๆ ของทรรศนะดังกล่าวนี้ปรากฏอาการแสดงออกต่างระดับกันในหมู่ปัญญาชนอนุรักษนิยมและชุมชนนิยมไทยอย่างค่อนข้างคงเส้นคงวา ตั้งแต่ หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช ผู้ล่วงลับมาจนถึง หมอประเวศ วะสี ปัจจุบัน

แน่นอนว่าในทางกลับกัน นักคิดปัญญาชนที่โน้มเอียงไปทางเสรีประชาธิปไตยก็แสดงความเห็นท่าทีวิพากษ์วิจารณ์แนวคิดอินทรียภาพและระบบปิตาธิปไตย/พ่อปกครองลูกซึ่งสืบเนื่องเชื่อมโยงกันอย่างต่อเนื่องคงเส้นคงวา ที่เฉียบแหลมน่าสนใจ อาทิ :

อิมมานูเอล คานต์ นักปรัชญาชาวเยอรมันแห่งยุครู้แจ้ง (ค.ศ.1724-1804)

“การปกครองที่ตั้งอยู่บนหลักความเมตตาต่อประชาชน เหมือนบิดาที่คอยอภิบาลบุตรหลานของตน หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือการปกครองระบอบปิตาธิปไตย (imperium paternale) ที่ซึ่งคนในบังคับเสมือนหนึ่งผู้เยาว์ที่ไม่อาจจำแนกแยกแยะว่าอะไรดีและอะไรเลวสำหรับตัวและถูกขับไสเคี่ยวเข็ญให้รับบทเป็นฝ่ายถูกกระทำอย่างเฉื่อยเนือย และต้องคอยให้องค์อธิปัตย์กำหนดว่าธาตุแท้แห่งความสุขของพวกตนเป็นอย่างไร ไม่บังอาจคาดหวังสิ่งใดเว้นแต่สิ่งที่องค์อธิปัตย์เลือกที่จะประทานมาให้พวกตนเท่านั้น : การปกครองดังกล่าวเป็นระบบเผด็จอำนาจอาญาสิทธิ์ที่เลวร้ายที่สุดเท่าที่เราจะจินตนาการไปถึงได้”

(อ้างอิงใน นอร์แบร์โต บ๊อบบิโอ, เสรีนิยมกับประชาธิปไตย, 2556, น.25)

ฮันส์ เคลเซ่น นักนิติศาสตร์และปรัชญาการเมืองคนสำคัญชาวออสเตรีย (ค.ศ.1881-1973)

“ว่ากันตามอุดมคติของมันแล้ว ประชาธิปไตยเป็นสังคมที่ไม่มีพ่อ”

(อ้างอิงใน Andreas Kalyvas, Democracy and the Politics of the Extraordianry : Max Weber, Carl Schmitt, and Hannah Arendt, 2008, p,ii)

กุหลาบ สายประดิษฐ์ ปัญญาชนสังคมประชาธิปไตยแห่งการอภิวัฒน์ 2475 (พ.ศ.2448-2517)

“ถ้าเราบอกว่าเราเป็นพลเมืองของรัฐประชาธิปไตย และในขณะเดียวกันเราก็ยังกล่าวว่าการปกครองแบบพ่อเมืองสมัยสุโขทัยหรือการปกครองแบบ “บิดาปกครองบุตร” ในสมัยรัตนโกสินทร์เป็นของกลมกลืนกันสนิทดีกับระบอบประชาธิปไตยในสมัยนี้แล้ว นักศึกษาเช่นข้าพเจ้าและใครก็ตามไปลงคะแนนเลือกผู้แทนของเราเพื่อให้ไปดำเนินการปกครองแทนเรานั้น เราไม่ได้ตั้งใจจะเลือกเขาเพื่อให้เขาได้กลับกลายมาเป็นพ่อของเราขึ้นเลย”

(“ความหมายของประชาธิปไตย”, พ.ศ.2487)

หรือไกลกว่านั้น เช่น คอมเมนต์ของ รศ.ดร.ธเนศ วงศ์ยานนาวา แห่งคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่มีผู้นำมาอ้างถึงและเผยแพร่ในโซเชียลมีเดียกันแพร่หลายในระยะสองปีที่ผ่านมาว่า :

“คุณอย่าคิดอะไรมาก ประเทศนี้ไม่ใช่ของคุณ อยู่ๆ ไปเถอะ คิดซะว่าเช่าเค้า ทำงานหาเงินใช้ชีวิตให้มันมีความสุขไป สิ้นเดือนรับตังค์ แดกข้าว อยากไปเที่ยวไหนก็ไป ไม่ต้องไปคิดอะไรมาก อยู่ๆ ไปเหอะ”

(https://www.facebook.com/photo.php?fbid=593390180767263&set=a.128124903960462.21090.100002888588701&type=3)

ทว่า ต่อให้ไม่คิดอะไรมาก การดำเนินชีวิตของผู้มีแนวคิดเสรีนิยม (หรือที่ผู้เห็นต่างบางคนเรียกอย่างประชดประชันว่า “ลิเบอร่าน”) บนรัฐนาวาอินทรียภาพ ก็ไม่แน่ว่าจะถูกปล่อยให้อยู่อย่างดูดาย ดังจะเห็นได้จากความคาดหมายต่อผู้โดยสารร่วมรัฐนาวาสยามมาแต่ต้นดังนี้ :

“เราอยู่ในเรือลำเดียวกัน เพราะฉะนั้น น่าที่จะต้องช่วยกันพาย ถ้าแม้ไม่พาย ถึงแม้ว่าจะไม่เอาตีนราน้ำ เป็นแต่นั่งอยู่เฉย ก็หนักเรือเปล่าๆ อาจจะทำให้เรือแล่นช้าไปได้เป็นแน่แท้ เพราะฉะนั้น ต้องเลือกเอาอย่างหนึ่ง ถ้าจะพายก็จับพายขึ้น และอย่าเถียงนายท้าย หรือถ้าจะไม่พายก็ขึ้นจากเรือหรือลงน้ำว่ายไปตามลำพังเถิด อย่ามานั่งอยู่ในเรือของไทยเราให้หนักเรือเลย ถ้าเราต้องการของหนักสำหรับเป็นระวางถ่วงเรือของเรา ก็เอาก้อนหินดีกว่า เพราะมันไม่มีเสียงที่จะส่งอวดดีเถียงนายท้าย”

(อัศวพาหุ, “ความเป็นชาติโดยแท้จริง”, พิมพ์ไทย, 29 พฤษภาคม พ.ศ.2458)