เสียงจากนักวิชาการ “เกษม เพ็ญภินันท์” อันตรายที่สุด คือการคิดว่า “มีอัศวินขี่ม้าขาว” เพื่อบ้านเมือง

“คนไทยมีทัศนคติด้านลบเกินไปกับนักการเมือง ผมไม่ปฏิเสธว่านักการเมืองส่วนหนึ่งเข้ามาเพื่อผลประโยชน์ส่วนตัว ทำการฉ้อฉลหรือคอร์รัปชั่นในรูปแบบต่างๆ แต่ต้องยอมรับในข้อเท็จจริงว่าไม่ใช่แค่นักการเมืองเท่านั้น เพราะคนที่อยู่ในอำนาจก็สามารถทำให้เกิดสภาพการณ์แบบนี้ได้ เพราะอำนาจมันฉ้อฉลในตัวมันเอง ยิ่งคุณอยู่ในอำนาจมากเท่าไหร่ การฉ้อฉลยิ่งมีโอกาสเกิดขึ้นมากเท่านั้น”

นี่คือมุมมองของ เกษม เพ็ญภินันท์ อาจารย์ประจำภาควิชาปรัชญา คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่มีต่อสถานการณ์ปัจจุบันที่สังคมมองถึงสภาพที่ไม่มีนักการเมือง แต่ไม่รู้สึกว่าฝ่ายนำมีความแตกต่างจากนักการเมืองก่อนหน้านี้สักเท่าไหร่

อ.เกษม มองว่ากระบวนการตรวจสอบในสังคม จากในอดีตที่เรามีตัวแทนทางการเมืองเข้ามาอยู่ในตำแหน่ง ต้องยอมรับว่ากระบวนการตรวจสอบส่วนหนึ่งมันทำงาน แต่ในขณะที่สังคมที่ไม่ได้เป็นประชาธิปไตย สังคมที่ไม่มีตัวแทน กระบวนการตรวจสอบมันหยุดชะงัก

“เหมือนกับว่าเราไม่จำเป็นต้องตรวจสอบเพราะ (บาง) คนไปคิดว่าคนเหล่านี้ “มีความปรารถนาดี” “เป็นคนดี” ซึ่งภายใต้บรรทัดฐานแบบนี้ที่ไม่มีหลักประกันใดๆ ทั้งสิ้น คนเหล่านี้หากมีการฉ้อฉล หรือสร้างปัญหาบางอย่างสุดท้ายสังคมทำอะไรไม่ได้”

“บางคนอาจจะพูดว่า “ดูสิไม่ได้แตกต่างกันเลย” แต่ในความเป็นจริงแล้วคุณทำอะไรเขาไม่ได้! เพราะกฎเกณฑ์ต่างๆ กระบวนการต่างๆ ได้ถูกกำหนดไว้แล้วว่าเขาไม่ต้องได้รับการตรวจสอบ ในขณะที่นักการเมืองที่มาจากกติกาประชาธิปไตยมันมีบรรทัดฐานบางอย่างที่สามารถทำสิ่งเหล่านั้นได้ และบรรทัดฐานเหล่านั้นมันกลายเป็นเรื่องสาธารณะได้ ซึ่งกลายเป็นเรื่องที่ดีเพราะจะเห็นได้ว่ากลไกต่างๆ มันทำงาน และเปิดโอกาสให้คนถูกกล่าวหาได้พิสูจน์ตัวเอง เขามีสิทธิ์ที่จะแก้ต่าง ซึ่งกระบวนการเหล่านี้มันยืนยัน “ความชอบธรรมของระบบ” แต่มาวันนี้พอไม่ได้มีระบบแบบนั้น สังคมได้แต่เคลือบแคลงสงสัย ซึ่งไม่ได้นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงใดๆ เพียงแค่ที่สุดมันกัดเซาะความเชื่อมั่นในตัวรัฐบาล ในตัวของผู้บริหารประเทศ”

: แม้ความเชื่อมั่น คสช. ถูกลดทอนจนสิ้นก็ไม่สามารถทำอะไร คสช. ได้?
ผมอยากให้แยกระหว่าง “ความเชื่อมั่น” กับ “อำนาจทางการเมือง” ความเชื่อมั่นอาจจะเป็นเรื่องของกระแสสังคม เป็นเรื่องของทัศนคติที่มีต่อตัวบุคคลหรือคณะบุคคลและประเด็นทางการเมืองที่เกิดขึ้น ซึ่งมันมีขึ้นและลง แต่ที่เขาอยู่ได้เพราะเขา “สามารถใช้อำนาจอย่างเด็ดขาดได้” ผมคิดว่าความเชื่อมั่นเป็นเรื่องหนึ่ง แต่ความสามารถในการควบคุมอำนาจอย่างเด็ดขาดต่างหากที่ทำให้เขาอยู่ได้ ถึงแม้ว่าเขาจะหมดความเชื่อมั่นจากคนในสังคมก็ตาม แต่ในระบบกติกาประชาธิปไตยรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งทั้งสองอย่างนี้มันไปด้วยกัน เพราะตราบใดก็ตามที่คุณหมดความเชื่อมั่น การได้รับการยอมรับและการกลับมาสู่อำนาจทางการเมืองมันสั่นคลอนไปด้วย อันนี้คือจุดที่แตกต่าง และคิดว่าในรัฐบาลแบบนี้ 2 เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องเดียวกัน ไม่ว่าจะถูกโจมตีอย่างไรก็ไม่เป็นผลให้คนเหล่านี้ต้องแสดงความรับผิดชอบใดๆ ทั้งสิ้น

สิ่งเดียวที่เขาต้องรับผิดชอบคือรับผิดชอบต่ออำนาจที่เขามีอย่างเด็ดขาดที่จะจัดการกับปัญหาต่างๆ ตราบที่เขายังมีศักยภาพในการใช้อำนาจเหล่านั้นได้

: แม้แต่ความ (ไม่) เชื่อมั่นจากคนใน “พวกเดียวกัน”?

ผมคิดว่ากรณีนี้มันเป็นปัญหาภายในของเขา สิ่งที่สำคัญที่สุดคือประเด็นเดิมคือตราบใดที่คนที่อยู่ในอำนาจและสามารถใช้อำนาจอย่างเต็มที่ได้ก็ไม่ต้องกังวลใดๆ ทั้งสิ้น เพราะว่าอำนาจเด็ดขาดอยู่ในมือของเขาและผู้นำ ทุกอย่างควบคุมได้ เรื่องอื่นก็ไม่ใช่ประเด็น

ส่วนกระแสเรียกร้องเรื่องการลาออกทั้งหมดคุณทำได้ในสังคมประชาธิปไตย แต่ในกรณีรัฐบาลที่ไม่ได้มาจากเลือกตั้ง การเรียกร้องต่างๆ ก็ไม่มีผลเพราะอำนาจอยู่ในมือเขาแล้วเขาจะปล่อยทำไม การลาออกนั่นหมายความว่าคุณปลดตัวเองออกจากการใช้อํานาจอันนั้น ทั้งๆ ที่เขายังมีอำนาจอยู่ ทำไมเขาต้องลาออก?

ผมมองไม่ออกว่าการกดดันให้คุณประวิตร (วงษ์สุวรรณ) ลาออกจะมีผลอะไร ตราบใดก็ตามที่อำนาจและการสั่งการเด็ดขาดส่วนหนึ่งยังอยู่ในมือของคุณประวิตร

: ประชาชนเติบโต-เรียนรู้อะไรในช่วงเวลาเกือบ 4 ปี?

ในสังคมไทยไม่ได้เรียนรู้อะไรมากจากผลพวงของการรัฐประหาร แต่อย่างน้อยที่สุดที่คนเริ่มรับรู้ คือไม่ว่าคุณจะเป็นตัวแทนนักการเมือง มาจากการเลือกตั้งหรือมาจากยึดอำนาจ สิ่งที่สำคัญที่สุดก็คือ “ธรรมชาติของคนที่อยู่ในอำนาจ” ไม่ได้มีความแตกต่างกัน ดังนั้น ความเคลือบแคลงสงสัยต่างๆ คงไม่เกิดขึ้น ถ้าผู้นำและคณะไม่ได้แสดงพฤติกรรมบางอย่างออกมา

ผมคิดว่าในระยะยาวสังคมคงต้องทำอย่างไรที่จะให้คนเข้าใจว่ามันมีบาดแผลของการรัฐประหาร และมีผลกระทบต่อทิศทางของสังคม ผมคิดว่านี้เป็นเรื่องที่ไกลตัวอยู่ แต่ถ้าถามว่ามันมีแนวทาง มันมีวิสัยทัศน์บางอย่างที่คนมองเห็นไหม ผมคิดว่าคนรุ่นใหม่อาจจะมองเห็น แต่คนที่อยู่ในสังคมรุ่นเก่าเขากลับมองเป็นเรื่องลบมากกว่า เพราะเขามองว่าสภาวการณ์แบบนี้เขาไม่ได้มีผลกระทบในด้านเศรษฐกิจหรือการใช้ชีวิต และคิดว่าการสงบดีที่สุด

: ทำไมคนบางคนจึงให้ค่า-มองผู้มีอำนาจคือ “อัศวินขี่ม้าขาว”?

อัศวินขี่ม้าขาวในยามวิกฤตของบ้านเมือง นี่คือความคิดอันตรายที่สุด การเป็นอัศวินขี่ม้าขาวแบบนี้เขากำลังละเมิดกฎกติกาพื้นฐานของสังคมที่อยู่ร่วมกัน ละเมิดบรรทัดฐานของสังคมที่หลายอย่างมันมีทางออกในตัวเอง เพราะเมื่อมีปัญหาการยุบสภา-การเลือกตั้งมันเป็นกระบวนการหนึ่งที่ให้อำนาจตัดสินใจอยู่ที่ประชาชน สิ่งเหล่านี้มันถูกทำลายโดยพื้นฐาน

แต่ผมคิดว่าปัญหาเหล่านี้ มันแก้ไขได้ในแง่ของคน ควรจะได้รับการเรียนรู้ว่าในสังคมไหนที่คนมีสิทธิ์ที่จะเข้ามามีส่วนร่วมในการกำหนดชะตากรรมของประเทศได้ ไม่ให้อยู่ในมือของคนหนึ่งคนใด

ผมคิดว่าอันนี้เป็นเรื่องระยะยาวแต่ไม่ได้หมายความว่าเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นไม่ได้ “มันคือความหวังเดียว” ไม่ได้อยู่ที่ว่าใครเป็นอัศวินขี่ม้าขาว ความหวังเดียวของสังคมคือคนในสังคมเองที่จะร่วมกำหนดชะตากรรม ผมคิดว่าในระยะใกล้อาจจะยังไม่ได้เห็นเรื่องนี้ แต่ผมคิดว่าสังคมเองเริ่มที่จะเรียนรู้มากขึ้น

: คิดว่า “การเลือกตั้ง” เป็นสิ่งที่จะได้เห็น?

ผมไม่เชื่อว่าการเลือกตั้งจะเกิดขึ้น ตามคาดการณ์ไม่ว่าจะเป็นในปีไหนก็ตาม ในสภาพที่ยังไม่เห็นมีอะไรที่ชัดเจน ไม่มีใครรู้ว่าจะไปทางไหน แม้แต่ฝ่ายผู้นำเองก็ยังตอบไม่ได้ สิ่งที่ทำได้คือการประวิงเวลาด้วยการพูดไปว่าปี 2561, 2562, 2563 บ้าง แล้วแต่ท่าทีที่มันเกิดขึ้น เพื่อจะลดแรงเสียดทานทางการเมือง และยากที่คนเหล่านี้จะหยุดอำนาจที่มีในมือตัวเอง ผมเชื่อว่าการเลือกตั้งไม่เกิดตามที่พูดๆ แล้วผมไม่เชื่อว่าเขาจะใจดีพอที่จะประกาศวันเลือกตั้ง

ผมเชื่อว่าเป้าหมายหนึ่งของเขา คือการอยู่ในอำนาจให้นานที่สุด ซึ่งไม่มีใครตอบได้ว่าเขาต้องการอะไร สิ่งที่มาพร้อมอำนาจไม่ใช่แค่เรื่องผลประโยชน์ แต่มันเกี่ยวข้องกับการเข้ามาจัดการกับระบบ และเขาคงมีภารกิจของเขาหลายอย่าง ที่สำคัญที่สุดคือการอยู่ในอำนาจให้นานที่สุด

: มองการเมืองหลังจากนี้ยังไง?

ผมคิดว่าไม่มีใครตอบได้ในสภาพการณ์แบบนี้ ที่ไม่มีใครที่กุมอำนาจได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ ทุกคนก็ยังสงสัยว่ามันจะไปยังไง ไม่สามารถคาดการณ์ได้ หรือแม้แต่ผู้มีอำนาจเองก็ไม่สามารถตอบได้เนื่องจากมันเป็นสภาวะที่เต็มไปด้วยอะไรหลายๆ อย่าง ต่างฝ่ายต่างจะประคองตัวอย่างไร ผมคิดว่าในสังคมไทยอยู่ในจุดที่ทุกคนต่างประคองตัวเองให้อยู่รอดปลอดภัยมากกว่า ผมไม่คิดว่ามันจะมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรุนแรงเกิดขึ้นในช่วงระยะเวลาอันใกล้ไม่ว่าในรูปแบบใดก็ตาม

แต่ผมเชื่อว่าภายใต้เงื่อนไขและสถานการณ์ทั้งหมดแบบนี้มันจะทำให้ยิ่งกดดันกันเองมากขึ้น หลังจากนั้นเราอาจจะได้คุยกันใหม่ แต่ ณ จุดนี้ผมมองไม่เห็นอะไรที่ไปไกลกว่า การบอกได้ว่ามันก็คือสภาวการณ์หนึ่งที่เราไม่รู้ว่ามันจะไปทางไหน แต่มันก็เคลื่อนไปเรื่อยๆ และถ้ามีอะไรที่เป็น “รอยปริแยกที่สำคัญ” ถึงตอนนั้นเราจะมองเห็นอะไรได้ง่ายขึ้นแต่ตอนนี้ผมยังมองไม่เห็น

อย่างไรก็ตาม สังคมไม่ถึงขั้นที่จะต้องสิ้นหวัง เพราะอาจจะไม่มีหวังกับอะไรทั้งสิ้น!