มองไทยใหม่ : คำไทยที่มาจากภาษาบาลีและภาษาสันสกฤต

ในบรรดาคำไทยซึ่งมีที่มาจากภาษาต่างประเทศ ๑๗ ภาษา ตามที่ระบุไว้ใน พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.๒๕๕๔ อันได้แก่ เขมร จีน ชวา ญวน ญี่ปุ่น ตะเลง เบงกาลี ปาลิ (บาลี) เปอร์เซีย โปรตุเกส ฝรั่งเศส มลายู ละติน สันสกฤต อังกฤษ อาหรับ และฮินดีนั้น มีคำจากภาษาบาลีสันสกฤตเป็นจำนวนมากซึ่งใช้กันมานานจนยอมรับว่าเป็นคำไทยแล้ว

คำเหล่านี้ถือได้ว่าเป็นคำยืม ซึ่งมีทั้งนำคำมาใช้ทั้งคำ โดยอาจปรับรูปเขียนและความหมายบ้าง หรือนำคำมาประสมกันตามหลักไวยากรณ์บาลีสันสกฤต บางครั้งก็ประยุกต์การประสมคำขึ้นแบบไทย แต่ยังคงเค้าตามหลักภาษาเดิม

ใน พ.ศ.๒๕๕๓ ราชบัณฑิตยสถานได้รวบรวมคำที่ใช้ในภาษาไทยซึ่งมีที่มาจากภาษาบาลีและสันสกฤต แสดงการประสมคำ รวมทั้งให้ความหมายไว้ด้วย

โดยมีวัตถุประสงค์ให้ผู้ใช้ภาษาไทยทราบและเข้าใจที่มาของคำ เพื่อใช้เป็นแนวทางในการแยกแยะที่มาของคำที่มาจากภาษาบาลีและสันสกฤตที่ใช้ในภาษาไทยได้ถูกต้อง

ในการนี้ ราชบัณฑิตยสถานได้มอบให้นักวรรณศิลป์ กองศิลปกรรม ได้แก่ นางสาวบุญธรรม กรานทอง นางทิพาภรณ์ ธารีเกษ นางชวนพิศ เชาวน์สกุล และ นางสาวพัชนะ บุญประดิษฐ์ เป็นผู้เรียบเรียง ซึ่งได้รวบรวมคำที่ใช้กันโดยทั่วไปมาจัดทำเป็นลำดับแรกประมาณ ๑,๗๐๐ คำ เรียบเรียงคำอธิบายที่มาพร้อมความหมาย

แล้วจัดพิมพ์เป็นหนังสือเผยแพร่

ต่อมา ใน พ.ศ.๒๕๖๐ สำนักงานราชบัณฑิตยสภาได้นำหนังสือเล่มนี้มาจัดพิมพ์ขึ้นเป็นครั้งที่ ๒ โดยแก้ไขบทนิยามคำบางคำให้สอดคล้องกับพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.๒๕๕๔ และได้ปรับปรุงการเก็บคำเพิ่มเติมเท่าที่จำเป็นด้วย

ตัวอย่าง

กาพย์ น. คำร้อยกรองประเภทหนึ่ง.

มาจากคำสันสกฤต กาวฺย (มีจุดใต้ตัว ว แหวน)

จราจร น. การที่ยวดยานพาหนะ คน หรือสัตว์พาหนะเคลื่อนไปมาตามทาง.

มาจากคำบาลีสันสกฤต จราจร ก. เคลื่อนที่ได้.

นาฬิกา น. เครื่องบอกเวลา.

มาจากคำสันสกฤต นาฑิกา น. ทุ่ม, โมง, เครื่องกำหนดเวลา.

นิราศ ก. จากไป, ระเหระหน, ปราศจาก.

น. เรื่องราวที่พรรณนาถึงการจากกันหรือจากที่อยู่ไปยังที่ต่างๆ

มาจากคำสันสกฤต นิราศ และคำบาลี นิราส ว. ปราศจากความหวัง, ไม่มีความต้องการ, หมดอยาก, เฉยอยู่.

ภาษา น. ถ้อยคำที่ใช้พูดหรือเขียนเพื่อสื่อความของชนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง หรือเพื่อสื่อความเฉพาะวงการ; เสียง ตัวหนังสือ หรือกิริยาอาการที่สื่อความได้.

มาจากคำสันสกฤต ภาษา และคำบาลี ภาสา น. ถ้อยคำ.

รหัส น. เครื่องหมายหรือสัญญาณลับซึ่งรู้เฉพาะผู้ที่ตกลงกันไว้, ข้อความที่เปลี่ยนตัวอักษรอื่นแทนตัวอักษรที่ต้องการใช้ หรือสลับตำแหน่งอักษรของข้อความนั้น หรือใช้สัญลักษณ์แทน เป็นต้น ซึ่งรู้กันเฉพาะผู้ที่รู้เกณฑ์การเปลี่ยนแปลงนั้นๆ, ระบบสัญลักษณ์ที่ใช้ในเครื่องมือเครื่องใช้อย่างกุญแจหรือตู้นิรภัย เป็นต้น.

มาจากคำสันสกฤต รหสฺย (มีจุดใต้ตัว ส เสือ) และคำบาลี รหสฺส (มีจุดใต้ตัว ส เสือ) น. ความลับ.

สุนัข น. หมา

มาจากคำสันสกฤต ศุนก และคำบาลี สุนข น.ผู้มีเล็บงาม.

ตัวอย่างที่ยกมาให้ดูนี้ แสดงให้เห็นลักษณะของ คำยืม ซึ่งมีการดัดแปลงเข้าสู่ภาษาไทยทั้งในด้านเสียง การเขียน และความหมาย

ต่างจากคำ ทับศัพท์ ที่เป็นการถอดจากภาษาเดิม โดยใช้ตัวอักษรไทย เพื่อแทนเสียงเท่าที่อักขรวิธีไทยจะอำนวยให้ โดยให้เห็นที่มาของคำเดิมตามสมควร เช่น New York ถอดเป็น นิวยอร์ก ซึ่งถ้าออกเสียงตามตัวเขียนแบบคำยืมจะต้องอ่านว่า [นิว-ยอก] แต่ผู้ใช้ภาษาไทยก็อาจจะออกเสียงว่า [นิว-หยอก] หรือ [นิว-ย้อก] ได้ ตามจังหวะที่ถนัด โดยไม่ต้องเขียนต่างกัน ๒ รูป เป็น นิวหยอก บ้าง นิวย้อก บ้าง

ผู้ที่สนใจเรื่องคำไทยที่มาจากภาษาบาลีและภาษาสันสกฤตจะหาอ่านได้จากหนังสือดังกล่าว