ขอแสดงความนับถือ/ฉบับประจำวันที่ 2-8 มีนาคม 2561

ขอแสดงความนับถือ

[email protected]

5มีนาคม เป็น “วันนักข่าว”
วันนักข่าว ที่ไม่เหมือนเดิมอีกแล้ว
โดยเฉพาะ “สื่อกระดาษ” เทคโนโลยีการสื่อสารได้ “พลิกโฉม” ครั้งใหญ่
เหลือไว้เพียงความทรงจำเก่า-เก่า
อย่างที่ “ปิยพงศ์” (เมืองหละปูน) เขียนจดหมายฟื้นความจำมาให้คิดถึง

เรียนบรรณาธิการ
เผลอแผล็บเดียว
มติชนรายวันก็ฉลองครบรอบวันเกิด 41 ปีไปแล้ว
ส่วนมติชนสุดสัปดาห์ ก็เข้าปีที่ 38
วัยขึ้นสี่สิบนั้นหากเป็นฝรั่ง เขาว่าชีวิตเพิ่งจะเริ่มต้น
และหากจะว่าไปแล้ว อีตา “ปิยพงศ์” (เมืองหละปูน) ก็หาใช่คนแปลกหน้าของมติชนไม่
เพราะตามติดมาตั้งแต่แรก
ตั้งแต่ฉบับแรก 9 มกราคม 2521 แปดหน้า หกสลึง
ย้อนหลังไปอีกก่อนคลอดรายวันฉบับแรก ก็ตามติดกลุ่มผู้บุกเบิกมาหลายปีอยู่
ตั้งแต่นิตยสารช่อฟ้าของมูลนิธิอภิธรรมวัดมหาธาตุ ซึ่งมีท่านกิตติวุฒโฑ เป็นโต้โผใหญ่
ระเรื่อยมาถึงรวมประชาชาติ แถวถนนศรีอยุธยา
และพอพวกท่านคลอด มติชนรายวัน ก็เอาใจช่วยอย่างเต็มที่

แต่เอาใจช่วยอย่างเดียวจะได้เรื่องอะไร
ว่าแล้ว ก็ส่งทั้งเรื่อง ทั้งภาพ มาให้สม่ำเสมอ
โดยส่งผ่านทาง “หมู่ขัน อารมณ์ดี”
ซึ่งก็ได้รับน้ำใจไมตรีจากมติชน อย่างดียิ่ง
นำเรื่องที่ส่งมาตีกรอบเล็กๆ หน้า 1 เรื่องเด่นประจำฉบับร่วมกับนักเขียนของมติชนบ่อยๆ
เช่น โลกใบเล็กๆ ของอารามบอย, เก้าแต้มทูตสันติภาพ ตอน 2 ฯลฯ
ส่วนหน้า 6 คอลัมน์ภาพ “ลั่นไก” อีตาปิยพงศ์ก็ส่งภาพมาให้บ่อยๆ
ในนามของ “ป.กล้องกระดาษ”
อย่างเช่นภาพนี้ เป็นต้น
เป็นการกระเซ้าเย้าแหย่ ท่านอาจารย์คึกฤทธิ์ ปราโมช ซึ่งยอดเยี่ยมกระเทียมดองจริงๆ
กิจสังคม มีแค่ 18 เสียง แต่ท่านอาจารย์ เสกคาถา เป่าพรวด
ซือแป๋ หรือที่หนังสือพิมพ์ยุคนั้นตั้งฉายาให้ท่านว่า “เฒ่าสารพัดพิษ”
ก็สามารถตั้งรัฐบาลขึ้นมาได้
และตัวอาจารย์ฟาดตำแหน่งนายกรัฐมนตรีหน้าตาเฉย เป็นหัวหน้ารัฐบาลแบบเหลือเชื่อจริงๆ
ที่มาของภาพนี้ ก่อนหน้านี้ไม่กี่วัน ท่านให้สัมภาษณ์หนังสือพิมพ์ว่า อีกสองสามวันจะมีเรื่องให้เซอร์ไพรส์
อีตา ป.กล้องกระดาษ ก็ส่งภาพไปให้หมู่ขัน อารมณ์ดี ทันที
สัญลักษณ์ของท่านอาจารย์ก็คือสวมแว่น ผมขาว คิ้วดำรูปสามเหลี่ยมเล็กๆ ยืนอยู่ร่วมกับคณะรัฐบาล ซึ่งเต็มไปด้วยกลุ่มของเสือ สิงห์ กระทิง แรด (ฮ่า)
เวลาช่างผ่านไปเร็วจริงๆ
ปิยพงศ์ (เมืองหละปูน)
แฟนพันธุ์แท้ ทั้งรายวัน และสุดสัปดาห์
ประเภท AAA+ หรือผลัด 1 ดี 1 ประเภท 1 (ฮ่า)

ใช่ เวลาผ่านรวดเร็ว และคงไม่หวนกลับ
สำหรับคนรุ่นหลัง อาจไม่มีประสบการณ์ในกรณี “ซือแป๋”
อย่างไรก็ตาม คอลัมน์ หน้าพระลาน ของ จัตวา กลิ่นสุนทร ได้ช่วยทบทวนความจำ
โดยนำเสนอ “คิดถึง ศาสตราจารย์ พลตรี หม่อมราชวงศ์ คึกฤทธิ์ ปราโมช” มาตามลำดับ
ใน “มติชนสุดสัปดาห์” ฉบับนี้ (หน้า 58) ก็ได้พูดถึงว่า
“อาจารย์คึกฤทธิ์…ต่อสู้กับเผด็จการทหารตลอดมา
…เคยกล่าวกับศิษย์ว่า ทหารไม่มีทางจะเป็นประชาธิปไตยได้
เพราะได้รับการอบรม ศึกษาเล่าเรียนหล่อหลอมจิตวิญญาณมาอย่างหนึ่ง
เมื่อเข้าสู่การเมืองยิ่งถูกห้อมล้อมด้วยผู้ประจบสอพลอ ย่อมยิ่งไปกันยกใหญ่
(แต่) ทหารสั่งนักการเมืองไม่ได้
เอาชนะประชาชนไม่ได้ ไม่ว่าจะมีอำนาจ (จอมปลอม) มีอาวุธอยู่ในมือ
สุดท้ายย่อมต้องพ่ายแพ้พลังมวลชน…”

ในท่ามกลามกระแสกาลเวลาที่ไม่หวนคืน
สื่อเปลี่ยนแล้ว
แต่ทหารยังไม่เปลี่ยน
เพราะไม่เปลี่ยน
สุดท้ายย่อมต้องพ่ายแพ้พลังมวลชน–อย่างซือแป๋ว่า?