ฉัตรสุมาลย์ / เส้นทางสายไหม : เมืองทูรู่ฟาน

เราออกจากตุนฮวาง หนาวมากค่ะ ไปรับประทานอาหารกลางวันแล้วตรงมาที่สถานีรถไฟเมืองลิ่วหยวน

เราต้องทิ้งรถทัวร์ที่เราใช้มาตลอดการเดินทางของเรา และลาจากไกด์ด้วยค่ะ

ไม่ทันได้ร่ำลากัน ก็โกลาหลกับการที่ต้องขนสัมภาระของตัวเอง และสัมภาระที่เพิ่มขึ้นจากการซื้อของตามรายทาง

จากจุดนี้ เราจะขึ้นรถไฟความเร็วสูงไปเมืองทูรู่ฟาน เข้าใจว่าผู้จัดทัวร์ต้องการให้เรามีประสบการณ์หลากหลายทั้งลงเรือเร็ว ทั้งเดินทางบนเส้นทางยาวร่วม 3,500 ก.ม. ด้วยรถทัวร์ และตอนนี้กำลังจะขึ้นรถไฟความเร็วสูง

ตอนขนกระเป๋าเข้าไปที่ตัวอาคารสถานี อุณหภูมิประมาณ 1 องศาเซลเซียส แต่หนาวจับจิตเพราะประตูทางเข้าตรงกับช่องลมพอดี เจ้าหน้าที่ก็ไม่ให้เราเข้าไปเสียก่อน มาตรวจเช็กตั๋วกันตรงประตูนั้นเอง คนที่อยู่ข้างนอกยังเข้าไปในตัวอาคารไม่ได้

สั่นเป็นลูกนกเลย

 

ผ่านเหตุการณ์ตรงนั้นมาเราก็เข้ามานั่งในสถานีสบายๆ ทำท่าราวกับเป็นเจ้าของสถานีเอง ไม่มีผู้โดยสารคนอื่นค่ะ เลยได้เดินสำรวจ

เขามีห้องที่บริการน้ำร้อนให้เราเติมน้ำในกระติกได้สบาย

อย่างที่เล่าไว้ตอนต้นว่า ทริปนี้ทัวร์แนะนำว่า เราควรมีกระติกน้ำร้อนติดตัว ก็ไลน์ถามกันในกลุ่มว่าใช้ยี่ห้ออะไรที่จะเก็บความร้อนดีที่สุด

เราก็มาพบความจริงกันในทริปนี้แหละ

อีกด้านหนึ่งของสถานี เป็นร้านค้าของรัฐบาลสำหรับจิปาถะที่คนเดินทางจะต้องการ อาหารกรุบกรอบ แซนด์วิชสำหรับคนที่ไม่ได้รับประทานอาหารมาให้ได้พอประทังชีวิต

ต้องบอกว่าทัวร์นี้ไม่ปล่อยให้มีเวลาหิวเลยค่ะ ลูกทัวร์ดูจะเจริญอาหาร อาจจะเป็นเพราะความหนาวที่ดูร่างกายจะต้องการอาหารมากกว่าปกติ

ที่ชวนคุยมายาวเพราะรอรถไฟค่ะ เราจ้างคนยกกระเป๋าหน้าตาประมาณอาซ้อ แต่ร่างกายแข็งแรง เขาช่วยยกกระเป๋าลงไปข้างล่างเพื่ออยู่ในระดับชานชาลาที่จะขึ้นรถไฟได้ และเขารู้เลขที่นั่งของเรา เมื่อรถไฟมาถึง ให้เราดูแลตัวเอง ไปขึ้นประตูถัดไป เพื่อให้พวกเขาสะดวกที่จะส่งกระเป๋าขึ้นรถไฟ

เมื่อรถไฟมาถึง เราก็ขึ้นไปนั่งตามหมายเลขของเรา ภายในสะอาด ดูเหมือนอยู่ในเครื่องบิน ที่นั่งข้างละสองคน สามารถปรับพนักเพื่อให้นั่งหันหน้าเข้าหากันได้

พอขบวนรถเคลื่อนตัวก็มีสาวเสิร์ฟเข็นรถเสบียงมาขายอาหารประเภทน้ำชาและของว่าง ราคาแพงกว่าข้างล่างเท่าตัว

สาวเสิร์ฟพวกนี้แต่งตัวแบบแอร์โฮสเตสเลยค่ะ ทำให้รถไฟที่มีประสิทธิภาพของเขาดูมีมาตรฐานขึ้นทันที

เวลาจะจอดแต่ละสถานี จะมีอักษรสีแดงบอกว่าสถานีหน้าเป็นสถานีอะไร ทัวร์บอกเราว่า ของเราจะเป็นสถานีที่สาม ทูรู่ฟาน

 

เราอยู่บนรถไฟประมาณ 3 ชั่วโมงเท่านั้น ก็ถึงที่หมาย ช่วยกันเอากระเป๋าลง ตอนนี้ตัวใครตัวมัน ทางเดินไกล และเราต้องจัดการกระเป๋าของเราแต่ละคน

ตอนที่มาทางราบไม่เท่าไร เพราะสมัยนี้กระเป๋าเดินทางก็มีล้อทั้งสิ้น (ต้อง 4 ล้อจึงจะดีค่ะ)

พอถึงตอนลงบันได คณะเรามี สว. ประมาณครึ่งหนึ่ง และ สว. ของเราก็ใช้กระเป๋าขนาดใหญ่ 20 ก.ก. เพราะเดินทางในช่วงฤดูหนาว เสื้อผ้ามากชิ้นกว่าธรรมดา

หันไปหันมา เราเอากระเป๋าไปวางนอนที่ทางราบด้านข้างบันได ให้มันลื่นไถลลงไปเอง สาวๆ อีกครึ่งหนึ่งเป็นคนจัดการรับ และยกกระเป๋าไปวางให้เจ้าของ เราดูแลกันเองอย่างนี้ค่ะ คุณป้าคุณน้าออกปากชมสาวๆ รุ่นหลานทุกคน

จากนั้น เราเข้าใจว่า รถจะเข้ามารับเราได้ แต่ปรากฏว่า รถจอดอยู่ที่ลานจอดรถโน่น ได้ออกแรงกันพอควรตรงจุดนี้ แต่ก็เป็นจุดเดียวเท่านั้นที่ทำให้เราได้เรียนรู้สามัคคีธรรม

มีรถทัวร์จอดอยู่คันเดียว ไม่ต้องถามเลย เรารู้ว่าต้องมารับทัวร์คณะเราแน่ๆ รถทัวร์มาพร้อมกับไกด์ประจำแคว้นซินเจียง คราวนี้เป็นผู้ชาย ชื่ออะไรก็ไม่ทันได้ถาม มัวหอบหืดจากการลากกระเป๋า ผู้เฒ่าที่นั่งรถเข็นตอนนี้ก็ไม่ได้นั่งรถเข็นค่ะ เพราะต้องเอารถเข็นมาบรรทุกกระเป๋าเสียแล้ว

ผู้เขียนอดนึกถึงอินเดียไม่ได้ ที่อินเดียจะมีกุลีขนให้ สถานีเล็กสถานีน้อยมีหมด เฮ้อ ก็ตอนนี้เราอยู่เมืองจีนนะ เขาให้มีลูกคนเดียว

ตอนนี้ไอ้ลูกคนเดียวก็ไปทำงานออฟฟิศกันหมด

 

แนะนำทูรู่ฟาน ที่พวกเราแอบเรียกว่า ถูลู่ถูกัง (กับการขนกระเป๋า) เมืองนี้เป็นเมืองโอเอซิสอีกแห่งหนึ่งบนเส้นทางสายไหม

มี 4 ที่สุดในมณฑลซินเกียง คือ

1. ต่ำที่สุดในจีน ต่ำกว่าระดับน้ำทะเล 154 เมตร

2. ร้อนและแห้งที่สุดในจีน อุณหภูมิเฉลี่ย 35 องศาสเซลเชียส เคยร้อนสุดถึง 49 องศาเซลเซียส

3. ลมแรงสุด จึงมีโรงไฟฟ้าพลังลมหลายแห่ง

และ 4. ผู้เขียนให้เอง หญิงสาวสวยที่สุด พวกนี้เป็นพวกอุยเกอร์ (ที่เราเรียกว่าอุยกูร์) หน้าตาเหมือนแขกขาว จมูกโด่ง บางทีก็ค่อนไปทางสาวรัสเซีย พวกนี้จะนับถือศาสนาอิสลาม และเมืองนี้เป็นชาวอุยเกอร์เสีย 90% มีพวกฮั่นเพียง 10%

คณะของเราแวะรับประทานอาหารแล้วเข้าพักที่โรงแรมที่ประทับใจกว่าที่อื่น เพราะมีรูปองุ่นอยู่ทั่วไปหมดแม้ในห้องนอน ราวกับนอนในบ้านที่ปลูกองุ่นก็ไม่ปาน

ที่นี่ เก้าโมงเช้าแล้วดูเหมือน 6 โมงเช้าค่ะ พระอาทิตย์ขี้เกียจหน่อย เป็นช่วงของปีที่กลางคืนยาวกว่ากลางวัน

ในการเดินทางของเรา เราจะค้างเพียงคืนเดียวทุกแห่ง ยกเว้นวันไปถึงและวันกลับ ทุกเช้าเราจึงต้องเก็บกระเป๋าวางไว้หน้าห้องตามเวลาที่นัดกัน

วันรุ่งขึ้น เราไปชมฝอเยี่ยนซาน หรือภูเขาเปลวไฟ

ถ้าใครอ่านไซอิ๋ว หงอคงเล่าไว้ละเอียดพอควร

ตอนนี้เป็นตอนที่หงอคงไปยืมพัดกายสิทธิ์จากองค์หญิงพัดเหล็กมาดับไฟในภูเขาเปลวไฟเพื่อให้พระถังซำจั๋งได้เดินทางไปเชิญพระไตรปิฎกจากประเทศอินเดีย

ภูเขาไฟมีความยาวประมาณ 100 ก.ม. ความสูงเฉลี่ยอยู่ที่ 500 เมตร ลักษณะเป็นภูเขาหินสีอิฐแดงทั้งลูก ไม่มีต้นไม้ใบหญ้าขึ้นเลย

ก็ร้อนขนาดนั้น หญ้าก็คงจะเกรงใจละ

มองจากที่ไกลๆ จะเห็นเป็นเพลิงคล้ายไฟกำลังลุกไหม้ เราดูจากระยะไกลๆ แต่ได้เข้าที่อนุสรณ์ของพระถังซำจั๋ง ด้านในเล่าเรื่องราวของพระถังซำจั๋ง

เมื่อขึ้นไปชั้นบน เป็นลานโล่ง มีรูปหงอคงกำลังป้องหน้า ตามหาพัดมาดับไฟ พระถังซำจั๋งนั่งทำสมาธิอย่างเรียบร้อย ลูกน้องอีก 2 คนอยู่ด้านหลัง

รีบเดินเข้าไปถ่ายรูปแล้วลงมาเลยค่ะ มันอยู่ชั้นบนอาคารปะทะลมหนาวเต็มๆ พอถอดถุงมือก็ยิ่งหนาว ใส่ถุงมือก็ทำงานไม่ได้ ต้องยอมหนาว

เสียเวลาเข้าห้องน้ำกันเล็กน้อย อันนี้กลายเป็นพฤติกรรมที่สำคัญ เพราะแต่ละจุด หากไม่เข้าห้องน้ำก็จะไม่มีที่จอดให้ลงไปเก็บดอกไม้แบบอินเดียนะคะ กลับลงมาขึ้นรถ แล้วไปภัตตาคารที่เป็นเป้าหมายของเรา

 

จากนั้น ตอนบ่าย เราไปดูบ่อน้ำคันเอ๋อจิ่ง หรือที่เรียกว่า คาเรส เป็นระบบชลประทานที่ชาวเมืองทูรู่ฟานเองใช้ภูมิปัญญาคิดค้นขึ้นมา โดยขุดอุโมงค์ส่งน้ำใต้ดินที่ไหลมาจากภูเขาหิมะเทียนซาน (ภูเขาสวรรค์) เพื่อมาหล่อเลี้ยงชีวิตผู้คน ระยะทางยาวกว่า 5,000 ก.ม. จนได้รับการจัดอันดับให้เป็นงานก่อสร้างโดยฝีมือมนุษย์ที่ยิ่งใหญ่อันดับที่ 3 ของแผ่นดินจีน

เราต้องชื่นชมความคิดของภูมิชาวบ้านที่สามารถจัดการขุดอุโมงค์รับน้ำจากเชิงเขาให้สามารถต่อเนื่องกันไปรับใช้ผู้คนในพื้นที่กว้างขวาง

สถานที่นี้ เขาขุดลงไปให้เราเดินดูอุโมงค์ได้จริงๆ แลเห็นน้ำที่ไหลโกรกจากต้นกำเนิดที่อยู่ที่เชิงเขาได้อย่างชัดเจน มีรูปประกอบให้เราเข้าใจการทำงาน

จากงานชลประทานเราไปดูที่เขาปลูกองุ่น เมืองนี้ องุ่นมีชื่อมาก รวมทั้งแอปริคอต ลูกท้อ และแตงฮามี แตงฮามีคือแตงแคนตาลูปรสชาติหวานสนิทกัดจมฟันทีเดียว ยอมรับว่าสมราคาที่เขาคุย

พูดถึงองุ่น คำว่าองุ่นที่เราเรียกมาจากภาษาฮินดีว่า อังกุร เราออกเสียง ร ไม่ถนัด เลยกลายเป็นองุ่น

เฉพาะองุ่น เป็นผลไม้ที่ปลูกมากที่สุด ส่งขายทั้งในและต่างประเทศ โดยเฉพาะองุ่นแห้ง หรือที่เราเรียกว่า ลูกเกด มีชื่อเสียงในท้องตลาดมานานแล้ว หากสนใจผลไม้ควรมาเดือนกรกฎาคม-สิงหาคม มีการจัดเทศกาลงานองุ่นประจำปีด้วย

บนชั้นบนของบ้านหลายแห่งจะเห็นห้องสี่เหลี่ยม วางอิฐสับหว่างกัน ห้องพวกนี้เรียกว่า เหลี่ยวฝาง เป็นห้องตากองุ่น ใช่ค่ะ เขาไม่ตากแดด แต่ตากลม

หน้าที่เก็บองุ่นก็ผู้หญิง หน้าที่นำองุ่นมาผึ่งหรือแขวนในห้องเหลี่ยวฝาง ก็เป็นงานของผู้หญิงอีก

เวลาผู้ชายไปสู่ขอลูกสาวบ้านไหน บ้านฝ่ายหญิงจะสนใจว่าผู้ที่มาสู่ขอมีเหลี่ยวฝางกี่ห้อง ยิ่งมีห้องตากองุ่นมากก็แสดงถึงผลผลิตมาก รายรับมากตามตัว บ่งบอกถึงฐานะของครอบครัวที่จะขอเข้ามาเป็นดอง

เมื่อเราทราบว่าเขาตากองุ่นกับลม โดยตากในห้องเหลี่ยวฝางที่เป็นห้องโปร่งให้ลมผ่านได้ทั้งสี่ด้าน เราก็สนใจต่อไปอีกว่า เขาคงจะวางบนกระจาดนะ แล้วกระจาดก็วางบนชั้นๆ อีกที

ไม่ใช่เลยค่ะ ในห้องเหลี่ยวฝาง จะมีไม้เป็นแกนลงมาจากเพดาน มีไม้สั้นๆ ปักโดยรอบแกนที่ว่า นึกถึงเวลาเราไปงานกฐิน แล้วเราเอาไม้เสียบเงินปักบนต้นกล้วย ไอเดียแบบเดียวกันค่ะ เพียงแต่ไม้ไม่ยาว เอาองุ่นทั้งพวงแขวนกับไม้ที่ปักขวางนี้ นั่นแหละค่ะวิธีที่เขาตากองุ่น ในลักษณะนี้ องุ่นแต่ละพวงก็ไม่ช้ำ และจะได้รับลมโดยรอบ

สมัยก่อน นักท่องเที่ยวสามารถเข้าไปเก็บองุ่นเอง กินเอง จ่ายโดยตรงกับเจ้าของไร่องุ่น

แต่ปรากฏว่า บางบ้านเอาเปรียบลูกค้ามากไป รัฐบาลเลยยกเลิก เราก็เลยอดชิมองุ่นจากต้น

เดี๋ยวจะพาไปดูห้องตากองุ่นค่ะ

เดี๋ยว คืออาทิตย์หน้า