ทราย เจริญปุระ : มะลิลา และความตาย

The Farewell Flower :

“ช่วงนี้สั่งหรีดบ่อยนะ” น้องชายฉันตั้งข้อสังเกต

“ก็แบบนี้ล่ะมั้ง” ฉันตอบ “พอถึงช่วงชีวิตหนึ่ง ก็มีแต่คนจากเราไปมากกว่าคนอยู่”

เราไม่เคยพิจารณาความตาย จนกว่าจะเกิดใกล้ๆ ตัว

เราอนุญาตตัวเองให้เข้าใกล้ความตายที่สุดเวลามีเหตุรถชนตรงถนนที่เราขับผ่านทุกวัน แล้วทำท่าขนลุกไปกับมัน แอบมองว่าตรงนั้นน่ะหรือ โค้งนั้นสินะ คราบเลือดและส่วนประกอบของมนุษย์จะถูกชำระล้างไปหมดหรือยังหนอ ดีนะที่ไม่ใช่เรา ถ้าวันนั้นกลับมาเจอคงแย่

แล้วมันก็ผ่านเลยไป

ความตายมีหน้าที่เพียงแค่นั้น

ความตายไม่ใช่ความลับ เราไม่ได้ต้องมานั่งลุ้นว่าเราจะได้ตายหรือไม่ หรือต้องอยู่ต่อไป ความตายมาเยือนทุกคนอย่างเท่าเทียม

แต่อาจเพราะมันสามัญเกินไป เราจึงไม่ค่อยพูดถึงมัน

เพราะมันทำให้เราเท่าเทียม ทำให้สิ่งที่เราสร้างและสะสมหลุดมือไปจากเรา ทำให้เรารอคอยคำตอบอยู่อย่างนั้น คำถามยังคงค้างเพราะถูกความตายช่วงชิงคำตอบไปเสียก่อน

 

“มะลิลา” เล่าช่วงเวลาอันแสนสั้นของชีวิตมนุษย์ โดยแสดงให้เห็นช่วงเวลาที่ชีวิตต้องผ่าน ความรักและความล่มสลาย ความเจ็บความตายมีทั้งมาถึงอย่างรวดเร็ว และบางทีก็ยืดเยื้อ ฉายให้เห็นว่าสุดท้ายคนเราก็เท่านี้

แต่มันเท่านี้จริงๆ หรือ

น้ำหนักของความตายนั้นกดทับคนแต่ละคนไม่เท่ากัน คนห่างไกลตายโพ้นทะเล ไร้ชื่อปราศจากความทรงจำก็มีค่าเพียงแค่หน่วยหนึ่งที่อาจถูกระบุในประวัติศาสตร์

แต่สำหรับคนใกล้, ความตายจบปัญหาหนึ่งเพียงเพื่อจะเพิ่มคำถามใหม่ๆ เข้ามา

 

ความตายที่สำคัญที่สุดในชีวิตฉันยังคงเป็นความตายของพ่อ, เสมอ

มันตั้งคำถามใหม่ๆ ให้แก่ฉันที่มีชีวิตมาชั่วระยะหนึ่งในโลก ว่าแล้วจากนี้ เราจะยังเป็นเราเหมือนเดิมไหม เราต้องทำอะไรอีกบ้าง หรือเดี๋ยวชีวิตก็จะตัดสินใจให้เราเอง

หน้าที่ของเรามีแค่รู้ เอาเท่านั้นพอ-ตัวละครในหนังพูดต่อกัน หลังจากเกิดการเปลี่ยนแปลง

ความตายไม่มีค่าส่งรถ ไม่มีค่าส่งบ้าน ไม่มีชุดของวันรุ่งขึ้น ความจริงทุกอย่างลดลงเหลือเพียงความรู้ชั่วขณะเวลา

ความจริงของความตายถูกระบุแค่ตอนที่มีคนเดินมาถามฉัน ว่าจะเปิดโลงแล้ว อยากไปลาพ่อมั้ย

 

มะลิลาคืออะไรแบบนั้น

คือการต่อสู้ว่าจะให้คนที่เรารักเป็นคนที่เรารัก หรือเป็นแค่กระบวนการเสื่อมสลายของเนื้อเยื่ออันเหี่ยวเฉา เรายอมรับสัจธรรมข้อนี้ได้หรือไม่ ว่าคนพิเศษสุดสำหรับเราก็เป็นเพียงซากสังขารไม่ต่างกับคนทั่วไป

แต่ฉันไม่ได้รักภาชนะที่ใส่พ่อ ฉันรักสิ่งที่ประกอบขึ้นมาเป็นพ่อ กลิ่นน้ำหอม รอยยิ้ม เสียงหัวเราะ เราไม่ดูศพพ่อเพื่อปลง เพื่อลดความทรงจำทุกอย่างให้เหลือแค่เกิดแก่เจ็บตาย

ความรักนั้นเป็นทุกข์

และทุกข์ก็คือส่วนประกอบหนึ่งของชีวิต

 

อีกปัญหาหนึ่งที่ถูกปลุกขึ้นมาในใจฉันหลังชมภาพยนตร์คือการบวช

บวช การแก้ไขทุกปัญหาบนโลก

ป่วยเหรอ? บวชสิ

มีเคราะห์เหรอ? บวชสิ

คนใกล้ตัวเจ็บไข้ไม่สบาย? บวชสิ

รสนิยมไม่ตรงกับเพศสภาพ? บวชสิ

การบวชสำหรับฉัน แฝงความไว้ตัวห่างเหินใกล้เคียงกับความตาย

คนที่เรารู้จักไม่ใช่คนเดิม

เราจะไปพูดคุย ทักทายแบบเดิมๆ ก็ไม่ได้

ฉันเป็นผู้หญิง

ผู้หญิงไม่บวช

คือคุณอาจจะเถียงก็ได้ ว่าเป็นผู้หญิงก็บวชได้ ถือศีลได้ เป็นคนดีได้

แต่นั่นไม่ใช่คำตอบต่อคำถามของฉัน

ถ้ามันแทนกันได้จริง

ทำไมคนต้องพูดเรื่องได้มีคนบวชให้พ่อแม่ได้เกาะชายผ้าเหลืองทุกครั้ง

ทำไมต้องทำท่าดีใจแทนเวลารู้ว่าพ่อมีลูกชายอยู่หนึ่งคนที่จะพอทำหน้าที่ได้

แล้วยังไง

สุดท้ายคนที่ถูกเบียดตกจากความเชื่อ ก็เป็นคนรับผิดชอบ ถูลู่ถูกัง ดิ้นรนทำมาหากิน

เพียงเพื่อจะถูกมองข้ามไปในสายตาแบบพิธีกรรม

น้องชายฉันบวชหน้าไฟให้พ่อ ความรู้สึกในตอนนั้นของฉันมันประหลาดมาก ที่ฉันสามารถตื้นตันใจไปพร้อมๆ กับริษยาได้

ว่าทำไมฉันจึงทำบ้างไม่ได้

ทำไมการเข้าสู่หนทางหลุดพ้นบางอย่าง

จึงถูกกีดกันออกไปจากฉัน

 

เชน-ตัวละครในเรื่อง-ออกบวชหลังจากความตาย

จริงๆ แล้วเขาตั้งใจจะบวชก่อนนั้น บวชเพื่อซื้อเวลา บวชเพื่อยืดระยะให้ความตายถอยห่างออกไป เพื่อต่อรองกับโรคภัยว่าอย่าเพิ่งจู่โจม

แต่ในเมื่อทุกอย่างก็ยังคงเกิดขึ้น การบวชเลยนำไปสู่ความสงสัยบางอย่าง การสำรวจตัวเอง ว่ารู้สึกอย่างไรกับปัจจุบันขณะบนโลก เนื้อตัวเราอยู่ที่ไหน ร่างกายเรามีไว้ทำไม

และทุกคนที่จากตาย เป็นเพียงแค่ซากเท่านั้นหรือไม่

 

ฉันค้นพบว่าพ่อยังอยู่กับฉันเสมอ

เพราะทั้งๆ ที่พ่อตายไปแล้ว เป็นเพียงซาก เป็นสิ่งผุพังเน่าเปื่อย มีหนอนแมลงชอนไปทุกอณูเนื้อ

ฉันก็ไม่ได้ยึดเอาพ่อในขณะเป็นศพอุ้มขึ้นพาดบ่า โอบกอดฝังหน้าลงในน้ำเลือดน้ำเหลืองนั้น

เพราะนั่นเป็นแค่กระบวนการ

เพราะความตายของพ่อยิ่งยืนยัน ว่าช่วงเวลาที่ผ่านมาของเรามีค่า และมีอยู่จริง

จริงเท่ากับวันที่มันสิ้นสุดลง