ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ / เจรจากับมหาอำนาจผ่าน “พิพิธภัณฑ์” : รัชกาลที่ 4 เมื่อทรงทำสนธิสัญญากับมหาอำนาจ

ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ

ก่อนหน้าที่ “สนธิสัญญาเบาว์ริ่ง” จะถูกทำคลอดออกมาในเรือน พ.ศ.2398 เซอร์จอห์น เบาว์ริ่ง (Sir John Bowring) ได้มีโอกาสเข้าเฝ้าฯ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 อยู่หลายหน โดยครั้งหนึ่งได้เข้าเฝ้าฯ เป็นการส่วนพระองค์ที่ พระที่นั่งราชฤดี ซึ่งเบาว์ริ่งได้บันทึกถึงพระที่นั่งแห่งนี้เอาไว้ว่า

“…มีเครื่องประดับทุกชนิด หลายชนิดเกี่ยวกับธรรมชาติ เป็นต้นว่า นอแรดรูปร่างแปลกประหลาด และงาช้าง ประติมากรรมหลายชิ้นจากทวีปยุโรป แจกันกระเบื้องถ้วยจากประเทศจีน เครื่องทรงสมัยโบราณของพระมหากษัตริย์ที่ล่วงลับไปแล้ว งาช้างและไม้จำหลักอย่างงดงาม เครื่องประดับทอง และเงินพร้อมด้วยเพชรนิลจินดาเป็นจำนวนมาก พระพุทธรูปหลายองค์ และองค์หนึ่งก็ว่าเป็นทองแท้ทั้งองค์…”

แน่นอนว่าเบาว์ริ่งไม่ได้ไปเข้าเฝ้าฯ รัชกาลที่ 4 ที่ท้องพระคลังมหาสมบัติอันใด พระที่นั่งราชฤดี เป็นเพียงสถานที่เก็บโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ และเครื่องราชบรรณาการจากต่างประเทศก็เท่านั้นเอง

แต่ก็ไม่ใช่ว่าจะใช้เก็บของเพียงอย่างเดียว พระที่นั่งองค์นี้ยังใช้จัดแสดงข้าวของมีค่าต่างๆ อย่างเบาว์ริ่งได้พรรณนาเอาไว้นั่นแหละครับ

พระที่นั่งราชฤดี จึงทำหน้าที่เป็นพิพิธภัณฑ์ไปด้วยในตัว (อย่างน้อยหน่วยงานของรัฐที่ทำหน้าที่ดูแลพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติทั้งหลาย ก็อ้างเอาไว้อย่างนี้) แต่ก็ไม่ใช่พิพิธภัณฑ์ที่เปิดให้เข้าชมกันได้โดยทั่วไป เพราะมีสถานะเป็นพิพิธภัณฑ์ส่วนพระองค์ของพระมหากษัตริย์ ต้องเป็นแขกบ้านแขกเมือง หรือบุคคลสำคัญเท่านั้นจึงจะสามารถเข้าไปเยี่ยมชมได้

แน่นอนว่า บุคคลอย่างเบาว์ริ่งนั้นก็มีคุณสมบติเป็นทั้งแขกบ้านแขกเมือง และบุคคลสำคัญอย่างที่ว่า

 

ถึงแม้ว่าเบาว์ริ่งจะเป็นทั้งพ่อค้า นักการทูต นักเศรษฐศาสตร์การเมือง นักการศาสนา กวี นักภาษาศาสตร์ และอีกสารพัดนัก แต่ที่สำคัญก็คือเบาว์ริ่งเป็นผู้สำเร็จราชการประจำเมืองฮ่องกง (ซึ่งขณะนั้นถูกปกครองโดยอังกฤษ ชาติภูมิของเบาว์ริ่งเอง) แถมยังเดินทางเข้าสู่สยามในฐานะ “ราชทูต” ที่ได้รับการแต่งตั้งโดยสมเด็จพระบรมราชินีนาถวิกตอเรีย เพื่อที่จะทำสนธิสัญญาฉบับสำคัญระหว่างสยามกับอังกฤษ ที่ผมได้กล่าวถึงไว้ตั้งแต่ต้นนั่นแหละ

การที่รัชกาลที่ 4 โปรดให้เซอร์ จอห์น เบาว์ริ่ง เข้าเฝ้าฯ เป็นการส่วนพระองค์ที่พระที่นั่งราชฤดี ซึ่งเปรียบได้กับพิพิธภัณฑ์ส่วนพระองค์นั้น จึงอาจจะไม่ได้เป็นเรื่องรวบรัดเรียบง่ายอย่างที่มักจะเข้าใจกัน แต่มีนัยยะทางการเมืองความสัมพันธ์ระหว่างประเทศแฝงเร้นอยู่ด้วย

พ.ศ.2405 หรือนับเป็นเวลา 7 ปีหลังสนธิสัญญาเบาว์ริ่ง พระเจ้าแผ่นดินปรัสเซีย (ส่วนหนึ่งของประเทศเยอรมนีในปัจจุบัน) ได้ส่งราชทูตชื่อ ฟรีดริช ออยเลนบูร์ก (Friedrich Eulenburg) เข้ามาเจริญสัมพันธไมตรี และทำสนธิสัญญากับสยาม

บันทึกของท่านเคาน์ออยเลนบูร์กอ้างเอาไว้ว่า ได้เข้าเฝ้าฯ รัชกาลที่ 4 สองหน เป็นการเข้าเฝ้าฯ ส่วนพระองค์ก่อน จากนั้นค่อยได้รับพระราชทานให้เข้าเฝ้าฯ อย่างเป็นทางการ

แน่นอนว่า ครั้งแรกออยเลนบูร์กก็ได้เข้าเฝ้าฯ ในพิพิธภัณฑ์ส่วนพระองค์ เช่นเดียวกับที่เบาว์ริ่งเคยเข้าเฝ้าฯ เป็นการส่วนพระองค์มาก่อน แต่คราวนี้ไม่ใช่ในพระที่นั่งราชฤดี ซ้ำยังมีขนาดใหญ่กว่า และมีข้าวของจัดแสดงเอาไว้มากกว่าอีกด้วย

 

เอกสารเก่าสมัยรัชกาลที่ 4 ที่เรียกกันว่า “ประกาศเทวดาในงานพระราชพิธีเฉลิมพระราชมณเฑียร” ได้อ้างถึงสาเหตุที่เกี่ยวข้องกับการที่ออยเลนบูร์กต้องไปเข้าเฝ้าฯ ในพิพิธภัฑ์ส่วนพระองค์แห่งใหม่ว่ามีเหตุมาจากการที่มีเครื่องราชบรรณาการจากต่างประเทศมาถวายมากขึ้น และเหตุผลเกี่ยวกับความศิวิไลซ์ ดังความที่ว่า

“…อนึ่ง ในแผ่นดินปัจจุบันนี้ได้มีทางพระราชไมตรีด้วยพระมหานครในแผ่นดินใหญ่ๆ ในแผ่นดินยุโรปแลทวีปอเมริกา…มีสิ่งของเครื่องราชบรรณาการมาถวายเจริญทางพระราชไมตรีล้วนๆ ดี หลายอย่างต่างๆ ของจำพวกนี้จะทรงพระราชศรัทธาถวายบูชาพระรัตนตรัยในพระอารามหลวงเสียก็หาควรไม่ เพราะทูตที่มาแต่เมืองเจ้าของเครื่องราชบรรณาการเหล่านั้น ก็เข้ามาเนืองๆ แล้วถามว่าเครื่องราชบรรณาการเหล่านั้นยังคงเก็บไว้เป็นที่ระลึกถึงทางพระราชไมตรีสืบไปฤๅ

ครั้งเมื่อจะจัดประดับประดาในพระที่นั่งสร้างอย่างสยามตามอย่างช่างโบราณ ก็จะดูพานขัดพระเนตร เปนที่ยิ้มเย้ยของแขกเมืองที่มาแต่ประเทศยุโรปจะพึงว่าได้ ว่าของสำหรับใช้อย่างอื่น เอามาใช้อย่างอื่นไป

เพราะฉะนั้น จึงโปรดให้ช่างสร้างพระอภิเนาว์นิเวศน์ โดยแบบอย่างท่วงทีคล้ายกับราชนิเวศน์ ซึ่งมีในมหานครข้างโยรปิยปถพี (คือ ยุโรปปฐพี) เพื่อจะต้องท่วงทีกับสิ่งเครื่องประดับประดาที่ได้มาแต่โยรปิยมหานครต่างๆ ไว้สำหรับรับแขกเมือง และระลึกถึงทางพระราชไมตรีด้วยพระเจ้าแผ่นดินใหญ่ในโยรปิยปถพี เพราะทอดพระเนตรเห็นของราชบรรณาการพิเศษที่กล่าวมานี้อยู่เนืองๆ นั้น…”

(อักขรวิธีตามต้นฉบับ แต่จัดย่อหน้าใหม่เพื่อให้อ่านสะดวกดายยิ่งขึ้น)

 

จากข้อความข้างต้นจึงสรุปความได้ว่า พระอภิเนาว์นิเวศน์ หรือพระราชนิเวศน์ ภายในพระบรมมหาราชวัง ที่สร้างขึ้นสมัยรัชกาลที่ 4 นั้น สร้างด้วยสถาปัตยกรรมแบบตะวันตก เพื่อแสดงให้เห็นถึงความศิวิไลซ์ และใช้เก็บเครื่องราชบรรณาการของโลกตะวันตกเป็นการเฉพาะ แถมในบรรดาอาคารเหล่านี้ ยังมีพระที่นั่งหลังหนึ่งที่ไม่ได้ใช้เก็บเฉพาะเครื่องราชบรรณาการ แต่ยังใช้จัดแสดงโบราณวัตถุ และศิลปวัตถุ ตามอย่างมิวเซียม (museum) ในโลกตะวันตกอีกด้วย พระที่นั่งองค์นั้นมีชื่อว่า “พระที่นั่งประพาสพิพิธภัณฑ์”

และก็เป็นพระที่นั่งองค์นี้นี่เอง ที่ออยเลนบูร์กได้กล่าวถึงไว้ในบันทึก เมื่อคราวเข้าเฝ้าเป็นการส่วนพระองค์ โดยออยเลนบูร์กยังได้อ้างไว้ด้วยว่า “…ทางปีกด้านข้างตึกมีป้าย Royal Museum และมีข้อความว่า Protect this Museum และ Respect this Ordinance…”

คำว่า “พิพิธภัณฑ์” ของไทย จึงเพิ่งเกิดขึ้นที่นี่ และมีที่มาแบบนี้แหละครับ

 

ส่วนการที่รัชกาลที่ 4 โปรดให้ราชทูตของชาติมหาอำนาจจากยุโรป ทั้งสองท่านคือ เซอร์จอห์น เบาว์ริ่ง แห่งอังกฤษ และ กราฟ ออยเลนบูร์ก แห่งปรัสเซีย เข้าเฝ้าฯ เป็นการส่วนพระองค์ที่พิพิธภัณฑ์ส่วนพระองค์ ไม่ว่าจะเป็นที่พระที่นั่งราชฤดี หรือพระที่นั่งประพาสพิพิธภัณฑ์ ก่อนพระราชทานให้เข้าเฝ้าฯ อย่างเป็นทางการ และทำสนธิสัญญาระหว่างกันนั้น จึงเป็นกลเม็ดเด็ดพรายทางการทูต และการเมืองความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ไม่ใช่เรื่องของความสัมพันธ์ส่วนพระองค์อันใด

เพราะพิพิธภัณฑ์ส่วนพระองค์ในรัชกาลที่ 4 นั้นแสดงให้เห็นถึงความศิวิไลซ์ และความสัมพันธ์กับชาติมหาอำนาจต่างๆ

อย่าลืมนะครับว่า ชาติเหล่านี้ไม่ได้เดินทางเจริญสัมพันธไมตรี หรือเข้ามาทำสนธิสัญญากับสยามเฉยๆ พวกเขายังเป็นหมาป่าที่หิวกระหายในดินแดนอาณานิคมอีกด้วย

โดยเฉพาะในกรณีของเบาว์ริ่ง ที่นอกจากจะได้ชมพิพิธภัณฑ์ส่วนพระองค์แล้ว ยังได้รับพระราชทานสำเนาบางส่วนของจารึกพ่อขุนรามคำแหงอีกด้วย

และก็คงเป็นด้วยหลายสิ่งหลายอย่างที่รัชกาลที่ 4 ทรงพยายามแสดงให้เห็นถึงความศิวิไลซ์ของสยามประกอบกันนี้เอง ที่ทำให้ในท้ายที่สุด จึงมีข้อความบางตอนในจดหมายที่เซอร์จอห์น เบาว์ริ่ง ส่งไปถึงรัฐมนตรีกระทรวงต่างประเทศของอังกฤษในขณะนั้น ระบุว่า

“Siam is a civilized nation. We have no need to make her a colony.”

แปลเป็นภาษาไทยตรงตัวได้ว่า “สยามเป็นชาติอารยะ เรา (หมายถึง ประเทศอังกฤษ) ไม่มีความจำเป็นที่จะยึดมาเป็นชาติใต้อาณานิคม”