E-DUANG : ใครคือ “คู่ต่อสู้” ของพรรค “กปปส.”

การเปิดตัว “พรรคกปปส.” ส่งผลให้บรรดาพรรค “อีแอบ” ทั้งหลายแทบหมดความหมายไปโดยพื้นฐาน

ผลกระทบแรกสุด คือ พรรคประชาชนปฏิรูป

นายทะเบียนพรรคการเมืองต้องทำหน้าที่เหน็ดเหนื่อยอย่างเป็นพิเศษที่จะตัดสินใจระหว่าง

1 พรรคประชาชนปฏิรูป

กับ 1 พรรคมวลมหาประชาชนเพื่อการปฏิรูปประเทศให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข”

แน่นอน ต้องอะลุ้มอะล่วยอยู่แล้ว

แต่ที่สำคัญประชาชนผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งก็จำเป็นต้องเลือกเมื่อนำ 2 พรรคนี้มาวางเรียงเคียงกัน

โดยเฉพาะ “มวลมหาประชาชน”

 

หากเริ่มต้นจากบทบาทที่สำแดงตั้งแต่เดือนตุลาคม 2556 และค่อยๆพัฒนาไปสู่ “ชัตดาวน์”กทม.ในเดือนมกราคม 2557

ก็ต้องยกบทบาทให้กับ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ

และเมื่อ นายธานี เทือกสุบรรณ ถือธงนำหน้าในการไปแจ้งจดทะเบียนชื่อ พรรคมวลมหาประชาชนเพื่อการปฏิรูปประเทศให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขด้วยตนเอง

คะแนนก็ต้องเทมาทางพรรคกปปส.อย่างแน่นอน

เพราะ นายไพบูลย์ นิติตะวัน เสมอเป็นเพียงหางเครื่องเมื่อนำเอาไปวางเรียงอยู่เคียงข้างกับ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ หรือ นายธานี เทือกสุบรรณ

เห็นๆกันอยู่ว่าใครจะต้องถอย ใครจะต้องเดินหน้า

ในพื้นที่ภาคใต้ไม่ต้องพูดถึง แม้กระทั่งในพื้นที่กทม.ก็ยากที่จะเป็นผลดีกับพรรคประชาชนปฏิรูป

 

เมื่อพรรคมวลมหาประชาชนเพื่อการปฏิรูปประเทศให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

วางเป้าหมายอยู่ที่ 1 กทม. 1 ภาคใต้

จึงเด่นชัดว่าพรรคประชาชนปฏิรูปไม่ใช่คู่ต่อสู้ แม้กระทั่งพรรคเพื่อไทยก็ไม่ใช่คู่ต่อสู้

หากแต่เป็น”พรรคประชาธิปัตย์” ต่างหาก

การเลือกตั้งในเดือนกุมภาพันธ์ 2562 ต้องคึกคักชนิดมันหยดอย่างแน่นอน

ใครเป็น”หมู่” ใครเป็น”จ่า”ก็จะได้รู้กัน