คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง / อาหารกับศาสนา 4 : สุราเมรัยชัยบาน

คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง

สมัยก่อนเวลาผมไปช่วยครูท่านในพิธีไหว้ครูปี่พาทย์ พอเราเซ่นสังเวยครูแล้ว ท่านจะให้ตักอาหารต่างๆ ใส่ลงในกระทงอย่างละนิดแล้วนำไปวางด้านนอกมณฑลพิธี เพื่อแบ่งให้บริวารของครูที่อาจเข้ามาในพิธีไม่ได้ แล้วท่านก็สอนให้พูดว่า

“บริวารของครู ท่านเข้ามาในพิธีไม่ได้ ขอท่านจงมารับอาหารเหล้าข้าวชัยบานทั้งสิ้นนี้เทอญ”

สมัยนั้นผมก็สงสัยว่าเจ้า “ชัยบาน” นี้คืออะไร

มาทราบในภายหลังว่า ชัยบาน มาจาก ชัย หมายถึง ชัยชนะ กับ บาน ที่ผันมาจาก “ปาน” ในภาษาบาลี-สันสกฤต ที่แปลว่าเครื่องดื่ม หรือการดื่มการเสพ

ชัยบานจึงหมายถึง เครื่องดื่มเพื่อชัยชนะ ซึ่งจะเป็นอะไรไปไม่ได้นอกจากเหล้า หรือจะเรียกว่าสุราบานก็ได้ แต่ความหมายไม่สวยเท่าชัยบาน

เรายังเจอคำว่า “บาน” นี้อีกหลายบาน เช่น “น้ำปานะ” คือเครื่องดื่มที่พระสามารถฉันได้หลังวิกาลไปแล้ว เตี่ยผมซึ่งเป็นเด็กวัดเก่ายังเรียกน้ำปานะว่า “น้ำอัฐบาน” คือน้ำผลไม้แปดอย่างตามพุทธวินัย ได้แก่ น้ำมะม่วง น้ำลูกหว้า น้ำกล้วยมีเม็ด น้ำกล้วยไม่มีเม็ด น้ำมะซาง น้ำลูกจันทน์หรือองุ่น น้ำเหง้าบัว น้ำมะปรางหรือลิ้นจี่

แต่สมัยนี้ใครเขาฉันอัฐบานกัน เขาฉันเครื่องดื่มตามสมัยนิยมกันแล้ว ไม่เชื่อไปถามหลวงพี่ดู

 

เหล้า หรือของมึนเมา ทางบาลีว่าแบ่งเป็นประเภทเมรัย คือของหมักดองแล้วเกิดแอลกอฮอล์ เช่น สาโท กระแช่ อุ ไวน์ เบียร์ กับสุรา ซึ่งนำมากลั่นให้เกิดแอลกอฮอล์อีกที เช่น พวกเหล้า บรั่นดี ฯลฯ

ฝรั่งเรียกเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์รวมๆ ว่า “spirit” นัยว่าเครื่องดื่มพวกนี้ ทำให้เกิดผลต่อจิตใจ (จิตวิญญาณ) ก็ด้วยฤทธิ์ของแอลกอฮอล์นั่นเอง

มนุษย์รู้จักหมักเหล้าทำสุราเมรัยมาตั้งแต่บรมสมกัลป์ คือ ใช้พืชชนิดต่างๆ ที่มีน้ำตาลมาหมักให้เกิดแอลกอฮอล์ ไม่ว่าจะองุ่น น้ำผึ้ง อ้อย ผลไม้ ข้าวบาร์เลย์ หรือสมุนไพรหลายชนิด ฯลฯ ในฟากฝ่ายตะวันออกก็นิยมใช้ข้าวในการทำเหล้า

การกินเหล้าต่างจากอาหารเครื่องดื่มชนิดอื่น เพราะทำให้เกิดความเคลิบเคลิ้มสนุกสนาน รวมไปถึงความเมามาย

สมัยนี้เรารังเกียจความเมามาย เพราะเมามายแล้วมักมีปัญหาตามมา แต่ในทัศนะของศาสนาโบราณ ความเมามายเป็นอารมณ์หรือความรู้สึกอย่างหนึ่งที่มนุษย์ต้องการ

เพราะเมามายแล้ว มีความสุข ล่องลอยราวกับไม่ได้อยู่กับโลกที่เป็น เหมือนได้สัมผัสทิพยสุข ได้สัมผัสทวยเทพเทวา

ในพระเวท มีการกล่าวถึง “น้ำโสม” ซึ่งมีสรรพคุณดื่มแล้วเมามาย ผมไม่แน่ใจว่าเป็นรากไม้บางชนิดหรือเห็ดชนิดใดหรือไม่ เพราะปัจจุบันแทบหาพิธีคั้นน้ำโสมจริงๆ ไม่ได้แล้ว แต่เรายังเรียกพิธีบูชาไฟว่า “โหมะ” ซึ่งเลือนมาจากคำ “โสมะ” นี่แล แม้จะไม่มีพิธีคั้นน้ำโสมแล้วก็ตาม

ต่อมาเราจึงใช้คำว่า น้ำโสม แทนคำว่าเหล้า บางบทในสามเวท ก็มีการกล่าวว่า พวกฤษีเห็นทวยเทพเพราะดื่มน้ำโสม

นอกจากนี้ ในทัศนะแบบฮินดู ความเมามายยังหมายถึง อาการของ “ความรัก” เพราะรักแล้วเพ้อคลั่ง เคลิบเคลิ้มไหลหลงไม่ต่างจากอาการเมาสุรา

พระกฤษณะจึงมีอีกพระนามว่า โมหัน และ มะทัน ซึ่งแปลว่าความใหลหลงและความเมามาย เพราะใครได้ยลโฉมพระองค์เป็นต้องเพ้อคลั่งในความรักทุกรายไป

พวกกรีกมองเมรัยว่าเป็นผลผลิตของเทพ คือเป็นการงานของไดโอนิซุส (dionysus) ในขณะที่ฝ่ายอินเดียก็ยกสุราเมรัยให้เป็นเทวีองค์หนึ่งทีเดียว พระนามว่า เทวี “วารุณี” วารุณีเป็นคำนามเพศหญิงของคำว่า “วรุณ” เทพแห่งน้ำ ซึ่งเพี้ยนมาจากเทพเจ้าแห่งแสงสว่างสมัยพระเวท

ฉะนั้น ชายาของน้ำคือเหล้า เหล้าจึงต้องใช้มิกเซอร์เป็นน้ำ เพราะเหล้ากับน้ำคู่กัน อันนี้พระเวทไม่ได้กล่าว ผมกล่าวเอง (ฮา)

 

ในศาสนาผี เหล้าเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้ในพิธีกรรม เพราะเป็นของต้อนรับขับสู้ เป็นเครื่องชุบชูใจผีและคน และเป็นน้ำประสานมิตร ช่วยให้คนกับผี และคนกับคนเข้าใกล้กันมากขึ้น

ในวัฒนธรรมข้าว ที่จริงเหล้าอาจนับเป็นเครื่องสังเวยชั้นสูงชนิดหนึ่งไม่ต่างจากสัตว์ทั้งตัวชนิดต่างๆ เพราะมันเป็นสิ่งฟุ่มเฟือยในสังคมเกษตร

กล่าวคือ จะมีเหล้าได้ก็ต้องมีข้าวเหลือมากพอที่จะนำส่วนเกินไปหมักเหล้า การถวายเหล้าแก่ผีจึงแสดงถึงความมั่งคั่งสมบูรณ์อีกประการหนึ่ง

ในพิธีแรกนาขวัญ เหล้าสำหรับพระโคกินเลี้ยงเสี่ยงทาย จึงหมายถึงการค้าและการไปมาหาสู่ เพราะเหล้ายังให้เกิดมิตรนั่นเอง

พวกกรีก-โรมัน มีพิธีเซ่นสรวงด้วยเนื้อและเหล้า ต่อมาครั้นคริสต์ศาสนาเดินทางมาจากตะวันออกกลาง ก็รับเอาพิธีเซ่นสรวงเหล่านี้เข้ามาประสานกับตำนาน “อาหารค่ำมื้อสุดท้าย” ของพระเยซู แล้วใช้ไวน์แดง (ซึ่งใช้เซ่นสรวงมาแต่เดิม) แทน “โลหิต” ของพระเยซู

ในประเพณีของฝ่ายตันตระ (ทั้งพุทธและฮินดู) ก็ใช้เหล้าที่มีสีแดงคล้ายโลหิต เป็นส่วนหนึ่งในการปรุง “อมฤต” สำหรับพิธีคณจักร หรือการกินเลี้ยงชุมนุมของพวกโยคินตามสุสานป่าช้า

 

พุทธศาสนา น่าจะเป็นศาสนาแรกที่ไม่เห็นด้วยกับการดื่มสุราและใช้สุราในศาสนา ดังปรากฏในศีลห้า ซึ่งใช้ทั้งศาสนิกทั่วไปและนักบวช

ที่จริงหากลองเทียบศีลห้ากับหลัก “ยมะ” ของปรัชญาฮินดูฝ่ายโยคะ จะพบว่าต่างกันเพียงข้อเดียว คือข้อสุราวิรัตินี่เอง

อาจารย์ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ เคยให้ข้อสังเกตที่น่าสนใจว่า การห้ามดื่มสุราของพุทธศาสนานั้น น่าจะไม่ได้มีเหตุผลเพียงเพราะเรื่องประมาทหรืออะไรดังเราอ้างๆ กันอยู่ แต่เป็นเพราะบริบททางประวัติศาสตร์ด้วย

ก็เพราะพวกพราหมณ์นั้น ถวายและดื่ม “น้ำโสม” ดังที่จาระไนไปแล้ว พุทธศาสนาจึงแสดงท่าทีต่อต้านพิธีกรรมของพราหมณ์เสีย โดยการบัญญัติศีลข้อนี้

ในเวลาต่อมา ก็ด้วยอิทธิพลของพุทธศาสนานั่นเอง พราหมณ์จึงถือว่าการดื่มสุราเมรัยเป็นบาป จัดเข้าในบาปหนักห้าอย่าง (ปัญจปาตกะ) ทั้งๆ ที่แต่ก่อนพราหมณ์ก็รักกันกับเทวีวารุณีดี

ทุกวันนี้บางเมืองใหญ่ๆ ของอินเดีย จะกินเหล้าก็ต้องไปกินตามสถานที่ที่รัฐจัดไว้ให้เฉพาะ คนอินเดียคนไหนจะกินเหล้าก็ต้องแอบๆ สักนิด เพราะสังคมเห็นเป็นเรื่องไม่ควรทำ

ผมเคยได้ยินมาว่า พราหมณ์สยาม ท่านงดการนำสุราเมรัยเข้าในเครื่องบวงสรวงสังเวย อาจเพราะเห็นเป็นของไม่บริสุทธิ์ หรือเป็นของเซ่นผี (ทั้งๆ ที่เครื่องสังเวยบวงสรวงส่วนมากก็มาจากขนบแบบผี ไม่ใช่แบบอินเดีย) หรืออาจไม่มีในธรรมเนียมเก่า อันนี้ผมเองก็ไม่ทราบ ไว้มีโอกาสจะลองถามไถ่

ที่จริงนอกจากฝ่ายเถรวาทและมหายานทั่วๆ ไป ฝ่ายวัชรยานเขามีท่าทีต่อสุราอีกแบบ คือใช้ในพิธีกรรม และถือเป็นสิ่งที่สำคัญ การดื่มเหล้าจึงไม่ใช่สิ่งที่ต้องห้ามโดยเด็ดขาด แต่อยู่ที่เข้าใจมันอย่างไร ซึ่งมีรายละเอียดอีกมาก แต่เนื้อที่ใกล้หมด

 

ท้ายนี้ ผมอยากจะขอว่า ธรรมเนียมใดที่มาจากศาสนาผี ขอให้คงเหล้าไว้ในเครื่องเซ่นสรวงผี เจ้าที่เจ้าทางและบรรพชนเถิดครับ จะกินหรือไม่กินก็ตามแต่ ขอให้รักษาธรรมเนียมไว้

ในทางตันตระเขาบอกว่า อมฤตกับยาพิษ ที่จริงมันก็ของสิ่งเดียวกัน สุราจะเป็นอมฤตหรือยาพิษอยู่ที่คนกิน กินเป็นก็มีประโยชน์ กินไม่เป็นก็เป็นโทษต่อตนเองและคนอื่น

อย่าให้สุราเมรัยจาก “ชัยบาน” อันสูงค่า กลายเป็นสิ่งน่าเกลียดน่ากลัวเพียงเพราะมีหน่วยงานบางหน่วยบอกว่ามันน่ากลัว

ตอนนี้ในบ้านเรา สิ่งที่น่ากลัวกว่าเมาเหล้า คือเมาศีลธรรมนั่นแหละพี่น้องเอ้ย