เสฐียรพงษ์ วรรณปก : พระไตรปิฎกมีความเป็นมาอย่างไร ?

คำบรรยายพระไตรปิฎก (1)

พระไตรปิฎกมีความเป็นมาอย่างไร

(1)สมัยพุทธกาลไม่มีพระไตรปิฎก พระพุทธองค์ทรงแสดงธรรม-วินัย หรือพรหมจริย เท่านั้น ดังเวลาจะทรงส่งพระอรหันต์สาวก 60 รูป ไปประกาศพระพุทธศาสนา ตรัสส่งให้ไป “ประกาศพรหมจรรย์” อันงามในที่สุด (งามด้วยอธิศีลสิกขา) งามในท่ามกลาง (งามด้วยอธิจิตตสิกขา) และงามในที่สุด (งามด้วยอธิปัญญาสิกขา)

และเมื่อจวนจะเสด็จดับขันธปรินิพพาน ก็ตรัสว่า

“หลังจากเราตถาคตล่วงลับไป ธรรมและวินัยที่เราได้แสดงและบัญญัติแก่พวกเธอ จะเป็นศาสดาของพวกเธอแทนเรา”

(2)มีหลักฐานว่า มีการแบ่งพุทธวจนะเป็นหมวดหมู่บ้างแล้ว ในสมัยพุทธกาล เช่น

แบ่งเป็นธรรม 9 (นวังคสัตถุศาสน์) คือ

(1) สุตตะ คำสอนประเภทร้อยแก้วล้วน

(2) เคยยะ คำสอนประเภทร้อยแก้ว ผสมร้อยกรอง

(3) เวยยากรณะ คำสอนประเภทอรรถาธิบาย โดยละเอียด

(4) คาถา คำสอนประเภทร้อยกรองล้วน เช่น ธรรมบท เถรคาถา เถรีคาถา

(5) อุทาน คำสอนประเภทที่เปล่งขึ้นจากแรงบันดาลใจของพระพุทธเจ้า และพระสาวกส่วนมากเป็นบทร้อยกรอง

(6) อิติวุตตกะ คำสอนประเภทคำอ้างอิงที่ยกข้อความที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้มาอ้างเป็นตอนๆ

(7) ชาตกะ (ชาดก) คำสอนประเภทนิทานชาดก หรือเรื่องราวในชาติปางก่อนของพระพุทธเจ้าขณะเป็นพระโพธิสัตว์บำเพ็ญบารมีอยู่

(8) อัพภูตธรรม คำสอนประเภทเรื่องอัศจรรย์เกี่ยวกับพระพุทธเจ้า และพระสาวกทั้งหลาย

(9) เวทัลละ คำสอนประเภทคำถามคำตอบ เวทัลละ แปลว่า ได้ความรู้ ความปลื้มใจ หมายถึงผู้ถามได้ความรู้ และความปลื้มใจ แล้วก็ถามต่อไปเรื่อยๆ

แบ่งเป็นวรรค เช่น อัฏฐกวรรค ปรายนวรรค

ดังหลักฐานในพระไตรปิฎกเล่าไว้ว่า พระโสณกุฏิกัณณะ สัทธิวิหาริกของพระมหากัจจายนะถูกพระอุปัชฌายะ ส่งไปเฝ้าพระพุทธเจ้า เพื่อทูลขอให้ทรงลดหย่อนสิกขาบทบางข้อ

พระโสณกุฏิกัณณะ พักอยู่ที่เดียวกับพระพุทธเจ้า ได้สวดพุทธวจนะส่วนที่เรียกว่า “อัฏฐวรรค” โดยทำนองสรภัญญะ ให้พระพุทธเจ้าฟัง

(3)ต่อมาเมื่อพระมหากัสสปะ รวบรวมพระอรหันต์ทรงอภิญญา 500 รูป กระทำสังคายนาครั้งที่ 1 ก็ยังคงสังคายนา “พระธรรม-วินัย” อยู่

แม้เมื่อกาลล่วงไปประมาณ 100 ปี พระวัชชีบุตรได้ข้อเสนอขอแก้ไขพระวินัยบัญญัติบางข้อ อ้างว่าพระพุทธองค์ทรงประทานนโยบายไว้ให้แล้ว

พระสงฆ์ทั้งหลายได้ประชุมสังคายนา วินิจฉัยข้อเสนอ (วัตถุ 10 ประการ) ของพวกภิกษุวัชชีบุตรแล้ว ไม่ยอมรับ

การทำสังคายนาครั้งนั้นก็ยังเรียกว่า “ธัมมวินยวิสัชชนา” (การวิสัชนาพระธรรม-วินัย) หรือ “ธัมมวินยสังคีติ” (การสังคายนาพระธรรม-วินัย)

(4)ในช่วงระหว่างหลังสังคายนาครั้งที่ 2 จนถึงครั้งที่ 3 นี้เอง มีผู้สันนิษฐานว่าธรรม-วินัย ได้แตกแขนงออกเป็น 3 หมวด (เรียกว่า เตปิฎก = ไตรปิฎก) คือ ธรรม ได้แตกออกเป็น พระสุตตันตปิฎกกับพระอภิธรรมปิฎก วินัย เป็นพระวินัยปิฎก

มีหลักฐานในจารึกสาญจิ กล่าวถึงคุณสมบัติของพระเถระและเถรีบางรูป ว่าเชี่ยวชาญในปิฎกต่างๆ หรือบางส่วนของพระสุตตันตปิฎก เช่น

เปฏกิน = พระเถระผู้เชี่ยวชาญในปิฎกทั้งหลาย

สุตฺตนฺตินี = พระเถรีผู้ทรงพระสุตตันตะ (พระสูตร)

ทีฆภาณิกา = พระเถระผู้สวดทีฆนิกายได้

ปญฺจเนกายิกา = พระเถระผู้ทรงจำนิกายทั้ง 5 ได้

มีหลักฐานอีกแห่งหนึ่ง พระโมคคัลลีบุตร ได้แต่งกถาวัตถุ ในคราวทำสังคายนาครั้งที่ 3 และกถาวัตถุ ถูกผนวกเข้าเป็นหนึ่งในอภิธรรม 7 คัมภีร์ แสดงว่าพระไตรปิฎกเพิ่งจะมาครบสมบูรณ์ในพุทธศตวรรษที่ 3 นี้เอง

(5)พระไตรปิฎกได้ถ่ายทอดสืบต่อกันมาโดยระบบท่องจำ จนกระทั่งไปถึงศรีลังกา เมื่อ พ.ศ.450 ได้รับการจารึกลงเป็นลายลักษณ์อักษร ในการทำสังคายนาครั้งที่ 5 จารึกด้วยอักษรสิงหล จากนั้นก็ถ่ายทอดเป็นอักษรของชาติต่างๆ ที่สืบทอดพระไตรปิฎก

แม้ประเทศไทย ก็ได้พระไตรปิฎกไปจากประเทศศรีลังกา

(6) พระไตรปิฎกบันทึกด้วยภาษามาคธี (แขนงหนึ่งของภาษาตระกูลปรากฤต) ต่อมาได้เปลี่ยนมาเรียกเป็นภาษาบาลี หรือตันติภาษา เมื่อจารึกลงเป็นลายลักษณ์อักษรแล้ว เนื่องจากภาษาบาลีเป็นภาษาถิ่น (ภาษาตลาด) ไม่มีอักขระเป็นของตน ผู้ประสงค์จะเรียนพระไตรปิฎก จึงต้อง “ถอด” (transliterate) เป็นอักขระของตน เช่น เรียนที่ประเทศตะวันตก ก็ถอดเป็นอักษรโรมัน เรียนที่ประเทศไทยก็ถอดเป็นอักษรไทย

ภาษาพระไตรปิฎก เชื่อว่าคือภาษามาคธี ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็นภาษาบาลีหรือตันติภาษา พระไตรปิฎกภาษาบาลีมีทั้งหมด 45 เล่ม บรรจุตัวอักษรประมาณ 24 ล้าน 3 แสนตัว หนา 22,379 หน้า

พระไตรปิฎกที่ใช้อ้างอิงแพร่หลายในปัจจุบันคือ

(1) ฉบับโรมัน ของสมาคมปาลีปกรณ์

(2) ฉบับสิงหล ของประเทศศรีลังกา

(3) ฉบับพม่า ของประเทศเมียนมา

(4) ฉบับไทยที่ถือกันว่าถูกต้องสมบูรณ์ก็คือฉบับสยามรัฐ และฉบับมหาจุฬาเตปิฏกํ

นอกจากนี้ มีพระไตรปิฎกที่บันทึกลงแผ่น CD-ROM ของมหาวิทยาลัยมหิดล และ Chattha Samgayana CD-ROM ของสถาบันค้นคว้าวิปัสสนา ธรรมคิรี อิคัทปุรี อินเดีย บรรจุพระไตรปิฎกทุก version

สรุป

พระไตรปิฎก พัฒนามาจากธรรม-วินัย หรือพรหมจริย โดยธรรมแตกแขนงออกเป็นพระสุตตันตปิฎก และพระอภิธรรมปิฎก วินัย เป็นพระวินัยปิฎก ในราวพุทธศตวรรษที่ 2-3 หลังสังคายนาครั้งที่ 2 และก่อนสังคายนาครั้งที่ 3

พระไตรปิฎกถ่ายทอดโดยมุขปาฐะ (ท่องจำ)

จนถึงสังคายนาครั้งที่ 5 พ.ศ.450 จึงได้บันทึกเป็นลายลักษณ์อักษรที่ประเทศศรีลังกา