ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 23 กุมภาพันธ์ - 1 มีนาคม 2561 |
---|---|
คอลัมน์ | นิธิ เอียวศรีวงศ์ |
ผู้เขียน | นิธิ เอียวศรีวงศ์ |
เผยแพร่ |
ใครๆ ก็ชวนให้ชมภาพยนตร์ชุด The Crown คุณภิญโญ ไตรสุริยธรรมา เป็นคนแรกที่ชวนผมตั้งกว่า 2 ปีมาแล้ว แต่ผมก็ยังไม่ได้ดูหนังชุดนี้เสียที จนไม่นานมานี้เอง และก็ดูเฉพาะซีซั่นแรกเท่านั้น
น่าประหลาดที่ผมไม่ยักรู้สึกตื่นเต้นเหมือนเสียงเชียร์ที่ได้ยินตลอดกว่า 2 ปีที่ผ่านมาเลย จะเป็นเพราะได้ยินเสียงเชียร์มากจนไปคาดหวังจากหนังมากกว่าภาพยนตร์ชุดทางทีวีจะให้ได้กระมัง
จะว่าผมรู้เรื่องเกี่ยวกับราชสำนักอังกฤษเสียจนไม่ตื่นเต้นก็ไม่ใช่ ตรงกันข้ามผมไม่เคยรู้รายละเอียดที่หนังนำเสนอเลย แต่ไม่ผิดคาดอะไร นำเรื่องของราชสำนักใดๆ มาเล่า และเล่าอย่างซื่อสัตย์หน่อย ก็จะมีเนื้อหาทำนองนี้แหละครับ
ผมไม่ได้หมายถึงความ “อื้อฉาว” ต่างๆ ซึ่งจริงหรือไม่ก็ไม่มีใครทราบ แต่ผมหมายถึงความสัมพันธ์ส่วนตัวของสมาชิกราชวงศ์ ที่ไม่แตกต่างอันใดจากความสัมพันธ์ของตัวละครในหนังเรื่องอื่น ความอิจฉาริษยา, การดูถูกดูแคลนและรังเกียจชาติตระกูล, ความเสียสละ, ความรัก, การให้อภัย, เงื่อนไขที่ผูกมัดชีวิต, ญาติผู้ใหญ่ ฯลฯ ล้วนเป็นท้องเรื่องหลักในชีวิตมนุษย์ ทั้งในและนอกจอทั้งนั้นไม่ใช่หรือครับ
สรุปสั้นๆ ก็คือ หนังบอกเราว่า โดยพื้นฐานแล้ว เจ้านายก็เป็นมนุษย์เหมือนเรา แล้วมันน่าแปลกใจตรงไหนหรือครับ
มันน่าแปลกใจ หรือน่าตื่นใจ ก็เพราะในยุโรป ชีวิตส่วนตัวของเจ้านายเป็นส่วนหนึ่งของ mystique ซึ่งผมขอแปลว่า ความลี้ลับที่น่าหลงใหลของสถาบันกษัตริย์ ในประเทศประชาธิปไตยของยุโรปตะวันตก (ผมขอเตือนไว้ด้วยความประหลาดใจว่า ไม่มีระบบกษัตริย์เหลืออยู่ในยุโรปอีกแล้ว นอกจากในประเทศประชาธิปไตยของยุโรปตะวันตก ทำไมถึงเป็นอย่างนั้นผมจะไม่พูดล่ะครับ) กษัตริย์ไม่ทรงมีหน้าที่ด้านการเมืองการปกครองอีกแล้ว ยกเว้นแต่งานในเชิงพิธีกรรม เช่น เปิดประชุมสภา หรือตรวจแถวทหารราชองครักษ์ในวันเฉลิมพระชนมพรรษา สถาบันกษัตริย์จะดึงดูดความสนใจของประชาชนได้อย่างไร

คำตอบก็คือ ทำได้สองอย่าง หนึ่งคือพระราชภารกิจทางสังคมและวัฒนธรรม ซึ่งต้องระวังให้เป็นกิจกรรมที่ประชาชนยอมรับโดยทั่วไปอยู่แล้ว เช่น อนุรักษ์สิ่งแวดล้อมก็ได้ แต่อย่าลงลึกถึงขนาดต่อต้านโรงไฟฟ้าถ่านหินหรือนิวเคลียร์ สนับสนุนสันติภาพก็ได้ แต่อย่าลงลึกขนาดต่อต้านหรือสนับสนุนผู้อพยพ สรุปก็คือทำอะไรก็ได้ที่ไม่แสดงว่าอยู่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งของความขัดแย้ง ดังนั้น จึงมักทำเรื่องที่ไม่มีความขัดแย้งเหลืออยู่อีกแล้ว
ด้วยเหตุดังนั้น พระราชดำรัสหรือดำรัสของกษัตริย์ พระราชินี หรือเจ้านายชั้นสูงของยุโรป ต่อสาธารณชน จึงเป็นเรื่อง “ถูก” ในทางการเมืองเสมอ เพราะจะตรัสถึงหลักการพื้นฐานซึ่งเห็นพ้องต้องกันอยู่แล้วเท่านั้น ไม่มีความหมายพิเศษใดๆ ใครๆ ก็สามารถคาดได้ว่าพระราชดำรัสต่อสาธารณะ จะเป็นอย่างไร จึงไม่น่าตื่นเต้นนัก
แต่สื่อของโลกปัจจุบัน ทำให้รับสั่งของเจ้านายที่เป็นส่วนตัวอาจไม่”ส่วนตัว”อีกต่อไป เพราะจะถูกพาดหัวข่าวบนหนังสือพิมพ์ประเภทขายข่าวลือในวันรุ่งขึ้น เจ้าชายฟิลิปเป็นเจ้านายพระองค์หนึ่งที่มักจะหยอกล้อติดตลกกับคนที่เข้าเฝ้าเสมอ ทั้งคนอังกฤษและต่างชาติ เพื่อให้เกิดความเป็นกันเอง แต่ตลกหยอกล้อของท่านอาจ “แรง” เกินพอดี จึงมักตกเป็นข่าวและถูกวิพากษ์ในสื่ออยู่บ่อยๆ
น่าประหลาดที่บุคลิกภาพส่วนพระองค์ของเจ้านายที่ “หลุด” ออกมาบ้างเช่นนี้ แทนที่จะทำความเสียหายแก่สถาบัน ผมคิดว่าในระยะยาวแล้วกลับเป็นผลดีแก่สถาบันมากกว่า เพราะมันช่วย “แพลม” ความลี้ลับบางอย่างของสถาบันออกมาให้ดูน่าตื่นเต้น น่าสนใจแก่ผู้คนได้ และยังก่อให้เกิดสำนึกในความเป็นมนุษย์ของเจ้านายและสถาบันกษัตริย์ ซึ่งแม้อยู่ห่างไกลในความเป็นจริง แต่ก็ใกล้ชิดในความเป็นมนุษย์เหมือนประชาชน
อย่างที่สองก็คือ mystique หรือความลี้ลับอันน่าหลงใหลนี่แหละครับ อะไรที่เป็น “ส่วนพระองค์” นั่นแหละ ที่ดึงดูดความ-สนใจของประชาชน อย่างเดียวกับที่ประชาชนใส่ใจกับเรื่องส่วนตัวของเซเลบนั่นเอง ใครดูเรื่อง The Crown แล้วก็อยากรู้ว่า สมเด็จพระบรมราชินีนาถทอดพระเนตรภาพยนตร์ชุดนี้หรือไม่ โปรดหรือไม่ โปรดตรงไหน โปรดทำไม ฯลฯ คืออยากรู้อยากเห็นความเป็นมนุษย์ของสมเด็จพระบรมราชินีนาถ เหมือนอยากรู้อยากเห็นความเป็นมนุษย์ของเซเลบ
ราชสำนักจะ “แพลม” ให้รู้บางอย่าง ที่ไม่ส่วนพระองค์จนเกินไป เมื่อเกิดข่าวลือบางอย่างขึ้นเกี่ยวกับเจ้านายในครอบครัวของพระบรมราชีนีนาถ บางครั้งราชสำนักก็เงียบเฉย บางครั้งก็มีคำแถลงว่าข่าวลือนั้นไม่จริง
ดังนั้น แม้ในโลกที่สื่อมวลชนมีตาเป็นสับปะรด ราชสำนักก็ยังสามารถรักษาความลี้ลับอันน่าหลงใหลนี้ไว้ได้ แต่ไม่ใช่ความลี้ลับที่ดำมืด หากเป็นความลี้ลับที่โผล่ให้เห็นเป็นแว็บๆ น่าตื่นเต้นและน่าค้นหา
ผมคิดว่าหนังชุด The Crown นำเอาความลี้ลับนี้มาตีแผ่ แต่ก็ตีแผ่ด้วยการตีความให้เป็นคุณแก่สมเด็จพระบรมราชินีนาถด้วย จนกลายเป็นท้องเรื่องหลักของหนัง แน่นอนว่าทั้งหมดนี้คือการตีความ จะตีให้ไม่เป็นคุณก็ได้ แต่หนังเลือกการตีความที่เป็นคุณ
การตีความเช่นนี้ตั้งอยู่บนหลักการอันหนึ่ง คือสมเด็จพระบรมราชินีนาถในฐานะสถาบันกษัตริย์ ต้องยึดมั่นในแบบธรรมเนียมซึ่งคือรัฐธรรมนูญอย่างมั่นคง ฟังดูเหมือนง่าย แต่ไม่ง่ายนะครับ เพราะการกระทำเช่นนั้นก่อให้เกิดความบาดหมางกับราชวงศ์, กับนักการเมืองทั้งฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้าน, หรือแม้แต่กับประชาชนทั่วไป และในยามเช่นนี้ จะต้องทรงยืนหยัดในสิ่งที่ “ถูกต้อง” ตามรัฐธรรมนูญเท่านั้น ด้วยความหวังว่าในระยะยาวแล้ว คนที่ไม่ได้ตามต้องการของตนก็จะเข้าใจเอง
พระราชภารกิจตามรัฐธรรมนูญอังกฤษ ซึ่งต้องกระทำอย่างซื่อตรง แต่แยบคาย เพราะแต่ละเรื่องล้วนมีความละเอียดอ่อน เช่น ดุลที่พอเหมาะระหว่าง mystique ของสถาบัน กับสถานะที่เป็นสาธารณะของสถาบัน อยู่ตรงไหนกันแน่ เมื่ออังกฤษมีทีวีจะถ่ายทอดสดพระราชพิธีบรมราชาภิเษกในโบสถ์ได้อย่างปรุโปร่งแล้ว จะให้ประชาชนได้เห็นหรือไม่ได้เห็น ได้เห็นแค่ไหนจึงพอดี ฯลฯ เป็นต้น
ผมคิดว่าประเด็นนี้แหละที่ประทับใจเพื่อนฝูงคนไทยที่ชวนให้ชมหนังชุดเรื่องนี้ที่สุด คือบทบาทอันยากลำบากของสถาบันกษัตริย์ในระบอบราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญ ว่าต้องใช้สติและความอดทนขนาดไหน จึงจะเป็นที่ยอมรับของประชาชน, นักการเมืองทุกฝ่าย, พระบรมวงศานุวงศ์ชั้นผู้ใหญ่ ไม่เว้นแม้แต่พระราชสวามีและพระขนิษฐา
ดูแค่ซีซั่นเดียวก็เห็นแล้วครับ ผมอยากเดาว่าซีซั่นต่อไปก็คงไม่หนีท้องเรื่องหลักอันนี้ไปได้หรอก
แต่บทบาทอันยากลำบากนี้ของกษัตริย์อังกฤษ จะเป็นแบบอย่างแก่กษัตริย์ทั้งโลกได้หรือไม่? ผมให้สงสัยอย่างยิ่งว่าไม่ได้ ในบรรดากษัตริย์ยุโรปทั้งหมด มีเฉพาะกษัตริย์อังกฤษเท่านั้นที่มีความอ่อนไหว (sensitivity) เป็นพิเศษต่อปฏิกิริยาของประชาชนชาวบริเตนใหญ่ (ยกเว้นไอริชกระมัง) อาจารย์เบน แอนเดอร์สัน ชี้ให้เห็นสิ่งที่เรามักลืมไปเสมอว่า (ปาฐกถาในการประชุมวิชาการเรื่อง Democracy and Crisis in Thailand) อังกฤษแทบจะไม่เคยมีชาวอังกฤษเป็นกษัตริย์เลย กว่าพันปีที่ผ่านมาอังกฤษอยู่ภายใต้พระราชาซึ่งเป็นนอร์มัน, เวลส์, สก๊อต, ดัตช์ และเยอรมัน

เจ้านายต่างชาติต่างภาษาเหล่านี้ต้องประนีประนอมกับขุนนางและเจ้าที่ดินอังกฤษ เพื่อรักษาพระราชอำนาจและพระราชวงศ์ของพระองค์เอาไว้ และด้วยเหตุดังนั้นจึงมีแนวโน้มจะยอมรับกฎเกณฑ์กติกาและสัญญาต่างๆ ที่ทำขึ้นกับขุนนางและเจ้าที่ดิน-เจ้าครองแคว้น พูดอีกอย่างหนึ่งก็คือสถาบันกษัตริย์อังกฤษเคยชินที่จะยึดถือ “รัฐธรรมนูญ” เพื่อประกันพระราชอำนาจของพระองค์เองมาแต่โบราณ
สภาพเช่นนี้ไม่เกิดแก่กษัตริย์เยอรมัน, รัสเซีย, หรือฝรั่งเศส และนี่อาจเป็นเหตุผลที่ว่า หลังสงครามโลกครั้งที่ 1 มหาอำนาจยุโรปที่ยังมีสถาบันกษัตริย์ดำรงอยู่ จึงเหลือเพียงประเทศเดียวได้แก่บริเตนใหญ่ จนทำให้บางคนเชื่อว่าสถาบันกษัตริย์ที่มั่นคงสถาพรที่สุดคือสถาบันกษัตริย์อังกฤษ
ผมให้สงสัยอีกอย่างหนึ่งด้วยว่า หาก The Crown ไม่เกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์อังกฤษ อาจเป็นหนังชุดที่ไม่ดังเท่านี้ เพราะทุกครั้งที่พูดถึงสถาบันกษัตริย์ คนในโลกส่วนใหญ่มักนึกถึงอังกฤษก่อนอื่นเสมอ (ทั้งๆ ที่กษัตริย์อังกฤษมีลักษณะเฉพาะที่ไม่เหมือนใครอื่นดังที่กล่าวแล้ว)
หากถือเอาประเทศที่มีสถาบันกษัตริย์ทั้งหมดมารวมกัน (ซึ่งตามปาฐกถาของอาจารย์เบนจะเท่ากับพื้นที่เพียง 2.5 ล้านตารางไมล์ – เล็กกว่าบราซิล – และประชากรเพียง 500 ล้านคน – ไม่ถึงครึ่งของอินเดีย – เท่านั้น) สถาบันกษัตริย์ที่อาจถือได้ว่าเป็น “เมืองหลวง” ของดินแดนนี้คือสถาบันกษัตริย์อังกฤษ
ที่เป็นอย่างนี้ไม่ได้เกิดขึ้นเพราะความรู้สึกของคนทั่วไปที่เห็นอังกฤษมีพลานุภาพทางเศรษฐกิจและการทหารสูงกว่าราชาธิปไตยอื่นๆ แต่เป็นด้วยเหตุซึ่งอาจารย์เบนชี้ให้เห็นว่า นับตั้งแต่สิ้นสงครามนโปเลียนเป็นต้นมา อังกฤษนี่แหละที่เป็นผู้สถาปนาสถาบันกษัตริย์ขึ้นในดินแดนต่างๆ ทั่วโลก เริ่มต้นคือในยุโรป อังกฤษเป็นผู้จัดให้เกิดสถาบันกษัตริย์ขึ้นในเนเธอร์แลนด์ (ซึ่งไม่เคยมีสถาบันกษัตริย์มาก่อน) เมื่อเบลเยียมแยกตัวจากเนเธอร์แลนด์ ก็สถาปนากษัตริย์เบลเยียม แถมยังมีนอร์เวย์อีกประเทศหนึ่ง ทั้งนี้ เพื่อความปลอดภัยของราชาธิปไตยอังกฤษเอง คือมีรัฐราชาธิปไตยบนฝั่งทวีปยุโรป กันเกาะอังกฤษไว้จากมหาอำนาจอื่นในยุโรป

นโยบายสร้างสถาบันกษัตริย์ขึ้นของอังกฤษได้นำมาใช้ในดินแดนที่เป็นอาณานิคมหรือกึ่งอาณานิคมด้วย อังกฤษนั้นเป็นประเทศเล็กนิดเดียว จะดูแลผลประโยชน์ตนเองในอาณานิคมหรือกึ่งอาณานิคมที่แผ่ไปทั่วโลกได้อย่างไร อังกฤษเลือกจะตั้งราชาธิปไตยขึ้นในดินแดนต่างๆ หากอังกฤษมั่นใจว่าสถาบันกษัตริย์ที่เกิดขึ้นนั้น จะเชื่อฟังและส่งเสริมผลประโยชน์อังกฤษ จากเอเชียตะวันตกไล่มาจนถึงเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (เช่น สุลต่านของรัฐมลายูและบรูไน) และจากแอฟริกาตะวันออกไปจนถึงแอฟริกากลางและใต้
ทั้งนี้ ยกเว้นสถาบันกษัตริย์ที่ไม่เป็นมิตรกับอังกฤษเท่านั้น อังกฤษก็หาเหตุยกเลิกไปเลย ซึ่งผมขอยกตัวอย่างพม่าประเทศเดียว
ทั้งพระเจ้ามินดงและพระเจ้าสีป้อ กษัตริย์องค์ท้ายสุดของราชวงศ์กอนบอง ต่างพยายามดึงเอามหาอำนาจยุโรปชาติอื่น เข้ามามีผลประโยชน์ในประเทศ เพื่อคานอำนาจกับอังกฤษ และด้วยเหตุดังนั้นอังกฤษจึงหาเหตุทำสงครามกับพม่า จับพระเจ้าแผ่นดินพม่าส่งไปอยู่อินเดีย แม้มีเจ้าชายโอรสของพระเจ้ามินดงอยู่ในอารักขาของตน อังกฤษก็มิได้รื้อฟื้นราชบัลลังก์พม่าขึ้นอีก

นโยบายราชาธิปไตยเพื่อรักษาผลประโยชน์ของจักรวรรดินิยมนี้ ในภายหลังฝรั่งเศสก็พยายามทำตามบ้าง โดยการฟื้นฟูราชสำนักของอันนัมให้มีบทบาททางการเมือง สถาปนาพระเจ้ากรุงหลวงพระบางขึ้นเป็นกษัตริย์ของ “ลาว” ซึ่งไม่เคยมีประเทศนี้มาก่อน แต่ฝรั่งเศสสร้างขึ้นพร้อมกับสถาบันกษัตริย์ “ลาว” กษัตริย์กัมพูชาก็เช่นเดียวกัน (หากทว่าพระเจ้าสีหนุกลับใช้โอกาสที่ฝรั่งเศสมอบให้ไปในทางชาตินิยม แทนการสนับสนุนนโยบายรัฐในเครือสัมพันธรัฐฝรั่งเศส – French Associated States) แต่ก็อย่างที่ทราบกันอยู่แล้วว่า ในที่สุดฝรั่งเศสก็ไม่สามารถรักษาอินโดจีนของตนไว้ได้
อังกฤษจึงเป็นเมืองหลวงของราชาธิปไตยด้วยเหตุนี้ และหนังเรื่อง The Crown จึงมีเสน่ห์ดึงดูดใจผู้ชมที่สนใจสถาบัน-กษัตริย์ทั้งโลกด้วยเหตุเดียวกัน