คำ ผกา : ฝุ่นพิษ หน้ากาก ทางเลือก

คำ ผกา

เคยคิดว่าตัวเองเป็นคนโชคดีมากที่ไม่เคยแพ้อะไรเลย ไม่เป็นภูมิแพ้ ไม่แพ้ฝุ่น ไม่แพ้เกสรดอกไม้ ไม่มีปัญหาเกี่ยวกับทางเดินหายใจใดๆ ทั้งสิ้น

และต่อให้เดินอยู่ในที่ที่อากาศไม่ค่อยดีนัก มีควัน มีฝุ่น ก็ยังรู้สึกว่าร่างกายตนเองทนทานต่อสิ่งเหล่านี้ได้มากพอสมควร

แต่แล้วก็ต้องเปลี่ยนความคิดเมื่อมาเจอกับสภาพอากาศในกรุงเทพฯ ตลอดสองสัปดาห์ที่ผ่านมา ที่ว่ากันว่าค่า pm 2.5 ซึ่งคือฝุ่นละอองขนาดจิ๋วกระจิริดเพียง 2.5 ไมครอน ในพื้นที่กรุงเทพฯ นั้นเกินมาตรฐานจนถึงระดับที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ เพราะค่าที่ปลอดภัยคือไม่เกิน 50 แต่ของกรุงเทพฯ ปาเข้าไปร้อยเจ็บสิบกว่าๆ ในบางวัน

นั่นคือมีอาการเจ็บคอ แสบจมูกอย่างหนักหนาสาหัส มีความรู้สึกเหนียวๆ ทึบๆ ตันๆ ในลำคอ แสบตา

รวมๆ คือ ไม่สบายเนื้อไม่สบายตัว หายใจไม่เต็มปอด

พูดง่ายๆ ว่า สัมผัสกับความผิดปกติได้ชัดเจนมากๆ ทั้งๆ ที่ไม่ได้ออกไประหกระเหินนอกบ้าน ทำงานในร่ม ออกไปสัมผัสกับฝุ่นเหล่านี้น้อยกว่าคนอื่นๆ มากนัก

ไม่ต้องคิดเลยว่า คนที่ไม่มีทางเลือก จำต้องออกมาใช้ชีวิต ทำกิจกรรมต่างๆ นอกบ้าน บนถนน ตั้งแต่วินมอเตอร์ไซค์ พ่อค้า แม่ค้าที่ขายของอยู่ริมถนน ตำรวจจราจร คนทำงานปั๊มน้ำมัน คนกวาดถนน ฯลฯ คนเหล่านี้ไม่ต้องสูดเอาอากาศที่มีฝุ่นพิษเข้าไปในร่างจนเจ็บป่วยหรือ?

ฝุ่นพิษนี้ ความที่ขนาดมันเล็กมาก มันจะผ่านเข้าไปในร่างกายของเราอย่างที่อะไรก็ดักเอาไว้ไม่ได้

ผลของมันในระยาว จะทำให้คนป่วยเป็นโรคทางเดินหายใจ ไปจนถึงมะเร็งปอด

คิดๆ แล้วมันโกรธไหมว่า เฮ้ย นี่ถ้าเราป่วยจากไอ้ฝุ่นบ้านี่จนถึงขั้นเป็นโรคเรื้อรังขึ้นมาใครจะรับผิดชอบ?

ถ้าป่วย ทำมาหากินไม่ได้ ขาดรายได้ ใครรับผิดชอบ หรือถ้าป่วยจนต้องรักษาพยาบาลใช้เงินเยอะแยะไปหมด ใครรับผิดชอบ?

หรือป่วยจนสูญเสียโอกาสชีวิตที่จะได้ใช้ชีวิตอย่างที่ควรจะได้ใช้ ใครจะรับผิดชอบ?

โกรธมากขึ้นไปอีก เมื่อนึกถึงบรรดา “คนดี” ที่ออกมารณรงค์ให้คนเลิกเหล้า เลิกบุหรี่ เลิกน้ำตาล เลิกกินก้อยปลาดิบ ว่า คนเหล่านี้บริโภคสิ่งที่เป็นอันตรายต่อร่างกาย จนป่วย จนเป็นมะเร็ง จนอ้วน ทำให้เป็นภาระต่องบประมาณของรัฐในการรักษาพยาบาล

เหล่าคนชั่วที่ไม่รักตัวเอง ประเคนสิ่งที่เป็นพิษต่อร่างกาย แล้วมาเป็นภาระต่อแพทย์ ต่อพยาบาล ช่างน่ารังเกียจ คนเหล่านี้ไม่รู้จักรักและดูแลตนเอง ป่วยขึ้นมาก็โอดโอยให้คนช่วย – น่าระอาที่สุด

แล้วตอนนี้เกิดคนต้องมาป่วยโดยฝุ่นจิ๋วนี้ – เหล่าคนดีทั้งหลายหายหัวไปไหนกันหมดว่า เฮ้ยยย ใครต้องออกมาทำอะไรสักอย่างสิ ประชาชนเขารักตัวกลัวตาย รักษาสุขภาพของเขาอยู่ดีๆ ก็ต้องมาหายใจในอากาศที่เป็นพิษ

และเป็นพิษที่เขาไม่ได้ก่อด้วย และป่วยขึ้นมาก็เป็นภาระต่องบประมาณและบุคลากรทางการแพทย์ เหมือนคนกินเหล้า สูบบุหรี่ กินก้อยปลาดิบ อันน่าระอานั่นแหละ

ฝุ่นจิ๋วเป็นพิษเหล่านี้เกิดจากอะไร?

เกิดจากควันท่อไอเสียรถยนต์ โรงงานไฟฟ้าพลังงานถ่านหิน การก่อสร้าง

คนดีๆ ที่ด่าคนกินเหล้า ด่าคนสูบบุหรี่จนเป็นมะเร็งในปอด ไม่ยักจะลุกขึ้นมาประณามการปล่อยมลพิษจากโรงงานอุตสาหกรรม

ไม่ยักจะประณามการใช้ถ่านหิน

หรือในภาพกว้างนั้น ไม่เคยประณามการทำงานของรัฐบาล (ทุกรัฐบาล) ที่ใส่ใจเรื่องสิ่งแวดล้อมน้อยเกินไป หรือใส่ใจเรื่องคุณภาพชีวิตของพลเมืองมากเกินไป

การทำงานด้านสุขภาพของเหล่าคนดีพวกนี้จึงมาทำแต่โครงการที่มุ่งประณามพฤติกรรมของประชาชนว่า ประชาชนขี้เกียจ ไม่ออกกำลังกาย ประชาชนมักง่าย กินอาหารไม่มีประโยชน์ ประชาชนเป็นทาสทุนนิยมกินจังก์ฟู้ด

นี่คือความมักง่ายของการทำงานด้านสุขภาพในเมืองไทย

นั่นคือโทษอยู่อย่างเดียวว่าคนมันป่วยเพราะโง่ เพราะมักง่าย เพราะขี้เกียจ เพราะขาดความรู้ ขาดการศึกษา

แต่ปรากฏการณ์ฝุ่นจิ๋วนี่น่าจะทำให้ตาสว่างเสียทีว่า นี่คือคนจะป่วยเพราะความห่วยแตกของรัฐ

เพราะนี่ไม่ใช่ผลกระทบทางสุขภาพอันแรกที่คนได้รับจากความห่วยแตกของภาครัฐ เช่น ปริมาณสารพิษ ยาฆ่าแมลงตกค้างในอาหาร ผัก ผลไม้ที่เรากินไปทุกวัน

ภาวะขาดแคลนพื้นที่สาธารณะที่ทำให้คนไม่ได้ออกกำลังกาย หรือสูดอากาศบริสุทธิ์

การไม่เข้มงวดกับการปล่อยมลพิษจากโรงงานอุตสาหกรรม

คุณภาพของน้ำในแม่น้ำลำคลองและภาวะปนเปื้อน

การผูกขาดการผลิตเหล้า ที่ทำให้คนไทยส่วนใหญ่ต้องบริโภคสุราคุณภาพต่ำที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ

หรือแม้กระทั่งการออกแบบเมือง การออกแบบถนน ที่ปลอดภัย ยากแก่การเกิดอุบัติเหตุ

People wear face masks on their way to work in the business district of Bangkok on February 9, 2018.
The Pollution Control Department advised those with respiratory diseases to take precautions whilst outdoors on February 8, due to the highest PM indexes seen in recent days. / AFP PHOTO / LILLIAN SUWANRUMPHA

แต่ก็นั่นแหละ อุบัติเหตุในเมืองไทยก็โทษกันแต่ว่าเป็นความประมาทของผู้ขับขี่ แต่ไม่มีใครคิดว่า จะออกแบบถนนยังไงให้ปลอดภัยที่สุด ต่อให้ผู้ขับขี่คนนั้นประมาทมากๆ ก็ตาม!

เรื่องนี้ยิ่งขับเน้น mentality ของคนไทยว่า เราอยู่ในสังคมที่ถ้าเกิดอะไรดีๆ เราก็บอกว่า เพราะคนนั้นเป็นคนดี

และถ้าเกิดปัญหาอะไรขึ้นมาเราก็บอกว่า เพราะใครสักคนเป็นตัวการสร้างปัญหา

แต่เราไม่เคยมองว่าปัญหาเหล่านี้มันเกี่ยวกับโครงสร้างอำนาจทางการเมือง อำนาจของพลเมืองในการผลักดันให้รัฐต้องดำเนินนโยบายที่เป็นประโยชน์ต่อประชาชน

ตรงกันข้าม เรากลับชินที่จะถูกรัฐหรือราชการ “ด่า” ว่าปัญหาเหล่านี้เป็นเรื่องที่ประชาชนต้อง “ดูแลตัวเอง” หรือป้องกันไม่ให้มันเกิดขึ้น

เช่น พอมีปัญหาฝุ่นจิ๋วเป็นพิษ ทางราชการก็ออกมาบอกว่า

“ชาวบ้านอย่าเผากิ่งไม้ใบไม้ อย่าก่อไฟผิงไล่ความหนาว”

จากนั้นก็บอกให้ประชาชนป้องกันตัวเอง เช่น อย่าออกไปใช้ชีวิตนอกบ้าน หรือออกนอกบ้านอย่าลืมใส่หน้ากาก

หนักกว่านั้นแม้กระทั่งมาตรการการดูแลตัวเอง ทางราชการก็ไม่สามารถออกมาให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ได้จริงๆ

เช่น หน้ากากแบบไหนที่ป้องกันฝุ่นได้จริง หน้ากากแบบไหนป้องกันไม่ได้ หนักกว่านั้นยังสามารถออกมาพูดได้หน้าตาเฉยว่า ใช้ผ้าชุบน้ำก็กันได้แล้ว – ชิลมาก

ในการแก้ปัญหาระยะยาวก็ไม่มีใครบอกว่า โครงการก่อสร้างขนาดใหญ่ทั้งหมดในกรุงเทพฯ ต้องจัดการอย่างไร?

เพราะตอนนี้เป็นผู้มีส่วนในการทำลายปอดของประชาชนอยู่ โรงงานอุตสาหกรรมทั้งหลายที่มีส่วนในการปล่อยมลพิษจะทำอย่างไร?

รถรามหาศาล การจราจรติดขัด รถหนาแน่นเป็นอันดับหนึ่งของโลกตอนนี้ของกรุงเทพฯ จะเอายังไง?

พื้นที่สีเขียวที่น้อยเกินไปจะทำอย่างไร?

ในโลกยุคอินเตอร์เน็ต คนไทยก็ไม่โง่ ทุกคนก็ได้อ่านข่าวว่า ในยุโรป ในอินเดีย ใช้มาตรฐานขั้นเด็ดขาดมาก คือ จำกัดปริมาณรถยนต์ส่วนบุคคลบนท้องถนน

เช่น ให้รถทะเบียนลงท้ายด้วยเลขคี่วิ่งวันคี่ ทะเบียนเลขคู่วิ่งวันคู่

บางประเทศจัดรถเมล์ฟรีให้คนใช้ และห้ามการใช้รถส่วนตัว

จีนใช้วิธีให้โรงงานถ่านหินหยุดทำงานชั่วคราว ย้ายโรงงานอุตสาหกรรมออกไปที่อื่น (ไม่รู้ว่าการย้ายจะส่งผลให้ไปปล่อยมลพิษยังที่อื่นแทนที่เมืองหลวงหรือเปล่า?)

ใช่ เราไม่โง่ เราได้อ่าน เราได้รู้ เราได้เห็นว่า ประเทศอื่นเขาทำกันอย่างไร แต่เราก็ไม่เคยเรียกร้องว่า รัฐหรือราชการของประเทศเราต้องทำอะไร?

ปัญหามลพิษทางอากาศของไทยจะไม่มีวันดีขึ้น หากเราคนไทยไม่สามารถเชื่อมโยงได้ว่า ถ้าเรามีขนส่งมวลชนที่ทุพพลภาพอย่างทุกวันนี้ อีกหน่อยเราก็ต้องเป็นมะเร็งในปอดตายกันหมดทั้งๆ ที่ไม่ได้สูบบุหรี่สักมวน เพราะอากาศมันจะแย่ขึ้นเรื่อย

แล้วก็นั่นแหละคนไทยจำนวนมากไม่เคยต่อสู้เพื่อให้เมืองไทยทำรถเมล์ให้ดีเสียที เพราะคิดว่ารถเมล์เป็นเรื่องของคนจน

ชั้นมีปัญญาซื้อรถขับ ชั้นไม่เดือดร้อน ต่อให้ชั้นต้องติดอยู่บนถนนวันละสองชั่วโมงเป็นอย่างน้อย แต่ชั้นก็ไม่เดือดร้อน และไม่ได้คิดว่ามันแปลกหรือผิดปกติอะไร

นอกจากไม่เคยคิดจะต่อสู้ ผลักดันเรื่องขนส่งมวลชน รถสาธารณะ เรือสาธารณะ เราก็ไม่เคยรักหรือเห็นคุณค่าของพื้นที่สีเขียว หรือการออกแบบเมืองให้ “เขียว”

คนจะรู้และรักเมืองสีเขียวก็ต่อเมื่อคนในเมืองนั้นต้องเดิน ต้องปั่นจักรยาน ถึงจะเห็นว่าต้นไม้ในเมือง ที่ไม่จำเป็นต้องทำเป็นสวนหย่อม สวนสาธารณะ หนึ่ง สอง สามสวนเสมอไป แต่เมืองทั้งเมืองต้องมีความเป็น “สวน” ด้วยตัวของมันเอง

คนไทยไปเกียวโต ไปดูซากุระที่ญี่ปุ่นกันมาก็เยอะ ไม่ได้รู้สึกเลยหรือว่า เมืองเหล่านั้นเอาต้นไม้ใหญ่มาไว้ริมถนน ริมทางเท้าได้จนเขียวสวยขนาดนั้นได้อย่างไร?

ตรงกันข้ามคนไทยเมื่ออยู่ไทยกลับไม่รักต้นไม้ และคิดว่าการขังตัวเองอยู่ในรถติดแอร์คือสิ่งถูกต้อง หรือต่อให้รู้สึกว่าไม่ถูกต้อง ก็ไม่รู้ว่าต้องทำอย่างไร เพราะเราไม่เคยคิดว่าปัญหาต่างๆ เหล่านี้สัมพันธ์อยู่กับอำนาจทางการเมืองของเรา

ชั้นเย็นสบายในรถติดแอร์ ในห้องแอร์แล้ว เทศบาล หรือ กทม. จะปลูกต้นไม้ จะออกแบบเมืองเขียวหรือไม่เขียว ชั้นไม่สนใจ ไม่ใช่ธุระ อยากเห็นเมืองสวยๆ อยากเดินเล่นริมแม่น้ำ ก็ซื้อตั๋วไปเดินที่สิงคโปร์ ที่ญี่ปุ่น – เก๋ๆ

เรื่องฝุ่นจิ๋วเป็นพิษ และอาจทำให้เราเจ็บป่วยเรื้อรัง ส่งผลต่อสุขภาพของเราโดยตรง จะแก้ไขได้ก็ต่อเมื่อเราลดปริมาณรถยนต์ รถส่วนตัวบนท้องถนนได้, มีการออกแบบเมืองที่มีต้นไม้ มีพื้นที่สีเขียวให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้, มีการกำกับการสร้างโรงงานอุตสาหกรรม และเข้มงวดต่อโรงงานเหล่านั้นต่อการปล่อยมลพิษออกมาสู่เมือง, มีการกำกับ บังคับให้โครงการก่อสร้างขนาดใหญ่ในเมือง ดูแลเรื่องมลพิษจากการก่อสร้าง ให้ความสำคัญกับความปลอดภัยของทั้งคนทำงาน และคนอื่นๆ ที่ต้องใช้ชีวิตอยู่ในเมืองนั้น

สิ่งเหล่านี้จะเกิดขึ้น ไม่ใช่เพราะจะมีเทวดามาจุติเป็นคนดี และกลายมาเป็นผู้ว่าฯ กทม. หรือมาบริหารบ้านเมือง

แต่เกิดจากการที่ประชาชนพลเมืองของเมือง ของประเทศนั้น เป็นเจ้าของอำนาจทางการเมืองจนสามารถ “เลือก” และ “กำกับ” ผู้ว่าฯ, นายกฯ หรือรัฐบาล ให้ดำเนินทุกนโยบายเพื่อผลประโยชน์ของผู้มีสิทธิ์เลือกตั้ง

เมืองสวยๆ ทั่วโลก ไม่ได้สวย หรือสิ่งแวดล้อมดีอากาศสะอาดเพราะปกครองด้วยคนดีที่ไหนก็ไม่รู้

แต่เพราะอำนาจบริหารจัดการท้องถิ่นเป็นของคนท้องถิ่น ที่กดดันให้รัฐต้องตอบสนองความต้องการของประชาชน

แน่นอนเรื่องแบบนี้ไม่มีทางลัด ไม่ใช่ว่าเลือกตั้งวันนี้ พรุ่งนี้ เมืองไทยกลายเป็นสวรรค์ อะไรๆ ก็ดีไปหมด

แต่เป็นเพราะบ้านเมืองเหล่านั้นอดทนกับประชาธิปไตยมายาวนานพอที่จะทำให้ประชาชนค่อยๆ เข้มแข็งขึ้นเรื่อยๆ จนควบคุมนักการเมืองได้จริง และอาจใช้เวลานับร้อยปี

แต่นั่นหมายว่า มันต้องได้เริ่มต้น โดยปราศจากการ “ขัดจังหวะ” แต่ประเทศไทยเมืองไทยที่ไม่ยอมเริ่มหรือปล่อยให้การขัดจังหวะจนต้องนับหนึ่งกันใหม่เรื่อยๆ มันก็จะไม่เกิดขึ้นเสียที และเราก็หายใจทิ้งอย่างนี้ไปเรื่อยๆ แถมลมหายใจของเราก็จะเจือสารพิษมากขึ้นๆ ตามเวลาที่ผันผ่าน

แต่ถ้ายังคิดไม่ได้ เราก็คงต้องมีชีวิตอยู่ภายใต้หน้ากากกันต่อไปอย่างไร้ “ทางเลือก”