เสฐียรพงษ์ วรรณปก : สิ่งแรกในพระพุทธศาสนา (13) อุบาสกอุบาสิกาคู่ขวัญคู่แรก

เอ่ยชื่อ อนาถบิณฑิกเศรษฐี กับ วิสาขามหาอุบาสิกา ผู้ศึกษาพระพุทธศาสนาส่วนมากจะรู้จัก เพราะทั้งสองท่านนี้ถูกเอ่ยถึงบ่อยในตำราเรียนพระพุทธศาสนา

บ่อยจนกระทั่งมีความรู้สึกว่าทั้งสองท่านคือบรรพบุรุษไทยเราทีเดียว

อนาถบิณฑิกเศรษฐี นามเดิมว่า สุทัตตะ เป็นชาวเมืองสาวัตถี แคว้นโกศล วันหนึ่งเดินทางไปทำธุรกิจที่เมืองราชคฤห์แคว้นมคธ พักอยู่ที่บ้านของน้องเขย เห็นคนที่นั่นตระเตรียมสถานที่กันเอิกเกริก ยังกับจะมีงานรวมพล ยังไงยังงั้น จึงเอ่ยปากถามว่า มีงานเลี้ยงอะไรหรือ

ได้รับคำตอบว่า มิได้จัดงานเลี้ยงรับรองอะไร หากแต่พรุ่งนี้เช้าได้อัญเชิญเสด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามาเสวยภัตตาหาร พร้อมภิกษุสงฆ์

สุทัตตะได้ยินดังนั้นก็ขนลุกด้วยปีติ บอกว่าอยากพบพระสัมมาสัมพุทธเจ้า น้องเขยบอกให้รอพรุ่งนี้เช้าก็ได้พบแน่นอน

แต่สุทัตตะรอไม่ไหว ตกดึกคือนั้นจึงออกจากคฤหาสน์น้องเขยมุ่งหน้าไปยังสถานที่ประทับของพระพุทธเจ้า

ได้พบ และสดับพระธรรมเทศนาจากพระองค์จนบรรลุโสดาปัตติผล หลังจากขออนุญาตน้องเขยเป็นเจ้าภาพถวายภัตตาหารแด่พระพุทธองค์พร้อมภิกษุสงฆ์ในวันรุ่งขึ้น สุทัตตะกราบทูลเชิญเสด็จไปโปรดประชาชนชาวเมืองสาวัตถีบ้าง

พระพุทธองค์ตรัสว่า “คหบดี สมณะทั้งหลายยินดีในสถานที่สงบสงัด”

สุทัตตะเข้าใจเอาเองว่าพระพุทธองค์ทรงรับอาราธนา

เมื่อกลับเมืองสาวัตถี จึงได้ไปเจรจาซื้อสวนเจ้าเชตเพื่อสร้างวัดถวายพระพุทธองค์ เจ้าเชตไม่อยากขาย จึงโก่งราคาว่า เอากหาปณะมาปูลาดเต็มพื้นที่นั้นแหละคือราคาของสวนนี้ สุทัตตะจึงสั่งให้ขนกหาปณะจากคลังมาปูพื้นที่ได้ครึ่งหนึ่ง หมดเงินไป 18 โกฏิ เจ้าเชตเห็นความตั้งใจจริงของสุทัตตะจึงยินยอมเอาแค่ 18 โกฏิ ที่เหลืออีกครึ่งหนึ่งตนออกสมทบ ทั้งสองร่วมกันสร้างวัดสำเร็จ ได้ขนานนามเป็นอนุสรณ์เจ้าของสวนเดิมว่า “วัดพระเชตวัน”

สุทัตตะ เป็นผู้มีใจโอบอ้อมอารี บริจาคทานแก่คนยากคนจนและทะนุบำรุงพระพุทธศาสนาและพระสงฆ์เป็นประจำ จึงถูกขนานนามว่า “อนาถบิณฑิกะ” แปลว่าผู้มีก้อนข้าวสำหรับคนอนาถาเสมอ

ฝรั่งแปลว่า benefactor หรือ “เศรษฐีใจบุญ” นั่นเอง

คัมภีร์กล่าวว่า ท่านใจบุญสมชื่อ คราวหนึ่งการค้าขาดทุน ฐานะของท่านยากจนลง ท่านก็ยังถวายทานมากมายเหมือนเดิม ไม่ตัดทอนงบการทำบุญแต่อย่างใดจนเทวดาที่สิงอยู่ซุ้มประตูคฤหาสน์ทนไม่ได้มาปรากฏกายขอร้องให้ลดการถวายทานลงบ้าง เมื่อรู้ว่าเป็นเทวดาที่สิงอยู่ที่ซุ้มประตู เศรษฐีจึงตะเพิดไล่หนีไป ในที่สุดเทวดานั้นต้องมาขอขมา จะไม่ขัดใจท่านผู้มีอำนาจอีกแล้ว

อนาถบิณฑิกเศรษฐีมีบุตรสาวสามคน ต่างก็ช่วยงานบุญงานกุศลของบิดาคนละไม้คนละมือยกเว้นบุตรชายคนโตที่เกเร เอาแต่เที่ยวเตร่หาความสุขสนุกตามประสาลูกคนมีเงิน ดีว่าไม่ไปหาเรื่องเหยียบตีนชาวบ้าน แต่เท่านั้นก็สร้างความหนักใจให้ผู้เป็นพ่อมากในช่วงแรกๆ

ต่อมาเศรษฐีคิดอุบาย “ดัด” สันดานลูกชายได้สำเร็จ คือจ้างลูกชายไปฟังเทศน์จากพระพุทธเจ้า ไม่ช้าไม่นานลูกชายก็กลับเนื้อกลับตัวเป็นคนดี ดำเนินรอยบุญตามพ่อ

หมายเหตุ คุณพ่อคุณแม่ที่มีลูกเกเร ลองนำเทคนิควิธีของท่านอนาถบิณฑิกะมาใช้บ้าง บางทีอาจแก้ปัญหาได้บ้างกระมัง แต่ต้องจ้างไปฟังธรรมหรืออ่านหนังสือธรรมะ ให้เรียนให้เก่งนะ อย่าติดสินบนด้วยของเล่นหรือวัตถุแพงๆ

เมื่ออนาถบิณฑิกเศรษฐีสร้างวัดพระเชตวัน นางวิสาขาก็คิดสร้างวัดบ้าง จึงได้สร้างวัด “บุพพาราม” ขึ้นทางทิศตะวันออกของเมือง เรื่องราวของนางวิสาขาน่าสนใจ ขอเล่าโดยสังเขปดังนี้

นางเป็นบุตรสาว ธนัญชัยเศรษฐี กับ นางสมุนา แห่งภัททิยนคร แคว้นอังคะ นางได้พบพระพุทธเจ้าได้สดับพระธรรมเทศนาจนบรรลุโสดาปัตติผลตั้งแต่ยังเด็ก (ว่ากันว่า วัยแค่ 7 ขวบเท่านั้นเอง) นางเป็นสาวงามแบบ “เบญจกัลยาณี” คืองามพร้อม 5 ส่วน ได้แก่ ผมงาม, เนื้องาม, กระดูก (ฟัน) งาม, ผิวงาม และวัยงาม (ไม่รู้จักแก่ไปตามวัน)

นางได้แต่งงานกับบุตรชายเศรษฐีตระกูล “มิจฉาทิฐิ” (หมายถึงตระกูลที่ไม่นับถือพระพุทธศาสนา) แต่นางก็ปรนนิบัติสามีและบิดามารดาของสามีอย่างเคารพ ไม่ขาดตกบกพร่อง

แต่ถึงประพฤติตัวดีอย่างไรก็พลาดจนได้ วันหนึ่งขณะนางพัดวีบิดาสามีผู้รับประทานอาหารอยู่ พระภิกษุรูปหนึ่งอุ้มบาตรมายืนหน้าบ้าน ทำนองขอบิณฑบาต (สมัยพุทธกาลภิกษุมักจะไปยืนหน้าบ้านทายกทายิกาที่คาดว่ามีศรัทธาถวายอาหาร)

เศรษฐีเฒ่าเห็นพระแต่ทำเป็นไม่เห็น แถมหันข้างให้ รับประทานอาหารไป นางจึงเลี่ยงออกมา กระซิบกับภิกษุรูปนั้น ดังพอให้บิดาสามีได้ยินว่า “นิมนต์โปรดข้างหน้าเถิด คุณพ่อดิฉันกำลังกินของเก่า”

พูดขาดคำก็ได้ยินเสียงถ้วยชามดังเพล้ง แม่นแล้ว เศรษฐีลุกขึ้นเตะเอง ด้วยความโมโหที่ลูกสะใภ้บังอาจด่าตนหาว่า “กินอุจจาระ” ออกปากไล่นางออกจากตระกูลของตน

พราหมณ์ 8 คนที่บิดานางมอบให้ดูแลนางวิสาขา ได้ทำการสอบสวนเรื่องราว นางวิสาขาอธิบายว่า นางมิได้กล่าวหาบิดาสามีว่ากินอุจจาระดังเข้าใจ หากนางหมายถึงว่า บิดาสามีนางทำบุญแต่ปางก่อนไว้มากจึงมาเกิดเป็นเศรษฐีในชาตินี้ แต่มิได้สร้างบุญใหม่เพิ่มเลย ที่ว่าบิดาสามีนาง “กินของเก่า” หมายถึงกินบุญเก่า

พราหมณ์ทั้ง 8 ตัดสินว่านางไม่มีความผิด เศรษฐีก็เข้าใจและให้อภัย ไม่ส่งนางกลับตระกูลแถมยังหันมานับถือพระพุทธศาสนาตามนางอีกด้วย เศรษฐีนับถือลูกสะใภ้คนนี้ว่ามีบุญคุณต่อตนเป็นเสมือน “บิดาในทางธรรม” ของตน ตั้งแต่นั้นมานางวิสาขาจึงมีสมญานามว่า วิสาขาวิคารมาตา (วิสาขามารดาแห่งมิคารเศรษฐี)

นางได้ขายเครื่องระดับราคาแพงของนางชื่อ “ลดาปสาธน์” ได้เงิน 8 โกฏิ 1 แสนกหาปณะ (ว่ากันว่าไม่มีใครซื้อ จึงควักเงินตัวเองซื้อ) และเพิ่มเงินอีก 9 โกฏิ สร้างวัดบุพพารามถวายไว้ในพระพุทธศาสนาดังกล่าวแล้ว

ทั้งอนาถบิณฑิกเศรษฐี และวิสาขามหาอุบาสิกา ต่างเป็นอุบาสกอุบาสิกาตัวอย่าง ว่ากันว่าทั้งสองท่านไม่เคยไปวัดมือเปล่าเลยถ้าเป็นเวลาเช้า ก็ถืออาหารไปถวายพระ ถ้าเป็นเวลาเย็น ก็ถือดอกไม้ของหอมไปบูชาพระ จึงได้รับยกย่องใน “เอตทัคคะ” (ความเป็นผู้เลิศกว่าผู้อื่น) ในด้านการถวายทาน

นี่คือเรื่องราวสังเขปของอุบาสกอุบาสิกาคู่ขวัญคู่แรกในพระพุทธศาสนา