ศัลยา ประชาชาติ : “บิ๊กตู่” ใส่เกียร์ถอยขอ 9 เดือน ตัดสินชะตา โรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่-เทพา

ในที่สุดรัฐบาลของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ก็ตัดสินใจ “ถอย” ครั้งใหญ่กรณีของการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่-เทพา กำลังผลิตรวม 1,970 เมกะวัตต์

หลังจากที่โรงไฟฟ้าถ่านหินทั้ง 2 โรงได้ถูกบรรจุไว้ในแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้า (PDP) มาตั้งแต่ปี พ.ศ 2558 ผ่านการผลักดันทั้งจากรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง

จนกระทั่งถึงรัฐบาลที่มาจากการรัฐประหารชุดปัจจุบันก็ยังไม่สามารถก่อสร้างโรงไฟฟ้าทั้ง 2 แห่งนี้ได้สำเร็จ

โดยการซื้อเวลาไม่ตัดสินใจที่จะเดินหน้าหรือล้มเลิกโครงการตลอดระยะเวลา 4 ปีที่ผ่านมาได้ “สะท้อน” ให้เห็นถึงความเข้มแข็งของชุมชน “ไม่เอาโรงไฟฟ้าถ่านหิน” ทั้งในพื้นที่และในหมู่ชนชั้นกลางของประเทศ

ประสานเข้ากับข้อมูลทางวิชาการที่มักจะกล่าวว่า ไม่มีโรงไฟฟ้าถ่านหินแห่งใดในโลกนี้ “สะอาด” จริง

ประกอบกับเป็นช่วงสุดท้ายของรัฐบาลชุดนี้ก่อนที่ประเทศไทยจะเดินหน้าสู่การเลือกตั้ง

 

ดังนั้น จึงกลายเป็นปรากฏการณ์ที่หาดูได้ยากยิ่งเมื่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานคนล่าสุด นายศิริ จิระพงษ์พันธ์ ได้รับ “ไฟเขียว” จากรัฐบาลให้ลงนามในบันทึกข้อตกลงระหว่างรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานกับเครือข่ายปกป้องสองฝั่งทะเลกระบี่-เทพา ยุติโรงไฟฟ้าถ่านหิน เมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2561 โดยมีสาระสำคัญ 4 ข้อ ได้แก่

1) ให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เจ้าของโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่-เทพา ทำการ “ถอน” รายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (EHIA) ของโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา กับรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (EHIA) โรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ฉบับใหม่ออกจากสำนักงานนโยบายและแผนการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) ภายใน 3 วันนับจากวันที่ลงนามในข้อตกลงฉบับนี้

2) ให้กระทรวงพลังงานดำเนินการจัดทำรายงานประเมินผลกระทบเชิงยุทธศาสตร์ (SEA) เพื่อทำการศึกษาว่า พื้นที่ในจังหวัดกระบี่ กับพื้นที่ใน อ.เทพา จ.สงขลา นั้น มีความเหมาะสมที่จะก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินหรือไม่ โดยผู้จัดทำรายงานจะต้องประกอบไปด้วยนักวิชาการที่มีความเป็นกลางทั้ง 2 ฝ่ายยอมรับร่วมกัน และหากผลการศึกษาในรายงาน SEA ระบุว่า การก่อสร้างโรงไฟฟ้าใน 2 พื้นที่ “ไม่เหมาะสม” กฟผ. ก็จะต้อง “ยุติ” การดำเนินโครงการโรงไฟฟ้าทั้ง 2 แห่งในพื้นที่ทันที การจัดทำรายงาน SEA จะต้องดำเนินการให้เสร็จภายในระยะเวลา 9 เดือนนับจากวันลงนามในข้อตกลงฉบับนี้เช่นกัน

3) แต่หากผลการศึกษาในรายงาน SEA บ่งชี้ว่า พื้นที่ใน อ.เทพา กับจังหวัดกระบี่มีความเหมาะสมในการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน ขั้นตอนของการจัดทำ EHIA ฉบับที่จะต้องจัดทำขึ้นใหม่จะต้องถูกดำเนินการโดยคนกลางที่ยอมรับร่วมกันทั้ง 2 ฝ่าย

และ 4) ให้คดีความระหว่าง กฟผ. กับเครือข่ายต่อต้านโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่-เทพา เป็นอันเลิกแล้วต่อกัน

 

มีข้อน่าสังเกตว่า “เส้นตาย” ของการจัดทำรายงานประเมินผลกระทบเชิงยุทธศาสตร์ (SEA) ที่จะเข้ามาชี้เป็นชี้ตายโรงไฟฟ้าถ่านหินทั้ง 2 โรงนี้จะต้องรู้ผลไม่เกินเดือนพฤศจิกายน หรืออย่างช้าที่สุดคือสิ้นปี 2561 ในขณะที่การเลือกตั้งครั้งหน้าคาดการณ์ว่าจะเกิดขึ้นในราวๆ ต้นปี 2562

ดังนั้น การตัดสินใจว่าโรงไฟฟ้าถ่านหินจะได้ “ไปต่อ” หรือไม่อย่างไร จึงน่าจะพ้นจากความรับผิดชอบของรัฐบาลชุดปัจจุบันไปแล้วนั่นเอง

ไม่ว่าสถานะของโรงไฟฟ้าถ่านหินทั้ง 2 แห่งจะเป็นเช่นไรในอนาคต ความจริงที่ไม่อาจจะลบล้างไปได้ก็คือ ความเสี่ยงทางด้านพลังงานกรณีไฟตก/ดับในภาคใต้เป็นเรื่องที่ไม่อาจจะปฏิเสธได้ โดยตัวเลขการใช้ไฟฟ้าสูงสุดในภาคใต้ครั้งล่าสุด (18 มีนาคม 2560) พุ่งขึ้นสูงถึง 2,624 MW (ช่วงระหว่าง 19.00-21.00 น.) หรือเท่ากับกำลังผลิตจริงที่เกิดขึ้นในพื้นที่ภาคใต้พอดี โดย “กำลังผลิตจริง” ข้างต้นมาจาก 2 โรงไฟฟ้าหลัก กล่าวคือ

โรงไฟฟ้าจะนะ 1,106 MW (กำลังผลิตติดตั้ง 1,476 MW), โรงไฟฟ้าขนอน 918 MW (กำลังผลิตติดตั้ง 930 MW) นอกจากนี้ ยังมีกำลังผลิตไฟฟ้าจากเขื่อน 108 MW (กำลังผลิตติดตั้ง 317 MW), โรงไฟฟ้าชีวมวล 29 MW และโรงไฟฟ้าจากพลังงานลมอีก 3 MW (กำลังผลิตติดตั้ง 36 MW) หรือมีกำลังผลิตไฟฟ้าในพื้นที่จริงๆ เท่ากับ 2,164 MW ซึ่งหมายถึง ไฟฟ้าที่ผลิตได้จริงในภาคใต้ห่างจากช่วงที่เกิดการใช้ไฟฟ้าสูงสุดถึง 460 MW

ดังนั้น จึงมีความจำเป็นที่จะต้องส่งไฟฟ้าจากภาคกลางผ่านสายส่งเข้าไปเพิ่มให้กับภาคใต้อีก 460 MW หรือสถานการณ์ช่วงที่มีความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุดในภาคใต้ (Peak) จึงถือว่าเสี่ยงสุดๆ หากเกิดกรณีที่ว่า

1) โรงไฟฟ้าหลักโรงใดโรงหนึ่งใน 2 โรง (จะนะ-ขนอม) มีอันต้องหยุดการผลิตไฟฟ้าลง

2) เกิดอุบัติเหตุจากสายส่งไฟฟ้าแรงสูง ซึ่งเคยเกิดมาแล้วจนทำให้ไฟดับในภาคใต้เป็นวงกว้าง

และ 3) ความต้องการใช้ไฟฟ้าในภาคใต้เพิ่มขึ้นในอีก 3 ปีข้างหน้าเกินกว่าที่ กฟผ. จะจัดหาไฟฟ้าจากส่วนกลางลงไปช่วยได้

คำถามก็คือ ระหว่างที่จะต้องรอรายงานประเมินผลกระทบเชิงยุทธศาสตร์ (SEA) ในอีก 9 เดือนข้างหน้าว่าจะก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินในพื้นที่เทพา-กระบี่ได้หรือไม่ และจะรักษาความมั่นคงของระบบไฟฟ้าในภาคใต้ได้อย่างไร

 

ในประเด็นนี้มีคำตอบออกมาแล้วจากกระทรวงพลังงาน ร่วมกับ กฟผ. จะดำเนินการใน 2 แผนคือ

1) เพิ่มจำนวนและขนาดของสายส่งแรงดันสูง (High Voltage Transmission Line) เชื่อมโรงไฟฟ้าหลัก 2 โรง (จะนะ-ขนอม) ส่งไฟตรงสู่เมืองที่มีการใช้ไฟฟ้ามากสุดบริเวณฝั่งอันดามันและเชื่อมกับสายส่งหลักที่มาจากภาคกลางที่สถานีจังหวัดสุราษฎร์ธานี

กับ 2) พัฒนาระบบสายส่งและโรงไฟฟ้าชีวมวลใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ให้สามารถบริหารจัดการได้อย่างมีประสิทธิภาพเพียงพอกับความต้องการใช้ในพื้นที่

หากดำเนินการตามแผนการที่วางเอาไว้ทั้ง 2 แผน เชื่อว่ายังพอจะมีเวลาอีก 3 ปีระหว่างรอคอยการตัดสินใจว่าจะเอาโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่-เทพา หรือไม่อย่างไร