มองไทยใหม่ : P T K ถอดเป็นภาษาไทยอย่างไร ?

เสียง p t และ k (รวมทั้ง c ที่ออกเสียงเป็น k) เมื่อถอดออกมาเป็นภาษาไทยควรจะถอดอย่างไร

เรื่องนี้มีความเห็นที่ต่างกันหลายอย่าง

ที่แตกต่างกันใหญ่ๆ มีอยู่ ๒ กลุ่มคือ

กลุ่มหนึ่งถือว่า p t k ไม่ว่าจะปรากฏอยู่ในตำแหน่งใดจะใช้ตัวอักษรไทยตัวเดียวกันตลอด นั้นคือ พ ท ค ตามลำดับ เช่น

Pam = แพม capsule = แคพซูล

Tom = ทอม Pat = แพท

Kansas = แคนซัส New York = นิวยอร์ค

อีกกลุ่มหนึ่ง แยก p t k เป็น ๒ พวก นั่นคือ p t k ที่เป็นพยัญชนะต้นถอดเป็น พ ท ค ส่วน p t k ที่เป็นพยัญชนะท้าย (ตัวสะกด) และตัวการันต์ถอดเป็น ป ต ก เช่น

Pam = แพม capsule = แคปซูล

Tom = ทอม Pat = แพต

Kansas = แคนซัส New York = นิวยอร์ก

หลักเกณฑ์นี้เป็นหลักเกณฑ์ที่ราชบัณฑิตยสถาน/สภาใช้มาตั้งแต่การกำหนดหลักเกณฑ์การทับศัพท์ภาษาอังกฤษ พ.ศ.๒๕๓๒ (ซึ่งปรับปรุงจากหลักเกณฑ์ พ.ศ.๒๔๘๕) ดังจะเห็นได้จากคำส่วนใหญ่ที่เก็บไว้ในพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน เช่น ซุป (soup) ยิปซัม (gypsum) ไทเทรต (titrate) แฟลต (flat) ชอล์ก (chalk) เดนมาร์ก (Denmark)

ในปัจจุบัน ผู้ใช้ภาษาทั่วไปก็เลือกใช้กันทั้ง ๒ แบบ เราจึงเห็นคำอย่าง ไลท์โนเวล ไลท์เซเบอร์ มินิมาร์ท ซันต์ไลต์

ส่วนคำอย่าง ไลท์มิวสิก และ รีสอร์ท นั้น นอกจากจะใช้หลักของกลุ่มแรก คือ p t k ไม่ว่าจะปรากฏในตำแหน่งใดก็จะใช้ ป ต ก เช่นเดียวกันแล้ว ยังเขียนตามความนิยมการออกเสียงของคนไทยด้วย นั่นคือพยางค์คำตายอาจจะออกเป็นเสียงเอกหรือเสียงตรีก็ได้ คำใดที่พร้อมใจกันให้เป็นเสียงใดเสียงหนึ่งโดยไม่ต่างกันแล้วก็มักจะนิยมเขียนตามนั้นเสียงนั้น

ดังในกรณีของคำว่า เฉด (shade) พาเหรด (parade) มิวสิก (music) รีสอร์ท (resort) โหลด (load) โหวต (vote) ฯลฯ คำเหล่านี้อาจจะถือได้ว่าเป็น “คำไทยซึ่งมีที่มาจากภาษาอังกฤษ” เช่นเดียวกับคำว่า เสน่ห์ ซึ่งถือได้ว่าเป็น “คำไทยซึ่งมีที่มาจากภาษาสันสกฤต” แต่ถ้าอาจจะออกเสียงต่างกันได้ดังในกรณีของคำว่า นิวยอร์ก ซึ่งมีการออกเสียงทั้งแบบ [นิวย้อก] และ [นิวหยอก] ก็จะไม่มีการแสดงเสียงวรรณยุกต์ ซึ่งเป็นหลักเกณฑ์การทับศัพท์ที่ราชบัณฑิตยสภาถือตามพระดำริของ พลตรี พระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์ ที่ว่า

“การเขียนคำในภาษาต่างประเทศ โดยเฉพาะภาษาอังกฤษออกเสียงไม่แน่นอน จะออกเสียงอย่างไรย่อมแล้วแต่ประโยค เสียงจะสูงต่ำก็แล้วแต่ตำแหน่งของคำในประโยค จึงทรงเห็นว่าไม่ควรใช้วรรณยุกต์กำกับตามเหตุผลดังกล่าว”

การเขียนตามหลักเกณฑ์ของราชบัณฑิตยสถาน/สภาคือการเขียนตามแบบราชการ ซึ่งใช้ในเอกสารเช่น หนังสือราชการ บทความทางวิชาการ วิทยานิพนธ์ ฯลฯ

หากผู้อื่นจะไม่ใช้ตามก็ถือว่าเป็นสิทธิส่วนบุคคล ไม่มีความผิดอันใด เพียงแต่ไม่ใช้หลักของราชบัณฑิตสภาเท่านั้น

ขอบคุณที่มาภาพประกอบ