อะไร(แม่ง)ก็เป็นศิลปะ : ศิลปิน(หญิง)ผู้เสียดสีสังคมด้วยการจำแลงกาย

ภาณุ บุญพิพัฒนาพงศ์

ในคราวนี้จะขอกล่าวถึงศิลปินหญิงร่วมสมัยคนสำคัญและทรงอิทธิพลในโลกศิลปะอีกคนหนึ่ง เธอผู้นั้นมีชื่อว่า

ซินดี้ เชอร์แมน (Cindy Sherman)

หนึ่งในศิลปินคนสำคัญและทรงอิทธิพลที่สุดในวงการศิลปะร่วมสมัย เธอสร้างสรรค์ผลงานศิลปะด้วยการสำรวจโครงสร้างและตัวตนของสื่อร่วมสมัย และธรรมชาติของการสร้างภาพตัวแทนอย่างต่อเนื่อง แหลมคม และกระตุ้นเร้าอารมณ์เป็นอย่างยิ่ง

ด้วยการหยิบยืมภาพวาดโด่งดังในประวัติศาสตร์ รวมถึงภาพที่มีอยู่ไม่จำกัดจากสื่อประเภทต่างๆ อย่างโทรทัศน์ นิตยสาร โฆษณา และใช้ตัวเองจำแลงแปลงกายให้กลายเป็นตัวละครในภาพต่างๆ เหล่านั้น ด้วยท่าทีที่ขบขัน, ยียวนกวนอารมณ์ ไปจนถึงหยาบคายน่ารังเกียจ และรบกวนจิตใจคนดูเป็นอย่างยิ่ง

โดยเธอเหมารวมทั้งตำแหน่งช่างภาพ, นางแบบ, ช่างแต่งหน้าทำผม, สไตลิสต์ และช่างตัดเย็บเสื้อผ้า เธอเปลี่ยนแปลงร่างกายและฉากรอบตัวในภาพถ่ายเธอด้วยความเชี่ยวชาญ ด้วยเสื้อผ้า, วิกผม, อุปกรณ์แต่งหน้า ไปจนถึงอวัยวะเทียมสำหรับปลอมแปลงกาย และอุปกรณ์ประกอบฉากต่างๆ เพื่อสร้างภาพอันคุ้นตา

หากแต่ก็แปลกประหลาดพิลึกพิลั่น ตั้งแต่ตัวละครในงานจิตรกรรมชั้นครู, ดาราภาพยนตร์, บุคคลเด่นดังในสังคม, ตัวตลก หรือแม้แต่สื่อลามก ก็ยังมี

ซินดี้ เชอร์แมน เป็นศิลปินคนสำคัญของกลุ่ม Pictures Generation กระแสเคลื่อนไหวทางศิลปะของศิลปินอเมริกันที่เป็นที่รู้จักในช่วงยุค 1980 ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่เกิดการเติบโตอย่างรวดเร็วและแพร่หลายของสื่อทางภาพในงานสื่อสารมวลชน

ในช่วงแรกที่ศึกษาศิลปะ เธอวาดภาพแบบเหมือนจริง ซึ่งเป็นผลพวงของช่วงหลังยุคเฟื่องฟูของลัทธิเฟมินิสต์อเมริกัน

ต่อมาเธอเปลี่ยนมาใช้สื่อสมัยใหม่อย่าง ภาพถ่าย ในช่วงปลายยุค 1970 เพื่อสำรวจขอบเขตอันกว้างขวางของบทบาททางสังคมทั่วๆ ไปของสตรีเพศ หรือแม้แต่ตัวเธอเอง

เชอร์แมนเสาะหาหนทางในการตั้งคำถามเกี่ยวกับความเย้ายวนและอิทธิพลอันกดขี่ของสื่อมวลชนที่มีต่อปัจเจกชนและสังคมโดยรวม

ด้วยแรงบันดาลใจจากศิลปะการนำเสนอภาพแทนของบุคคลในงานจิตรกรรม และการสวมบทบาทเป็นคนอื่นในศิลปะการละคร ที่มีขนบธรรมเนียมที่สืบทอดมาอย่างยาวนาน เชอร์แมนใช้กล้องถ่ายรูปและอุปกรณ์ต่างๆ ในชีวิตประจำวันอย่าง เครื่องสำอาง, วิกผม, เสื้อผ้าเครื่องแต่งกาย และฉากหลังแบบละครเวที เพื่อสร้างภาพคุ้นที่คนเราพบเห็นอยู่ทุกเมื่อเชื่อวันในชีวิตประจำวันเหล่านั้นขึ้นมาใหม่ ด้วยการถ่ายภาพอย่างฉับพลันแบบสแนปช็อต เพื่อสื่อแสดงนัยยะถึงกรอบคิดเกี่ยวกับชื่อเสียงในสาธารณะ, ความเชื่อมั่นในตัวเอง, ความน่าตื่นเต้นทางเพศ, ความบันเทิง ไปจนถึงการลงทัณฑ์ทางสังคม และสภาวะการดำรงอยู่ของมนุษย์

ศิลปะภาพถ่ายของเชอร์แมนท้าทายขนบธรรมเนียมและวัฒนธรรมเดิมๆ ที่สืบเนื่องมาอย่างยาวนานของศิลปะภาพเหมือน ที่บังคับให้ผู้ชมมองจากด้านเดียว ด้วยการใช้มุมมองที่ตัวละครในภาพเผชิญหน้าและท้าทายสายตาที่จ้องมองของผู้ชมอย่างตรงไปตรงมา และสอดแทรกอารมณ์ขันแบบหน้าตาย เพื่อล้อเลียนเสียดสีสังคม, การเมือง แบบเดียวกับการ์ตูน หรือนิยายราคาถูก

และการเดี่ยวไมโครโฟน ด้วยท่าทีเย้ยหยัน และชวนให้อึดอัด

 

เพื่อวิพากษ์วิจารณ์กฎเกณฑ์อันคร่ำครึของโลกศิลปะและสังคม และกระตุ้นเร้าให้ผู้ชมตั้งคำถามถึงสิ่งที่แฝงอยู่ภายใต้ภาพลักษณ์อันจำเจสายตาเหล่านั้น ว่ามันอาจจะเป็นคุณค่าเพียงอย่างเดียวที่ทำให้เราอยู่ร่วมกันในสังคมได้อย่างแท้จริงหรือไม่

ด้วยการใช้สื่อที่สะท้อนความเป็นจริงอย่างแม่นยำอย่าง ภาพถ่าย ผลงานศิลปะแห่งการปลอมแปลงตัวตนอันแปลกประหลาดของ ซินดี้ เชอร์แมน เป็นสัญลักษณ์ของความรู้สึกนึกคิดและความไม่มั่นคงทางธรรมชาติของการรับรู้สื่อทางภาพต่างๆ ภายในจิตใจมนุษย์

อย่างเช่น ในผลงานในชุด “Untitled Film Still” ภาพถ่ายขาวดำที่เธอสวมบทบาทเป็นนักแสดงสาวไร้ชื่อ ที่ทำให้นึกไปถึงหนังฮอลลีวู้ด, หนังเกรดบี และหนังฟิล์มนัวร์

เชอร์แมนมักใช้ข้าวของส่วนตัวของตัวเองเป็นอุปกรณ์ประกอบฉาก หรือบางครั้งก็หยิบยืมมา และมักจะถ่ายทำในอพาร์ตเมนต์ของเธอ

อาทิ ผลงาน Untitled Film Still #13 (1978) ที่เธอรับบทสาวน้อยปัญญาชนที่กำลังค้นหาความหมายของการเป็นผู้หญิงที่แท้จริง หรือผลงาน Untitled Film Still #21 (1978) ที่เธอรับบทเป็นสาวน้อยจากชนบทที่จับพลัดจับผลูเข้ามาอยู่ในเมืองใหญ่

เชอร์แมนมองทะลุความซ้ำซากจำเจของวัฒนธรรมสื่อสารมวลชน และเลียนแบบมันด้วยท่าทีเย้ยหยันเสียดสี ที่กระตุ้นเร้าให้ผู้ชมตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับความแสแสร้งจอมปลอมของการสร้างภาพลักษณ์ของความเป็นสุภาพสตรีของผู้หญิงในสังคม

เธอสำรวจบทบาทของสื่อสารมวลชน ที่มีส่วนในการสร้างบุคลิกและความเป็นตัวตนของคนเราขึ้นมา

หรือในผลงานชุด Untitled, “Sex Pictures” Series (1983) ภาพถ่ายของหุ่นโชว์เสื้อสตรี ที่ดูคล้ายกับตุ๊กตายาง ด้วยการจัดวางท่าทางและใส่อวัยวะเพศให้หุ่นอย่างโจ่งแจ้งเพื่อเลียนแบบภาพในสื่อลามกอย่างหนังสือโป๊

แต่เธอไม่ได้ทำเพื่อให้มันเป็นเครื่องมือกระตุ้นเร้าทางเพศ

CS_MP_261 001

ในทางตรงกันข้าม มันเป็นการแสดงการวิพากษ์วิจารณ์การที่ผู้หญิงถูกลดทอนความเป็นมนุษย์ในสื่อเหล่านั้นเสียมากกว่า

แต่บางครั้งหุ่นโชว์เหล่านี้ก็ถูกทำออกมาอย่างกำกวม ด้วยการคว้านอวัยวะเพศของหุ่นออกจนเป็นรูกลวงโบ๋ หรือติดสลับอวัยวะเพศกับหุ่นโชว์เพศชาย เพื่อจงใจให้ไม่อาจระบุเพศที่แน่ชัด

ถึงแม้ ซินดี้ เชอร์แมน จะไม่คิดว่าเธอเป็นศิลปินเฟมินิสต์ แต่ก็เห็นได้ชัดว่าผลงานของเธอวิพากษ์วิจารณ์ประเด็นของความเหมารวมต่อเพศหญิงในสังคม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในวงการศิลปะและวงการบันเทิงอย่างเจ็บแสบ เธอกล่าวว่า

“ฉันต้องการให้ผู้ชายที่ดูงานของฉัน รู้สึกเหมือนเวลาเปิดหน้านิตยสาร แล้วคาดหวังจะเห็นอะไรที่สนองตัณหาตัวเอง แต่รู้สึกช็อก และรู้สึกว่าตัวเองเป็นผู้ล่วงละเมิด เป็นผู้คุกคาม (อย่างที่พวกเขาเป็น) ที่มองผู้หญิงเหล่านั้นที่อาจจะดูเป็นเหยื่อทางเพศ (ฉันไม่ได้คิดว่าพวกเขาเป็นเหยื่อจริงๆ นะ) แต่ฉันหวังว่าจะทำให้ผู้ชายเหล่านั้นรู้สึกแย่ จากการที่พวกเขามีความคาดหวังเช่นนั้น”

นอกจากทำงานศิลปะแล้ว เธอยังเป็นผู้กำกับหนังด้วย

โดยหนังยาวเรื่องแรกและเรื่องเดียวที่เธอทำออกมาคือ Office Killer (1997)

นอกจากรับบทเป็นนักแสดงรับเชิญในหนังของตัวเอง

เธอยังไปปรากฏตัว (แว่บนึง) ในหนัง Pecker (1998) ของ จอห์น วอเตอร์ส อีกด้วย

ซินดี้ เชอร์แมน เป็นตัวอย่างอันโดดเด่นของศิลปินที่หยิบฉวย (appropriation) เอาภาพลักษณ์ของสื่อร่วมสมัยรอบๆ ตัวมาใช้ในการเปลี่ยนแปลงตัวเองให้กลายเป็นสิ่งเหล่านั้น เพื่อตั้งคำถามต่อความจริงแท้หรือจอมปลอมของภาพที่ปรากฏในสื่อร่วมสมัย และพลังอำนาจในการดึงดูดโน้มน้าวจิตใจสาธารณชนของมัน

ผลงานศิลปะของเธอนำเสนอหนทางใหม่ๆ ในการวิพากษ์วิจารณ์สังคม ที่เต็มไปด้วยปฏิภาณไหวพริบ เปี่ยมด้วยสุนทรียะแห่งการเสียดสี และชั้นเชิงในการกระตุ้นเร้าเย้าหยอกผู้ชมให้เกิดการตั้งคำถามต่อสิ่งรอบตัว

รวมถึงบุกเบิกแนวทางใหม่ๆ ของศิลปะการถ่ายภาพที่เล่าเรื่องด้วยอารมณ์ของห้วงเวลาที่หยุดนิ่งชะงักงัน

เธอเล่าเรื่องด้วยการไม่เล่าเรื่อง ผ่านสื่อแห่งการปลอมแปลงตัวตนภายใต้สถานการณ์กลืนไม่เข้าคายไม่ออก และรบกวนจิตใจผู้ชมอย่างบอกไม่ถูก

งานศิลปะของ ซินดี้ เชอร์แมน ส่งอิทธิพลให้กับศิลปินภาพถ่ายและศิลปินคอนเซ็ปช่วลรุ่นหลังอย่างมากมาย ไม่ว่าจะเป็น เจฟฟ์ วอลล์ (Jeff Wall), แอนนา กาสเคลล์ (Anna Gaskell), จัสทีน เคอร์แลนด์ (Justine Kurland), เจนนี เกจ (Jenny Gage), ชารอน ล็อกฮาร์ต (Sharon Lockhart) และ ยาซูมาซะ โมริมูระ (Yasumasa Morimura) เป็นอาทิ