ปิยบุตร แสงกนกกุล : ประวัติศาสตร์ภูมิปัญญาปฏิวัติฝรั่งเศส (เหตุการณ์ทางการเมืองที่กดดันให้ลงนาม)

ในตอนที่แล้วได้กล่าวถึงแนวคิดที่สามที่เห็นว่า ชาติเป็นผู้ทรงอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญ ส่วนกษัตริย์เป็นองค์กรที่รัฐธรรมนูญได้ก่อตั้งขึ้น ดังนั้น กษัตริย์จึงต้องลงนามยอมรับรัฐธรรมนูญเสมอ

อย่างไรก็ตาม แนวคิดนี้ก็พบกับปัญหาตามมาว่า ในกรณีที่กษัตริย์ไม่ยินยอมลงนามรัฐธรรมนูญ ผลจะเป็นเช่นไร

เพราะต้องไม่ลืมว่า ต่อให้ยืนยันว่ากษัตริย์ต้องถูกบังคับให้ลงนามในรัฐธรรมนูญ แต่เมื่อกษัตริย์เป็นบุคคลซึ่งมีเจตจำนงของตนเอง ต่อให้บังคับอย่างไร หากกษัตริย์ไม่ยอมลงนามในรัฐธรรมนูญแล้วจะทำอย่างไรได้

Mirabeau พยายามอธิบายว่า หากกษัตริย์ไม่ยอมรับรัฐธรรมนูญ นั่นหมายถึง บุคคลที่ดำรงตำแหน่งกษัตริย์ไม่ยอมรับรัฐธรรมนูญในฐานะส่วนตัว ไม่ใช่ในฐานะกษัตริย์

กษัตริย์ในฐานะส่วนบุคคลย่อมมีสิทธิในการเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยกับรัฐธรรมนูญได้ ดังนั้น กษัตริย์อาจให้ความเห็นเกี่ยวกับรัฐธรรมนูญได้ เพียงแต่ความเห็นนั้นไม่ผูกมัดสภาแห่งชาติและตัวรัฐธรรมนูญ

ในขณะที่สมาชิกสภาแห่งชาติหลายคนพยายามหลีกเลี่ยงไม่ตอบประเด็นปัญหานี้ ด้วยเกรงว่าจะนำมาซึ่งความขัดแย้งรุนแรงจนทำให้การเมืองไร้เสถียรภาพและไม่สามารถหาจุดประนีประนอมกันในการจัดทำรัฐธรรมนูญได้

ปัญญาชนกลับเสนอความเห็นได้ก้าวหน้ากว่า เช่น Polverel นักเขียนปีกซ้าย ได้เสนอไว้ในงานของเขาชื่อ Developpement des observations sur la sanction royale et le droit de veto (พัฒนาการของข้อสังเกตว่าด้วยพระราชอำนาจในการประกาศใช้กฎหมายและการยับยั้งการประกาศใช้กฎหมาย) เมื่อปี 1789 ว่า หากกษัตริย์ปฏิเสธไม่ยอมรับรัฐธรรมนูญ นั่นหมายความว่า กษัตริย์ตัดสินใจสละราชบัลลังก์

การปฏิเสธรัฐธรรมนูญคือการกระทำส่วนตนของกษัตริย์ ไม่ส่งผลให้รัฐธรรมนูญต้องตกไป

ตรงกันข้าม เมื่อกษัตริย์ปฏิเสธรัฐธรรมนูญ ก็หมายความว่า กษัตริย์ไม่ต้องการเป็นกษัตริย์ตามที่รัฐธรรมนูญกำหนด

ความคิดทั้งสามแนวทางที่เกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างรัฐธรรมนูญและกษัตริย์ และอำนาจของกษัตริย์ในการประกาศใช้รัฐธรรมนูญที่เวียนว่ายอยู่ในช่วงปี 1789 ตั้งแต่ช่วงการเลือกตั้งสภาฐานันดรจนมาถึงเริ่มต้นจัดทำรัฐธรรมนูญนั้น เป็นการถกเถียงอภิปรายในทางภูมิปัญญาเท่านั้น

จนกระทั่งเมื่อเกิดเหตุการณ์อันเป็นจุดพลิกผันให้การปฏิวัติเดินรุดหน้ามากขึ้น ข้อถกเถียงเหล่านี้ก็ถูกชี้ขาดลงได้

อาจกล่าวได้ว่า ในท้ายที่สุด ความคิดอันหลากหลายต้องถูกตัดสินโดยเหตุปัจจัยทางการเมืองมากกว่าเหตุผลทางทฤษฎี

เมื่อเหตุปัจจัยทางการเมืองกลายเป็นตัวชี้ขาดว่าสุดท้ายแล้วความสัมพันธ์ของกษัตริย์กับรัฐธรรมนูญจะเป็นเช่นไร ดังนั้น เราจึงจำเป็นต้องอภิปรายถึงเหตุการณ์ทางการเมืองที่ช่วยกดดันให้กษัตริย์ต้องยอมรับรัฐธรรมนูญ

ซึ่งแบ่งได้เป็น 3 ช่วง ได้แก่ ช่วงแรก การลงนามของกษัตริย์หลุยส์ที่ 16 ในมติให้สภาฐานันดรเปลี่ยนเป็นสภาแห่งชาติ

ช่วงที่สอง การลงนามของกษัตริย์หลุยส์ที่ 16 ในคำประกาศสิทธิมนุษยชนและพลเมือง 4 สิงหาคม 1789 และร่างรัฐธรรมนูญเบื้องต้น 19 มาตรา

และช่วงที่สาม การลงนามของกษัตริย์หลุยส์ที่ 16 ในรัฐธรรมนูญ 1791

เหตุการณ์ทั้งสามกรณีนี้ ได้แสดงให้เห็นถึง ความเปลี่ยนแปลงเรื่องแนวคิดพระราชอำนาจของกษัตริย์ในการลงนามในรัฐธรรมนูญ และพัฒนาการของแนวคิดที่ให้ “ชาติ” อยู่เหนือ “กษัตริย์” เริ่มจากการลงนามของกษัตริย์เป็นเรื่องจำเป็นอันขาดเสียมิได้ เปลี่ยนแปลงอย่างก้าวหน้ามาสู่การลงนามของกษัตริย์ คือการยอมรับรัฐธรรมนูญ และหากกษัตริย์ปฏิเสธไม่ยอมรับรัฐธรรมนูญ ย่อมหมายถึง กษัตริย์ต้องการสละราชสมบัติ

ในคอลัมน์นี้จะทยอยบรรยายไล่เรียงไปตามลำดับ

เหตุการณ์แรก การลงนามของกษัตริย์หลุยส์ที่ 16 ในมติให้สภาฐานันดรเปลี่ยนเป็นสภาแห่งชาติ

ภายหลังเปิดประชุมสภาฐานันดรแล้ว สมาชิกสภาจากฐานันดรที่ 3 พยายามคิดหาวิธียกเลิกการประชุมและลงมติแบบแยกฐานันดร และเปลี่ยนให้ฐานันดรทั้ง 3 มาประชุมและลงมติร่วมกัน ซึ่งหากทำได้สำเร็จ ฐานันดรที่ 3 ก็จะได้เปรียบและมีบทบาทสำคัญทันที เพราะจำนวนสมาชิกสภาฐานันดรที่ 3 มีมากที่สุด

ในวันที่ 15 มิถุนายน 1789 สมาชิกสภาฐานันดรที่สามปีกนักกฎหมาย-ทนายความ นำโดย Sieyes เสนอวาระให้พิจารณายกเลิกการแยกประชุมในแต่ละฐานันดรและยกเลิกการลงมติในแต่ละฐานันดรแยกกัน

พวกเขาเสนอให้ทั้งสามฐานันดรประชุมร่วมกันและลงมตินับคะแนนเป็นรายบุคคล โดยต้องการเปลี่ยนชื่อจากสภาฐานันดรให้เป็น “สภาแห่งผู้แทนซึ่งได้การยอมรับและตรวจสอบจากชาติฝรั่งเศส” (Assemblee des representants reconnus et verifies de la nation francaise)

สภาลักษณะเช่นนี้จะเกิดขึ้นได้ก็ต้องมีสมาชิกฐานันดรพระและฐานันดรขุนนางเข้ามาร่วมด้วย แต่สมาชิกฐานันดรทั้งสองปฏิเสธข้อเสนอดังกล่าว ทำให้สภาฐานันดรที่สามต้องประชุมต่อไปกันเองที่ห้องประชุมใหญ่ Menus-Plaisirs

พวกเขาจัดการเปลี่ยนชื่อเรียกตนเองเสียใหม่ว่า สภา Communes โดยหยิบยืมมาจาก House of Commons ของอังกฤษ

อย่างไรก็ตาม สมาชิกสภาฐานันดรที่สามยังคงเชิญชวนสมาชิกสภาฐานันดรขุนนางและพระที่เห็นด้วยให้มาร่วมประชุมด้วยกันเพื่อตรวจสอบว่าสภาแห่งนี้มีอำนาจอะไรบ้าง

พวกเขาคาดหวังว่าเมื่อสภานี้ประกอบรวมกันได้แล้ว ก็จะช่วงชิงจังหวะยืนยันว่าสภาแห่งนี้มีอำนาจในการตรารัฐธรรมนูญ

ฐานันดรพระและฐานันดรขุนนางยังคงปฏิเสธไม่ยอมเข้าร่วมประชุม

เมื่อสถานการณ์เป็นเช่นนี้ ฐานันดรที่สามจึงต้องตัดสินใจยืนยันความต้องการของตน ในวันที่ 17 มิถุนายน Sieyes เสนอให้สภาฐานันดรเปลี่ยนสถานะตนเองเป็นสภาแห่งชาติ (Assemblee nationale)

ที่ประชุมมีมติเห็นชอบด้วยคะแนน 491 เสียงต่อ 90 เสียง

การเปลี่ยนจากสภาฐานันดรเป็นสภาแห่งชาติไม่ใช่เป็นเพียงการเปลี่ยนแปลงชื่อเท่านั้น แต่มันยังสะท้อนให้เห็นถึงความคิดใหม่เรื่อง “อำนาจอธิปไตยแห่งชาติ” (souverainete nationale) ซึ่งถือเป็นพื้นฐานของการกำเนิดกฎหมายมหาชนสมัยใหม่ในฝรั่งเศส

นับแต่นี้อำนาจอธิปไตยไม่ได้เป็นของกษัตริย์อีกต่อไป แต่เป็นของชาติ ซึ่งมีสภาแห่งชาติที่ประกอบไปด้วยผู้แทนของชาติเป็นผู้ใช้อำนาจอธิปไตย

มีแต่เพียงสภาแห่งชาติเท่านั้นที่มีอำนาจในการตีความและแสดงออกซึ่งเจตจำนงทั่วไปของชาติ

ดังนั้น สภาแห่งชาติจึงกลายเป็นผู้ทรงอำนาจสูงสุดในการกำหนดชีวิตทางการเมืองของฝรั่งเศส

วันที่ 17 มิถุนายน 1789 จึงเป็นห้วงเวลาสำคัญทางประวัติศาสตร์และก่อตั้งการปฏิวัติฝรั่งเศส

มีประเด็นปัญหาต้องพิจารณาต่อมาว่า มติเปลี่ยนให้สภาฐานันดรกลายเป็นสภาแห่งชาตินี้ ต้องให้กษัตริย์หลุยส์ที่ 16 ลงนามรับรองหรือไม่?

Sieyes เห็นว่า การนำมตินี้ให้กษัตริย์หลุยส์ที่ 16 ลงนามรับรอง เป็นเพียงการรับรองในสิ่งที่สำเร็จเด็ดขาดไปแล้ว หรือที่เรียกกันว่า “fait accompli” การลงนามไม่อาจส่งผลเปลี่ยนแปลงมติใดๆ ได้ เพราะในทางความเป็นจริง สภาฐานันดรได้กลายเป็นสภาแห่งชาติเรียบร้อยแล้ว

หากยืนยันตามความเห็นของ Sieyes ย่อมหมายความว่า มติเปลี่ยนแปลงสภาฐานันดรให้เป็นสภาแห่งชาติ ก็คือ รัฐประหาร (coup d”Etat) ซึ่งสำเร็จเด็ดขาดเรียบร้อยแล้วนั่นเอง

ในขณะที่ Camus อภิปรายว่า หากกษัตริย์ตัดสินใจยับยั้งมตินี้ อาจทำให้สมาชิกสภาไม่ได้มีสถานะเป็นผู้แทนของชาติได้

ข้อกังวลใจของ Camus นี้น่ารับฟัง เพราะต้องไม่ลืมว่า สภาฐานันดรเกิดขึ้นและประชุมได้ก็เพราะกษัตริย์ใช้อำนาจเรียกประชุม

หากสภาฐานันดรลงมติกันเองเพื่อเปลี่ยนเป็นสภาแห่งชาติ กษัตริย์ก็ต้องเรียกร้องทันทีว่า มตินี้จะมีผลได้ก็ต้องให้กษัตริย์ให้ความเห็นชอบด้วย

ในกรณีที่สภาแห่งชาติเดินหน้าโดยไม่สนใจกษัตริย์เลย ก็อาจทำให้สมาชิกฐานันดรอื่นๆ ไม่ยอมเข้าร่วม และกษัตริย์อาจใช้อำนาจของตนสู้ด้วยการประชุมสภาฐานันดรแข่ง

สถานการณ์เช่นนี้อาจนำมาซึ่งความขัดแย้งรุนแรงอย่างหนัก จนไม่สามารถจัดทำรัฐธรรมนูญได้เลย

ดังนั้น สภาแห่งชาติจึงต้องหาวิธีการประนีประนอมกับกษัตริย์ ทำอย่างไรให้กษัตริย์ยอมรับการเกิดขึ้นของสภาแห่งชาติ

วิธีการหนึ่งที่สมาชิกสภาได้เสนอขึ้นมาคือ การแบ่งปันอำนาจร่วมกันระหว่างสภาแห่งชาติและกษัตริย์ในการจัดทำรัฐธรรมนูญ

Target และ Le Chapelier เสนอมติว่า

“สภาแห่งชาติ ด้วยความตกลงของกษัตริย์ จะกำหนดหลักการแห่งการปฏิรูปชาติ และรับภาระในการตรวจสอบและรวบรวมหนี้สาธารณะ”

ซึ่งสภาแห่งชาติลงมติให้ความเห็นชอบ

มตินี้แสดงให้เห็นถึงเจตจำนงของสภาแห่งชาติว่า พวกเขาต้องการร่วมมือกับกษัตริย์ในการจัดทำรัฐธรรมนูญ

สภาแห่งชาติหวังว่า ด้วยมติในลักษณะประนีประนอมเช่นนี้ จะทำให้กษัตริย์หลุยส์ที่ 16 ยอมลงนามรับรองการเกิดขึ้นของสภาแห่งชาติ