หนุ่มเมืองจันท์ : โลกมีหลายมุม

หนุ่มเมืองจันท์facebook.com/boycitychanFC

วันก่อนผมอ่านเฟซบุ๊กของจิตแพทย์เด็กคนหนึ่ง

เขาเล่าว่าตอนนี้มีเด็กมาปรึกษามากขึ้น

บางคนแค่เครียด แต่บางคนถึงขั้นเป็นโรคซึมเศร้า

เหตุผลสำคัญคือ แรงกดดันจากผู้ปกครอง

คุณหมอเคยนั่งคุยกับเด็กคนหนึ่ง พบว่าเด็กคนนี้มักถูกผู้ปกครองตำหนิเป็นประจำ

จนเด็กรู้สึกว่าตัวเองแย่มาก ไร้ค่า

จากนั้นจิตแพทย์ก็เชิญคุณแม่เข้ามา แล้วสอบถามถึงข้อดีของลูก

คุณแม่แทนที่จะพูดข้อดีของลูก กลับพูดถึงความไม่ดีมากมาย

ทั้งเรียนไม่เก่ง คะแนนสอบแย่มาก

หมอเลยถามว่าลูกช่วยทำงานบ้างหรือเปล่า

“ช่วยค่ะ”

“ลูกติดยาเสพติดไหม”

“ไม่ค่ะ”

“ลูกหนีไปเที่ยวหรือกลับบ้านไม่ตรงเวลาหรือเปล่า”

“เปล่าค่ะ”

ครับ นี่คือสิ่งดีๆ ที่คุณแม่ลืมมอง

มองแต่มุมเดียวคือ “ผลการเรียน”

คุณหมอเลยบอกว่าแค่ได้คุยกับเด็กไม่นานก็ยังรู้สึกเลยว่าเป็นเด็กดีมากคนหนึ่ง

จากนั้นคุณหมอก็เริ่มปรับทัศนคติคุณแม่ ชี้ให้เห็นมุมดีๆ ของลูกและให้ลองชมลูกบ้าง

โลกนี้มีหลายมุมให้มองครับ

“คำชม” เป็น “ยาวิเศษ”

ไม่ต้องเสียเงินสักบาทเดียว

แต่มีคุณค่ากับใจเด็กมาก

“บอย โกสิยพงษ์” เป็นตัวอย่างที่ดีที่สุด

เขาเล่าว่าครอบครัวของเขาทั้งพ่อและพี่น้องทุกคนเรียนเก่งมาก

พี่ชายได้เกียรตินิยม

พี่สาวได้เกียรตินิยม

น้องชายได้ทุนเรียนฟรีที่สหรัฐอเมริกา

มีแต่ “บอย” คนเดียวที่เรียนรั้งท้ายมาตั้งแต่เด็ก

ในห้องเรียนมีนักเรียน 45 คน เขากับเพื่อนคนหนึ่งจะผลัดกันรั้งท้าย

“ถ้าไม่ใช่มันก็ผมนี่แหละ”

จนถึงชั้น ม.3 อธิการมาแจ้งข่าวร้ายว่าเขาต้องออกจากโรงเรียน เพราะคะแนนเฉลี่ยได้แค่ 1.04

เรียนต่อ ม.4 ไม่ได้

“บอย” ยืนยันว่าเขาไม่ใช่คนเกเร เป็นคนตั้งใจเรียน ตั้งใจท่องหนังสือ

เคยฉีกหนังสือออกมาทีละบทเพื่อมาอ่านทีละหน้า

แต่ก็ทำข้อสอบไม่ได้จริงๆ

เมื่อกลับมาบ้าน แทนที่คุณแม่จะตำหนิ “บอย”

เธอกลับบอกว่าโรงเรียนนี้อาจไม่เหมาะกับเขา

“ดีแล้วที่บอยไม่เรียนเก่งเหมือนพี่น้องคนอื่น เพราะตอนเด็กๆ แม่ก็โง่มากเลย ทำการบ้านก็ทำไม่ได้ สอบไม่ได้ เพราะฉะนั้น แม่จะได้มีบอยเป็นเพื่อนสักคนในบ้าน”

คำพูดของแม่ทำให้ “บอย” ไม่รู้สึกโดดเดี่ยว

หลังจากเรียนในระบบการศึกษาไทยมาจนจบ เขาก็เลือกไปเรียนต่อสาขาดนตรีที่มหาวิทยาลัย UCLA (University of California at Los Angeles)

“บอย” สมัครเรียนถึง 3 โปรแกรมการสอน คือ Songwriting, Electronics Music และ Music Business

เหมือนปลาที่ถูกน้ำ เขาเรียนจบทั้ง 3 หลักสูตร

จากเด็กที่ได้เกรด 1.04 ในอดีต

วันนี้ “บอย” สอบได้ A- วิชาเดียว

ที่เหลือ A หมดทุกตัว

“บอย” บอกว่าทั้งหมดนี้ไม่ได้มาจากการตั้งใจเรียนเลย แต่มาจากการที่เขารักวิชาที่เรียนอย่างสุดหัวใจ

อยากรู้อยากเห็น อยากเข้าใจไปหมด

เขาไม่เคยท่องหนังสือ แต่อ่านมันจนเข้าใจ

“ผมเพิ่งเข้าใจคำพูดที่พ่อเคยบอกอย่างแท้จริงเป็นครั้งแรก หัวใจเราอยู่ที่ไหน ทรัพย์สมบัติเราก็อยู่ที่นั่น”

“บอย” ได้รับเชิญไปพูดในโรงเรียนเกี่ยวกับเรื่องนี้เป็นประจำ

เขาจะบอกผู้ปกครองทุกคนว่าโรงเรียนจะให้เราเลือกเรียนเพียงแค่วิทย์หรือศิลป์

ถ้าลูกของคุณไม่ได้เหมาะกับศาสตร์ทั้งสองก็ไม่ได้หมายความว่าลูกคุณโง่

“เพราะผมเคยอยู่ในเด็กกลุ่มนี้มาก่อน มันเป็นปมด้อยของผมมาตลอด โชคดีที่แม่สนับสนุน เข้าใจผม ผมจึงได้ค้นพบและทำในสิ่งที่เหมาะกับตัวเอง”

“บอย” เปรียบเทียบว่ามนุษย์เรามีความถนัดไม่เหมือนกัน ดังนั้น เป็นไปไม่ได้ที่เราจะเอาสัตว์ทั้งป่าไปสอบด้วย “ข้อสอบ” ชุดเดียวกัน

“เราจะเอาปลาไปแข่งปีนต้นไม้กับลิงไม่ได้”

“ผมเคยเป็นปลาในโรงเรียนซึ่งสอนแค่การปีนต้นไม้กับวิ่งแข่ง ดังนั้น ผมไม่มีวันประสบความสำเร็จในขณะที่เรียนอยู่ในโรงเรียนได้”

เมื่อ “บอย” อยู่ในจุดนั้นมาก่อน เขาจึงเข้าใจ “เด็ก” ที่ถูกกดดันเรื่องการเรียน

“ผมเข้าใจว่าความห่วยเป็นอย่างไร แต่โชคดีที่แม่เราชมที่เราห่วย เราจึงรอดมาได้”

ครับ ถ้าครูมองไม่เห็น พ่อและแม่ที่ใกล้ชิดกับเด็กก็ควรจะมองเห็นว่าลูกของเขามี “จุดเด่น” ตรงไหน

“กำลังใจ” และ “ความเข้าใจ” จึงเป็นเรื่องสำคัญยิ่ง

มีคนเคยบอกผมว่าเด็กทุกคนเหมือน “แฮร์รี่ พอตเตอร์”

ทุกคนเหมือนกันที่มี “คาถาวิเศษ”

แต่เป็น “คาถาวิเศษ”

…ที่ “ไม่เหมือนกัน”

ผมนึกถึงเรื่องนี้ขึ้นมาเมื่ออ่านคำคมของ “ตีน่า เมาส์เต” จากเฟซบุ๊ก waymagazine

“ตีน่า” เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการฝึกอบรมครูจาก EduCluster Finland (ECF) และเป็นครูประจำชั้นด้วย

เธอบอกว่าเด็กๆ อาจเรียนเลขไม่เก่ง แต่เขาก็เป็นเพื่อนที่ดีที่สุดของทุกคน

หรือเป็นเด็กตรงเวลา มีน้ำใจ

สิ่งเหล่านี้คือ “พรสวรรค์” เท่าๆ กับความสามารถทางวิชาการ

“พรสวรรค์ไม่ควรมีนิยามเดียว”

ครับ “พรสวรรค์” ไม่ควรมี “นิยาม” เดียว

และในโลกของการทำงาน “คำตอบ” ก็เป็นเช่นนั้นจริงๆ

ในโลกของการเรียน “คนเรียนเก่ง” อาจเป็น “ผู้ชนะ”

แต่โลกแห่งการทำงานยุคใหม่เน้นการทำงานเป็น “ทีม”

ทำงานคนเดียวไม่ได้

“ทัศนคติ” และ “มนุษยสัมพันธ์” เป็นเรื่องสำคัญมาก

เพราะทำงานเป็น “ทีม”

คือ การทำงานกับ “คน”

คนเรียนเก่งอาจไม่ใช่ “ผู้ชนะ” เสมอไป

โลกนี้มีหลายมุมให้มอง