ฟ้า พูลวรลักษณ์ : ฉันจะอึดอัดทุกครั้งที่อ่านบทความเกี่ยวกับคอมมิวนิสต์

ฟ้า พูลวรลักษณ์

หนังสือเรียนสำหรับเด็ก (๒๐๙)

สิ่งที่ไม่เคยตาย คือความคิด แม้คนที่คิดจะตายไปแล้ว

นี้เป็นความแปลกประหลาด

ด้วยเหตุนี้ เราจึงต้องเรียบเรียงความคิดของเรา ค่อยๆ คิด ค่อยๆ ประดิษฐ์ ให้มันดีที่สุด มันคือทายาทของมนุษย์

ความต้องการของคนเราไม่เหมือนกัน คนรวยสนใจการทิ้งขยะ คนจนสนใจว่า จะหาอาหารเข้าปากได้ยังไง ที่จริง ไม่มีใครผิดเลย พวกเขาเพียงแต่อยู่ในเงื่อนไขที่แตกต่าง ชาติที่ร่ำรวยสนใจปัญหาสภาพแวดล้อม ชาติที่ยากจน สนใจว่าจะอยู่รอดได้อย่างไรวันนี้

ดังนั้น พวกเขาขัดแย้งกัน

เราอาจลืมไปแล้วว่า สมัยโบราณ ยุคสมัยของอารยธรรมสุเมอร์เรียน พวกเขายึดไม้โอ๊กจากอาระเบีย ป่านจากซีเรีย และไม้ซีดาร์จากอนาโตเลีย ในยุคสมัยดังกล่าว แม่น้ำในตะวันออกกลาง อุดมไปด้วยการขนส่งไม้เหล่านี้

สมัยฉันเป็นวัยรุ่น ฉันจะอึดอัดทุกครั้งที่อ่านบทความเกี่ยวกับคอมมิวนิสต์ ฉันไม่เห็นด้วย แต่ก็ต้องยอมรับว่า มันดีดถูกจิตของฉัน มีบางสิ่งบางอย่างในนั้น ที่เป็นความคิดฝันของมนุษย์ แต่สิ่งที่น่าคิดกว่าคือ อะไรคือสิ่งที่ฉันไม่เห็นด้วย แม้ถึงวันนี้ ฉันก็ยังจับมันไม่ออก

เราไม่อาจปฏิเสธว่า สงครามเย็นยุติแล้ว แต่เราไม่ได้อยู่ในโลกที่ปลอดภัยขึ้น ที่จริงแล้ว เราอยู่ในโลกที่อันตรายขึ้น

ความดีของสังคมคอมมิวนิสต์ เช่น การกดศาสนาไว้ ไม่ให้พวกมันมีความสำคัญ และอีกสิ่งหนึ่งที่สำคัญมาก คือความทัดเทียมกันของชายหญิง ปัญหาพื้นฐานที่สุดของมนุษย์

นอกจากนี้ คอมมิวนิสต์ยังจำกัดเรื่องของชาติพันธุ์

ในอุดมคตินี้ มนุษย์เราทัดเทียมกันหมด

เมื่อสิ้นคอมมิวนิสต์ ศาสนาก็ผงาดกลับมาใหม่ และการกดขี่ทางเพศก็กลับมาด้วย และอีกหนึ่งความโหดร้าย คือชาติพันธุ์

โลกตะวันตก คล้ายหนึ่งจะก้าวหน้ามากในทางเพศ จนถึงขั้นว่า มีการแต่งงานระหว่างเพศที่สาม แต่ทว่า ปัญหาครอบครัวพื้นฐานที่สุดกลับกำลังล่มสลาย ผู้ชายกับผู้หญิงที่แต่งงานกัน ที่จะอยู่ด้วยกันจนแก่เฒ่า มีน้อยลงไปเรื่อยๆ นี้เป็นการย้อนแย้งของปัญหา

มันตรงไปตรงมา และรุนแรง

ทุกความก้าวหน้า ก็เอาชนะการถดถอยเหล่านี้ไม่ได้

คุณเคยสังเกตไหมว่า ประวัติศาสตร์ซ้ำซ้อนตัวมันเอง

เหตุการณ์จะเกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่า

นี้คือมนต์เสน่ห์ของประวัติศาสตร์ และคือความสิ้นหวังของมันด้วย

ศตวรรษที่ยี่สิบเอ็ด ยังหลงเหลือความแตกต่างใดไหม ในแต่ละพื้นที่ แต่ละวัฒนธรรม แต่ละระบบ

ยกตัวอย่างเช่น ประเทศเกาหลีเหนือ ที่ถือว่าแตกต่างจากเรามาก แต่จริงแล้วหรือ เมื่อมองลึกลงไป เราจะเห็นว่า ไม่ต่าง

ทั้งนี้เพราะเราล้วนอยู่ในศตวรรษที่ยี่สิบเอ็ด ความแตกต่างที่เห็น เป็นเพียงภาพลวงตา

ระเบิดเพียงลูกเดียว ภาพลวงตาเหล่านี้ก็จะหายไป

๑๐

มนุษย์ทุกวันนี้ ไม่ได้หยุดคิด เพียงแต่เราเปลี่ยนจากคิดแบบปัจเจกชน มาเป็นคิดแบบองค์รวม เรากำลังกลายเป็นแมลง

ทางเลือกของเราน้อยลง

ไม่ใช่เพราะเราไม่เลือก แต่เพราะทางเลือกน้อยลง

เรากำลังกลายเป็นแมลง ฉันเป็นตัวหนึ่งในหมื่นล้านตัว

สมัยก่อน ไม่นานเท่าไรมานี้เอง ที่โลกยังไม่ connected ฉันยังพอมีที่ว่างให้คิด ให้เลือก แม้ว่าในศตวรรษที่ยี่สิบ ฉันก็รู้สึกแล้วว่า เวลาของปัจเจกชนเหลือน้อยลง แต่ก็ยังไม่เป็นศูนย์ แต่แล้วพอข้ามเข้ามาที่ศตวรรษที่ยี่สิบเอ็ด มันหดเหลือศูนย์

วันนี้ฉันกลายเป็นแมลงไปแล้ว

๑๑

วันหนึ่งฉันเขียนบทกวีว่า

“ฉันต้องตาบอดนานเท่าไร”

“นานตราบจนกระทั่งว่า เมื่อความมืดมีค่าเท่ากับความสว่าง”

ฉันชอบบทกวีแบบนี้ เพราะมันเปลี่ยนคุณค่า

มันเปลี่ยนยุค