คนของโลก : ‘เดวิด คาเมรอน’ ชายผู้แพ้เดิมพัน ‘เบร็กซิท’

AFP PHOTO / BEN STANSALL

หลังความพ่ายแพ้จากการวางเดิมพันด้วยการ “ลงประชามติ” ที่ส่งผลให้อังกฤษต้องแยกตัวออกจาก “สหภาพยุโรป” หรือ “เบร็กซิท” เดวิด คาเมรอน อดีตนายกรัฐมนตรีอังกฤษ ประกาศจะยุติเส้นทางทางการเมืองของตนเองลงเมื่อวันที่ 12 กันยายนที่ผ่านมา

คาเมรอน อดีตที่ปรึกษาด้านประชาสัมพันธ์ ประกาศให้มีการลงประชามติหวังสร้างเอกภาพภายใน “พรรคอนุรักษนิยม” หมายมั่นปั้นมือว่าจะสามารถชนะการลงประชามติครั้งนั้นอย่างง่ายดาย ด้วยแรงสนับสนุนของประชาชนที่ช่วยให้คาเมรอน ชนะเลือกตั้งมาแล้ว 2 สมัย

ทว่า คาเมรอน และกลุ่มผู้สนับสนุนให้อังกฤษ “อยู่ต่อ” กับอียูกลับต้องพ่ายแพ้ ก่อนที่คาเมรอน จะประกาศลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีด้วยความผิดหวัง ส่งไม้ต่อให้กับ นางเธเรซา เมย์ เข้าสู่ตำแหน่ง

อย่างไรก็ตาม การลาออกจาตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ดูเหมือนจะเป็นการยกภูเขาออกจากอกของ “คาเมรอน” เมื่อเสียง “ฮัมโน้ตเพลงเบาๆ” ขณะเดินเข้าบ้านเลขที่ 10 ถนนดาวนิ่งสตรีตหลังแถลงข่าว เล็ดลอดเข้าสู่ไมโครโฟนของนักข่าว

British Prime Minister David Cameron leaves Downing street to make a statement at the Houses of Parliament on April 11, 2016 in London. Cameron braced for a parliamentary grilling today over his offshore dealings revealed by the Panama Papers leak as he announced plans to criminalise firms whose staff facilitate tax evasion. / AFP PHOTO / LEON NEAL
AFP PHOTO / LEON NEAL

“เดวิด คาเมรอน” มาจากครอบครัวชนชั้นสูงของอังกฤษ เป็นลูกชายของนายหน้าซื้อขายหุ้น จบการศึกษาจากโรงเรียนชั้นนำของอังกฤษอย่างอีตัน ก่อนเข้าเรียนต่อที่มหาวิทยาลัยอ๊อกซ์ฟอร์ด

หลังเรียนจบ คาเมรอนเข้าทำงานในแผนกวิจัยของ “พรรคอนุรักษนิยม” ทันที ก่อนจะทำหน้าที่ ที่ปรึกษาด้านการประชาสัมพันธ์ให้กับ นอร์แมน ลามอนต์ รัฐมนตรีคลังอังกฤษ ในปี 1992 และอยู่เคียงข้างลามอนต์ในวันที่อังกฤษถอนสกุลเงินปอนด์ออกจากกลไกอัตราแลกเปลี่ยนของสหภาพยุโรป

คาเมรอนลงสมัครสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพรรคอนุรักษนิยมในปี 1997 แต่ต้องพ่ายแพ้ให้กับ “พรรคแรงงาน” นำโดยนักการเมืองอย่าง “โทนี่ แบลร์” ซึ่งได้รับชัยชนะไปอย่างถล่มทลาย

British Prime Minister David Cameron (R) and British Home Secretary Theresa May (L) leave Horse Guards Parade in central London on October 20, 2015 after the ceremonial welcome for Chinese President Xi Jinping and his wife Peng Liyuan on the first official day of a state visit. Chinese President Xi Jinping arrived for a four-day state visit as the government of Prime Minister David Cameron seeks stronger trade ties with the world's second-largest economy. AFP PHOTO / ADRIAN DENNIS / AFP PHOTO / ADRIAN DENNIS
 AFP PHOTO / ADRIAN DENNIS

ปี 2001 คาเมรอนลงสมัครรับเลือกตั้งอีกครั้งและได้รับชัยชนะใน “เมืองวิตนีย์” เมืองตอนใต้ของอังกฤษ แม้ว่าคะแนนทั่วประเทศพรรคอนุรักษนิยมจะพ่ายแพ้ไปอีกครั้งก็ตาม

ตำแหน่งในพรรคของคาเมรอนก้าวหน้ามากขึ้นเรื่อยๆ ในช่วงเวลาที่พรรคอนุรักษนิยมต้องดิ้นรนอย่างหนักที่จะต่อสู้กับพรรคแรงงานของ “แบลร์” จนในที่สุด คาเมรอนได้รับเลือกเป็น “หัวหน้าพรรคอนุรักษนิยม” ในปี 2005 ด้วยวัยเพียง 39 ปีเท่านั้น

คาเมรอนพยายามยกเครื่องภาพลักษณ์ของพรรคใหม่ หนึ่งในนั้นก็คือการหลีกเลี่ยงที่จะพูดถึงสหภาพยุโรป ประเด็นซึ่งสร้างความแตกแยกภายในพรรคนับตั้งแต่การขึ้นสู่ตำแหน่งนายกรับมนตรีของ นางมากาเร็ต แทตเชอร์ ในทศวรรษที่ 80

ในการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อปี 2010 “เดวิด คาเมรอน” กลายเป็นนายกรัฐมนตรีอังกฤษที่มีอายุน้อยที่สุดในรอบ 200 ปี อย่างไรก็ตาม พรรคอนุรักษนิยม ยังไม่สามารถครองเสียงข้างมากในสภาได้ทำให้ต้องตั้งรัฐบาลผสมขึ้นร่วมกับพรรคสายกลางอย่าง “พรรคเสรีประชาธิปไตย”

รัฐบาลผสมชุดดังกล่าวมีนโยบายส่วนใหญ่ในการตัดการใช้จ่ายลงเนื่องจากอังกฤษเพิ่งจะฟื้นตัวจากภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ ขณะที่นโยบายต่างประเทศถูกบดบังไปด้วยการถกเถียงกันเกี่ยวกับประเด็นสหภาพยุโรปภายในพรรคอนุรักษนิยมเอง

ในปี 2014 การเดิมพันความเสี่ยงสูงครั้งแรกของคาเมรอนให้ผลอย่างดี เมื่อเสียงส่วนใหญ่ในการลงประชามติของ “สกอตแลนด์” ต้องการอยู่กับอังกฤษต่อไป

Britain's Prime minister David Cameron talks to journalists as he arrives to attend an European Union (EU) emergency summit on the migration crisis with a focus on strengthening external borders, at the EU Headquarters in Brussels, on September 23, 2015, a day after interior ministers agreed a deal on refugee relocation quotas. AFP PHOTO / THIERRY CHARLIER
AFP PHOTO / THIERRY CHARLIER

หลังการบริหารงานด้วยรัฐบาลผสมเป็นเวลา 5 ปี พรรคอนุรักษนิยมก็สามารถบริหารงานภายใต้พรรคเดียวได้ เมื่อสามารถครองเสียงส่วนใหญ่ในสภา ในการเลือกตั้งเมื่อปี 2015 และชัยชนะครั้งนั้นก็หมายความด้วยว่า คาเมรอนต้องจัดให้มีการลงประชามติเกี่ยวกับสถานะของอังกฤษ ในสหภาพยุโรปตามที่ได้ให้คำมั่นไว้เมื่อปี 2013

คาเมรอนใช้เวลาช่วงท้ายของปี 2015 ล็อบบี้ชาติสมาชิกอียูเพื่อข้อตกลงที่ช่วยกระชับสัมพันธ์ระหว่างอังกฤษและอียู จนอังกฤษได้ “สถานะพิเศษ” ในการจำกัดงบประมาณอุดหนุนช่วยเหลือผู้อพยพ และคาเมรอนยกเงื่อนไขพิเศษดังกล่าวมาเป็นจุดแข็งเพื่อหาเสียงในฝั่ง “อยู่ต่อ”

อย่างไรก็ตาม “สิทธิพิเศษดังกล่าว” ถูกวิจารณ์อย่างรุนแรงจาก ส.ส.พรรคอนุรักษนิยมที่มองว่าเป็นสิ่ง “ไร้ประโยชน์”

ยิ่งกว่านั้นคาเมรอนยังเสียเสียงสนับสนุนจากพันธมิตรสำคัญในพรรคอย่าง “ไมเคิล โกฟ” รัฐมนตรียุติธรรม พ่อทูนหัวของ “อีวาน” ลูกชายผู้ล่วงลับของคาเมรอน ที่ประกาศสนับสนุนฝั่ง “เบร็กซิท” รวมถึง บอริส จอห์นสัน นายกเทศมนตรีกรุงลอนดอนคนดัง

คาเมรอนนำการรณรงค์อยู่ในแนวหน้า วิพากษ์วิจารณ์กลุ่มสนับสนุน “เบร็กซิท” พร้อมชี้ให้เห็นว่าการนำอังกฤษออกจากอียูนั้นจะส่งผลเสียต่อเศรษฐกิจของอังกฤษอย่างรุนแรง

ทว่า คาเมรอนก็ไม่สามารถเอาชนะเสียงสนับสนุนในฝั่ง “เบร็กซิท” ซึ่งแย้งว่าจำเป็นที่จะต้องตัดคลื่นผู้อพยพที่มาจากประเทศสมาชิกอียูลงเพื่อลดความหนาแน่นในระบบสวัสดิการสังคมของประเทศลง และทางเดียวที่ทำได้คือออกจาก “อียู”

การลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ก่อนประกาศลาออกจากตำแหน่ง ส.ส.เมืองวิตนีย์ เมื่อต้นสัปดาห์ที่ผ่านมานับเป็นการสิ้นสุดเส้นทางของ “ดาวเด่น” แห่งวงการการเมืองอังกฤษ ที่ได้รับการยกย่องจากการเปลี่ยนแปลงพรรคอนุรักษนิยมสู่ทางสายกลาง และได้รับเสียงชื่นชมจากชัยชนะในการเลือกตั้งเมื่อปี 2010

ยุติการครองอำนาจของ “พรรคแรงงาน” ที่กินเวลายาวนานถึง 13 ปีลง