จดหมาย/ฉบับประจำวันที่ 23 ก.พ. – 1 มี.ค. 2561

จดหมาย

สะสม “สุข”

ปีใหม่นี้ ป้าไดมีความสุขมาก
หลานๆ พาเพื่อนขึ้นไปสวัสดีปีใหม่
ดอกไม้ในสวนกระจุกข้างบ้านบานเต็มไปหมด
และที่สำคัญ คำขอบคุณป้าได ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับที่ 1953 ทำให้ป้าไดมีกำลังใจสดชื่นขึ้นมาก
ถ้าไม่นับเรื่องเข่าเสื่อมแล้ว
สุขภาพกาย สุขภาพจิต ของป้าไดยังดีพออยู่ยาววว…
ได้ดูความเปลี่ยนแปลงของเหตุการณ์ต่างๆ ที่จะลงเอยแบบนิ่มนวลหรือลงอย่างคนโบราณว่า หกคะมำคว่ำคะเมน แน่นอน

ใจหายและเสียดาย ที่หนังสือมีคุณค่าอย่าง คู่สร้างคู่สม ต้องปิดตัวไปอีกฉบับหนึ่ง
ยังไงก็ขอให้ “มติชนสุดสัปดาห์” อยู่เป็นเพื่อนคนอ่านรุ่นไดโนเสาร์เต่าล้านปีไปก่อนนะ
เพราะถึงฝนจะตก ฟ้าร้อง พายุพัดเสาไฟล้ม จนไฟฟ้าดับทั้งเมือง ยังจุดเทียนอ่านได้อุ่นใจว่า มติชนสุดสัปดาห์เป็นเพื่อน
ขณะที่คอมพิวเตอร์ใช้การไม่ได้
มนุษย์ไซเบอร์หน้าบูดอารมณ์เสียไปตามๆ กันจนกว่าไฟฟ้าจะมา
ระยะหลังนี้ คอลัมน์ในมติชนสุดสัปดาห์ รสชาติจัดจ้านถูกใจ อ่านแล้ววางไม่ลง
แต่เจ้าประคุณเอ๋ย ตัวหนังสือท่านเล็กบางเหลือเกิน ต้องเปิดโคมไฟดึงลงมาจ่อใกล้ๆ ทั้งที่ใส่แว่นตาแล้วนะ
ช่างไม่เห็นใจสายตาคนอ่านอายุ 84 หยกๆ 85 หย่อนๆ บ้างเลย

ทีนี้ถึงตาร่ายยาวตามประสาวัยร่วงละนะ
คือจะเล่าให้ฟังนะว่า บ้านป้าได เป็นคนชอบสะสมกันทั้งบ้าน
อันที่จริง เขียนเป็นเรื่องเล่าพิมพ์หมดกระดาษเป็นสิบกว่าแผ่นแล้ว
พออ่านทวนดู รู้สึกมีข้อความซ้ำกันบางตอน เลยล้มเลิกความตั้งใจ
เล่ามาในจดหมายดีกว่า
ไว้มั่นใจสมองตัวเอง วันไหนว่าพอมีไฟอยู่จะเขียนเรื่องสั้นมาให้ บ.ก. พิจารณาว่าจะผ่านหรือไม่ผ่าน
ป้าไดสะสมมาตั้งแต่เป็นสาว
เก็บของที่ระลึกวันปีใหม่ วันเกิด สิ่งละอันพันละน้อยที่อาจจะไม่มีราคาตั้งแต่ปี 2493 เรื่อยมาจนถึงทุกวันนี้
บางชิ้นมีอายุยืนยาวกว่าอายุป้าไดหลายสิบปี
เช่น ของที่ตกทอดจากพ่อแม่สามีและพ่อแม่ตัวเอง
บางอย่างก็อายุเท่าป้าได
อย่างแสตมป์ที่สะสมตอนทำงานติดต่อกับเพื่อนฝูงคุยกันทางจดหมาย ทั้งส่งมาที่ทำงาน และที่บ้าน
แล้วตัดแสตมป์ เก็บไว้ตั้งแต่ดวงละ 5 สตางค์ แล้วก็สะสมเรื่อยมาจนทุกวันนี้
แสตมป์ดวงละ 3 บาท จนถึงดวงละ 100 บาท
แล้วยังสะสมหนังสือหลายประเภท จนเต็มห้องสมุดในบ้าน
บนชั้นติดผนังทางเดิน พออายุมากทำความสะอาดไม่ไหว ก็ได้แต่มองฝุ่นเกาะ
เลยหยุดซื้อหนังสือเพราะไม่มีที่เก็บ ใช้วิธียืมห้องสมุดประชาชน ยืมอ่านแล้วส่งคืน
ลูกสาวป้าได อ่านหนังสือทุกอย่างที่ขวางหน้า ใช้แว่นสายตาตั้งแต่อายุ 6 ขวบ จนเดี๋ยวนี้
นอกจากหนังสือ ยังสะสมต้นไม้
ในที่ดินสองร้อยตารางวา เหลือจากทำบ้านแล้ว สองแนวรั้วมีต้นไม้ไทย
กลิ่นหอม ปลูกเป็นแนวกว่าสิบชนิด
ถึงฤดูกาลออกดอกผู้คนผ่านไปมาบอกผ่านบ้านคุณป้าหอมชื่นใจ
บางคนขอแวะเข้ามาดูต้นไม้ ไม่เคยรู้จักกัน เคยได้ยินแต่ชื่อค่ะ
ด้านติดแม่น้ำวังหลังบ้าน มีที่ดินชายน้ำงอกอีกร้อยตารางวา
ป้าไดปลูกไม้ใหญ่พวกมะขาม ชมพู่ม่าเหมี่ยว มะกอกน้ำ มะขามเทศ และต้นไผ่ไว้กันลมพายุต้นปีพัดหลังคาบ้าน
มีต้นไม้หายากทางภาคเหนือ เช่น ชำมะเลียงหวาน ตะลิงปลิง มะดัน และอื่นๆ

สามีป้าไดเป็นยอดนักสะสมคนหนึ่ง
ตอนยังหนุ่มโสดๆ เขาสะสมเพื่อนนอนสาวๆ ต่างวัยต่างอาชีพ เป็นว่าเล่น
ไม่รู้ว่ารอดปากเหยี่ยวปากกาและคมมีดโกนมาถึงมือป้าไดได้ยังไง
แต่พอแต่งงานมีลูกสามคนก็หยุดอยู่กับที่แล้ว
เริ่มสะสมของเก่า คือเก่าจริงๆ
วันหยุดงานก็ไปเดินตามร้านรับซื้อของเก่า ดูชิ้นส่วนเครื่องยนต์กลไกของรถยนต์ หรือรถอื่นๆ ที่เอามาดัดแปลงทำอะไรได้
ตอนเขาเกษียณอายุราชการ ต้องเหมารถสิบล้อบรรทุกของเก่าจากบ้านพักหลวงในกรุงเทพฯ ขึ้นมาเต็มคันรถ มากองพะเนินไว้ที่บ้านลำปาง
เขารักและหวงเศษเหล็กพวกนั้นมากกว่าป้าไดอีกนะจะบอกให้
น่าเจ็บใจมาก

เขาจากป้าไดไปสิบกว่าปีแล้ว
หลังจากน้ำท่วมใหญ่ปีหนึ่ง ป้าไดเลยเก็บเศษเหล็กขายทั้งหมด ได้เงินหลายหมื่นบาท
หายเจ็บใจไปเลย
เหลือแต่ของชิ้นเล็กที่เขาสะสมไว้ เช่น นาฬิกาข้อมือหลายเรือน
เป็นนาฬิกาที่เขาใช้ก่อนแต่งงานกับป้าไดก็มี
ของลูกชายสองคนที่เสียชีวิตก่อนพ่อเก็บไว้ดูแทนตัวลูกก็มี
บางเรือนซื้อจากบ้านริมคลองหลอดหลังกระทรวง
และบางเรือนซื้อจากร้านขายของเลหลังหน้าโรงรับจำนำทั้งที่กรุงเทพฯ และที่ลำปาง
เป็นการสะสมนาฬิกาของทหารจนๆ ไม่ได้ยืมของใครมาเลยซักเรือน
ป้าไดเห็นข่าวนาฬิกาดังไม่เลิก ก็เลยให้ลูกสาวถ่ายรูปของสะสมบ้านป้าได มาให้ บ.ก. ดูค่ะ
รักและคอย “มติชนสุดสัปดาห์” ทุกวันศุกร์
ป้าได

ถึงจะเป็นการสะสมนาฬิกาของทหารจนๆ
แต่สุขล้นเหลือ
สุขกว่า “บิ๊ก-บิ๊ก” ที่ยืมเพื่อนมาสะสม เอ้ย มาใส่เป็นไหนๆ
ขอบคุณป้าได
สำหรับการสะสมสิ่งต่างๆ
ซึ่งที่สุดแล้วก็คือ “ความสุข”
และปันความสุขนั้นมาให้ผู้อ่าน “มติชนสุดสัปดาห์” โดยถ้วนทั่วหน้าทุกคน