เหตุผล มหายาน : เสถียร โพธินันทะ

แท้จริงแล้ว งานเขียนว่าด้วย “สารัตถปรัชญามหายาน” อันตีพิมพ์เป็นตอนๆ ใน “ธรรมจักษุ” ตั้งแต่ปี พ.ศ.2491 นั้น ทาง 1 คือ ความต่อเนื่อง “ลัทธิของเพื่อน”

ทาง 1 คือ การขยายความพิสดารจาก “คัมภีร์บาลีในพระไตรปิฎกจีน”

เพราะเพียงขึ้นบทที่ 1 ว่าด้วย “อรรถคำว่ามหายาน” มาจากธาตุศัพท์ มหา+ยาน แปลว่า พาหนะที่ใหญ่ เป็นคำเรียกที่อาศัยเปรียบเทียบจากคำว่า “หีนยาน” (หีน+ยาน) ซึ่งแปลว่า พาหนะที่เลวๆ เล็กๆ ภาษาจีนอ่านว่า “ไต้เส็ง” และ “เซียวเส็ง”

อรรถของมหายานหมายถึง การขนสัตว์ให้ข้ามพ้นวัฏสงสารได้มากกว่าหีนยาน

ใน “มหาปรัชญาปารมิตา” อรรถกถา อาจารย์นาคารชุนได้อธิบายได้ว่า “พระพุทธธรรมมีเอกรสเดียว คือ รสแห่งวิมุตติ ความรอดพ้นจากปวงทุกข์ แต่ชนิดของรสมี 2 ชนิดคือ ชนิดแรก เพื่อตัวเอง ชนิดที่สอง เพื่อตัวเองและสรรพสัตว์ด้วย”

อันหมายความว่า ฝ่ายหีนยานมุ่งความหลุดพ้นเฉพาะตน ไม่มีปณิธานในการโปรดสรรพสัตว์ แต่ฝ่ายมหายานตรงกันข้าม ย่อมมุ่งพุทธภูมิกันเพื่อขนสัตว์ให้พ้นทุกข์จนหมดสิ้น

อธิบายว่า พุทธศาสนิกชนฝ่ายหีนยานย่อมมุ่งแต่อรหันตภูมิเท่านั้น ฉะนั้น จึงเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า สาวกยาน ส่วนพุทธศาสนิกชนฝ่ายมหายานล้วนมุ่งพุทธภูมิ ทั้งนี้ จึงเรียกว่า โพธิสัตวยานบ้าง พุทธยานบ้าง

ใน “สัทธรรมปุณฑริกสูตร” กล่าวว่า “ถ้าสรรพสัตว์ได้สดับธรรมจากพระภควาบังเกิดศรัทธา ความเชื่อปสาทะ ความเลื่อมใส ได้วิริยะบำเพ็ญบารมีเพื่อสรรพเพชุดดาญาณอันเป็นธรรมชาติ ญาณอันปราศจากครูอาจารย์ ญาณแห่งพระตถาคต กำลังความกล้าหาญมีความกรุณาปรารถนาต่อความสุขของสรรพสัตว์

“บำเพ็ญหิตานุหิตประโยชน์ต่อทวยเทพและมนุษย์ โปรดสรรพนิกรให้พ้นทุกข์ นั่นชื่อว่า “มหายาน””

อาจารย์นาคารชุนกล่าวไว้ใน “ทวาทศกายศาสตร์” อีกว่า

“มหายาน คือยานอันประเสริฐกว่ายานทั้ง 2 (ทวิยาน ได้แก่ สาวกยาน ปัจเจกยาน) เหตุนั้นจึงชื่อว่า “มหายาน””

พระพุทธเจ้าทั้งหลายอันใหญ่ยิ่งทรงอาศัยซึ่งยานนี้ ยานนี้จะสามารถนำเราเข้าถึงพระองค์ได้ เหตุนั้นจึงเชื่อว่า “มหา” อนึ่ง ปวงพระพุทธเจ้าผู้มหาบุรุษได้อาศัยยานนี้ เหตุนั้นจึงชื่อว่า “มหา” แลอีกทั้งสามารถดับทุกข์อันไพศาลของสรรพสัตว์และประกอบประโยชน์อันยิ่งใหญ่ให้ถึงพร้อม เหตุนั้นจึงชื่อว่า “มหา”

อนึ่ง พระโพธิสัตว์ทั้งปวงมีพระอวโลกิเตศวร พระมหาสถามปราบต์ พระเมตไตรย เป็นต้น

ปวงมหาบุรุษได้ทรงอาศัย เหตุนั้นจึงชื่อว่า “มหา” อนึ่ง เมื่ออาศัยยานนี้แล้วก็ย่อมเข้าถึงที่สุดแห่งธรรมทั้งปวง เหตุนั้นจึงชื่อว่า “มหา”

ยิ่งหากอ่าน “กถามุข” อัน เสถียร โพธินันทะ เขียนเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2498 ก็จะยิ่งเข้าใจในเจตนาของการเรียบเรียง

เหตุผล 1 การศึกษาพระพุทธศาสนาโดยกว้างขวางนั้นยังขาดแคลนหนังสือประเภทนี้มาก

เหตุ 1 เพื่อจะได้เป็นประโยชน์แก่บรรดานักศึกษาในสภาการศึกษามหากุฏราชวิทยาลัย มหาวิทยาลัยพระพุทธศาสนาแห่งประเทศไทย ซึ่งข้าพเจ้ารับหน้าที่บรรยายวิชาความรู้พระพุทธศาสนา โดยเฉพาะอย่างยิ่งก็คือลัทธิมหายานอีกโสดหนึ่งด้วย

หนังสือเล่มนี้เป็นเสมือนหนึ่งกุญแจที่จะไขชี้ให้ท่านรู้จักปรัชญาพระพุทธศาสนามหายานอย่างพอเพียงแก่ความต้องการ

หนังสือทำนองนี้ในพากย์จีนและญี่ปุ่นมีผู้เขียนกันหลายสิบฉบับ ข้าพเจ้าก็อาศัยเทียบเคียงจากฉบับเหล่านั้น และนำโครงเรื่องมาเป็นมาตรฐานเท่านั้น ส่วนรายละเอียดอื่นๆ ได้ใช้วิธีของตนเองจากความรู้ที่ได้ค้นคว้ามา จึงเป็นฉบับของข้าพเจ้าเอง มิได้ซ้ำกับฉบับของผู้ใด

ความหมายก็คือ ได้ต่อยอดจากที่ “เสถียรโกเศศ-นาคะประทีบ” ได้บุกเบิกให้แล้วระดับหนึ่งในหนังสือ “ลัทธิของเพื่อน ฉบับสมบูรณ์”

เพียงแต่ในเล่มนั้น “มหายาน” เสมอเป็นเพียงส่วนหนึ่ง

ความน่าตื่นตาตื่นใจจึงไม่เพียงแต่ในเรื่องราวทางความคิดของปราชญ์ด้านมหายานอย่างเช่น ท่านอัศวโหษก และท่านนาคารชุน

หากแต่ยังเป็นมิติและมุมมองใหม่สำหรับพระพุทธศาสนา

เพราะว่าพระพุทธศาสนาในสังคมไทยอยู่ในความครอบงำของ “เถรวาท” หรือ “หีนยาน” มาอย่างยาวนาน กว้างขวางและลึกซึ้ง