15 ปี 9/11 15 ปี สงครามก่อการร้าย…ที่ยังไม่จบ

AFP PHOTO / SETH MCALLISTER

เหตุวินาศกรรมสหรัฐอเมริกา เมื่อวันที่ 11 กันยายน 2544 ที่ผู้ก่อการร้ายรวม 19 คนขับเครื่องบินก่อเหตุ ทั้งพุ่งชนตึกแฝดเวิลด์เทรด เซ็นเตอร์ ในมหานครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา พุ่งชนตึกเพนตากอน และที่ตกลงที่ทุ่งหญ้าที่เพนซิลเวเนีย ที่ถือเป็นการโจมตีดินแดนอเมริกาครั้งแรกของต่างชาติในรอบเกือบ 200 ปี

และกลายเป็นการก่อการร้ายครั้งร้ายแรงที่สุดในประวัติศาสตร์สหรัฐ ที่ทำให้มีผู้เสียชีวิตเกือบ 3,000 ราย

และยังคงเป็นภาพที่ติดตาชาวโลกอยู่จนถึงทุกวันนี้ แม้ว่าเวลาจะล่วงเลยผ่านไปนานถึง 15 ปีแล้วก็ตาม

เช่นเดียวกับผลพวงต่างๆ ที่ตามมา หลังเหตุการณ์ที่ถูกเรียกสั้นๆ ว่า 9/11 นับตั้งแต่การที่รัฐบาลสหรัฐ ภายใต้การนำของประธานาธิบดี จอร์จ ดับเบิลยู. บุช ที่ประกาศทำสงครามต่อต้านการก่อการร้าย ด้วยการเปิดฉากโจมตีอัฟกานิสถานในปีเดียว เพื่อไล่ล่า “บิน ลาเดน” หัวหน้าเครือข่ายก่อการร้ายอัลเคด้า ที่ถูกระบุว่าเป็นผู้อยู่เบื้องหลังเหตุวินาศกรรม 9/11 ตามด้วยการเปิดฉากโจมตีอิรัก โค่นอำนาจ “ซัดดัม ฮุสเซน” ผู้นำเผด็จการของอิรัก

ทั้งๆ ที่ผู้ก่อการร้ายในเหตุวินาศกรรม 9/11 ไม่มีใครมาจากอัฟกานิสถานหรืออิรักเลย แต่มีถึง 15 คน ที่มาจากประเทศซาอุดีอาระเบีย

หากแต่สงครามต่อต้านการก่อการร้ายของสหรัฐ กลับทำให้อัฟกานิสถานและอิรักต้องสูญเสียประชาชนไปจำนวนมาก

AFP PHOTO / Mark RALSTON
AFP PHOTO / Mark RALSTON

หลังจากนั้น สงครามก็เริ่มลุกลามในหลายประเทศในตะวันออกกลาง นับตั้งแต่ลิเบีย ไปจนถึงซีเรีย และทำให้หลายประเทศกลายเป็นแหล่งบ่มเพาะของกลุ่มก่อการร้ายทั้งหลาย รวมถึงกลุ่มกองกำลังรัฐอิสลาม หรือไอเอส ที่ได้กลายเป็นเครือข่ายก่อการร้ายที่ก่อเหตุโจมตีไปหลายแห่งทั่วโลก โดยเฉพาะในยุโรปที่ตกเป็นเป้าการโจมตีร้ายแรงมาหลายครั้ง

และนับตั้งแต่เหตุการณ์ 9/11 เป็นต้นมา สหรัฐอเมริกาเอง ก็กลายเป็นผู้นำโลกในการเดินหน้า ทำสงครามกับการก่อการร้ายเรื่อยมา ที่ดูเหมือนสงครามไม่ได้จบลงง่ายๆ และดูจะเป็นความล้มเหลวอย่างหนึ่งของ “ประธานาธิบดี บารัค โอบามา” แห่งสหรัฐอเมริกา

ไม่ว่าจะเรื่องการนำทหารอเมริกันที่ไปทำสงครามอยู่ที่อัฟกานิสถานและอิรัก กลับสู่บ้านเกิด หากแต่ตอนนี้ก็ยังคงมีทหารอเมริกันอยู่ทั้งในอัฟกานิสถานและอิรัก

หรือแม้แต่ความพยายามที่จะสานสัมพันธ์กับโลกมุสลิมให้มากขึ้น ก็ดูเหมือนว่า แต่โอบามาเองก็ยังไม่สามารถทำให้ชาวอเมริกันรู้สึกสนิทใจกับมุสลิมได้ ขณะที่โอบามากำลังจะหมดวาระการดำรงตำแหน่งลงในต้นปีหน้านี้แล้ว ภารกิจที่ตั้งเป้าหมาย กลับดูยังไม่ประสบผลเท่าที่ควร

An Iraqi soldier stands next to a wall with a red cross above a slogan of the Islamic State (IS) group, on September 4, 2016 in the city of Fallujah.  Iraq's security forces have for months been battling IS fighters in Anbar province, notching up key victories in provincial Ramadi and jihadist bastion Fallujah earlier this year.  / AFP PHOTO / AHMAD AL-RUBAYE
AFP PHOTO / AHMAD AL-RUBAYE

ทามารา คอฟแมน วิทเทส ผู้อำนวยการศูนย์นโยบายตะวันออกกลาง แห่งสถาบันบรู๊กลิน ในกรุงวอชิงตัน สหรัฐอเมริกา เปิดเผยกับเอเอฟพีว่า ภัยคุกคามที่เกิดขึ้นจากกลุ่มก่อการร้ายอิสลาม ทำให้โอบามาไม่สามารถทำตามความต้องการได้

และทำให้สหรัฐต้องมีส่วนเกี่ยวข้องกับกองทัพในอิรักอีกครั้ง หลังจากนั้น ก็ต้องเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับทั้งเรื่องของซีเรีย และลิเบีย อีก

“ไม่ว่าจะเป็นสงครามที่เกิดขึ้นในตะวันออกกลาง หรือการแผ่ขยายของกลุ่มกองกำลังรัฐอิสลาม หรือไอเอส การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นบนโลกออนไลน์ และการก่อเหตุโจมตีอย่างต่อเนื่องในยุโรปและหลายเมืองในอเมริกา ทำให้ยากอย่างยิ่งที่จะหลีกเลี่ยงต่อการทำสงครามกับการก่อการร้าย แม้ว่าเวลาจะผ่านไป 15 ปีแล้วหลังเหตุการณ์ 9/11” วิทเทสกล่าว

นอกจากนี้แล้ว สหรัฐอเมริกา ก็ยังเข้าไปมีส่วนทางการทหารในรูปแบบที่จำกัด หรือในรูปแบบของการช่วยด้านการขนส่ง ทั้งในอัฟกานิสถาน ไนจีเรีย โซมาเลีย และเยเมน เพื่อต่อสู้กับภัยคุกคามที่เกิดขึ้นนับไม่ถ้วน

This picture taken from the Turkish Syrian border city of Karkamis in the southern region of Gaziantep, on August 24, 2016 shows smoke billows following air strikes by a Turkish Army jet fighter on the Syrian Turkish border village of Jarabulus during fighting against IS targets. Turkey's army backed by international coalition air strikes launched an operation involving fighter jets and elite ground troops to drive Islamic State jihadists out of a key Syrian border town. / AFP PHOTO / BULENT KILIC
AFP PHOTO / BULENT KILIC

ฮุสเซน ไอบิช นักวิชาการอาวุโส แห่งสถาบันรัฐอ่าวอาหรับ กล่าวกับเอเอฟพีว่า ความคิดของรัฐบาลโอบามายิ่งทำให้ทุกอย่างเลวร้ายลง ไม่เพียงแค่ไม่ได้ทำให้สหรัฐอเมริกาสงบลง หากแต่ยังทำให้อเมริกาเข้าสู่สงครามยุคใหม่ ที่เต็มไปด้วยโดรน กองกำลังพิเศษ และการฝึกนักรบท้องถิ่น

ขณะที่สหรัฐอเมริกาเองต้องสูญเสียทั้งคนและเงินไปจำนวนมหาศาลกับสงครามต่อต้านการก่อการร้าย โดยตัวเลขของทางการสหรัฐระบุว่า นับตั้งแต่สงครามอัฟกานิสถานเมื่อปี 2544 เป็นต้นมา มีทหารอเมริกาต้องตายไประหว่างปฏิบัติหน้าที่ในอิรักและอัฟกานิสถานแล้วทั้งสิ้น 5,300 นาย บาดเจ็บอีก 50,000 นาย

แม้ว่าหลายอย่างดูจะล้มเหลวสำหรับโอบามา สิ่งที่ดูเหมือนจะประสบความสำเร็จมากที่สุดสำหรับยุทธศาสตร์ของโอบามาคือ การที่สามารถสังหาร “บิน ลาเดน” หัวหน้าอัลเคด้าได้เมื่อเดือนพฤษภาคม 2554 ที่ดูจะเป็นผลงานด้านการต่อสู้กับการก่อการร้ายที่เป็นผลงานชิ้นโบแดงของโอบามา

ขณะที่สงครามต่อต้านการก่อการร้ายของสหรัฐอเมริกา ดูเหมือนจะยังไม่จบลงง่ายๆ แม้ว่าจะหมดยุคของ จอร์จ ดับเบิลยู. บุช ไปถึงโอบามา ที่กำลังจะหมดวาระลงในเดือนมกราคมที่จะถึงนี้ และส่งไม้ต่อให้กับประธานาธิบดีคนต่อไป เพื่อทำสงครามต่อต้านการก่อการร้ายต่อไป

หากแต่ดูเหมือนว่าไม่ว่าจะผ่านไปอีกกี่ปี เหตุการณ์ 9/11 ก็คงเป็นเรื่องที่ต้องถูกหยิบยกขึ้นมาทุกปี นอกเหนือไปจากรำลึกถึงเหยื่อที่เสียชีวิตแล้ว คงต้องมีการพูดถึงเรื่องสงครามที่ขึ้นตามมาและงอกเป็นดอกเห็ดแบบไม่จบสิ้นลงง่ายๆ ด้วยเช่นกัน