เพ็ญสุภา สุขคตะ : “ล้านนาศึกษา” ใน “ไทศึกษา” ครั้งที่ 13 (19) เจ้าแม่แห่งล้านนา จาก “นางแก้ว” ถึง “จามเทวี”

เพ็ญสุภา สุขคตะ

ขอตั้งคำถามกับพระโพธิรังสี

หัวข้อเสวนาในวันที่ 17 กรกฎาคม 2560 สำหรับเวที “ล้านนาศึกษา” ในการประชุมทางวิชาการนานาชาติ “ไทศึกษา” ครั้งที่ 13 เปิดฉากโหมโรงด้วยเนื้อหาที่เข้มข้นไม่ต่างไปจากหัวข้อเสวนาทุกหัวข้อในวันแรก

วิธูร บัวแดง นักวิชาการอิสระด้านคติชนวิทยา ได้เปิดประเด็นว่าด้วยคำถามที่ทิ่มแทงใจว่า ตัวเขารู้สึกมีปัญหาขัดเคืองใจกับงานเขียนเรื่อง “จามเทวีวงส์” ของพระโพธิรังสีเป็นอย่างมากมาแต่ไหนแต่ไรแล้ว

ปัญหาที่ว่านั้นก็คือ ทุกคนทราบดีว่าท่านเป็นปราชญ์คนสำคัญในช่วงพุทธศตวรรษที่ 20 หากเทียบกับยุคสมัยใหม่ก็ประมาณว่าจบการศึกษามีดีกรีจาก Havard เลยทีเดียว แต่ทำไมเล่า ตอนรจนาเรื่องจามเทวีวงส์ กลับไม่สนใจพฤติกรรมของชาวบ้าน

ทำไมพระโพธิรังสี จึงยกยอจามเทวีให้มีคุณค่าเพียงแค่ “มิชชันนารี” ผู้นำลำแสงแรกแห่งพระพุทธศาสนาจากภาคกลางมาส่องประกายให้แก่คนบ้านป่าเมืองเถื่อนผู้โง่เขลาในภาคเหนือเท่านั้น

ปราชญ์ใหญ่ที่เรียนมากรู้มาก มีโอกาสดีกว่าชาวบ้าน แต่กลับมองข้าม หรือจงใจเขี่ยทิ้ง “คติความเชื่อพื้นฐานของคนในสังคม” นั่นคือการที่ในชีวิตจริงของมนุษย์มักให้ความสนใจต่อเรื่องรักๆ ใคร่ๆ ตัณหา เพศรส หรือท่านโพธิรังสีอาจคิดว่าเรื่องราวเหล่านั้นหยาบโลนบัดสี ไม่ดีงาม น่าเกลียดน่าละอาย เกินกว่าจะให้สาธุชนและพระสงฆ์องค์เจ้ารับรู้

นำไปสู่การตั้งใจปกปิดเรื่องราว Erotic ทั้งหลายในวรรณกรรมเรื่องจามเทวี! ทั้งมีความพยายามที่จะตัดเรื่องพิธีกรรมชาวบ้าน การเลี้ยงผี ไสยศาสตร์ อาถรรพ์ทิ้งไป

วิธูร บัวแดง อุปมาอุปไมยไว้ว่า ในเมื่อพระภิกษุล้านนายุคเมื่อ 500 ปีนั้น มองว่าพระนางจามเทวีเป็น “เทวีแห่งพระพุทธศาสนา” ดังนั้น เมื่อผู้เขียนต้องนำสินค้าชาวบ้านมาขึ้นหิ้ง (บาลีปกรณ์เรื่องอื่นๆ ผู้รจนาเขาเน้น Theme เรื่องพุทธประวัติ) มาปรุงเป็นอาหารในภัตตาคาร ย่อมไม่กล้าใส่ปลาร้าลงไป

นี่คือคำตอบที่ว่า ทำไมจามเทวี เรื่องเดียวกันแท้ๆ แต่กลับมีสำนวนสองเวอร์ชั่นที่เนื้อหาไม่สอดคล้องกัน

 

นางแก้ว Mother Goddess

ประเด็นที่น่าสนใจคือ การระบุว่าฤๅษีวาสุเทพเป็นลูกของ “ปู่แสะย่าแสะ” ปู่แสะย่าแสะคือใคร สังคมดั้งเดิมพื้นบ้านมักกล่าวถึง ชาวลัวะตีกลองร้องเรียก “นางแก้ว” ออกมา มีการสังเวยนางแก้วลงหลุม หักคอเพื่อความอุดมสมบูรณ์ เป็นนัยะของคำสาปแช่ง เรื่องราวการสาปแช่งมีอยู่เดิมก่อนการเข้ามาของพุทธ-พราหมณ์แล้ว อย่างน้อยก็ยังมีเรื่องเล่าตกค้างเกี่ยวกับการที่ลูกตีแม่แล้วแผ่นดินยุบในสมัยฤๅษีวาสุเทพ

ขอให้พิจารณาการฟ้อนผีเม็งของเจ้าเมืองลำปาง ให้ความสำคัญแก่ “ผีนางน้อย” (ผีอี่หล้า) มากเป็นพิเศษ ชาวบ้านเรียก “ผีจามเทวี” มีเค้าโครงคล้ายกับ “ผีมโนราห์” (ผีอีนุ้ย) ของชาวปักษ์ใต้ ที่ต้องต่อสู้กับ “ปิงคละ” (เทียบได้กับขุนหลวงวิลังคะ) โดยต้องเลี้ยงผีด้วยปลาเหมือนกัน ไม่ว่าภูมิภาคใดในอุษาคเนย์ ล้วนเป็นคอนเซ็ปต์ชุดเดียวกันหมด คือเรื่อง “นางแก้ว”

โปรดสังเกตให้ดี ที่ใดมีชื่อที่เกี่ยวข้องกับ “แก้ว” ที่นั้นมักมีการประหารผู้หญิง ไม่ว่านางสุชาดาเจ้าของสวนแตงโม ต้องถูกสังหารเพราะนั่งเจียระไนพระแก้วดอนเต้า ฯลฯ

แล้วนางแก้วคือใครกันเล่า นางแก้วที่ชาวล้านนารู้จักมีอย่างน้อย 2 ศาล แห่งแรกคือศาลนางแก้วที่ยอดเทือกเขาผีปันน้ำ รอยต่อระหว่างจังหวัดเชียงใหม่-เชียงราย กับอีกแห่งคือ ศาลนางแก้วที่หอพลึง รอยต่อระหว่างจังหวัดแพร่-น่าน

นิทานหลายเรื่องในภูมิภาคนี้กล่าวตรงกันว่า นางแก้วมีพื้นเพเป็นยักษ์ แต่อกหักไม่สมหวังในรักจากงุ้มฟ้า ชายผู้มีอวัยวะเพศยาวใหญ่ลากไปมา ตวัดจนเกิดเป็นร่องแม่น้ำโขง ส่วนนางแก้วนั้นนั่งถ่างขาดักปลาเป็นร้อยเป็นพันตัวกลางแม่น้ำโขงบริเวณแก่งหลี่ผี ได้ปลาจำนวนมากเอาไปทิ้งที่ตอนเลแซบ หรือทะเลาบเขมร

ทุกพื้นที่ในอุษาคเนย์จะมีตำนานเรื่องนางแก้วเสมอ กระจายอยู่ทั่วทั้งในเชียงตุง เวียงจันทน์ พุกาม ล้านนา ไม่ว่าจะใช้ชื่อผู้หญิงตัวละครหลักชื่อใดก็ตาม แต่โดยรวมแล้วต้องมีธีมเรื่องที่คล้ายๆ กัน นั่นคือกำหนดให้ผู้หญิงอกหัก ถูกทิ้ง ในที่สุดก็ฆ่าตัวตาย ก่อนตายได้สาปแช่งผู้ชาย ผ่านการลงโทษสังคมบันดาลให้ฝนแล้ง ไม่มีความอุดมสมบูรณ์

จะล้างอาถรรพ์นี้ได้ ต้องให้ฝ่ายชายนำสัญลักษณ์แห่งองคชาตมาเซ่นสรวงต่อนาง เราจะเห็นการนำไม้แกะสลักเป็นรูปอวัยวะเพศชายไปถวายที่ศาลนางแก้วทุกแห่ง โดยเลี่ยงไปเรียกชื่อว่า “ดอกไม้” แทน

บนดอยนางแก้ว รอยต่ออำเภอดอยสะเก็ด จังหวัดเชียงใหม่ เข้าสู่อำเภอเวียงป่าเป้า จังหวัดเชียงราย ในอดีตจะเห็น “ดอกไม้” ที่ผู้ชายนำมาถวายให้ศาลเจ้าแม่นางแก้วเต็มไปหมด แต่ปัจจุบันเมื่อไปสังเกตการณ์อีกครั้ง กลับพบว่ามีการโยกย้าย “ดอกไม้” ไปหลบซ่อนอยู่หลังโคนไม้ แล้วมีการสร้างพระเจ้าทันใจขึ้นมาแทนที่ตามกระแสนิยม

ทั้งๆ ที่บริเวณนี้ไม่มีความเกี่ยวเนื่องกับพระพุทธศาสนาแต่อย่างใด การที่มีแนวคิดแบบ “พุทธข่มผี” เช่นนี้เป็นการปิดฉากคติความเชื่อเรื่อง “ด้านมืดของชีวิตผู้หญิง” ผ่านตัวแทนนางแก้วทิ้งไปอย่างน่าเสียดาย

วิธูร บัวแดง ตีความว่า การผิดผี การมีชู้ ใดๆ ก็ดี “หาใช่ปัญหาเฉพาะแค่คนสองคนเท่านั้น หากแต่เป็นปัญหาของชุมชน ของสังคม และของบ้านเมืองด้วยเช่นกัน”

เป็นวิธีหนึ่งในการควบคุมคนในสังคมไม่ให้ทำร้ายทำลายความรักซึ่งกันและกันนั่นเอง ตราบที่คนในสังคมมีความทุกข์เพราะความรัก ย่อมจักส่งผลสะเทือนสะท้านต่อฟ้าและดิน

การแสดงออกหรือวิธีปฏิบัติที่จะช่วยยุติความแห้งแล้งหรือภัยภิบัติต่างๆ ได้นั้น ต้องกระทำพลีกรรมบวงสรวงต่อนางแก้ว

มองมุมนี้ คล้ายกับ วิธูร บัวแดง กำลังจะบอกว่า นางแก้วคือสัญลักษณ์ของการเรียกร้องพื้นที่ให้สตรีลุกขึ้นผงาด มีที่อยู่ที่ยืนในสังคมทัดเทียมชายบ้างหรือเช่นไร

 

จามมุนดา กับระดูแห่งรอบเดือน

กรณีชื่อ “จามเทวี” วิธูรมีมุมมองว่า เป็นปุราณะหรือเรื่องเล่าที่ตกค้างจากอินเดีย กล่าวคือมี “นางจามมณฑา” (อ่าน มุนดา) เป็นเทวีที่ผสมทั้งความเป็นพระนางอุมา (ชายาพระศิวะ) พระนางลักษมี (ชายาพระวิษณุ) และพระนางสุรัสวดี (ชายาพระพรหม) นางจามมุณฑาเป็นผู้มาปราบ “มหิงสาสุระ” หรืออสูรในรูปควาย

ทั้งศาสนาเชน และพุทธมหายานนิกายตันตระ นำเรื่องราวของ นางจามมุณฑาไปเป็นสัญลักษณ์ประจำศาสนาเหล่านั้นในฐานะ “ผู้ปราบมาร” เชื่อว่าความคิดนี้ได้ส่งทอดมาถึงดินแดนภาคเหนือ ชาวพื้นเมืองจึงนำมาผสมกับเรื่องราวของ “นางแก้ว”

จามมุนดาเกี่ยวข้องอย่างไรกับจามเทวี?

วิธูรเชื่อว่า จามเทวีเป็นนิทานที่พัฒนามาจากโครงเรื่องของจามมุนดา ซึ่งวัยเด็กต้องเติบโตมากับนักบวช ไม่ต่างอะไรไปจากที่จามเทวีต้องเติบโตมากับฤๅษีวาสุเทพ

ชื่อของจามเทวี น่าจะมาจากคำว่า ศยามดารา หรือบางทีออกเสียงเป็น ชัมมาดารา คือพระโพธิสัตว์สตรีที่มีพระวรกายดำหรือเขียวคล้ำ มีที่มาจาก ศยามเทวีในลัทธิศักติ (ลัทธิที่บูชาสตรีเป็นใหญ่)

จามมุนดามีด้านมืดชื่อว่า “เมทังกี” (เหมือนกับพระอุมามีด้านมืดเป็นนางทุรคา) ซึ่งชาวบ้านต้องเซ่นสรวงเทพีเมทังกีด้วยการนำ “ระดู” (เลือดประจำเดือน) ไปถวายที่ศาลของนาง

ไม่ต่างไปจากการที่จามเทวีนำเลือดประจำเดือนไปทำไสยศาสตร์ข่มขุนหลวงวิลังคะให้หมดอาคมคาถา รวมไปถึงฉากสุดท้ายที่ให้ขุนหลวงวิลังคะเป็นผู้พ่ายแพ้รัก ต้องเป็นฝ่ายประกาศคำสาปแช่งต่อจามเทวี

สิ่งเหล่านี้ เป็นการต่อสู้ของผู้หญิงที่ต้องการเป็นใหญ่ แม้จะถูกควบคุมไว้โดยเพศชายทุกวิถีทางก็ตาม

ดังนั้น หากสนใจเรื่องราวของพระนางจามเทวีแล้ว ควรศึกษาด้านคติชนวิทยาที่สอดแทรกอยู่ด้วย จะค้นพบปรัชญาที่ซ่อนอยู่ภายใต้รูปแบบตำนาน ไม่ใช่เรื่องที่เหลวไหลแต่อย่างใดเลย

ฟังจากน้ำเสียงแล้ว วิธูร บัวแดง มองว่า จามเทวีจะมีตัวตนจริงหรือไม่นั้น หาใช่สาระสำคัญที่จะมาถกเถียงกันแต่อย่างใดไม่

ไม่ว่าจะมีตัวตนจริงหรือเป็นแค่เทพีในตำนานก็ตาม แต่นางก็ได้ถูกสร้างขึ้นเพื่อเป็นสัญลักษณ์ของสตรี ที่ถูกผลิตซ้ำให้กลายเป็นความเชื่ออันศักดิ์สิทธิ์ พร้อมๆ กับการทวงคืนพื้นที่ของเพศหญิงอย่างแยบยล