คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง / อาหารกับศาสนา 3 : เนื้อและปลา

คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง

ที่เขียนว่า “เนื้อและปลา” นั้น ที่จริงผมหมายถึง “เนื้อสัตว์” โดยทั่วไป แต่ใช้คำตามแบบโบราณ คือ “มัจฉมังสาหาร” (อาหารจากเนื้อและปลา) อันถือเป็นเครื่องพลีแบบหนึ่ง

มนุษย์น่าจะเริ่มกินเนื้อสัตว์มาตั้งแต่แรกๆ ของประวัติศาสตร์ แต่คงคล้ายลิงคือกินพวกสัตว์เล็กๆ ครั้นต่อมาเริ่มมีพัฒนาการเป็นชนเผ่า ก็ออกล่าสัตว์ใหญ่ เช่น ควายป่า

อาชีพพรานจึงเป็นอาชีพเก่าแก่อันหนึ่งและเกี่ยวพันกับสังคมบุพกาลอยู่มาก

พรานกับหัวหน้าเผ่าและหมอผีดูจะเป็นคนเดียวกัน

ตาพรานบุญ จึงได้รับการนับถือในประเพณีมโนราห์

สมัยก่อนผมก็งุนงงว่าจะไหว้พรานที่มาจับมโนราห์ทำไม

จึงมาทราบว่า หน้าพรานที่เขาเซ่นไหว้ในงาน โนราโรงครูนั้น ไม่ได้หมายถึงตัวพรานในวรรณคดี

แต่หมายถึง “ผีบรรพบุรุษ” หรือ ครูหมอต่างหาก

 

พรานสำคัญ เพราะนอกจากจะเผชิญภัยอันตรายจากสัตว์ที่ตัวไปล่าแล้ว ก็ต้องรู้คาถาอาคม เพราะเป็นผู้ไปมาระหว่าง “ป่า” อันเป็นเขตแดนลี้ลับที่ไร้กฎเกณฑ์แบบสังคมมนุษย์ กับ “บ้าน” คือสังคมอารยธรรมมนุษย์

เรายังเห็นพิธีกรรมออกพรานในการไหว้ครูมโนราห์ หรือในการไหว้ผีมดผีเม็งที่ต้องแสดงการออกไปล่าสัตว์ สะท้อนสังคมบุพกาลในพิธีกรรม

ครั้นต่อมาเมื่อมนุษย์นำสัตว์และพืชมาเลี้ยงในสังคมกสิกรรมของตัว กิจกรรมล่าสัตว์ก็ค่อยๆ เลิกไป อาชีพพรานในบทบาทของหัวหน้าเผ่าหรือผู้นำชุมชนก็หมดความสำคัญลงไปด้วย

แนวคิดเรื่องอนุรักษ์ในโลกสมัยใหม่ ยิ่งทำให้การล่าสัตว์ป่า เป็นสิ่งที่ไม่อาจยอมรับได้ แต่กระนั้นคนมีตังค์บ้านเราบางคนยังไปล่าสัตว์ (เพิ่งเป็นข่าวไป) ซึ่งน่าเกลียดมาก

แต่จะน่าเกลียดกว่าถ้าจะมีใครใหญ่ๆ โตๆ ช่วยให้ผ่านพ้นชนิดไม่มีรอยขีดข่วน น่าเกลียดทั้งคนอุ้ม-คนทำ

 

เมื่อเราทำ “ปศุสัตว์” แล้ว ตำนานจีนเล่าว่า บังเอิญเล้าที่เลี้ยงสัตว์เกิดไฟไหม้ แต่หมูบางส่วนไฟไหม้ไม่หมด มนุษย์ดึกดำบรรพ์จึงได้กินอาหารผ่านไฟเป็นครั้งแรก แล้วพบว่ามันอร่อยดี

จากนั้นเราจึงกินเนื้อสัตว์ผ่านไฟ ซึ่งช่วยให้เรามีอายุยืนกว่าสัตว์อื่นๆ แต่เราก็กลับไปกินเนื้อสดๆ ในบางครั้ง โดยเฉพาะในพิธีเซ่นไหว้ของศาสนาผี

หลายท่านที่สนับสนุนการกินเจอ้างว่า มนุษย์ไม่ได้มีธรรมชาติเป็นสัตว์กินเนื้อ ข้อนี้ผมยังไม่แน่ใจนัก เพราะสัตว์ในธรรมชาติที่กินทั้งสองอย่างก็มี และมีวิวัฒนาการใกล้เคียงกับเรา เช่น ลิง เราจึงอาจเป็นสัตว์ที่กินทั้งสองอย่าง

แต่การกินเนื้อสัตว์ของมนุษย์ ก่อให้เกิดนัยความหมายหลายประการต่อชีวิต เช่น นอกจากมันจะก่อให้เกิดความอร่อย พละกำลัง และพลังงานทางเพศแล้ว ในโลกโบราณ หลายครั้งการกินเนื้อสัตว์ เชื่อว่าก็เพื่อจะรวมเป็นหนึ่งเดียวกับสิ่งนั้น

เช่น มีหลักฐานทางโบราณคดีถึงการกินสัตว์ชนิดต่างๆ ที่นับถือกันว่า “ศักดิ์สิทธิ์” หรือนับถือเป็นสัญลักษณ์ของบรรพบุรุษ เป็นต้นว่า สุนัขหรือตะกวด

คนรักสุนัขอาจยี้ แต่เดิมมโนทัศน์ที่ถือว่า มีสัตว์เลี้ยงที่เลี้ยงไว้สวยๆ น่ารักๆ โดยไม่มีประโยชน์อะไรอื่นนั้นไม่มี ยิ่งนับถือก็เคารพแล้วก็เชือดกิน เพื่อประสานรวมพลังกับสิ่งที่เรากินเข้าไปนั้นเอง คือรวมเป็นหนึ่งกับสัตว์บรรพชน

การกินเนื้อสัตว์ในโลกที่กสิกรรมเป็นระดับหมู่บ้าน จึงเกิดขึ้นเฉพาะในวาระโอกาสที่สำคัญ ดังที่เรามีคำว่า ล้มวัวล้มควาย ในคัมภีร์คฤหยสูตรของฮินดูบางเล่ม เช่น อปัสตัมพะสูตร ก็บอกให้ล้มวัวล้มควาย เมื่อมีแขกมาเยือนหรือมีการแต่งงาน และให้ปรุง “มธุปรกะ” ให้แขกกิน

เจ้ามธุปรกะที่ว่า ในปัจจุบันใช้โยเกิร์ต น้ำผึ้งและเนยใสผสมกัน แต่เชื่อว่าในอดีต คงมีส่วนประกอบของเนื้อสัตว์หรือเลือดสัตว์ด้วย การให้มธุปรกะแก่แขก นับว่าเป็นการยกย่องอย่างสูงสุดแบบหนึ่ง

ปัจจุบันในพิธีแต่งงาน เจ้าบ่าวจะได้รับมธุปรกะจากฝ่ายเจ้าสาว เพื่อให้เกียรติและเพิ่มกำลังวังชาจากการเดินทาง

 

นอกจากปศุสัตว์ที่เราเลี้ยงในครัวเรือน อย่างวัว ควาย หมู ฯลฯ แล้ว เรายังมีเนื้อสัตว์จากแหล่งน้ำคือปลา ซึ่งหาได้ง่ายและกินได้บ่อยกว่าอย่างอื่น

ในพิธีศพ ผมจำได้ว่าเราต้องเอาข้าวกับปลาที่มีหัวหางครบ และเหล้าขาว ไปไหว้ตากะลายายกาลีผีป่าช้าที่เมรุก่อนจะนำศพไปเผา

ท่านว่า ตากะลายายกาลีนี้ คงได้รับอิทธิพลทางศาสนาพราหมณ์มาผสมคติผีเจ้าป่าช้า เพราะชื่อ กะลา น่าจะมาจาก กาละ คือพระศิวะเจ้าแห่งความตาย และยายกาลี คือเจ้าแม่กาลี เจ้าแห่งความตายเช่นกัน

ส่วนการเซ่นปลา มีผู้สันนิษฐานอย่างน่าสนใจว่า เพื่อจะสะท้อนการเผาศพริมน้ำ จึงใช้ปลาเป็นเครื่องเซ่นสรวง อันนี้ตรงกันทั้งฮินดูทั้งผี เพราะไม่ว่าศาสนาไหน ก็เชื่อว่าวิญญาณไปทางน้ำ

เนื้อและปลา หรือมัจฉมังสาหาร จึงเป็นของเซ่นสรวงที่เป็นเนื้อสัตว์หรือชีวิตขั้นพื้นฐานในพิธีกรรม ส่วนจะ “เนื้อ” อะไรขึ้นอยู่กับสภาพตามธรรมชาติของพื้นที่นั้น ไม่ว่าจะวัว หมู แพะ แกะ กวาง สุนัข ฯลฯ

 

ในเทศกาลตรุษจีนเราก็เซ่นไหว้บรรพชนด้วยเนื้อสัตว์ ข้อต่างประการหนึ่งของศาสนาโบราณ กับการเซ่นไหว้ในปัจจุบัน คือในศาสนาโบราณ เน้นที่ตัว “กระบวนการ” ได้มาของเนื้อสัตว์นั้นด้วย กล่าวคือ ให้ความสำคัญกับการทำ “บูชายัญ” พอๆ กับผลผลิตที่ได้ ซึ่งในปัจจุบัน ส่วนมาก (เว้นแต่อิสลาม) ไม่ได้ให้ความสำคัญที่กระบวนการแต่เน้นผลผลิตที่จะเซ่นไว้ คือเนื้อสัตว์เลยโดยตรง ซึ่งอาจเป็นอิทธิพลของระบบอุตสาหกรรมเนื้อสัตว์สมัยใหม่ ที่เราไม่ต้องเชือดเอง

เมื่อพูดถึงการเชือดสัตว์แล้ว ในพิธีไหว้ครูดนตรีไทยมีขั้นตอนหนึ่งคือการเรียกเพลง “เชือดหัวหมูรำดาบ” ผู้ช่วยในพิธีก็จะเอามีดไปเฉือนเนื้อสัตว์ต่างๆ ในพิธี แล้วเอาน้ำจิ้มทา เพื่อเป็นสัญลักษณ์เหมือนการเชือดสัตว์และปรุงถวายผีครู

ในปัจจุบันหากให้เราเชือดสัตว์เซ่นผีเองคงไม่มีใครทำ เพราะมันมีความรู้สึกสะเทือนอารมณ์ไม่น้อย การกินเนื้อสัตว์ในสังคมที่เกิดศาสนาปัจจุบัน จึงมีนัยทางศีลธรรมที่ต่างไปจากศาสนาดึกดำบรรพ์

 

ในศาสนาปัจจุบัน ไม่ว่าศาสนาไหน การกินเนื้อสัตว์ เป็นสิ่งที่มีข้อถกเถียงทางจริยธรรมมากที่สุดเรื่องหนึ่ง จะเว้นบางชนิด หรือเว้นทุกชนิดก็เกี่ยวพันกับระบบศีลธรรมของศาสนา โดยพัวพันกับอารมณ์ความรู้สึกของมนุษย์อีกด้วย

ศาสนาผีไม่มีปัญหากับการถวายเนื้อสัตว์หรือกินเนื้อ เพราะใช้ระบบทางจริยธรรมต่างกับศาสนาปัจจุบัน แต่พราหมณ์และพุทธอาจมีทั้งสองพวก เช่น พราหมณ์บางพวกที่กินเนื้อ (ซึ่งมีน้อยมาก) และพุทธฝ่ายเถรวาทที่อนุญาตการกินเนื้อกับฝ่ายมหายานที่โดยมากงดเว้นเนื้อสัตว์

กล่าวให้น่ากลัวยิ่งขึ้น นอกจากเนื้อสัตว์ต่างๆ แล้ว มนุษย์ในอารยธรรมโบราณหลายแห่งยังกิน “เนื้อมนุษย์” ด้วย ซึ่งในปัจจุบันกลายเป็นข้อห้ามร้ายแรงของสังคมมนุษย์ (Taboo)

แม้ปัจจุบันข้อห้ามดังกล่าวจะได้รับการยึดถือกันโดยทั่วไป แต่ร่องรอยการฆ่ามนุษย์บูชายัญ ยังปรากฏในพิธีกรรม เช่น ศีลมหาสนิท การถวายตอร์มาในพุทธศาสนาฝ่ายตันตระยานหรือการใช้สัตว์บูชายัญแทนคน

 

กินเนื้อไม่กินเนื้อสำหรับผมล้วนเป็นทางเลือกของมนุษย์ทั้งนั้นครับ การกินไม่กินอะไรอย่างเดียวไม่พอที่จะตัดสินทางจริยธรรม เพราะมันซับซ้อนกว่านั้น รวมทั้ง “ท่าที” ของการกินสิ่งต่างๆ ด้วย

อาหารโดยเฉพาะเนื้อจึงเป็นทั้งเรื่องโภชนาการ ธรรมชาติ ศีลธรรม ศาสนา ประเพณีวัฒนธรรม ฯลฯ

อ้อ แต่ที่จริงถ้าอยากศึกษาเรื่องมนุษย์กินคน ยังมีอยู่ในบ้านเรานะครับ มีเยอะและบางคนก็มีอำนาจมากด้วย

คือพวกเห็นคนไม่เป็นคน และกัดกินเพื่อนมนุษย์โดยอำนาจ ความอยุติธรรมและอคติด้วยประการต่างๆ

โดยไม่รู้ตัวว่า ตัวเองต่างหากที่สูญเสียความเป็นมนุษย์ไปทุกที

รักษาความเป็นคนไม่กินคนกันไว้ครับ